แนวทางการวางแผนเลือกอาชีพ 5 ขั้น

            ผมอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนทั่วไปหรือนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่สามารถนำแนวทาง 5 ขั้นนี้ไปใช้ในการวางเป้าหมายทางด้านอาชีพของตนเอง เนื่องจากเศรษฐกิจ และการทำงานหลังโควิด-19 ผ่านไปแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย เช่น การทำงานที่บ้านจะมากขึ้น การใช้แรงงานไฮเทค และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น บริษัทต่าง ๆ อาจจะปรับให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น (Lean) และทำให้คล่องตัวมากขึ้น (Agile) ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงาน และผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อเด็กจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่อาชีพในอนาคต

            ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุมของ World Economic Forum (WEF) ปี 2020 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ความต้องการอาชีพ และทักษะแห่งอนาคตที่ประเทศต่าง ๆ ต้องการ ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา มีความต้องการอาชีพนักการตลาดออนไลน์ นักวิเคราะห์ข้อมูล และวิศวกร AI มากขึ้น ในขณะที่ พนักงานบัญชี พนักงานฝ่ายบุคคล มีความต้องการลดลง และยังมีความต้องการทักษะต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การรับมือความเครียดและความยืดหยุ่น การคิดวิเคราะห์และความคิดเชิงนวัตกรรม 

            ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอแนวทางการวางแผนอาชีพ 5 ขั้นเพื่อให้คนทั่วไปและนักเรียนสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกอาชีพของตนเอง และเพื่อสามารถปรับตัว ฟันฝ่าวิกฤตและอุปสรรคต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้  อีกทั้งยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังตัดสินใจเลือกเรียน สาขาในมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับอาชีพที่ชอบ หรือนักศึกษาที่กำลังจะติดสินใจเลือกอาชีพ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและจำเป็นต้องมองหาสิ่งใหม่ ๆ ก็สามารถนำแนวทาง 5 ขั้นนี้ไปใช้ได้เช่นเดียวกัน

แนวทางการวางแผนเลือกอาชีพ

            ผมเคยมีความทรงจำอยู่บ้างเกี่ยวกับวิชาพัฒนาการทางด้านอาชีพตอนที่เรียนปริญญาโท ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยต่าง ๆ ที่มีพัฒนาการแตกต่างกันออกไป  ในช่วงวัยเด็กเขาจะเลือกอาชีพแบบใช้จินตนาการ เพ้อฝัน เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเลือกอาชีพตามความเป็นจริงมากขึ้น เลือกอาชีพที่เป็นทีสังคมยอมรับมากขึ้น หรือแนวทางการเลือกอาชีพที่ต้องตัดสินใจเลือกให้สอดคล้องกับบุคลิกภาพของตนเอง โดยคัดเลือกอาชีพมาจำนวนหนึ่งเพื่อพิจารณา และการประนีประนอมอาชีพกับความต้องการของตนในครอบครัว ผมได้กลั่นกลองทฤษฎีต่าง ๆ มาเป็นแนวทางการวางแผนเลือกอาชีพดังต่อไปนี้

            1. ค้นหาตนเอง ในขั้นแรกนี้เราจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง โดยสามารถค้นได้จากภายในตนเองและผู้อื่น 
                1) สามารถค้นได้จากตนเอง โดยการสังเกตความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง หรือใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาเพื่อให้เข้าใจลักษณะเฉพาะของตนเองในด้านต่าง ๆ ซึ่งแบบทดสอบที่คนมักจะนำมาใช้กันคือ แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 แบบ (MBTI) หรือแบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อค้นหาอาชีพที่ปรับมาจากแนวคิดของ John Holland อีกทั้งยังสามารถตั้งคำถามกับตนเอง เช่น วิชาที่ชอบและไม่ชอบ เราเป็นคนนิสัยอย่างไร ถนัดอะไร มีทักษะอะไรที่โดดเด่น  

                2) สามารถค้นได้จากผู้อื่น โดยใช้การตั้งคำถาม สัมภาษณ์ผู้อื่นว่าเขาคิดกับเราอย่างไร เราเป็นคนนิสัยแบบไหน บุคลิกภาพแบบไหน ควรถามจากบุคคลในต่างบริบท เช่น เพื่อน ครู พ่อ แม่ พี่ น้อง หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาความสอดคล้องกัน 

