ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน (Psychosocial Development)

        นิทานเจ้าหมีวินนี่ เดอะ พูห์ ถูกสร้างโดย อเลน มิลน์ (Alan Milne) เขาใช้ตุ๊กตารูปสัตว์ต่าง ๆ ของ คริสโตเฟอร์ โรบินส์ ลูกชายคนเดียวของเขา ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เปี่ยมไปด้วยปรัชญาในการดำรงชีวิตมาตลอดเกือบร้อยปี เขาเติบโตมาอย่างไร มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง อะไรที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ 

        มิลน์เติบโตมาในบ้านที่อบอุ่นเขาเป็นน้องคนเล็ก และมีพี่ชายสองคนที่อายุไล่เรียงกัน พวกเขาเติบโตในโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงของลอนดอน โดยมีพ่อของพวกเขาเป็นครูใหญ่ของที่นั้น โรงเรียนของพ่อเป็นเหมือนสวรรค์ เมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่นที่เข้มงวดและมีวิธีการทำโทษเด็กคนอื่นที่รุนแรง อีกทั้งยังมีสภาพเป็นอยู่ที่ทารุณ (ปลายศตวรรษที่ 19) แต่ที่นี้มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย คุณครูใจดีมีเมตตา และมีกฎห้ามตีเด็ก ซึ่งทำให้แตกต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างสิ้นเชิง

        มิลน์จึงเติบโตมาด้วยความรัก รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เหตุผลที่โรงเรียนไม่ตีเด็ก และทำให้เด็กมีความสุข พ่อเขาให้เหตุผลว่า โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ขายความรู้แต่ควรเป็นที่ให้ความสุขแก่เด็ก ๆ และสอนให้เด็กคิดเป็นมากกว่าท่องบทเรียน อย่างไรก็ตามบ้านของเขาก็ไม่ได้ร่ำรวยถึงแม้พ่อจะเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน แต่เขาเป็นคนที่ทำให้เด็ก ๆ ที่บ้านเป็นคนรักการอ่าน รักธรรมชาติ รักสัตว์ มองชีวิตผ่านความสดใสและอารมณ์ขัน และด้วยนิสัยการรักการอ่านของเขาทำให้เขาได้ลองอ่านวรรณกรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้นเขายังมีโอกาสได้เรียนกับ H.G.Wells ซึ่งเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงในด้านนิยายวิทยาศาสตร์ ครูคนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเป็นนักเขียน แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กที่เรียนคณิตศาสตร์ได้เก่งก็ตาม

        ด้วยความที่เป็นครอบครัวที่อบอุ่น อยู่โรงเรียนที่มีครูใจดี มีเมตตา มีบุคคลที่เป็นแรงบัลดาลใจที่ทำให้เกิดเป้าหมายในอนาคต พ่อของเขามักจะสอนว่าการเรียนเก่งไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่การรู้จักคิด สุขุม รอบคอบ รู้จักไตร่ตรอง จะทำให้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสามารถมองเห็นความเป็นจริงได้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างเขาได้ถ่ายทอดลงมาในหนังสือวินนี่ เดอะ พูห์ ซึ่งเป็นนิทานหมีที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

        จากประวัติของ อเลน มิลน์ (Alan Milne) ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าเขาเติบโตมาโดยมีองค์ประกอบของชีวิตที่ยอดเยี่ยมมาก จึงเป็นเหตุผลที่ผมเลือกมาเป็นตัวอย่างก่อนที่ผมจะเข้าทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) ทฤษฎีนี้จะอธิบายถึงพัฒนาการตั้งแต่ทารกจนถึงวัยชรา ซึ่งในแต่ละช่วงอายุ มนุษย์จะมีค่านิยมและหน้าที่แตกต่างกัน หากเขาหรือคนรอบตัวสามารถตอบสนองได้ตรงความตรงกับค่านิยมของบุคคลในขั้นนั้น เขาก็จะได้รับประสบการณ์เชิงบวก ในทางกลับกันหากคนรอบตัวไม่สามารถตอบสนองความต้องการค่านิยมและหน้าที่ในแต่ละขั้นพัฒนาการได้ เขาก็จะมีประสบการณ์เชิงลบเกิดขึ้น และสิ่งที่น่ากลัวก็คือหากเริ่มต้นด้วยประสบการณ์เชิงลบ พัฒนาการอื่น ๆ ก็มักจะมีประสบการณ์เชิงลบตามไปด้วย 

