ไลฟ์โค้ช กับ นักจิตวิทยา แตกต่างกันอย่างไร

            เป็นประเด็นทางสังคมที่มีการถกเถียงกันถึงความจำเป็น ความน่าหมั่นใส้ ของไลฟ์โค้ชในประเทศไทย บางคนอาจจะไม่ได้ยอมรับว่าตนเองเป็น "ไลฟ์โค้ช" ตนเองเป็นเพียงแค่ "โค้ช" จริง ๆ แล้วไม่ได้สำคัญว่าคนจะเรียกว่าอะไร แต่มันอยู่ที่พฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้นว่าเขาแสดงออกแบบไหน

            กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นไลฟ์โค้ช หรือ โค้ช ก็ไม่สำคัญ มันสำคัญที่ว่าผลจากการกระทำของพวกเขาเหล่านั้น มันส่งผลอย่างไรบ้าง ก่อนที่ไปถึงประเด็นที่ว่าไลฟ์โค้ช มันดีหรือมีความจำเป็นอย่างไร และ มันแตกต่างกับผู้ที่มีความรู้ทางจิตวิทยาอย่างไรบ้าง เรามารู้จักทั้งไลฟ์โค้ช และนักจิตวิทยาดูกันก่อนดีกว่า

ไลฟ์โค้ช (Life Coach)

            ไลฟ์โค้ช (Life Coach) คือ คนที่ถูกฝึกอบรม ให้สามารถกระตุ้นให้ผู้คนได้มองเห็นสถานการณ์ที่ตนเองกำลังพบเจออยู่ และตามมาด้วยวิธีแก้ปัญหาชีวิตเหล่านั้น หรือวิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่บุคคลปรารถนา ดังนั้นไลฟ์โค้ชจึงมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ในต่างประเทศจะมีสถาบันต่าง ๆ เป็นการให้ใบรับรอง ยกตัวอย่างเช่น NLP (Neuro Linguistic Programming) คือ กระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่นผ่านทางการสื่อสารที่ใช้และไม่ใช้คำพูด และยังเป็นการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลให้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ 

            ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึก โดยจะไปทำงานกับความเชื่อ ทัศนคติของตนเอง กล่าวง่าย ๆ โดยสรุปคือ ใช้การสื่อสารกับตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อ และทัศนคติที่มีต่อตนเอง อันจะส่งผลไปถึงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ปรารถนาเอาไว้ เช่นคำพูดประมาณ "เป็นอะไรก็ได้หากใจเชื่อ" หรือ "ความเชื่อเป็นการเริ่มต้นของการประสบความสำเร็จ" เป็นประโยคที่นิยามถึง NLP ได้ไม่ยาก

            นอกจาก NLP แล้วยังมีศาสตร์ต่าง ๆ อีกมากหมาย ไม่ว่าจะเป็น Positive Psychology คือจิตวิทยาเชิงบวก เป็นหลักการที่แสวงหาความรู้เพื่อเสริมอัจฉริยะภาพด้วยการยึดเอาจุดแข็งของบุคคลมาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เป็นแนวจิตวิทยาของสำนักมนุษย์นิยม กล่าวคือ จิตวิทยาเชิงบวกจะมองมนุษย์ในทางที่บวก "มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตนเอง" "เราสามารถปลุกศักยภาพที่ซ้อนอยู่ออกมาได้" "เราสามารถที่พัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จได้" 

            นอกจากนั้นอาจจะมีไลฟ์โค้ชหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้ใช้ศาสตร์อะไรเลย แต่เพียงแค่บอกให้ผู้อื่น ปฏิบัติตามในสิ่งที่ "ตนเองคิดว่าถูกต้อง" เช่นการพูดถึงวินัย ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้หากคุณมีวินัยในตนเอง และอาจจะยกตัวอย่าง บุคคลในหนังสือ หรือประวัติบุคคลสำคัญมาใช้ เพื่อสนับสนุนมุมมองของตนเอง 

