กลไกการเก็บกด (Repression) เพื่อปกป้องตนเอง

"การพยายามที่จะไม่คิดหรือเพิกเฉยต่อความคิดและอารมณ์ 
จะยิ่งเป็นการเพิ่มพลังให้มันมากขึ้นด้วย" 
            ในภาพยนตร์เรื่อง Wanted นำแสดงโดย เจมส์ แม็กอะวอย (James McAvoy) เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเอกที่มีพ่อเป็นนักฆ่า ซึ่งถูกฆ่าตาย ทางองค์กรจึงได้ส่งนางเอก แองเจลิน่า โจลี่ (Angelina Jolie) มาเพื่อฝึกฝนให้เขาเป็นนักฆ่าเพื่อไปฆ่าคนที่ฆ่าพ่อตนเอง ผู้อ่านคงจะนึกออกเป็นภาพยนต์ที่ยิงปืนเป็นวิถีโค้ง ประเด็นคือช่วงเริ่มต้นของภาพยนตร์ จะเห็นว่าพระเอก (James Mcavoy) โดนหัวหน้างานกดขี่ข่มเหง และแฟนของเขายังไปมีอะไรกับเพื่อนของเขาเอง ในตอนแรกเขาเลือกที่จะไม่ตอบโต้อะไรทั้งสิ้น และทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

            จนกระทั่งถึงวันที่เขาตัดสินใจเลือกเส้นทางเพื่อฝึกฝนเป็นนักฆ่า เขาระเบิดอารมณ์ใส่หัวหน้าที่คอยกดหัวมาตลอดอย่างรุนแรง และเดินเอาคีย์บอร์ดของตัวเองไปฟาดหน้าเพื่อนที่หักหลังจนเลือดกบปาก ฟันหลุดล่วงกระจุย ประเด็นที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมันเป็นรูปแบบหนึ่งของกลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms) ที่เรียกว่าการเก็บกด (Repression) 

            ก่อนอื่นผมต้องขออธิบายโครงสร้างบุคลิกภาพแบบง่าย ๆ เสียก่อน ซึ่งประกอบไปด้วย 

            Id หมายถึง สัญชาตญาณดิบของมนุษย์

            Superego หมายถึง กรอบบรรทัดฐานทางสังคม

            Ego หมายถึง ตัวเราเองที่จะต้องตัดสินใจว่าจะแสดงพฤติกรรมไปตาม Id หรือ Superego ดี 

            ปัญหาคือโครงสร้างบุคลิกภาพมักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งเรา (Ego) จะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อใครจะหร่าง Id และ Superego บางทีเราอาจจะตัดสินใจไปตามบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งเราอาจจะไม่ชอบ เช่นจะต้องยกมือไหว้คนที่เราเกลียด (Superego) หรือหยิบอาหารของผู้อื่นมารับประทานโดยไม่ได้รับอนุญาต (Id) หรือจากกรณีที่ผมยกตัวอย่างไว้ตอนเริ่มต้นก็คือ ตัวเอกเลือกระเบิดอารมณ์ดิบและใช้ความรุนแรงกับทั้งเพื่อนที่หักหลังตัวเอง และกับหัวหน้าน่ารำคาญ (id) แต่เขาต้องข่มอารมณ์ของเขาเอาไว้ เพราะว่าถ้าทำไปแบบนั้นเขาจะโดนไล่ออก หรืออาจจะมากกว่านั้น (Superego)

            ตัวเอกหรือเจมส์ แม็กอะวอย จึงเลือกที่จะเก็บอารมณ์ของตัวเองเอาไว้แล้วลืม ๆ มันไป พยายามไม่คิดถึงมัน (Ego) เป็นการเก็บกดเฉพาะเรื่องซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเก็บกด (Repression) ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการป้องกันตัวเอง เวลาที่ Ego ต้องเลือกตัดสินใจในสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ หรือความขับข้องใจ การเก็บกดมี 2 ชนิดด้วยกัน ประกอบไปด้วยการเก็บกดทั้งหมด และการเก็บกดเฉพาะเรื่อง 

