รูปแบบการเสริมแรง (Reinforcement)

            ในบทความที่แล้วผมได้นำเสนอเกี่ยวกับการเสริมแรงและการลงโทษ พอสังเขปแล้ว หากทุกท่านได้อ่านแล้วก็คงทราบว่า การเสริมแรงให้ผลดีมากกว่าการลงโทษ เนื่องจากเวลาที่เราลงโทษ บุคคลที่เราลงโทษจะต่อต้านเราไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีต และบุคลิกภาพของตัวบุคคล

            ดังนั้นการเสริมแรงจึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา หรือปรับพฤติกรรม ซึ่งการเสริมแรงนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีความแตกต่างกันออกไป ก่อนจะเข้าสู่เรื่องการเสริมแรง ต้องทบทวนหัวใจสำคัญของทฤษฎีการวางเงื่อนไขการกระทำ (Operant Conditioning) ของนักจิตวิทยาชาวอเมริกันกลุ่มพฤติกรรมนิยม Burhus Skinner ก่อน

            หัวใจสำคัญของทฤษฎีนี้คือ พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลพวงมาจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากผลกรรมที่เกิดขึ้น หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงผลกรรมที่เกิดขึ้น ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ยกตัวอย่างเช่น น้องเคขี้เกียจทำงานบ้าน จะทำบ้างไม่ทำบ้าง คุณแม่จึงให้รางวัลกับน้องเคในวันที่เขาทำความสะอาดบ้าน เมื่อคุณแม่ให้รางวัลไปเรื่อย ๆ จนเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งน้องเคก็ขยันทำงานบ้านมากขึ้น เนื่องจากน้องเคเรียนรู้ว่าตนเองจะได้รับรางวัลเมื่อทำความสะอาดบ้าน 

            อย่างไรก็ตามการให้รางวัลนั้นสามารถให้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะให้เป็นครั้ง ให้เป็นช่วงเวลา ให้ทันที หรือให้แบบช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยูู่กับบริบทว่าจะนำไปใช้อย่างไร ก่อนที่จะลงลึกรายละเอียดรูปแบบการเสริม ผมขออธิบายการทดลองกับนิกพิราบใน Skinner's Box ก่อน

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Operant_Conditioning_Involves_Choice.png
            ในการทดลองกับนกพิราบ คล้ายกับการทดลองหนูขาวในบทความที่แล้ว โดยนักวิจัยสร้างกล่องที่ไม่สามารถออกได้ แล้วใส่นกพิราบลงไป เมื่อนกพิราบหิวมันจะจิกไปตามพนังจนกระทั่งจิกโดนปุ่ม อาหารจึงตกลงมา จากนั้นเมื่อมันหิวอีกครั้งหนึ่งมันก็จะจิกกำแพงแบบเดิมจนไปโดนปุ่ม อาหารก็จะตกลงมาเหมือนเดิม มันจึงเรียนรู้ว่าถ้าหากหิวก็ให้ไปจิกปุ่มนี้ที่กำแพง นอกจากนั้น Skinner ยังทำกล่องที่มีรูปแบบการตกของอาหารไม่เหมือนกัน บางกล่องนกพิราบจะได้รับอาหารเป็นช่วงเวลา บางกล่องได้รับอาหารแบบทันที เพื่อจะดูว่าการให้อาหารแบบใดที่นกพิราบตอบสนองมากที่สุด

ตารางเสริมแรง Reinforcement Schedules

            การเสริมแรงแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ (ผมจะใช้คำว่าเป้าหมายแทนตัวบุคคล เนื่องจากเราสามารถปรับพฤติกรรมสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน)

            1. การเสริมแรงทุกครั้ง (Continuous) หมายถึง การเสริมแรงทุกครั้งที่เป้าหมายแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อให้พฤติกรรมที่พึงประสงค์แสดงออกมาบ่อยขึ้นหรือสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น พ่อชมลูกทันทีที่หยิบการบ้านขึ้นมาทำ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมบางอย่างเสริมแรงทุกครั้งอาจไม่แสดงออกอย่างสม่ำเสมอ จำเป็นต้องใช้การเสริมแรงแบบอื่น

