ประโยชน์ของการมี Empathy

            มีบทความมากมายที่เกี่ยวข้องกับ Empathy และได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง Empathy และ Sympathy ในการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากคือการอินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้รับคำปรึกษา (Sympathy) หรือเรียกว่าความสงสาร บางครั้งเวลาที่เราเห็นคนที่น่าสงสาร ที่ใช้ชีวิตลำบาก หรือกำลังเผชิญกับปัญหาที่ยากจะหาทางออก เราจะมีความรู้สึกร่วมด้วย และทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ (ทุกข์)  แต่ในความเห็นของผม Sympathy เป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นธรรมที่เราจะสงสารหรือเห็นอกเห็นใจคนอื่นจนรู้สึกทุกข์ เพียงแต่เราต้องจัดการกับอารมณ์เพื่อปล่อยวางมัน  ดังนั้นผู้อ่านไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าตนเองทำผิด อ่อนแอ  สำหรับผมแล้ว Sympathy กับ Empathy สามารถเกิดพร้อมกันหรือเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้  แต่ก่อนที่ผมจะอธิบายว่าทำไม 2 สิ่งนี้สามารถเกิดพร้อมกันได้ เราไปทำความรู้จักกับ Empathy ก่อน

            Empathy หมายถึง ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ กล่าวคือเข้าใจหัวอกคนอื่น สามารถนำความรู้สึกและความคิดของตนเองไปอยู่ในบริบทของผู้อื่นได้ 

            ผู้อ่านคงจะสังเกตได้ว่าผมไม่ได้เน้นแค่ความรู้สึกอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญไปที่ความคิดด้วย เพราะการจะสามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้จำเป็นจะต้อง คิด จินตนาการในสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ เช่น เพื่อนของเราอกหัก เราอาจจะนึกย้อนไปในอดีต หรือลองจินตนาการว่า ถ้าเรารักใครสักคนแล้วคนคนนั้นทิ้งเราไป เราคงจะรู้สึกแย่มาก หรือ เพื่อนในโรงเรียนของเราอาจจะรู้สึกไม่อยากมาโรงเรียน เพราะโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งเราก็สามารถคิดได้ว่าหากเป็นเราบ้างเราจะทำอย่างไร จะรู้สึกอย่างไร

            เมื่ออ่านถึงตรงนี้ผู้อ่านทุกท่านคงจะไม่แปลกใจที่ผมบอกว่า Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) สามารถเกิดพร้อมกับ Sympathy (ความสงสาร) ได้  เพราะในบางครั้งเราอาจจะมีความสงสารก่อน แล้วจึงค่อยเข้าอกเข้าใจได้ แต่ในบางบริบทเราก็อาจเพียงแค่เข้าอกเข้าใจเพียงอย่างเดียว เช่นเราอาจจะเข้าอกเข้าใจพนักงานที่ต้องทำงานเหนื่อยทั้งวันเลยหงุดหงิดบ้าง โดยที่เราก็ไม่ได้สงสารอะไร  อย่างไรก็ตามการเข้าอกเข้าใจ (Empathy) มากเกินไปก็ไม่ดี เพราะมันจะทำให้เราอินมากขึ้นและเกิดความสงสารตามมา  ถ้าเราใช้เวลาคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นมากจนเกินไป เราก็จะรู้สึกทุกข์

            สรุปว่า Empathy คือความเข้าอกเข้าใจ ในขณะที่ Sympathy คือความสงสาร ซึ่งทั้ง 2 สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ หรือเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หรือ สถานการณ์ ดังนั้นไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกแย่อะไรกับตัวเอง ถ้าเราอินกับเรื่องราวเลวร้ายของเพื่อนเรามากเกินไป หรือ ร้องไห้เสียใจกับความทุกข์ของคนอื่น  เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ในการจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นไม่ให้เกิดความทุกข์มากจนเกินไป 

            เราสามารถมี Empathy ได้กับทุกคน เช่น การที่เราโดนหัวหน้าใช้งานบ่อย ใช้งานหนัก เพราะทางเบื้องบนมอบหมายงานที่มีความกดดันอย่างมากให้กับหัวหน้า  ในกรณีนี้เราอาจจะสามารถเข้าอกเข้าใจถึงสถานการณ์ของหัวหน้าเราได้   หรือยกตัวอย่างในด้านร้าย กรณีที่โดนหัวหน้าตำหนิ เราอาจจะมองว่า เขาโดนกระทำที่เลวร้ายมาก่อน เค้าเลยกระทำในสิ่งนั้นใส่ผู้อื่นต่อ  กล่าวคือ คิดแทนคนอื่น ซึ่งเมื่อเราเข้าใจสถานการณ์ หรือพฤติกรรมของผู้อื่นมากขึ้น ก็จะทำให้เราดีต่อเขามากขึ้น ใจดีกับเขามากขึ้น มันจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นได้