        เนื่องจากทฤษฎีนี้ อิริคสัน ได้รับอิทธิพลมาจาก ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ทฤษฎีนี้จึงให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งจะส่งผลถึงอนาคตของบุคคลนั้น อย่างไรก็ตามถึงแม้อิริคสันจะเป็นนักจิตวิเคราะห์เช่นเดียวกับฟรอยด์ แต่เขาไม่ได้เชื่อฟรอยด์เสียทั้งหมด เนื่องจากฟรอยด์คิดว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการทางเพศ แต่อิริคสันให้ความสำคัญที่สังคมรอบตัวของบุคคลด้วย จึงไม่เห็นด้วยว่าพฤติกรรมของมนุษย์หรือปัญหาของมนุษย์เกือบทั้งหมดจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนั้น ซึ่งทำให้อีริคสันเป็นหนึ่งในนักจิตวิเคราะห์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มฟรอยด์ใหม่ (Neo-Freudian) โดยเขาได้แบ่งทฤษฎีนี้ออกเป็น 8 ช่วงอายุตามขั้นดังต่อไปนี้

            ขั้นที่ 1 Trust vs Mistrust (ความไว้ใจ หรือ ความไม่ไว้ใจ) อายุตั้งแต่เกิด - 18 เดือน ในขั้นนี้เด็กจะมีหน้าที่ไว้ใจโลก เพราะในช่วงวัยนี้เป็นเป็นวัยที่ทารกไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง จึงต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบตัว เวลาที่ทารกหิวนม หรือขับถ่ายเขาจะรู้สึกมีความหวังว่าตัวเองจะได้รับการเติมเต็มความต้องการ  เช่น การให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อม หากพ่อแม่สามารถเติมเต็มทารกผู้นี้ได้ เขาจะเติบโตขึ้นมาแล้วไว้ใจคนรอบข้าง ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของทารกน้อยได้ เช่น หิวนมร้องไห้ก็ร้องไป ผ้าอ้อมเปียกก็รอไป ไม่มาจับ ไม่มีอุ้มเมื่อทารกร้องไห้ เขาจะเติบโตมาเป็นคนที่ไว้ใจคนอื่นยาก ทำให้มีความก้าวร้าว ชอบตีตัวออกห่างจากผู้อื่น 

            ขั้นที่ 2 Autonomy vs Shame and Doubt (ความเป็นอิสระ หรือ ความอับอาย) อายุตั้งแต่ 2 - 3 ปี ในขั้นนี้เด็กจะมีหน้าที่ทดสอบความสามารถของตนเองและพ่อแม่ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มเดินได้ พูดได้ เขาจะอยากรู้อยากเห็น พยายามจะสำรวจโลกโดยการจับนู้นจับนี้ พยายามรับประทานอาหารด้วยตนเอง พยายามขับถ่ายด้วยตนเอง หากพ่อแม่สามารถปล่อยให้เขาสำรวจ และปล่อยให้เขาได้พยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง เขาก็จะเติบโตเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น พยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองได้ ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่ยอมปล่อย กลัวนั้นกลัวนี้ หรือใช้การดุ ทำโทษ ก็จะทำให้เขารู้สึกอับอายและสงสัยในตนเองว่าเขามีความสามารถหรือไม่ เขาจะไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองเพราะไม่มั่นใจในตนเอง 

            ขั้นที่ 3.Initiative vs Guilt (การเป็นผู้คิดริเริ่ม หรือ ความรู้สึกผิด) อายุตั้งแต่ 3 - 5 ปี เด็กในวัยนี้มีหน้าที่วิ่งเล่น กระโดด จับ บีบ ปา เพื่อพัฒนากล้าวเนื้อมัดใหญ่ คือ ต้นแขน ต้นขา ให้แข็งแรง ทำให้ยืนทรงตัวได้ เดินไม่ล้ม จากนั้นจึงพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก คือนิ้วมือเพื่อให้ได้เนื้อสมองที่ดี เด็กในช่วงวัยนี้จะเหมือนกับในระยะที่ 2 คืออยากทำอะไรด้วยตนเอง แต่ด้วยสมองและกล้ามเนื้อที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้เริ่มมีความคิดมากขึ้น มีการตั้งคำถาม จินตนาการ ทดลองทำสิ่งต่าง ๆ การเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเด็กในวัยนี้ เพราะเป็นการที่ทำให้เด็กได้ฝึกใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นด้วยกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมที่กล่าวมามีส่วนในการพัฒนาสมองสั่งการ (Executive Function) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เขาจะมีการวางเป้าหมายในการเล่น การตั้งคำถาม หากพ่อแม่สามารถตอบสนองค่านิยมของเขา ให้เขาได้เล่นอย่างอิสระ ได้ถาม แสดงความคิดเห็น จินตนาการ เขาจะเติบโตมาเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม ในทางกลับกันหากพ่อแม่ไม่ได้มีเวลาอยู่กับเขา ปฏิเสธไม่ให้เขาได้เล่นในแบบของตัวเอง ดุ ตำหนิเวลาที่เขาแสดงความคิด หรือตั้งคำถามที่ในมุมมองผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าไร้สาระ ก็จะทำให้เขาเติบโตมาเป็นคนที่รู้สึกผิด กลัวผิดพลาด ไม่มั่นใจ 