            2. การเสริมแรงแบบครั้งคราว (Intermittent) หมายถึง การเสริมแรงเป็นบางครั้งตามจำนวน หรือระยะเวลา ที่พฤติกรรมพึงประสงค์เกิดขึ้น เพื่อให้พฤติกรรมพึงประสงค์แสดงออกมาบ่อยขึ้นหรือสม่ำเสมอมากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังต่อไปนี้

                2.1 การเสริมแรงตามช่วงเวลาที่แน่นอน (Fixed - Interval) เป็นการเสริมเมื่อเป้าหมายแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้ในช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น นักเรียนใช้เวลาอ่านหนังสือ 30 นาที คุณครูจึงให้รางวัล หรือ ลูกออกกำลังกายครบ 50 นาที คุณแม่จึงให้รางวัล

                2.2 การเสริมแรงตามช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน (Variable - Interval) เป็นการเสริมแรงเมื่อเป้าหมายแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในช่วงเวลาที่ไม่ได้กำหนดไว้แน่นอน เป้าหมายจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะต้องทำไปนานแค่ไหนถึงจะได้รางวัล เช่น พนักงานบริษัทที่นาน ๆ ทีจะได้รับคำชมจากหัวหน้าบริษัท 

                2.3 การเสริมแรงตามจำนวนครั้งที่แน่นอน (Fixed - Ratio) เป็นการเสริมเมื่อเป้าหมายแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้ครบถ้วน เป็นจำนวนครั้งที่แน่นอน เช่น อ่านหนังสือ ครบ 3 เล่ม ก็จะได้รางวัล หรือ ซื้อสินค้าครบ 5 ชิ้น ได้รับของแถม

                2.4 การเสริมแรงตามจำนวนครั้งที่ไม่แน่นอน (Variable - Ratio) เป็นการเสริมแรงเมื่อเป้าหมายแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์เป็นจำนวนครั้งที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้ เป้าหมายจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า จะต้องแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์กี่ครั้งถึงจะได้รับรางวัล เช่น ครูให้รางวัลกับนักเรียนที่แสดงความคิดเห็นในห้องเรียนเป็นจำนวนครั้งที่ไม่แน่นอน

            อย่างไรก็ตามรูปแบบการเสริมแรงนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น อยากให้ลูกอ่านหนังสือนานขึ้น จึงต้องเลือกใช้การเสริมแรงที่กำหนดช่วงเวลาเอาไว้แน่นอน เช่น 30 นาที หรือ 60 นาที หรือการเสริมแรงเป็นจำนวนครั้งเช่น อ่านหนังสือ 30 หรือ 50 หน้า หรือจะไม่กำหนดจำนวนครั้งหรือช่วงเวลาที่แน่นอนก็ได้ เพื่อให้เป้าหมาย (บุคคล) เกิดความคาดหวังขึ้นทำให้กระตุ้นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            ดังนั้นวิธีการเสริมแรงจะใช้แบบไหนก็ไม่มีผิดไม่มีถูก เพียงแต่ให้เมื่อพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ก็เพียงพอ เพื่อกระตุ้นให้พฤติกรรมนั้นแสดงออกบ่อยมากขึ้น สม่ำเสมอมากขึ้น แต่รางวัลที่ให้ก็ต้องมีความเหมาะสมด้วย เพราะว่าสิ่งเสริมแรงมีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
            1. การเสริมแรงด้วยอาหาร คือชนิดของการเสริมแรงที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของบุคคลได้ทันที โดยจะต้องเลือกชนิดของอาหารให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะเสริมแรง เช่น ถ้าเป้าหมายเป็นเด็กก็อาจจะให้ขนม ลูกอม ปีโป้ แต่ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น แฟนก็อาจจะพาไปเลี้ยงบุฟเฟ่ก็ได้เช่นเดียวกัน