            โดยเฉพาะพนักงานที่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจน้อย  Robert Sutton ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Asshole Survival Guide ได้เรียกพวกนิสัยเสียแต่มีอำนาจน้อยว่า "เผด็จการชั้นผู้น้อย" ที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งสร้างความทุกข์ระทมกับเหยื่อของตนในแบบที่จุกจิก หยุมหยิม เย็นชา และไม่ให้เกียรติ โดยเขาได้อธิบายถึงที่มาของพฤติกรรมนี้ว่า เป็นพวกเก็บกดและงหงุดหงิดที่ไม่มีใครนับถือตนเอง การมีสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยทำให้คนเหล่านี้อัดอั้นและเกลีดชังผู้อื่น  

            ผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า "จำเป็นหรือไม่ว่า เราจะต้องเข้าอกเข้าใจ (Empathy) คนแบบนี้ " สำหรับผมคิดว่าจำเป็น เราอาจจะเข้าใจเขาแบบหยาบ ๆ  เช่น เราอาจจะเข้าใจว่าพนักงานบางคนอาจรู้สึกด้อยค่าตนเอง รู้สึกไม่มีใครนับถือตนเอง เลยแสดงอํานาจบาดใหญ่มาข่มคนอื่น  การเข้าใจที่มาของพฤติกรรมของมนุษย์ทำให้เราทำใจ และปล่อยวางมันได้ หากเราไม่เข้าใจเขาเลย แล้วสันบสน เราก็จะรู้สึกโกรธ โมโห หรือเสียใจ และเป็นทุกข์ในที่สุด (เข้าใจแต่ไม่ต้องเห็นใจ)

ข้อดีของ Empathy

            Empathy มีประโยชน์มากในการทำงาน เช่นอาชีพพยาบาลหรือหมอที่มี Empathy กับผู้ป่วย ก็จะสร้างบรรยากาศที่ดีมากขึ้นรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยคนนั้น เราทุกคนชอบคนที่เข้าใจเรา ชอบคนที่ดีกับเราด้วยกันทั้งนั้น หรือแม้แต่พนักงานบางคนอาจจะไม่ใช้คนที่แย่อะไร แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ เช่น คนที่บ้านป่วย กดดัน หรือเกิดเหตุอะไรที่รบกวนจิตใจ เลยทำให้เขาอาจจะใช้อารมณ์บ้าง พูดจาไม่ดีบ้าง เราก็อาจจะมี Empathy กับเขาได้ เพราะความไม่เป็นมิตรของเขาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเขากำลังมีเรื่องแย่ ๆ และเขาอาจจะต้องการกำลังใจ 

            ในกรณีของครอบครัวที่มีลูกเป็นวัยรุ่นอาจจะพบว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากนัก เพราะพวกเขาคบกับเพื่อนที่มีความสนใจและมีค่านิยมร่วมกันซึ่งทำให้เข้าใจปัญหาของกันและกันได้ดีกว่าคนในครอบครัว  นอกจากนั้นยิ่งคนในครอบครัวทะเลาะกับลูกที่เป็นวัยรุ่นมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าครอบครัว ซึ่งจะทำให้ครอบครัวมีบทบาทน้อยลง  การที่เรามี Empathy ก็จะสามารถทำให้เราแสดงออกอย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดความขัดแย้งลง และอยู่ร่วมกันในครอบครัวอย่างมีความสุข

            สุดท้าย ผมอยากจะบอกว่า Empathy มีความสำคัญอย่างมากในโลกใบนี้ ที่ผู้คนต่างสับสนในตนเอง และแสดงพฤติกรรมที่ทำร้ายจิตใจคนอื่นแบบทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว การที่เรามี Empathy ต่อคนเหล่านี้จะทำให้เราสามารถทำใจ และปล่อยวางได้ เพราะหากเราไม่เข้าใจเลย เราก็จะตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน และแสดงพฤติกรรมที่เราไม่พอใจออกมาโดยไม่รู้ตัว จนสุดท้ายมันจะหลอมเป็นนิสัยของเรา และทำให้เราเป็นคนที่ไม่น่าคบ จนคนอื่นจะต้องพยายามมี Empathy กับเราในท้ายที่สุด

อ้างอิง

Huli, P. (2014). Stress Management in Adolescence. Journal of Research in Humanities and Social Science,2(7), 50-57.

Sutton, R. (2017).  The Asshole Survival Guide: How to Deal with People Who Treat You Like Dirt. MS: Houghton Mifflin Harcourt

ความคิดเห็น