Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ

      เป็นที่คุ้นหูกันสำหรับ Id Ego และ Superego หรือเรียกว่าโครงสร้างบุคลิกภาพซึ่งเป็นแนวคิดของ Sigmund Freud (1856-1939) ซึ่งจะกล่าวถึงฟรอยด์ในภายภาคหน้าอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง เรามักพบเห็นโครงสร้างนี้ในภาพที่มีตัวการ์ตูนที่เวลาจะตัดสินใจ จะมีภูติที่เป็นตัวดี และตัวร้ายมาเป่าหูเช่นภาพด้านล่าง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ id ego superego cartoon

      หรือในเรื่อง Lord of The Ring ที่ Frodo มักจะโดน Gollum เป่าหูให้กระทำในทางที่ผิด และมีการเตือนจาก Sam

      จากทั้งหมดจะเห็นว่า Id Ego และ Superego มีความน่าสนใจ และสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้อย่างง่ายดาย แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดโครงสร้างบุคลิกภาพนั้นมีความลึกลับซับซ้อนอยู่

โครงสร้างบุคลิกภาพ (Structure of Personality)

     Id เป็นบ่อเกิดของพลังดิบ อารมร์ปรารถนา แรงขับสัญขาตญาณที่แสวงหาความพึงพอใจ หน้าที่ของ Id คือการทำให้การดำเนินชีวิตของเราสมปรารถนา ขจัดความตึงเครียดหรือทำการความตึงเครียดลดลงสู่ระดับต่ำ (ความตึงเครียดคือความเจ็บปวดและความไม่สบายใจ) เช่น เมื่อเราเกิดความอยากบุหรี่จนเกิดความเครียดขึ้นมา การที่เราทำตาม Id คือการหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบเราก็จะได้รับความพึงพอใจ แต่ในหลายกรณีการตอบสนองตาม Id มักจะเกิดความขัดแย้ง เช่น หากเราหยิบบุหรี่มาสูบในที่ห้ามสูบ เราอาจเกิดความพึงพอใจ แต่จะเกิดความขัดแย้งภายใน เนื่องจากเราไม่ควรสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ

      Ego เป็นส่วนที่มีเหตุผล เกี่ยวข้องกับโลกความเป็นจริง Ego จะเป็นผู้บริหารบุคลิกภาพทั้งหมดโดยสามารถควบคุม Id และ Superego ไว้ได้ และจัดการความต้องการของตนให้สอดคล้องกับโลกภายนอกอย่างราบรื่น (กิติกร มีทรัพย์, 2554) เมื่อ Ego สามารถจัดการได้อย่างฉลาดแล้วจะเกิดความกลมกลืนอย่างราบรื่น แต่ถ้า Ego เอียงมาทาง Id มาเกินไปก็จะเกิดปัญหาในการปรับตัว

      Superego เป็นส่วนที่เป็นมโนธรรม บรรทัดฐานของสังคมที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นตัวแทนของอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งพัฒนาหรือฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเด็กตามการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่หรือคนรอบข้าง ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด ข้อปฎิบัติเหล่านั้นจะถูกฝังในความทรงจำ (เก็บเข้าไปในจิตใต้สำนึก) เด็กจะเรียนรู้จากการให้รางวัลและการทำโทษจากพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกเช่น ของเล่น อาหาร หรือการทำให้เจ็บปวด ปัจจัยภายใน เช่น คมชมเชยยกย่อง หรือคำตำหนิ ด่าทอ และการเฉยเมย หากมีการละเมิดศีลธรรมของ Superego จะเกิดการลงโทษซึ่งทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ความเครียด หรืออาจส่งผลต่อความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ ในทางตรงกันข้าม หากเราทำตามหลักศีลธรรมจะส่งผลให้ Superego เกิดความปลาบปลื้ม ภาคภูมิ