            2. การเสริมแรงด้วยกิจกรรม คือการให้สิ่งเสริมแรงกับบุคคลเป็นช่วงเวลาทำกิจกรรมที่เขาชอบ โดยจะต้องคำนึงถึงความชอบของบุคคลด้วย เช่น เด็กบางคนอาจชอบเล่นเกม ก็สามารถเสริมแรงด้วยการให้เล่นเกมหลังจากที่เขาทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ออกมา หรือ หากเป็นผู้ใหญหน่อยก็อาจจะให้ดูซีรี่ย์ที่ชอบก็ได้ เช่นกัน

            3. การเสริมแรงด้วยเบี้ยอรรถกร คือการเสริมแรงโดยให้สิ่งที่บุคคลสามารถนำไปแลกเป็นของรางวัลอื่น ๆ ได้ เป็นวิธีการที่ต้องการให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ออกมาหลาย ๆ ครั้ง ด้วยการให้ดาว เบี้ย คะแนน คูปอง สติกเกอร์ เพื่อนำไปแลกรางวัลใหญ่หรือให้เงินไปเลยก็ได้เช่นเดียวกัน วิธีนี้จะมีประโยชน์เพราะไม่ต้องเปลืองเงินมาก สามารถให้ได้หลายครั้ง เช่น คุณครูให้สติกเกอร์กับนักเรียนในสมุดบันทึกพฤติกรรม โดยกำหนดว่าหากครบ 10 ครั้งสามารถนำไปแลกของเล่นได้ 

            4. การเสริมแรงทางสังคม เป็นการเสริมแรงโดยให้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การให้คำชม การแสดงออกด้วยท่าทาง การยิ้ม ชูนิ้วโป้ง ปรบมือ พยักหน้า เช่น หัวหน้าชมลูกน้องว่าเก่งมาก หลังจากที่เขาสามารถทำงานได้สำเร็จ หรือ คุณครูปรบมือให้นักเรียนที่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ผมแนะนำเป็นพิเศษเพราะ สามารถทำได้หลายรูปแบบ และไม่เปลือง หากชมบ่อยแล้ว ก็สามารถชูนิ้วโป้งแทน ปรบมือแทน หรือ ยิ้มแทนได้

            การเสริมแรงที่ดีนั้นจำเป็นต้อง สังเกต ใกล้ชิด เข้าใจเป้าหมายที่เราจะเสริมแรงให้ดีเสียก่อน เพื่อให้การเสริมแรงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากให้ในสิ่งที่เขาไม่พึงปรารถนา พฤติกรรมพึงประสงค์ที่เราต้องการก็อาจจะไม่เกิดขึ้นบ่อยอย่างที่เราคาดหวังไว้ และควรเสริมแรงหลาย ๆ รูปแบบ กล่าวคือสามารถให้รางวัลพร้อมกับชื่นชมได้ หากเป็นเด็กก็สามารถให้เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อฝึกนิสัยการออมเงินก็ได้ หรือจะให้เป็นดาวเอาไว้เพื่อมาแลกเป็นสิ่งของก็ได้ สามารถทำร่วมกับการวางเงื่อนไขโดยการทำข้อตกลงเอาไว้ ว่าถ้าเขาทำสำเร็จตามที่ตกลงกันเขาจะได้อะไรบ้าง เพื่อให้เขาได้กำหนดเป้าหมาย และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ 

อ้างอิง

Cherry, K. (2021). What Is a Skinner Box?. https://www.verywellmind.com/what-is-a-skinner-box-2795875

Cherry, K. (2020). How Reinforcement Schedules Work. https://www.verywellmind.com/what-is-a-schedule-of-reinforcement-2794864

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเสริมแรงและการลงโทษ (B.F.Skinner). https://sircr.blogspot.com/2021/05/bfskinner.html

สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ความคิดเห็น