            หลังจากนั้นจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ว่าทำไมฉันถึงมีบุคลิกภาพแบบนี้ โดยสามารถย้อนกลับไปนึกถึงตนเองในอดีตและพยายามทำความเข้าใจตนเองว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะอะไร เช่น การอบรมสั่งสอน นิสัยเหมือนกับพ่อแม่ (พันธุกรรม) หรือสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรา และสุดท้ายจะต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะได้ผลข้อมูลที่ไม่น่าพึงพอใจนัก แต่การที่เราสามารถยอมรับในสิ่งที่เราเป็นจะทำให้เราเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งได้ (ผมเคยเขียนบทความค้นหาตนเองอย่างละเอียดผู้อ่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้) 

            2. คัดเลือกอาชีพ หลังจากที่เราค้นหาตนเองจนได้ข้อมูลมาพอสมควรแล้ว จากนั้นเราต้องพิจารณาคัดเลือกอาชีพต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องกับตัวตนเองของเรา ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว ใช้ความคิดใคร่ครวญเยอะ อยากจะเลือกกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ความคิด โดยที่ไม่ต้องพบปะกับผู้คนมากนัก เช่น นักเขียนคอนเทนต์ นักวิทยาศาสตร์ นักสถิติ ฯลฯ หากเราเป็นคนที่ชอบพูดคุยกับผู้อื่น มองโลกในแง่บวกเป็นส่วนใหญ่ อาจจะเลือกอาชีพที่ต้องสื่อสารเยอะ เช่น นักการตลาด นักข่าว พนักงายขาย ฯลฯ โดยเลือกอาชีพมาประมาณ 5-10 อาชีพหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับบุคคล

            3. ตัดสินใจเลือกอาชีพ หลังจากที่คัดเลือกอาชีพมาจำนวนหนึ่งแล้วจะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจให้เหลือเพียงไม่กี่ตัวเลือก (1-3) ในการพิจารณานั้นจะต้องวิเคราะห์รายละเอียดของงาน เช่น วุฒิการศึกษาที่ต้องการ ทักษะและคุณสมบัติ โอกาสกาวหน้าในการงาน ผลตอบแทนที่ได้รับ  แนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคต ข้อดีข้อเสีย โดยจะต้องเลือกให้สอดคล้องกับค่านิยมของตนเองมากที่สุด เช่น เราอาจมีทักษะในการสื่อสารที่ดี เราจึงเลือกอาชีพนักข่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาชีพนี้จะมีความต้องการน้อยลงจากเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หากเราเป็นทำในแพลตฟอร์ออนไลน์แทนก็จะเป็นที่ต้องการ และมีโอกาสก้าวหน้าที่ดีได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพเราสามารถค้นได้จากอินเทอร์เน็ต หรือถามกับคนที่ประกอบอาชีพนั้นโดยตรง หากโรงเรียนมีการแนะแนวอาชีพ และการพาไปดูงานก็จะมีประโยชน์มากขึ้นในขั้นตอนนี้

            อย่างไรก็ตามในกรณีที่เป็นนักเรียนควรจะนำตัวเลือกทั้งหมดไปเสนอกับผู้ปกครอง ว่าเขามีความเห็นว่าอย่างไร หากผู้ปกครองเห็นด้วย เราก็จะสามารถตั้งเป้าหมายและพัฒนาตนเองอย่างสบายใจ เพราะเราไม่ควรลืมไปว่าบนโลกที่บิดเบี้ยวใบนี้คนทุกคนมีค่านิยมของแต่ละอาชีพที่แตกต่างกัน คนหลายคนมองว่าอาชีพหมอมีศักด์ศรีและได้รับการยอมรับที่สูงมาก แม้ว่าเราจะมีค่านิยมที่แตกต่างกันออกไปแต่หากเราได้รับความกดดันจากคนที่เราผูกพันมากที่สุด (หรือคนที่ทั่วไป) ก็อาจจะทำให้เราเจ็บปวดใจและเป็นทุกข์  ดังนั้นควรเปิดอก เปิดใจให้เข้าใจกับคนรอบข้างเป็นการที่ดี  (ยกเว้นว่าจะเป็นคนที่ภูมิต้านทานสูงมาก เข้มแข็งมากก็อาจจะรับมือได้สบาย)

            4. ตั้งเป้าหมาย เมื่อเราได้พิจารณาตัดตัวเลือกจนเหลือไม่กี่ตัวเลือกแล้ว  เราจะต้องตั้งเป้าหมายในอนาคตของเราแล้วลงมือทัน พร้อมกันนั้นเราต้องสร้างพันธะโดยการบอกกับคนรอบตัวที่สนิทด้วย และมีการประเมินผลเพื่อดูว่าเราได้ดำเนินไปตามเป้าหมายแล้วเพียงใด โดยเป้าหมายแบ่งออกเป็นเป้าหมายระยะสั้น และระยะยาว