            ขั้นที่ 4 Industry vs Inferiority (ความขยัน หรือ ความรู้สึกด้อย) อายุตั้งแต่ 6-12 ปี มีหน้าที่เข้าสู่สังคม โรงเรียน เพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น พัฒนาทักษะทางสังคม และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในวัยนี้เขาจะมีความต้องการที่จะทำอะไรอยู่เสมอ มากกว่าอยู่เฉย ๆ มีความพยายามอย่างมาก และภูมิใจเมื่อเขาทำอะไรสำเร็จ โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กในวัยนี้จะอยู่ที่โรงเรียน เขาจึงเล่นกับเพื่อน ชอบคุยกับเพื่อน มีการเรียนรู้เรื่องสังคม แลกเปลี่ยน เจรจา ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกซึ่งทักษะนี้จะเป็นการวางพื้นฐานไปสู่ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นในอนาคต เขาจะแสวงหาความมั่นใจในตนเอง หากครู พ่อแม่สามารถชื่นชมไปที่ความพยายามของเขา เขาก็จะพยายามทำสิ่งนั้นมากขึ้น และจะเกิดความมั่นใจในตนเองเมื่อทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ แต่ในทางกลับกันหากพ่อแม่ ครู ใช้การตำหนิ หรือให้ค่าไปที่ความสำเร็จทางการเรียนอย่างเดียว ก็จะทำให้เด็กที่อาจจะมีพันธุกรรมด้านวิชาการที่น้อยกว่าเด็กคนอื่น รู้สึกด้อยส่งผลให้เขาไม่มีความมั่นใจในตนเอง

            ขั้นที่ 5 Identity vs Role Confusion (มีอัตลักษณ์ของตนเอง หรือ สับสนในบทบาทของตนเอง) อายุตั้งแต่ 12-18 ปี มีหน้าที่ค้นหาตัวเองเพื่อสร้างอัตลักษณ์และบุคลิกภาพ ในช่วงนี้จะเป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและอารมณ์อย่างรวดเร็ว เริ่มมีการเรียนรู้บทบาทของตนเองในสังคม ค้นหาคุณค่าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนิสัยของตนเอง อาชีพที่อยากทำ การเป็นตัวของตัวเอง และด้วยความที่มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่รวดเร็วซึ่งเกิดจากฮอร์โมนทำให้เขามีอารมณ์ฉุนเฉียวยับยั่งชั่งใจยาก หากอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ เขาจะเกิดการต่อต้าน ในขณะเดียวกันเด็กวัยนี้จะชอบจับกลุ่มกับเพื่อนที่มีลักษณะเหมือนกัน เพศ อุดมการณ์ หรือชอบอะไรที่เหมือน ๆ กัน ทำให้เกิดความกลมเกลียวมีความภักดี ซื่อสัตย์ต่อกัน เลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนั้นทั้งความสัมพันธ์ การตั้งคำถามกับค่านิยมของตนเอง การค้นหาบทบาทของตนเองในสังคม ทุกอย่างก็เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเอง ในทางตรงกันข้าม หากเขาไม่มีกลุ่มเพื่อน ไม่ชอบเข้าสังคม ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากความรู้สึกด้อยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากขั้นที่ผ่าน ๆ มา ก็จะเป็นการยากที่เขาจะค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองได้ ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความสับสนในบทบาทของตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีความสำคัญอะไร และถ้าหากพ่อแม่ไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ก็จะทำให้เขาไม่ฟังเหตุผลอะไรก็ตามที่พ่อแม่อธิบาย อีกทั้งยังต่อต้านและทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอีกด้วย ดังนั้นพ่อแม่ควรจะยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีอัตลักษณ์เฉพาะตนเองและมีความสุขต่อไปในอนาคตของเขา