กลไกการเก็บกดเพื่อป้องกันตนเอง

            การเก็บกดทั้งหมด เป็นกระบวนการป้องกันการสำนึกหรือรู้ตัวเกี่ยวกับความต้องการดิบ ๆ ของมนุษย์ เป็นการเก็บกดสัญชาตญาณตั้งแต่เราเกิดมา เช่น เราไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์กับพ่อหรือแม่หรือพี่น้อง หรือการแต่งงานในเครือญาติ ซึ่งเราจะไม่มีทางตระหนักถึงสัญชาตญาณเหล่านี้ได้ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เชื่อว่าแรงปรารถนาที่จะแต่งงานในเครือญาติได้ถูกฝังอยู่ในตัวมนุษย์จนต้องเก็บกดเอาไว้ สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านมาอย่างยาวนานหลายรุ่น เรื่องนี้ก็กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่มีควรทำ 

            การเก็บกดเฉพาะเรื่อง จะเกิดขึ้นเมื่อ Ego (ตัวเรา) ต้องตัดสินใจตาม Id (สัญชาตญาณดิบ) เช่น เราอาจจะไปฆ่าคนตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก ยิ่งเป็นบ้านเมืองที่มีกฎหมายรุนแรง Superego (บรรทัดฐานทางสังคม) จะส่งสัญญาณอย่างรุนแรงมาที่ Ego เพื่อดำเนินการเก็บกดเฉพาะเรื่อง โดยการเอาเหตุการณ์ที่เลวร้ายนั้นโยนลงไปเก็บในจิตใต้สำนึก (Unconscious) ยิ่งเป็นเหตุการณ์รุนแรงมากแค่ไหน ความทรงจำนั้นก็จะถูกลืมไปอย่างนาวนานที่จิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นระดับจิตที่เราไม่รู้ตัว กล่าวคือ กลไกการเก็บกดจะบังคับความทรวงจำ ความคิด หรือการรับรู้ออกไปจากจิตสำนึก (Conscious) ซึ่งเป็นจิตที่เรารู้ตัว และสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อตอบโต้ Id เป็นการป้องกัน Ego ไม่ให้ต้องวิตกกังวล หรือเจ็บปวด

            เมื่อเราลืมความทรงจำนั้นไป ในช่วงแรกเราจะไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อไหร่ที่ความทรงจำกลับคืนมา เราจะละลึกถึงความเจ็บปวดทั้งหมดได้ นอกจากเหตุการ์ที่เราทำผิด อาจจะเป็นเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น เช่น การโดนข่ม โดนกลั่นแกล้ง โดนลงโทษ หรือแม้แต่การล้อเลียน ก็สามารถถูกนำเอาไปเก็บไว้ได้หมด (เป็นสถานการณ์) แต่อย่างไรก็ตามความทรงจำเหล่านั้นสามารถถูกดึงกลับขึ้นมาได้ เช่น การเจอเหตุการณ์นั้นซ้ำ การสะกดจิต การย้ำคิด และการเจอเหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้อง

            ในระหว่างที่เราลืมความทรงจำนั้นไป เพราะถูกนำไปเก็บไว้ที่จิตใต้สำนึก บางครั้งการเก็บกดจะก่อกวนสภาพการทำงานตามปกติของร่างกายบางส่วนด้วย  เช่นคนเก็บกดอาจมีความรู้สึกตายด้านหรือด้านชาทางเพศ เพราะกลัวว่าจะหักห้ามความต้องการทางเพศไว้ไม่อยู่ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สังคมต่อต้านความต้องการอยากมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิง ส่งผลให้ผู้หญิงบางคนอาจจะแสดงออกเป็นอาการตาบอดหรือเป็นอัมพาต เรียกว่า ฮิสทีเรีย (Hysteria) ทั้ง ๆ ที่ตาและกล้ามเนื้อยังคงปกติดีอยู่ แต่มีแรงต้านมาสกัดกั้นการเห็นหรือการเคลื่อนไหวของแขนขาเอาไว้

            ในสังคมสมัยนี้อาจจะไม่มีการเก็บกดที่แสดงความรุนแรงแบบฮิสทีเรียให้เห็นมาก แต่หลายคนที่เก็บกดความต้องการที่ไม่สมควร เช่น รักคนที่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง จิตใจจึงใช้กระบวนการเก็บกดเพื่อลืมความต้องการนั้น และนำไปเก็บไว้ไปที่จิตใต้สำนึก ทำให้เกิดอการต่าง ๆ ทางร่างกาย เช่น ปวดหัว หอบหืด โรคกระเพาะ หรือโซโคโซมาติกต่าง ๆ (เช่น มือสั่น ปากสั่น) อาการเหล่านี้อาจจะเกิดจากสัญญาณเตือนจากจิตใต้สำนึก ทำให้ Ego เกิดความตึงเครียด ส่งผลให้ไปรบกวนกระบวนการทำงานของร่างกายขึ้นมา เช่น ทำให้ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอทำให้หอบหืด หรือส่งผลไปถึงระบบย่อยอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะก็ได้เช่นกัน

