ระดับของจิต (The Level of Consciousness) โดยซิกด์มัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud): การเปลี่ยนแปลงตลอดกาลของวงการจิตวิทยา
ความคิดหรือความปรารถนาที่ถูกกดทับในจิตใต้สำนึกสามารถปรากฏขึ้นมาในรูปแบบของอาการทางกายหรืออารมณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้
ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนคงเคยเห็นภาพภูเขาน้ำแข็งที่เป็นภาพเปรียบเปรยให้เข้าใจเกี่ยวกับจิตใต้สำนึกได้ง่ายขึ้น ซึ่งผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับระดับของจิตโดยเน้นไปที่จิตใต้สำนึกเป็นหลักและเชื่อมโยงเข้ากับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและปรัชญามาแล้ว ในบทความนี้ผมอยากนำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระดับของจิต ที่ถูกคิดค้นโดย ซิกด์มัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บุคคลสำคัญที่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการที่เรามองจิตใจมนุษย์ไปตลอดกาล
ระดับของจิตแบ่งออกเป็นสามระดับประกอบด้วย จิตสำนึก (Conscious) จิตกึ่งสำนึก (Preconscious) และจิตใต้สำนึก (Unconscious) ได้วางรากฐานสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมและแรงจูงใจที่ซับซ้อนของมนุษย์ ซึ่งระดับทั้งสามเป็นส่วนที่สำคัญในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์
ดังนั้นระดับของจิตไม่ใช่ทฤษฎีแต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของทฤษฎีจิตวิเคราะห์เท่านั้น ในฐานะที่ผมสอนเกี่ยวกับระดับของจิตบ่อย จึงอยากนำเสนอเนื้อหาในส่วนนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจระดับของจิตมากขึ้น และเข้าใจว่าเพราะอะไรทฤษฎีจิตวิเคราะห์จึงเปลี่ยนแปลงวงการจิตวิทยาไปตลอดกาล
ระดับของจิตในทฤษฎีของฟรอยด์
ซิกด์มัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แบ่งจิตใจมนุษย์ออกเป็นสามระดับประกอบด้วย
1) จิตสำนึก (Conscious Mind) เป็นส่วนของจิตที่เรารู้ตัวและกำลังตระหนักรู้ในขณะนี้ จิตส่วนนี้คือความคิดของเรา เป็นสิ่งที่เราสะท้อนคิดจากความรู้สึกหรือมีสิ่งเร้าเข้ามากระทบ ดังนั้นการตีความต่าง ๆ ในขณะที่กำลังรู้ตัวจึงเกิดขึ้นในจิตใจส่วนนี้ รวมไปถึงการตระหนักรู้ถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
2) จิตกึ่งสำนึก (Preconscious Mind) ประกอบด้วยความทรงจำและความคิดที่ไม่ถูกตระหนักรู้ในทันที แต่สามารถเข้าถึงได้เมื่อจำเป็น จิตกึ่งสำนึกจะอยู่ระหว่างส่วนบนของภูเขาน้ำแข็ง และส่วนล่างที่ดำมืดของภูเขานำแข็ง ดังนั้น บางช่วงเวลาเราอาจจะสามารถระลึกถึงความทรงจำบางอย่างที่เราลืม หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่ปรากฏอยู่ในจิตสำนึกในขณะนั้น แต่สามารถเรียกกลับมาได้เมื่อจำเป็น หรือพยายามนึกเรื่องบางเรื่องจนนึกออก รวมไปถึงการหลุดปากในสิ่งที่เราไม่ได้เจตนาออกมา
3) จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind) เป็นแหล่งที่เก็บความคิด ความปรารถนา และความทรงจำที่ถูกกดทับซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมโดยที่เราไม่รู้ตัว จิตใต้สำนึกคือจิตดำมืดที่อยู่ใต้น้ำ และเป็นที่เก็บความคิด ความรู้สึก ความปรารถนา และความทรงจำที่ถูกกดทับเอาไว้ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและประสบการณ์ที่เจ็บปวดหรือไม่สามารถยอมรับได้ในระดับจิตสำนึก ฟรอยด์เชื่อว่าจิตไร้สำนึกมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมและความคิดของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว
จิตใต้สำนึกมักจะถูกเข้าใจผิดว่า คือสิ่งที่เราลืมไปแล้วซึ่งสามารถเรียกกลับขึ้นมาได้ แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึก ต่อให้เราใช้ความพยายามจะนึกถึงมากเท่าไหร่ ก็จะไม่สามารถที่จะนึกถึงได้ หรือแม้แต่ในบางขณะเวลาก็ไม่มีทางที่ความทรงจำต่าง ๆ ที่เราลืมไปแล้วจะกลับขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม จิตใต้สำนึกอาจส่งสัญญาณบางอย่างที่เรารู้สึกหรือกระทำโดยไม่รู้ตัว เช่น ความฝัน ปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่ไม่ได้รับการควบคุม หรือความรู้สึกไม่สบายใจที่ดูเหมือนจะไม่มีสาเหตุ ความคิดหรือความปรารถนาที่ถูกกดทับเหล่านี้สามารถปรากฏขึ้นมาในรูปแบบของอาการทางกายหรืออารมณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้