      ทั้ง 3 ระบบนี้มีความสัมพันธ์กัน (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2560) Ego มักปฏิบัติการเป็นตัวชนระหว่าง Id กับ Superego ซึ่ง Superego มักเผชิญหน้าด้วยหลักธรรมราวกับเป็นผู้เคร่งครัดตามหลักมโนธรรม ค่านิยมของสังคม คำสั่งโดยส่วนมากจะออกมาในรูปของการปฏิเสธ (ห้ามทำ) เป็นคำขาดโดยไม่มีเหตุผลซึ่งโดยส่วนใหญ่ Superego จะเป็นส่วนที่ไร้สำนึกเนื่องจากอิทธิพลต่าง ๆ ในชีวิตเราโดยส่วนใหญ่เราจะลืมมันไป ส่วนที่จำได้ก็คือส่วนที่เป็นจิตสำนึก ส่วนที่จำไม่ได็ก็คือส่วนที่ไร้สำนึก

      การ Balance (ถ่วงดุล) ของ Id Ego และ Superego มีคนนิยามกันเป็นต่าง ๆ มากมาย ว่าตาชั่งบ้าง หรือมีภูติฝ่ายดีและฝ่ายเลว แต่หากให้เห็นภาพง่าย ๆ มันจะเหมือนกับไม้กระดก

การถ่วงดุลกันระหว่าง Id Ego และ Superego
      เนื่องจากเวลาที่คนสองคนเล่นไม้กระดกกัน หากไม้กระดกถ่วงดุลกันได้มันจะหยุดนิ่งอยู่ตรงกลาง (ทั้งสองฝั่งอาจขยับขึ้นลงบ้างเล็กน้อย) แต่ถ้าหากไม่สมดุลกัน ไม้กระดกจะถ่วงน้ำหนักลงไปที่ฝั่งใครฝั่งหนึ่งไปเลย

      เมื่อ Ego ไม่สามารถรักษาสมดุล (มีข้างใดข้างหนึ่งของไม้กระดกที่กดน้ำหนักลงมา) ระหว่าง Id กับ Superego ได้ Ego จะใช้กลไกการป้องกันตนเอง (Self Defense Mechinism) เพื่อดึงไม้กระดกให้กลับมาสมดุลอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการ "ปลอบใจ" อีกฝ่ายที่พ่ายแพ้ให้ไม่เสียใจ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราไปขโมยของในบ้านคนรวย เนื่องจากเราต้องการเงินมาใช้เพื่อความพอใจ (ไม้กระดกทิ่งน้ำหนักลงไปที่ Id) Ego จึงใช้กลไกป้องกันตนเอง เช่น ไม่เป็นไรหรอก บ้านนั้นรวยไม่เสียหายอะไร หรือเรียกว่า Rationalization (หาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป) ถ้ากลไกนั้นมีน้ำหนักมากพอไม้กระดกจะกลับมาสมดุลอีกครั้งหนึ่งหรืออาจกล่าวได้ว่าสมดุลนั้นเกิดจากภาพลวงตาที่สร้างโดย Ego นั้นเอง

      จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของเราในชีวิตประจำวันล้วนเกิดจากโครงสร้าง Id Ego และ Superego แทบทั้งสิ้น ถ้าหากว่า Id เป็นตัวแทนของชีวิวิทยาของมนุษย์ Ego เป็นผลของปฏิกิริยาตอบโต้ของมนุษย์กับความเป็นจริง Superego ก็คือสิ่งที่กำเนิดมาจากสังคมและเป็นผลพวงจากวัฒนธรรม ประเพณี โดยเฉพาะศาสนา หลักความเชื่อต่าง ๆ อย่างไรก็ตามไม่มีเส้นคั่นกลางระหว่างทั้ง 3 อย่างนี้ เนื่องจากเป็นการทำงานที่ส่งเสริมกัน และขัดแย้งกันและกันอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

สามารถอ่านบทความเรื่อง ความลับของจิตใต้สำนึก ได้ในลิ้งนี้

สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ

อ้างอิง

กิติกร มีทรัพย์.  2554.  พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ:  สมิต

เฉลิมเกียรติ ผิวนวล.  2560.  จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพฯ:  สมิต

ความคิดเห็น