            ซิกด์ มันฟรอยด์ (Sigmund Freud) เคยยกตัวอย่างเปรียบเปรยกลไกการเก็บกดเอาไว้ในการบรรยายครั้งหนึ่งว่า "สมมติว่าในห้องนี้ ในหมู่ผู้ฟังที่เงียบสงบและมีความตั้งใจอันเป็นแบบอย่างที่ดี เกิดมีบุคคลหนึ่งก่อการรบกวนขึ้นมา หัวเราะอย่างเสียมารยาท พูดคุยเสียงดัง จนทำให้ความตั้งอกตั้งใจของผมเขวไป ผมไม่อาจจะบรรยายต่อไปได้ในสภาพแบบนี้ จนกระทั่งผู้ชายหลายคนในห้องลุกขึ้น และต่อสู้กับบุคคลที่เสียมารยาทผู้นั้น และไล่ผู้นั้นออกไปจากห้องนี้ ผมจึงสามารถบรรยายต่อไปได้โดยไม่ได้รับการรบกวนซ้ำอีก"

            ฟรอยด์ยังยกตัวอย่างต่อว่า "ในกรณีที่บุคคลผู้นั้นพยายามจะเข้ามาอีกครั้ง บรรดาผู้ชายทั้งหลายจึงเอาเก้าอี้ของพวกเขาไปกั้นไว้ที่ประตูเพื่อไม่ให้เขาเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการต้านทานเพื่อรักษาการเก็บกดเอาไว้" ฟรอยด์เปรียบห้องบรรยายเป็นจิตสำนึก และนอกห้องเป็นจิตใต้สำนึก เมื่อบุคคลที่ก่อความวุ่นวายกระเด็นไปนอกห้อง ผู้บรรยายก็สามารถบรรยายได้ตามปกติ ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี แต่มันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสมอไป

            แม้จะไล่บุคคลที่ก่อความวุ่นวายออกไปแล้ว และมีเก้าอี้กั้นเอาไว้อยู่ แต่การบรรยายก็ยังไม่จบสิ้น แม้เสียงหัวเราะ และการรบกวนของเขาจะหายไปแล้วก็ตาม แต่การเก็บกดก็อาจจะล้มเหลวลงเพราะเขาจะก่อความรบกวรนข้างนอกห้อง เขาอาจร้องโวยวายและทุบประตูเพื่อจะเข้ามาให้ได้ ซึ่งเป็นการรบกวนการบรรยายหนักกว่าเดิมเสียอีก

            ดังนั้นการเก็บกดจึงเป็นการเก็บความปรารถนา หรือแรงผลักดันอันแรงกล้าไม่ว่าจะเป็นแรงผลักดันทางเพศและแรงผลักดันที่จะกระทำรุนแรง หรือความคิด ความทรงจำที่เลวร้ายที่รบกวนจิตใจอย่างรุนแรง ทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก ซึ่งมันก็สามารถผุดขึ้นมาได้เหมือนกับบุคคลที่ก่อความวุ่นวาย กำลังทุบประตู โวยวายเสียงดังข้างนอกห้องบรรยาย ซึ่งจะผุดขึ้นมาได้ 3 ทาง 1) ทางร่ายกายอย่างที่ผมกล่าวเอาไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นอาการสั่น ชา หอบหืด โรคกระเพาะ 2) ความฝัน 3)การหลั้งปากหรือหลั้งเผลอ เพราะบางครั้งเวลาที่เราเก็บกด ถ้ามันไม่ใช่เรื่องรุนแรงมาก มันจะถูกเก็บเอาไว้ไม่ลึก และสามารถนึกถึงมันได้โดยไม่ยากมากนัก 

            นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ยกตัวอย่างการเก็บกดเหมือนกับเวลาที่เรากดลูกบอลสูบลมเอาไว้ใต้น้ำ อาจจะใช้มือเดียวกดมันไว้ได้ตอนแรก เหลืออีกมือหนึ่งไว้ทำอย่างอื่น แต่ลูกบอลนั้นก็พยายามจะพุ่งขึ้นมาเหนือน้ำตลอดเวลา ยิ่งเรื่องราวที่เก็บกดลงไปรุนแรงมากเท่าไหร่ ลูกบอลก็จะมีขนาดใหญ่มากเท่านั้น จนต้องใช้แรงและความพยายามในการกดลูกบอลลงไปให้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มือที่กดมันลงไปข้างเดียวก็อ่อนล้า จนต้องใช้สองมือมาช่วยกดเพื่อไม่ให้มันพุ่งขึ้นมาได้ เราจึงไม่เหลือมือเอาไว้ทำอะไรอย่างอื่นได้เลย

