เหตุการณ์ชีวิตเชิงบวก และ เชิงลบ (Positive life and Negative life events)

            เมื่อลองกลับไปคิดดู ช่วงระยะเวลาของชีวิตของคนเรา จะมีความคิดและการมองโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ในวัยเด็กของเรา เสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้เป็นความบริสุทธ์ ความต้องการที่มาจากเนื้อแท้ไม่ได้ผ่านกระบวนการคิด ซึ่งแตกต่างกับช่วงเวลาที่เติบโตขึ้นมาที่เราร้องไห้เพราะความเศร้าโศกเสียใจ เราหัวเราะมาจากกระบวนการป้องกันตนเองจากความเศร้า (ในบางครั้ง)

            ชีวิตจึงมีการเคลื่อนที่ (พลวัติ) อยู่เสมอที่ดำเนินไปพร้อมกับการเปลียนแปลงในทางวิธีคิด และการมองโลก ชีวิตในวัยเด็กเรามักจะมองโลกในแง่บวก จากเหตุการณ์ในชีวิตที่เป็นบวก เมื่อเติบโตขึ้นเราเผชิญกับปัญหาอกหัก เศร้าโศกเสียใจ มุมมองในชีวิตก็เปลี่ยนแปลงจากแง่บวกเป็นแง่ลบ และเมื่อเราเผชิญหน้ากับชีวิตในแง่ลบมาสักพักหนึ่ง เราจึงเริ่มมองว่าชีวิตนั้นในความเป็นจริงประกอบไปด้วยแง่ลบและแง่บวก ผสมผสานกัน เป็นความสมดุลของชีวิตมนุษย์ เรามีสุขก็ต้องมีทุกข์ ขึ้นอยู่กับว่าเหตุการณ์ในชีวิตจะมีบวก หรือลบมากกว่ากัน และที่สำคัญที่สุดคือ เราเลือกที่จะ "จำ" เหตุการณ์ไหนมากกว่ากัน


            เรามาทำความรู้จักเหตุการณ์แง่ลบ และแง่บวกกัน ในเชิงวิชาการโดยจะเริ่มจากแง่บวกก่อน

            นักวิจัยได้ทำการศึกษาเหตุการ์ชีวิตทางบวก (Positive life events) ของนักเรียน ทั้งงานวิจัยระยะสั้น และระยะยาว พบว่า เหตุการณ์ในชีวิตทางบวกประกอบไปด้วย 5 ประเภท ดังต่อไปนี้ (Peterson, Canady and Duncan, 2012)

            1. ประเภทวิชาการ (Academics) เป็นประสบการณ์ทางบวกที่เป็นค่านิยมของคนในสังคม เช่น การได้คะแนนสูงในชั้นเรียน ได้คะแนนสอบมาตรฐานต่าง ๆ สูง ได้รับรางวัลจากการทำงานด้านวิชาการ การได้ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น

            2. ประเภทกิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular activities) ถูกจัดเป็นเหตุการณ์ในชีวิตทางบวก เช่น การได้เป็นนักกีฬา ได้รับรางวัลจากการแข่งขัน การได้ทำงานเป็นทีม ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการเล่นดนตรี หรือกิจกรรมกับเพื่อน การได้เรียนรู้ถึงทักษะส่วนบุคคล การมีร่างกายที่แข็งแรง (กล่าวคือจะต้องเป็นกิจกรรมที่เรารู้สึกภูมิใจและมีความสุข หรือรู้สึกว่าเรามีพรสวรรค์)

            3. ประเภทครอบครัวและเพื่อน (Family/peer) ถูกจัดเป็นเหตุการณ์ในชีวิตทางบวก เช่น การมีเพื่อนที่ดี มีครอบครัวที่ดีคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุน การได้ไปเที่ยวกับครอบครัว การเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัว เช่น พ่อหรืแม่ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับรางวัลอื่น ๆ ที่เรารู้สึกดีไปกับมัน  

            4. ประเภทการเรียนรู้ชีวิตนอกสถาศึกษา (Service) ถูกจัดเป็นเหตุการณ์ในชีวิตทางบวก เช่น การได้ไปร่วมกิจกรรมนอกสถานศึกษาที่ช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เกิดความพึงพอใจในตนเอง