            ขั้นที่ 6 Intimacy vs Isolation (ความใกล้ชิดผูกพัน หรือ ความโดดเดี่ยว) อายุตั้งแต่ 18-40 ปี มีหน้าที่คบหาเพื่อน หรือคนรักที่รู้ใจ เป็นช่วงที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายรู้ว่าเป้าหมายในชีวิตของตนเองคืออะไร มีความรัก แต่คิดจะแต่งงาน หรือมีพันธสัญญาต่อผู้อื่น ซึ่งอาจไม่ได้จำเป็นต้องแต่งงานก็ได้ หากในขั้นนี้บุคคลสามารถลงหลักปักฐานมีความรักที่ดีต่อกันและกันได้ ก็จะมีความสุข และรู้สึกปลอดภัย ในทางกลับกันหากบุคคลหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์ กลัวไม่อยากผูกมัด ก็จะทำให้รู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว รวมไปถึงผู้ที่แต่งงานแต่ไม่สามารถเชื่อมโยงความผูกพันต่อกันและกันได้ ความสัมพันธ์ก็จะคงอยู่ได้ไม่นาน

            ขั้นที่ 7 Generativity vs Stagnation (การทำประโยชน์ให้ผู้อื่น หรือ เห็นแก่ประโยชน์ตนเอง) อายุ 40-65 ปี มีหน้าที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม วัยนี้บุคคลจะห่วงใยเพื่อนร่วมโลก หรือห่วงเยาวชนรุ่นหลัง เขาจะเลี้ยงลูกหรือหลานอย่างดี และขยายไปสู่การตอบแทนสังคม เขาจะทำประโยชน์ที่กว้างมากกว่าในระดับครอบครัว อีกทั้งเค้าจะมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน และมีส่วนร่วมกับองค์กรหรือสังคมมากโดยจะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ในทางกลับกันหากในขั้นก่อน ๆ หน้านี้เค้ารู้สึกว่าตนเองไม่ได้สำคัญ ไม่ได้มีบทบาทอะไร รู้สึกโดดเดี่ยว เค้าจะก็จะกลายเป็นคนที่มุ่งหาประโยชน์ให้กับตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้อื่น อีกทั้งเค้าจะไม่แคร์ความรู้สึก และไม่สนใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะส่งผลถึงใครบ้าง

            ขั้นที่ 8 Ego Integrity vs Despair (ความพอใจในตนเอง หรือ ความสิ้นหวัง) อายุ 65 ปีขึ้นไป มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของจิตใจและชีวิต รวมทั้งเตรียมพร้อมที่จะจากโลกนี้ไป วัยนี้เป็นบั้นปลายชีวิต ทุกคนจะมองย้อนกลับไปยังสิ่งที่ผ่านมา และหากเราพอใจกับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เราก็จะมีความสุข  รู้สึกมีคุณค่า รู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย รู้สึกสมบูรณ์ รู้สึกว่าตนเองมีปัญญาที่จะสามารถถ่ายทอดมันให้กับผู้อื่นได้ ในทางกลับกัน อีริคสัน (Erikson) อธิบายว่า หากเรามองย้อนกลับไป แล้วเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ (ไม่ได้ตอบสนองต่อคุณค่าต่าง ๆ ในแต่ละขั้น หรือไม่ได้ทำหน้าที่ในแต่ละขั้น) เราก็จะรู้สึกไม่พึงพอใจกับชีวิต เขาจะเกิดความรู้สึกว่าสายไปเสียแล้วที่จะย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ จึงเกิดความสิ้นหวังขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์และไม่สบายใจขึ้นมาส่งผลให้บุคคลใช้กลไกป้องกันตนเองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโทษคนอื่น หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง และจะตามมาด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เราเรียกว่า "มนุษย์ป้า" ตรงกันข้ามกับผู้สูงอายุบางคนที่ดูมีปัญญาหลากแหลม ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจเย็น เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตมีค่าจากการที่รู้สึกพอใจกับช่วงชีวิตที่ผ่านมา