            กล่าวคือ เป็นเพียงแค่การบอกกล่าวมุมมองของตนเองโดยมีตัวอย่าง เพราะทำให้สามารถจูงใจให้ผู้อื่นเชื่อตามที่ตนเองคิด ยิ่งบวกรวมกับความอยากประสบความสำเร็จ ความกระตือรือร้น ความทะเยอทะยานของมนุษย์ส่วนมากแล้ว มันจึงเป็นการไปกระตุ้นความปรารถนาเหล่านี้ ศาสตร์จิตวิทยาทางบวกจึงมีการนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์หลายอย่าง เช่น ความสำเร็จ หรือความสุข ตอนนี้เรารู้จักกับไลฟ์โค้ชพอสมควรแล้ว คาวนี้เรามารู้จักกับนักจิตวิทยาบ้าง

นักจิตวิทยา (Psychologist)
            นักจิตวิทยา คือบุคคลที่ศึกษาศาสตร์ทางพฤติกรรม และกระบวนการทางจิต ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งออกไปหลายแขนง (ยกตัวอย่างพอสังเขป)

            จิตวิทยาการศึกษา/แนะแนว (Education/Guidance Psychology) เป็นศาสตร์ที่นำเอากฎเกณฑ์และทฤษฎีทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนการสอน และส่งเสริม ป้องกัน แก้ไขพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อให้นักเรียนดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข

            จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานของบุคคลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (ไม่ใช่เพียงแค่โรงงานอุตสาหกรรม) ในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงาน ผลของสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่องาน วิธีสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน การคัดเลือกบุคลากร ตลอดจนวิธีประเมินผลการปฏิบัติงาน

            จิตวิทยาการให้คำปรึกษา (Counseling Psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้บุคคลที่กำลังประสบปัญหาได้เข้าใจและเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวของบุคคลนั้นเอง

            จิตวิทยาคลินิค (Clinical Psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาสาเหตุของความผิดปกติทางพฤติกรรมของบุคคล เพื่อหาทางบำบัดรักษาบุคคลที่มีปัญหาทางด้าน อารมณ์ พฤติกรรม และมีอาการเจ็บป่วยทางจิต รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน และแก้ไข 

            จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) เป็นจิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิสนธิ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของมนุษย์ในระยะต่าง ๆ ตลอดจนอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์

            จะเห็นว่านักจิตวิทยาแม้ว่าจะแบ่งออกเป็นสายงานต่าง ๆ แต่ทุกแขนงจะต้องศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ สิ่งที่นักจิตวิทยาแตกต่างกับไลฟ์โค้ชคือ นักจิตวิทยาจะมีความรู้ทางด้านกระบวนการทางจิต และพฤติกรรมศาสตร์ ในด้านต่าง ๆ ตามแขนงที่กล่าวมาด้านบน และมีวุฒิทางการศึกษาในการรองรับ 

            อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาจะมีความเชี่ยวชาญในเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน ดังนั้นการที่นักจิตวิทยาที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ของตนเอง ก็จะทำให้บริการได้ไม่เต็มศักยภาพ 
ดังนั้นหากจะมาขอคำปรึกษา หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จ นักจิตวิทยาอาจไม่สามารถให้บริการในเรื่องดังกล่าวได้ แต่หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต สภาพจิตใจ ความสุขในการดำเนินชีวิต นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาจะมีความเหมาะสมมากที่สุด 

ไลฟ์โค้ช vs นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา

            อย่างที่กล่าวมาข้างต้นนักจิตวิทยาจะได้รับวุฒิการศึกษาทางด้านจิตวิทยามา ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาพอสังเขปข้างต้น เพียงแต่ความเชี่ยวชาญที่พอที่จะสามารถเปรียบเทียบกับไลฟ์โค้ชได้คือ นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา

            ถ้าพูดถึงนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา หัวใจหลักสำคัญคือการใช้ความรู้ความสามารถในการเอื้อให้บุคคลที่อยู่ตรงหน้าเข้าใจและยอมรับในปัญหาของตนเอง คล้าย ๆ กับเรากำลังเรียนรู้เรื่องราวผ่านการพูดคุย โดยนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาจะเยียวยาแล้วให้บุคคลนั้นค่อย ๆ งอกงาม เจริญเติบโต ดีขึ้น จากที่เคยเป็น ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาจะทำหน้าที่ส่งเสริม อำนวยให้บุคคลที่มาขอรับคำปรึกษา เข้าใจ และยอมรับเกี่ยวกับ ตนเอง ปัญหา หรือสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เพื่อทำให้บุคคลที่มาขอรับคำปรึกษาสามารถจัดการกับปัญหาด้วยตัวของเค้าเอง 

            สิ่งที่ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องคำนึงถึงก็คือ จะไม่ไปแก้ปัญหาโดยตรง เหตุผลเพราะว่า เมื่อเข้าไปจัดการปัญหาโดยตรง ผู้ขอรับคำปรึกษาจะไม่มีความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้น เปรียบเสมือนกับการที่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อต้านกับโรคโดยตรง จะเป็นการจัดการปัญหาที่ยั่งยืนมากยิ่งกว่า เพราะหากไม่มีภูมิคุ้มกันก็สามารถกลับมาติดโรคใหม่ได้อีก

            จะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างไฟล์โค้ชและนักจิตวิทยา ไลฟ์โค้ชจะเข้าไปจัดการกับปัญหานั้น และแนะนำว่าเราควรจะทำอย่างไร  ยกตัวอย่างเช่น "คุณจะต้องมีวินัย" "คุณจะต้องคิดบวก" "คุณจะต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิด" "คุณจะต้องเปลี่ยนแปลง Mindset" แต่นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาจะสนับสนุน ให้เกิดวินัยมากยิ่งขึ้น เช่น การให้คำชมกับการที่ผู้รับคำปรึกษาสามารถสำเร็จภารกิจที่ตั้งใจไว้ หรือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาเสนอแนะมุมมองที่ว่า นอกเหนือจากสิ่งร้ายที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว ยังมีสิ่งที่ดี ๆ อะไรบ้างเกิดขึ้นกับตนเองให้จดลองไป นั้นจึงเป็นความแตกต่างกันที่ชัดเจนมากที่สุด

a man holds his head while sitting on a sofa

            การให้คำปรึกษาจึงจะต้องใช้เทคนิคและความสามารถ และเวลา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสำนัก และทฤษฎีที่นำมาใช้ บางทฤษฎีเป็นการค้นหาความหมายในชีวิต (Existential) บางทฤษฎีจะเน้นประสบการณ์ในวัยเด็ก เพื่อทำความเข้าใจและยอมรับตนเองในปัจจุบัน (Psychoanalysis) บางทฤษฎีจะมุ่งจัดการกับความคิดที้ไม่สมเหตุสมผล (Rational emotive behavior) และบางทฤษฎี มุ่งเน้นไปที่การรับฟัง และยอมรับผู้รับคำปรึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข (Person centered) ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้ให้คำปรึกษา และลักษณะปัญหาของผู้รับคำปรึกษา

            อย่างไรก็ตามงานเขียนนี้ไม่ได้มุ่งเน้นจะบอกว่านักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ดีกว่าไลฟ์โค้ช จริง ๆ แล้วไลฟ์โค้ช ก็มีประโยชน์และได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนหลายคน เพียงแต่สิ่งที่ไลฟ์โค้ชจะต้องประจักษ์ก็คือ ผู้ที่มีปัญหาและเข้ามาขอรับการบริการ จะอยู่ "ใต้อิทธิพล" ของผู้ให้บริการ 

            ดังนั้นจะต้องจัดการกับความมีอิทธิพลที่เหนือกว่าอย่างเข้าอกเข้าใจ สุภาพ และจะต้องมีความรับผิดชอบ ไม่หลอกหลวง 

หรือแสวงหาผลประโยชน์ที่มากจนเกินพอดี 
จากผู้มาขอรับบริการอย่างเด็ดขาด

ความคิดเห็น