            5. ประเภทชีวิตที่เปลี่ยนแปลง (Profound life changers) ถูกจัดเป็นเหตุการณ์ในชีวิตทางบวก  การเปลี่ยนแปลงในชีวิตเล็กน้อยที่ส่งผลต่อชีวิต เช่น การได้ Smart phone ใหม่ที่มีกล้องหรือ ทำกงานที่ดีกว่าเดิม การได้หนังสือเล่มใหม่ที่อ่านแล้วรู้สึกเปลี่ยนแปลง การได้รถคันแรก การได้บ้านหลังแรก (เป็นสิ่งของ ที่ส่งผลให้เหตุการณ์ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดี)

            หลังจากได้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางบวกแล้วมาดูเหตุการณ์ทางลบกันบ้าง 

            นักวิจัยได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ในชีวิตทางลบ (Negative life events) ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ (Drake, Sheffield and Shingler, 2011)

            1. เหตุการณ์ในชีวิตทางลบที่เป็นอิสระ (Independent negative event) เช่น การที่คนรักตายจากไป การพลัดพรากจากสมาชิกในครอบครัว หรือเกิดภัยทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเสียต่อสิ่งของ หรือคนในครอบครัว

            2. เหตุการณ์ในชีวิตทางลบที่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น (Dependent negative event) เช่น การที่ตนเองถูกไล่ออกจากงาน การหย่าร้าง การเกิดเหตุการณ์โจรปล้นชิงทรัพย์

            3. เหตุการณ์ในชีวิตทางลบที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้อื่น (Inter-personal negative event) เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ ความขัดแย้งระหว่างเพื่อน เพื่อนร่วมงาน และสมาชิกในครอบครัว 

            จากแนวคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตทางบวกและลบ ที่ยกขึ้นมานั้นเป็นตัวอย่างการอธิบายที่มาจากการทำวิจัย ศึกษา ในความเป็นจริงแล้วมีการอธิบายหลากหลายอย่างเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางบวกและทางลบ

            แต่หากสรุปง่าย เหตุการณ์ในชีวิตทางบวกคือ การเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เรารู้สึกดี พอใจ มีความสุข ส่วนเหตุการณ์ทางลบ คือเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่รู้สึก เศร้า เสียใจ หดหู่ใจ สถานใจ เป็นทุกข์ 

            บางคนกล่าวว่าการมีความสุขในชีวิตคือการจดจำเหตุการณ์ที่เป็๋นบวกในชีิวิต ซึ่งก็เป็นการอธิบายที่ไม่ผิด แต่มันเป็นไปได้ยาก เพราะสมองของเราจะเลือกจดจำเรื่องที่เลวร้าย ความทุกข์ เป็นส่วนใหญ่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้มีความสุขในชีวืตได้ วิธีการก็คือ เราจะต้องเข้าใจก่อนว่าชีวิตมีทั้งสุขและก็ทุกข์ มีทั้งเหตุการณ์ทางบวก และเหตุการณ์ทางลบ การมีทั้งสองอย่างชีวิตจะสมดุล 

        ในลำดับต่อไปเราจะต้องสร้างเหตุการณ์ทางบวกเพิ่มเข้าไป ทำให้ตนเองมีความสุข อย่าไปคาดหวังกับชีวิตมาก อย่าไปคาดหวังว่า การอ่านหนังสือเล่มหนึ่งมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทันที อย่าไปคาดหวังว่าการออกกำลังกายจะลดความอ้วนได้ทันที อย่าไปคาดหวังว่าการเล่าเหตุการณ์เศร้าจะได้รับการปลอบประโลม 

เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องส่วนใหญ่ของชีวิต คือการรับมือกับความล้มเหลวและความผิดหวัง 

อ้างอิง

Peterson. J. S., Canady. K., & Duncan. N. (2012) Positive life experiences: A qualitative, cross-sectional, longitudinal study of gifted graduate. Journal for the education of the Gifted, 32(1), 81-99

Deake. K. E., Sheffield. D., & Shingler. D. (2011) The relationship between adult romantic attachment anxity, negative life event and compliance. Perspnality and Individual Differences, 50, 742-746.

ความคิดเห็น