การวางเงื่อนไข (Conditioning)

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนมากคงรู้จักคำว่า "การวางเงื่อนไข" และคงจะนึกถึงสุนัขกับ Ivan Pavlov แน่นอน  ถูกต้องครับ หากจะอธิบายเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขก็ต้องยกทฤษฎีคลาสสิกที่ชื่อว่าการวางเงื่อนไขแบบดั่งเดิม (Classical Conditioning) ขึ้นมาพูดแน่นอน บทความนี้ผมจะอธิบายทฤษฎีนี้ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และวิธีวางเงื่อนไขที่ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้

            เหตุผลที่ผมไม่เขียนชื่อเรื่องไปเลยว่า การวางเงื่อนไขแบบดั่งเดิม ก็เพราะว่าผมอยากจะนำเสนอการประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การตลาด รวมไปถึงการปรับหรือพัฒนานิสัยของตนเอง  แต่ก่อนอื่นเลย ทุกท่านต้องรู้ว่า การวางเงื่อนไข (Conditioning) คือการใช้วิธีการบางอย่างเพื่อทำให้บุคคลหรือสัตว์แสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา กล่าวคือ เป็นการที่เราใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เป้าหมายแสดงพฤติกรรมเป็นไปตามที่เราต้องการ

            หลายคนอาจจะคิดว่าเจ้าของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบดั่งเดิมจะต้องเป็นนักจิตวิทยา หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมแน่นอน แต่ความจริงแล้ว ผู้คิดค้นทฤษฎีดังกล่าว เป็นนักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย ชื่อ Ivan Povlov (1846 - 1936) ผู้ได้รับรางวัลโนเบล จากการวิจัยเรื่องสรีรวิทยาของการย่อยอาหาร ในปี ค.ศ. 1904 เกี่ยวกับการย่อยอาหารของสุนัข โดยเขาสังเกตว่าอาหารของสนุัขไหลออกมาเมื่อผู้ทดลองนำอาหารมาให้ จึงได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาวิธีการทำให้สุนัขน้ำลายไหล ก่อนจะได้รับอาหาร

            Pavlov ได้ทดลองโดยการสั่นกระดิ่งก่อนที่จะนำอาหารมาให้สุนัขทุกครั้ง เพราะสุนัขจะน้ำลายไหล (ตอบสนอง) ทุกครั้งที่เห็นอาหาร (สิ่งเร้า) เพื่อวางเงื่อนไข เมื่อเวลาผ่านไปสักพักจะสามาถทำให้สุนัขน้ำลายไหลได้เพียงแค่สั่นกระดิ่งเท่านั้น เพราะว่าสุนัขเชื่อมโยงระหว่างการสั่นกระดิ่งและการได้รับอาหาร ผู้อ่านบางท่านอาจจะสับสนว่าสิ่งเร้า และการตอบสนอง คืออะไร ผมจะเกริ่นเล็กน้อยก่อนเข้าทฤษฎี

            ในการดำรงชีวิตของเรามีสิ่งเร้าเกิดขึ้นมากมาย โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะไม่ได้ตอบสนองกับมันโดยตรง (แต่อาจจะตอบสนองโดยไม่รู้ตัว) เช่น เสียงคนพูดคุยกันด้านหลัง ป้ายประชาสัมพันธ์ แต่ก็มีบางสิ่งเร้าที่เราตอบสนองโดยตรง เช่น เวลาที่เราแสงไฟสว่างขึ้นมาต่อหน้าเรา แสงไฟคือสิ่งเร้า (Stimulus) การหยีตาคือการตอบสนอง (Response) หรือ การเห็นป้าย Sale (Stimulus) เดินเข้าไปดู (Response) เช่นเดียวกับการทดลองของ Pavlov โดยสามารถอธิบายการทดลองออกมาโดยใช้ภาพดังต่อไปนี้
            Unconditional Stimulus (UCS) = สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนอง/สิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข คือ สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เป้าหมายเกิดการตอบสนอง เป็นสิ่งเร้าที่ไม่จำเป็นต้องวางเงื่อนไข

            Unconditional Response (UCR) = การตอบสนองที่ไม่ได้วางเงื่อนไข คือ การตอบสนองที่ไม่ได้วางเงื่อนไข เมื่อสิ่งเร้าเข้ามากระตุ้น 

            Neutral Stimulus (NS) = สิ่งเร้าที่ไม่ทำให้เกิดการตอบสนอง คือ สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการตอบสนอง

            No Conditional Response (NCR) = ไม่มีการตอบสนอง คือ การไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว

            Conditional Stimulus (CS) = สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข คือ การนำเอาสิ่งเร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการตอบสนอง มาวางเงื่อนไขร่วมกับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนอง (UCS) เพื่อทำให้เกิดการตอบสนองที่วางเงื่อนไข (CR)

            Conditional Response (CR) = การตอบสนองที่วางเงื่อนไข คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อนำเอาสิ่งเร้าที่ไม่ทำให้เกิดการตอบสนอง (NS) มาวางเงื่อนไขร่วมกับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดการตอบสนอง (UCS)

            การทดลองนี้จึงเป็นการนำเอาอาหาร/เนื้อ (UCS) ทำให้สุนัขน้ำลายไหล ซึ่งเป็นการตอบสนองที่ไม่จำเป็นต้องวางเงื่อนไข (UCR) มาคู่กับกระดิ่ง (NS) ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่ไม่ทำให้สุนัขเกิดการตอบสนอง (NCR) หลังจากวางเงื่อนไขมาสักพักหนึ่ง สุนัขก็จะน้ำลายใหลเพียงแค่นำกระดิ่งมาสั่นเพียงอย่างเดียว (CR)

            อย่างไรก็ตามหลังจากวางเงื่อนไขสำเร็จแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับตามมา 4 ประการ

            1. เป้าหมายอาจจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น การทดลองของ John Watson ที่วางเงื่อนไขให้เด็กเกิดความกลัวต่อหนูขาวโดยวางเงื่อนไขคู่กับเสียงดังที่เด็กกลัว ส่งผลทำให้เด็กกลัวสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นสีขาวไปด้วย หรือสุนัขของ Pavlov อาจจะน้ำลายใหลต่อเสียงที่คล้ายกับกระดิ่ง เรียกว่า การแผ่ขยาย (Generalization)

            2. หลังจากที่เป้าหมายตอบสนองแบบแผ่ขยายไปแล้ว เป้าหมายจะสามารถจำแนกถึงความแตกต่างของสิ่งเร้าได้ เช่น เด็กที่กลัวสิ่งที่เป็นสีขาวจะเริ่มจำแนกได้ว่าสีขาว ๆ นั้นไม่ใช่หนู หรือสุนัขจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่ดังขึ้นนั้นไม่ใช่เสียงกระดิ่ง เรียกว่า การจำแนก (Discrimination)

            3. หลังจากที่เป้าหมายเริ่มจำแนกได้แล้วว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข เป้าหมายจะเริ่มเรียนรู้ได้ว่าเสียงกระดิ่งที่ดังขึ้นไม่ได้มาพร้อมอาหารแล้ว สุนัขจึงหยุดน้ำลายไหล เรียกว่า การยุติพฤติกรรม (Extinction)

            4. หลังจากที่เป้าหมายหยุดตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขไปแล้ว สักพักหนึ่งก็อาจจะสามารถฟื้นตัวกลับมาตอบสนองได้อีกครั้งหนึ่ง เช่น สุนัขที่หยุดน้ำลายไหลไปแล้วก็อาจจะกลับมาน้ำลายไหลได้อีกครั้งเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง เรียกว่า การฟื้นตัวของการตอบสนองที่วางเงื่อนไข (Spontaneous Recovery) 

            กล่าวคือเพียงแค่วางเงื่อนไขด้วยสิ่งเร้าอะไรก็ได้ร่วมกับสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองตามธรรมชาติ ก็จะสามารถทำให้สิ่งเร้าอะไรก็ตาม กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองตามธรรมชาติได้ อย่างที่ผมยกตัวอย่างเรื่องป้าย Sale เนื่องจากการบริโภคสินค้าที่ลดราคาเป็นการกระตุ้นความต้องของตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการครอบครองสินค้าที่คุ้มค่า หรือความภูมิใจว่าตนเองซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูก เป็นแรงจูงใจของมนุษย์

            ดังนั้นสามารถนำมาใช้ร่วมกับสินค้าที่โดยปกติผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สนใจ หรือมียอดขายน้อยก็ได้ อย่างไรก็ตาม การวางเงื่อนไขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ บางครั้งการกระทำของเราก็ไปสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น ครูคณิตศาสตร์ที่ชอบดุนักเรียน ลงโทษกับนักเรียน ก็อาจจะวางเงื่อนไขให้เด็กเกลียดวิชาคณิตศาสตร์ ในทางกลับกัน ครูสอนวิชาอื่นที่ใจดี ก็สามารถวางเงื่อนไขให้นักเรียนชอบวิชานั้น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการวางข้อตกลงเรื่องพฤติกรรมของนักเรียน เช่น หากนักเรียนตั้งใจเรียนจะให้รางวัล ซึ่งการวางเงื่อนไขนี้จะได้ผล ถ้าของรางวัลเป็นสิ่งที่นักเรียนชอบจริง ๆ 