                 1) เป้าหมายระยะสั้น เป็นการวางแผนสั้น ๆ ไม่เกิน 1 ปี เช่น หากต้องการประกอบอาชีพอะไรก็ตาม จะต้องรู้ว่าการจะทำงานอาชีพนั้นมีขั้นตอนอะไรบ้าง เช่น จะต้องสอบวิชาอะไรบ้าง จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ทำ Resume อย่างไร วิธีการสัมภาษณ์จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง ในกรณีที่เป็นนักเรียนจะต้องดูว่ามีขั้นตอนการเข้าศึกษาต่ออย่างไรบ้างเช่น Portfolio หรือ ขั้นตอน Admission  

                2) เป้าหมายระยะยาว เป็นการวางแผนโดยพิจารณาอนาคตข้างหน้า โดยมีระยะเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป เช่น ทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพที่ต้องการ โดยพิจารณาว่าอาชีพที่เราเลือกนั้นมีเส้นทางอาชีพอย่างไรบ้าง และต้องการมีทักษะอะไรบ้างในการทำงาน โดยเฉพาะทักษะจำพวก Soft Skills ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือทักษะที่ประเทศต่าง ๆ ต้องการในอนาคตตามข้อมูลของ World Economic Forum (2020) เช่น การรับมือความเครียดและความยืดหยุ่น การคิดวิเคราะห์ ความคิดเชิงนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือการแก้ไขปัญหา ฯลฯ จำเป็นต้องใช้เวลาในการฝึกฝนให้เกิดขึ้น

            5. พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เราต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างและพัฒนาทักษะต่าง ๆ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ การพูดคุยกับคนอื่นเยอะ ๆ หรือการอ่านหนังสือจำนวนมาก ๆ เพื่อเติมจุดในชีวิตให้มากที่สุด ซึ่งสุดท้ายจุดต่าง ๆ จะมาต่อกันเป็นเส้นที่โยงใยกันไปมาซับซ้อน ไม่ใช่เพียงเส้นตรงธรรมดา ๆ ในขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะการเรียนรู้ไม่มีจุดสิ้นสุด สามารถดำเนินไปได้ตลอดชีวิต สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติมได้

            หากเราต้องการเปลี่ยนอาชีพก็สามารถย้อนไปกลับเริ่มต้นตั้งแต่แรกได้อีกครั้ง เพื่อเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด และทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เพราะในท้ายที่สุดแล้วชีวิตของเรามันก็แค่นี้ เป็นเพียงแค่ชีวิตสั้น ๆ การมีความสุขจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลในตัวของมันเอง การที่เราเลือกอาชีพที่ขัดแย้งกับตนเอง จึงมีแนวโน้มที่เราจะทุกข์ใจเป็นส่วนใหญ่ในการดงชีวิต อย่างไรก็ดีมักจะมีคนพูดกันว่า "การประกอบอาชีพที่เรารัก ถึงจะมีความสุข" ผมว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร 
แต่ในโลกปัจจุบันที่มีความเลื่อมล้ำมากมายขนาดนี้ รวมไปถึงความบิดเบี้ยวของโลกใบนี้มันก็ยากที่เราจะประกอบอาชีพที่เราชอบได้จริง ๆ ดังนั้นการหาจุดที่จะมีความสุขในแต่ละวันเท่าที่จะทำได้ ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เรานำมาใช้ได้
            ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่เราจะได้ทำงานที่รักและมีความสุขกับมัน แต่การที่ได้ทำงานที่สอดคล้องเหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เป็นเรื่องที่พอทำได้เช่นกัน โดยสามารถดำเนินไปตามแนวทาง 5 ขั้นที่ผมนำเสนอมา อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับบุคคลว่าจะนำไปใช้อย่างไร ขอให้ทุกท่านมีความสุข และภูมิใจในสิ่งที่ท่านเลือก

อ้างอิง

Smith, D. (2013). How to Think Like Steve Jobs. UK: Michael O' Mara Books.

World Economic Forum. (2020). The Future of jobs report 2020. http://www3.weforum.org/docs/WEF_Future_of_Jobs_2020.pdf

Tiedeman, V & O'Hara, P. (1963). Career Development: Choice and Adjustment. NY: College Board

Gottfredson, S. (1981). Circumscription and compromise: a developmental theory of occupational aspirations. Journal of Counseling Psychology, 28(6), 545-579

คาลอส บุญสุภา. (2564). เทคนิคและวิธีการค้นหาตัวเอง. https://sircr.blogspot.com/2021/06/blog-post.html

ความคิดเห็น