            เมื่อขาดมือเอาไว้ป้องกันตัว ศัตรูย่อมจู่โจม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัวบ้าง ปัญหาในที่ทำงานบ้าง ปัญหาสังคมอื่น ๆ บ้าง เราไม่สามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่เพราะมือไม่ว่างทั้งสองข้าง ทำให้ไม่สามารถประคับประคองชีวิตที่ในปัจจุบันแค่มีสองมือก็ยากเต็มทีแล้ว สุดท้ายลูกบอลก็ต้องพุ่งขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วน ทำให้เรามีอาการต่าง ๆ แบบที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นการเก็บกดจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

            เจมส์ แม็กอะวอย (James McAvoy) อาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ได้สมบูรณ์มากนัก เพราะหากเก็บกดจริงจะต้องลืมความรู้สึกที่ไม่ดีนั้นไปหรือไม่คิดถึงมัน แต่สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือการพยายามเก็บกด ในท้ายที่สุดสิ่งที่เก็บไว้มันก็พยายามจะออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับที่สุดท้ายแม็กอะวอยตะโกนด่าหัวหน้าที่กดเคยกดขี่ตนเองอย่างรุนแรง อีกทั้งยังเอาคีย์บอร์ดฟาดหน้าเพื่อนที่หักหลังตัวเองจนฟันหลุดลร่วง ผู้เข้าร่วมการบรรยายที่พยายามจะบุกเข้ามาในห้องที่ตนเองโดนพาออกไป โดยการแหกปากร้องโวยวาย ทุบประตู หรือ ลูกบอลสูบลมในน้ำที่พยายามจะพุ่งขึ้นมาจากน้ำอย่างรุนแรงตามแรงที่กดมันลงไป

            ปัญหาของการเก็บกดคือ การละเลยอารมณ์ที่เป็นปัญหา มันจึงไม่สามารถทำให้เราไปถึงรากของอะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้น แม้ว่าเราจะลืมเรื่องนั้นไป แต่รากของปัญหามันยังคงอยู่ ทำไมผู้เข้าร่วมการบรรยายอยู่ดี ๆ ถึงได้ตะโกนแหกปาก หัวเราะขึ้นมากลางการบรรยาย และทำไมหัวหน้ากับเพื่อนของแม็กอะวอยถึงได้ทำแบบนั้นกับเขาตั้งแต่แรกเริ่ม

            โดยส่วนมากคนที่เก็บกดบางสิ่งบางอย่างลงไปในจิตใต้นึก จะพยายามจะคิดบวก และกดความคิดลบ ๆ ออกไปจากหัว มันคือการไม่ทำอะไรกับปัญหาเลย กลับจะยิ่งกินพื้นที่ช่องสัญญาณของสมอง (Mental Bandwitdth) มากขึ้นจนน่าตกใจ นอกจากนั้นในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้อธิบายว่า "มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า การพยายามที่จะไม่คิดหรือเพิกเฉยต่อความคิดและอารมณ์จะยิ่งเป็นการเพิ่มพลังให้มันมากขึ้นด้วย" 

            ยกตัวอย่างผลการศึกษาของนักจิตวิทยาสังคม แดเนียล เวกเนอร์ (Daniel Wegner) เขาบอกกับกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองให้ไม่ต้องคิดถึงหมีขาว ผลก็คือล้มเหลว ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่เขาบอกให้คิดถึงหมีขาวได้ ผลกลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดถึงหมีขาวมากกว่า กลุ่มทดลองที่ไม่ได้ห้ามคิดถึงหมีขาวตั้งแต่แรกเสียอีก มันก็เหมือนคนที่พยายามควบคุมอาหารที่ฝันถึงบุฟเฟ่ หรืออาหารที่มีน้ำตาล ไขมันเยอะ ๆ นั้นแหละครับ กล่าวคือการห้ามใครทำอะไรสักอย่าง มันจะทำให้เขาคิดถึงสิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น 