ฟรอยด์เชื่อว่าการทำความเข้าใจจิตใต้สำนึกสามารถช่วยในการรักษาปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ได้ ผ่านกระบวนการเช่น การวิเคราะห์ความฝัน หรือการพูดคุยเกี่ยวกับความคิดที่ผุดขึ้นมาในขณะรักษา (Free Association) ที่อาจเปิดเผยสิ่งที่ถูกเก็บซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก
แม้ว่าเราจะไม่สามารถดึงสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย แต่การสังเกตและตีความสัญญาณเหล่านี้สามารถช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เราไม่รู้ว่ามีอยู่ การสำรวจจิตใต้สำนึกยังช่วยให้เราเข้าใจถึงแรงจูงใจที่แท้จริงเบื้องหลังพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งสามารถนำไปสู่การเติบโตและการพัฒนาทางจิตใจได้อย่างดี
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์
ระดับของจิตในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ถูกนำมาใช้ในการบำบัดทางจิตเพื่อช่วยผู้ป่วยเข้าใจและจัดการกับปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากจิตไต้สำนึก นอกจากนี้ การวิเคราะห์ความฝันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นักจิตวิเคราะห์ใช้ในการเข้าถึงจิตไต้สำนึกของผู้ป่วย
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ในการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์เน้นที่การวิเคราะห์ความขัดแย้งภายในจิตใจระหว่างสำนึก (Conscious) จิตใต้สำนึก (Preconscious) และจิตไร้สำนึก (Unconscious) โดยเฉพาะปัจจัยที่อาจถูกเก็บซ่อนไว้ในจิตไร้สำนึก
การนำแนวคิดนี้มาใช้สามารถช่วยให้เราเข้าใจว่าพฤติกรรมหรือปัญหาทางอารมณ์ในปัจจุบันมีรากฐานมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กหรือความขัดแย้งทางจิตใจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นการทำจิตบำบัดที่อิงจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์จึงมุ่งเน้นการสำรวจและเผยแพร่สิ่งที่ถูกเก็บไว้ในจิตไร้สำนึกเพื่อแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุปคือ ฟรอยด์เชื่อว่าจิตไร้สำนึกเป็นแหล่งสะสมของแรงขับเคลื่อนพื้นฐาน ความปรารถนา และความขัดแย้งที่ถูกกดทับไว้ ซึ่งมักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมและปัญหาทางจิตใจโดยที่บุคคลไม่รู้ตัว การนำทฤษฎีนี้ไปใช้ในการบำบัด เช่น การวิเคราะห์ความฝันและการสะท้อนความทรงจำในวัยเด็ก สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้และเผชิญหน้ากับปัญหาที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกได้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาความเข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
แม้ว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์จะมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และได้ถูกนำไปใช้ในการบำบัดผู้ป่วยทางจิตใจอย่างแพร่หลายดังกล่าวมา แต่ก็ได้รับการวิจารณ์และการทบทวนจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการหลายคน บางคนเห็นว่าทฤษฎีนี้ขาดความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์และไม่สามารถทดสอบหรือพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ทฤษฎีของฟรอยด์ยังถูกวิจารณ์ว่าเน้นความสำคัญของจิตใต้สำนึกและประสบการณ์ในวัยเด็กมากเกินไป โดยละเลยปัจจัยอื่น ๆ เช่น สังคมและวัฒนธรรมที่อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจจิตใต้สำนึกและการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบำบัดยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแรงจูงใจภายในและการพัฒนาความสามารถในการรับรู้และจัดการกับอารมณ์และความคิดที่ซ่อนอยู่
เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดี
อ้างอิง
Freud, S. (1915). The unconscious. In J. Strachey (Ed. & Trans.), The standard edition of the complete psychological works of Sigmund Freud (Vol. 14, pp. 159-204). Hogarth Press.
Freud, S. (1923). The ego and the id. In J. Strachey (Ed. & Trans.), The standard edition of the complete psychological works of Sigmund Freud (Vol. 19, pp. 1-66). Hogarth Press.
McLeod, S. (2018). Freud's theory of the unconscious mind. Simply Psychology. https://www.simplypsychology.org/unconscious-mind.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น