            หากผู้อ่านใดท่านที่เคยผ่านหูผ่านตาทฤษฎีนี้มาบ้างอาจจะสังสัยว่าทำไมช่วงอายุถึงไม่ตรงกับข้อมูลอื่น จริง ๆ แล้วอย่าไปใส่ใจเลยครับ เนื่องจากมันมีการเปลียนแปลงไปตามยุคสมัยบ้าง เช่น วัยรุ่นปัจจุบันจะมาเร็วกว่าสมัยก่อน มีการค้นหาตนเอง และมีพฤติกรรมต่อต้านอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ประถมปลายด้วยซ้ำ บางคนอาจจะคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นตั้งแต่อายุ 30 เลยก็ได้ หรือบางคนอาจจะมองย้อนกลับไปตลอดชีวิตที่ดำเนินมาตั้งแต่อายุ 40 เลยก็ได้ ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับยุคสมัย วัฒนธรรม และปัจเจกบุคคล 

            ทุกท่านจะเห็นว่าหากช่วงแรก ๆ บุคคลสามารถทำได้ตามหน้าที่หรือค่านิยมในแต่ละขั้นได้ เขาจะประสบความสำเร็จในขั้นต่อ ๆ ไป เหมือนอเลน มิลน์ (Alan Milne) ที่อยู่กับครอบครัวของครูที่เชื่อในการให้ความสนุก และความเมตตามากกว่าการใช้วิธีที่เข้มงวดหรือมีการทำโทษ สามารถเล่นได้อย่างมีอิสระ ทำให้เขามีความมั่นใจในตนเองเมื่อเขาเติบโตขึ้นมา และมีความคิดริเริ่มจนสามารถสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกได้ ดังนั้น ในขั้นนี้พ่อแม่จึงควรให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ อ่านนิทานให้ฟัง ตอบคำถามในสิ่งที่เขาถาม ให้เขาได้แสดงความคิดเห็น มากกว่าการบังคับให้ลูกเรียน อ่าน หรือใช้มุมมองของความเป็นผู้ใหญ่เข้ามาควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของเขา และการที่เขาสามารถเข้าโรงเรียนที่เน้นความเมตตามากกว่าความเข้มงวดได้ ก็ทำให้เขามีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นไปเรื่อย ๆ อีกทั้งยังไม่รู้สึกด้อยกว่าเพื่อนคนอื่นอีกด้วย

            ดังนั้นถ้าเราสามารถตอบสนองหน้าที่และค่านิยมในแต่ละขั้นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เช่น ดูแลเอาใจใส่เด็กทารก ช่วยเหลือทุกอย่างที่เขาต้องการ เขาก็จะเติบโตอย่างมีความหวัง และการที่เราปล่อยให้เด็กมีอิสระที่จะสำรวจ เล่น ตั้งคำถาม จินตนาการ พูด ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กตามวุฒิภาวะทางร่างกายของเด็กคนนั้น ให้เขาได้ใช้ความพยายามเต็มที่ มีการตั้งเป้าหมายและทำสำเร็จ ก็จะทำให้เขาเติบโตไปเป็นคนที่มั่นใจในตนเอง ไม่กลัวผิดพลาด กล้าแสดงความคิดเห็น มีความคิดสร้างสรรค์ และถ้าหากเราให้วัยรุ่นสามารถค้นหาตนเองได้ มีเพื่อน แต่ยังให้ความสำคัญของครอบครัวอยู่ ไม่ห้ามเยอะ เข้าใจ รับฟัง ปล่อยบ้าง ห้ามบ้าง มอบทรัพยากรในการที่จะทำให้เขาเรียนรู้โลกให้มากขึ้น เขาก็จะสามารถค้นหาตนเองได้เจอ ซึ่งมันก็จะทำให้เขาเติบโตอย่างก้าวหน้า มีความรักที่ดี ทำงานที่เขาชอบ เปลี่ยนบ้าง สลับบ้าง ไม่เป็นไร ก็จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต พร้อมกับตอบแทนสังคม ดูแลครอบครัวตนเองอย่างดีเหมือนกับที่พ่อแม่ของเขาเคยทำ และสุดท้ายเขาก็จะพอใจกับชีวิต ภูมิใจกับตนเอง เมื่อเขาเข้าสู่วัยชราและมองย้อนกลับมาที่อดีตของตนเอง

สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ

อ้างอิง

Cherry, K. (2020). Erik Erikson's Stages of Psychosocial Development. https://www.verywellmind.com/erik-eriksons-stages-of-psychosocial-development-2795740

McLeod, S. (2018). Erik Erikson's Stages of Psychosocial Development. https://www.simplypsychology.org/Erik-Erikson.html

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2563). หนักแค่ไหนก็ไหวถ้าใจแข็งแรง. นนทบุรี: อมรินทร์พริ้นติ้ง.

สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2552). วันเยาว์ของคนใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

สิทธิโชค วรานุสันติกุล. (2546). จิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น

ความคิดเห็น