            สิ่งนี้คือการย้อนแย้งของการเก็บกด เราจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย อันดับแรก อารมณ์ของเราจะเป็นฝ่ายควบคุม สองอารมณ์ที่ถูกเก็บกดไว้จะโผล่ขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึงโดยไม่รู้ตัว นี้คือกระบวนการที่นักจิตวิทยาเรียกว่า การรั่วไหลของอารมณ์ (Emotional Leakage) เช่น เวลาที่เราโกรธเพื่อนแล้วพยายามเก็บกดมันไว้ (ไม่นึกถึงมัน) จากนั้นในวันที่เราดื่มเลี้ยงฉลองที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เรากลับระเบิดอารมณ์ออกมาจากปากอย่างรุนแรง แล้วงานฉลองนั้นก็ตึงเครียดขึ้นมาทันที 

            การเก็บกดทุกอย่างเอาไว้ในจิตใต้สำนึกแล้วลืมมันไป เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่จริง ๆ แล้วมันก็แค่หลบไปขยายตัวอยู่ข้างล่างภูเขาน้ำแข็งนั้นแหละครับ และมันก็พร้อมจะผุดขึ้นมาตอนไหนก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งมันก็มักจะโผล่มาตอนที่เราไม่คาดคิดเสียด้วย ยิ่งไปกว่านั้นมันจะโผล่ขึ้นมาด้วยความเข้มข้นที่มากพอ ๆ กับแรงดันที่เก็บกดมันลงไป เหมือนกับตัวอย่างที่เราพยายามกดลูกบอลไว้นั้นแหละครับ ยิ่งกดแรง แรงที่ดันก็จะสะท้อนกลับอย่างรุนแรงตามกฎของฟิสิกส์ แล้วเราจะทำอย่างไรดีที่จะไปถึงรากของปัญหาได้

วิธีการเผชิญรากของปัญหาเพื่อไม่ให้เก็บกด

            กลับมาที่ผู้เข้าร่วมการบรรยายที่ถูกไล่ออกจากห้อง ผู้ที่พยายามทุบประตู ตะโกนแหกปากเพื่อพยายามจะกลับเข้ามา การกระทำเช่นนี้เป็นการรบกวนการบรรยายมากกว่าเดิมเสียอีก เพราะยิ่งเขาถูกไล่ออกไปเขาก็ยิ่งโกรธมากขึ้น ฟรอยด์จึงยกตัวอย่างต่อว่า "คงจะเป็นที่น่ายินดีมากหากจะมีผู้อาสาเข้ามารับบทผู้สร้างความสงบ โดยเป็นคนกลางทำการปรองดอง โดยท่านจะออกไปพูดกับผู้รบกวนคนนั้นข้างนอก แล้วกลับเข้ามาหาเราพร้อมทั้งแนะนำให้เราอนุญาตให้นายคนนั้นกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยเขารับรองว่าจะประพฤติตัวดีขึ้น ด้วยการจัดการดังกล่าวจะทำให้เราตัดสินใจหยุดการเก็บกด และความสงบสุขสันติก็จะกลับคืนมาในที่สุด"

            นั้นแหละครับ วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุด ก็คือการไปที่รากของปัญหา ทำไมเราถึงต้องกดลูกบอลลูกนั้นลงไปในน้ำด้วย มันมีประโยชน์อะไร ลองผ่อนแรงดูไหม แล้วดึงลูกบอลนั้นมันกลับขึ้นมา เราจะต้องต่อสู้ไปอีกนานแค่ไหน ศึกครั้งนี้มันถึงจะจบ หากเราไม่อยากระเบิดใส่เพื่อนในวันใดวันหนึ่ง เพราะตอนนี้เราพยายามเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจของตัวเองลงไปที่จิตใต้สำนึก เราก็ควรจะบอกกับเพื่อนคนนั้นว่าเรารู้สึกอย่างไร หรือไม่ต้องบอก แต่เพียงแค่ตระหนักรู้แล้วพูดคุยกับตัวเองว่า "มันเป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ มีผิดพลาดและบกพร่อง การไปคาดหวัง หรือโกรธเกลียดเขามันไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา"

            นอกจากนั้นเราสามารถหามือที่สามมาช่วยได้ ในตัวอย่างของฟรอยด์เขาขอผู้อาสาไปเจรจาให้ ในสถานการณ์จริงเราอาจจะเล่าความไม่สบายใจต่าง ๆ ให้เพื่อนฟัง หรือเขียนระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา  จากการศึกษา เจมส์ เพนน์เบเกอร์ (James Pennebaker) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส พบว่าคนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ของตัวเองจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น หดหู่น้อยลง ภูมิคุ้มกันมากขึ้น และมีความดันโลหินน้อยลงอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งมันยังทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้นอีกด้วย 