            ทุกท่านจะเห็นว่าการวางเงื่อนไขแบบดั่งเดิมนี้สามารถใช้ร่วมกับการวางเงื่อนไขการกระทำของ Skinner ได้ เช่น วางเงื่อนไขให้นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้น โดยการวางข้อตกลงว่า "ถ้าหากนักเรียนตั้งใจเรียนจะให้รางวัล" ซึ่งในขณะที่นักเรียนแสดงความพยายามออกมา คุณครูก็จะสามารถให้คำชมต่อนักเรียนที่แสดงความพยายามนั้น เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความพยายามออกมามากขึ้น จนสามารถประสบความสำเร็จในการตั้งใจเรียนได้และได้รางวัลในท้ายที่สุด 

            ความจริงแล้วโดยส่วนใหญ่การวางเงื่อนไขทั้ง 2 ทฤษฎีก็มักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน จากตัวอย่างเรื่องป้าย Sale ถ้าผู้ขายกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ดี ลูกค้าก็จะรู้สึกว่าตัวเองได้รางวัลที่ถูกใจ สุดท้ายก็จะสามารถทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าสินค้าจะไม่ Sale แล้วก็ตาม ในทางกลับกันถ้าวางเงื่อนไขกระตุ้นให้ซื่อสินค้าที่ไม่ดี ก็จะกลายเป็นว่าลูกค้าได้รางวัลที่ไม่น่าพอใจ ส่งผลให้ลูกค้าไม่กลับมาซื้อสินค้านั้นอีก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการบริการ หรือการซื้อสินค้า ก็จำเป็นต้องวางเงื่อนไขกับสินค้าหรือการบริการที่มีคุณภาพเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อหรือใช้บริการอีกครั้ง ไปจนถึงบอกต่อ 

            นอกจากนั้นประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กยังสามารถวางเงื่อนไขกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวได้ จนส่งผลมาถึงปัจจุบัน การกลัวโดยไร้สาเหตุ (Phobia) เช่น กลัวมะเขือเทศ กลัวที่แคบ หรือการรู้สึกเกลียด ไม่ชอบต่อบางสิ่งแบบไม่มีเหตุผล เช่น เกลียดคนที่มีลักษณะเหมือนกับพ่อของตนเอง เพราะว่าโดนพ่อทำร้ายในอดีต หรือเกลียดวิชาใดวิชาหนึ่ง เพราะโดนครูวิชานั้นในอดีตดุ 

            อย่างไรก็ตามหากประสบการณ์ทางลบในอดีตสามารถวางเงื่อนไขจนไปถึงอนาคตได้ ประสบการณ์เชิงบวกก็สามารถวางเงื่อนไขไปถึงอนาคตได้เช่นเดียวกัน เช่น รักแม่มาก จึงเลือกแฟนที่มีนิสัยคล้ายแม่ตนเอง หรืออยากประกอบอาชีพทนายความเพราะว่าชอบดูภาพยนต์เกี่ยวกับทนายความ หรืออยากเรียนแพทย์เพราะ ตอนเป็นเด็กไปหาหมอที่ใจดีมาก

            การวางเงื่อนไขจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงชรา และสามารถนำไปมาใช้ในการวางกลยุทธิ์ต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การปรับพฤติกรรมให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ การตลาด การบำบัด หรืออื่น ๆ อีกมาย ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับการเสริมแรงและลงโทษได้ อย่างไรก็ดีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี จะสามารถวางเงื่อนไขที่ดีไปสู่อนาคตได้ หากครอบครัวสามารถสร้างสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเด็กที่ดีได้ ก็จะทำให้เขาเติบโตไปโดยมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวก ในทางกลับกันหากสร้างประสบการณ์เชิงลบตั้งแต่วัยเด็ก ก็จะวางเงื่อนไขให้เขามองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบเมื่อเขาเติบโตไป 

อ้างอิง

Susman, D. (2020). Conditioned Response in Classical Conditioning. https://www.verywellmind.com/what-is-a-conditioned-response-2794974

สุรางค์ โค้วตระกูล. (2559). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สิทธิโชค วรานุสันติกุล. (2546). จิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น

ความคิดเห็น