            การเขียนระบายความรู้สึกสอดคล้องกับความคิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่อธิบายการระบายความรู้สึกหรืออารมณ์ (Catharsis) ว่าเป็นการที่เราแสดงอารมณ์ออกมา "ระบายความอัดอั้นในอก" หรือ "ปล่อยอารมณ์ร้อน" ดังนั้นตั้งเครื่องจับเวลาไว้ 15-20 นาที เปิดสมุดโน๊ตหรือเปิดหน้าเอกสารใหม่ในคอมพิวเตอร์ (สามารถอัดเสียงพูดได้) จากนั้นเริ่มเขียนประสบการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ เดือน หรือปีที่ผ่านมา ไม่ต้องกังวลว่ามันอ่านยากไปหรือไม่ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเยิ่ยเย้อ หรือจะปะติดปะต่อกันไม่ได้ ให้เขียนอย่างอิสระตามใจพาไป เพราะเราเขียนเพื่อตัวเอง ไม่ได้เขียนให้ใครอ่าน 

            ลองทำแบบนี้ไปสัก 3-4 วัน จากนั้นให้โยนกระดาษเหล่านั้นทิ้งไปหรือลบไฟล์ทิ้งไปเลย ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้อ่านใหม่อีกรอบ เพราะประเด็นมันอยู่ที่ว่าตอนนี้ความคิดก้อนนั้นได้ออกจากหัวของเราไปสู่หน้ากระดาษแล้ว มันเป็นการเปิดกระบวนการที่เราจะสามารถก้าวออกมาจากประสบการณ์ที่เลวร้าย เพื่อเปิดรับมุมมองใหม่แล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและยอมรับมัน

            รับรู้ว่าประสบการณ์เลวร้ายนั้นมีอยู่จริง มันเป็นเรื่องจริง มันเคยเกิดขึ้นจริง และรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นว่า เรารู้สึกอย่างไร เสียใจมากแค่ไหน เศร้ามากแค่ไหน อยากร้องก็ร้องออกมา อยากโกรธก็แสดงความโกรธออกมา อย่าพยายามเก็บกดอารมณ์ของตัวเอง เพราะว่าในความจริงแล้วอารมณ์เหล่านั้นมันไม่เคยหายไป สักวันหนึ่งมันก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี หลังจากที่รับรู้ถึงเหตุการณ์นั้น และรับรู้อารมณ์ของตัวเองแล้ว เราจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจและยอมรับมันได้ในที่สุด 

            สุดท้ายเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเหตุการณ์ใด ๆ ได้จนกว่าเราจะยอมรับในสิ่งที่ดำรงอยู่ตอนนี้เสียก่อน การยอมรับความจริงคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำหากต้องการความเปลี่ยนแปลง เราต้องเข้าใจและยอมรับว่าโลกใบนี้มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถอยู่กับมันได้อย่างสันติสุขเพียงแค่เราเลิกที่จะเปลี่ยนแปลงมันให้ได้ การยอมรับความจริงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดในการเผชิญหน้ากับปัญหา เมื่อเรารับรู้และยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว จากนั้นเราจะต้องระบายมันออกมา ลงในกระดาษหรือเล่าให้คนใกล้ชิดหรือนักจิตวิทยาฟังก็จะสามารถทำให้เราเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
แล้วเราจะไม่เก็บกดปัญหาลงไปเพื่อกลายเป็นระเบิด 
กลับขึ้นมาทำร้ายเราในท้ายที่สุดได้สำเร็จ
อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

กิติกร มีทรัพย์. (2554). พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ:  สมิต.

คาลอส บุญสุภา. (2560). กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism). https://sircr.blogspot.com/2017/12/defense-mechanism.html

คาลอส บุญสุภา. (2560). Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ. https://sircr.blogspot.com/2017/12/id-ego-superego-sigmund-freud.html

คาลอส บุญสุภา. (2564). การระบายความรู้สึกเพื่อปลดปล่อยตนเอง. https://sircr.blogspot.com/2021/07/blog-post_18.html

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2563). หนักแค่ไหนก็ไหวถ้าใจแข็งแรง. นนทบุรี: อมรินทร์พริ้นติ้ง.

เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. (2560). จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:  สมิต.

ความคิดเห็น