ออกแบบชีวิตอย่างเรียบง่าย (Keep It Simple)

            หลายคน คงคุ้นหูคำว่าเรียบง่าย (Keep It Simple) มานานแล้ว เช่น คำกล่าวที่บอกว่า"ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย" ไปจนถึงการออกแบบงานวิศวกรรมต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ หรือเรียกว่า KISS (Keep It Simple and Stupid)  

            ในหนังสือ How to think like Steve Jobs เขียนโดย Daniel Smith ได้พูดถึงการความเชื่อในการออกแบบดีไซน์ของ Steve Jobs โดยที่เขาเชื่อว่า "ดีไซน์เรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่เป็นผลจากการทุ่มเทในการทดลองและการทดสอบ ดีไซน์ที่ซับซ้อนบ่งบอกถึงความล้มเหลวพื้นฐานที่ใดสักแห่งตลอดเส้นทาง" 

            ในบทความนี้ ผมอยากจะนำเสนอเกี่ยวกับการออกแบบชีวืตอย่างเรียบง่าย เพื่อจะจูงใจผู้อ่านทุกท่านให้ออกแบบชีวิตที่เรียบง่าย และผ่อนคลายการทำงานของสมองให้เหนื่อยน้อยลง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
            หากเราลองสังเกตเทคโนโลยีต่าง ๆ และมองย้อนไปในอดีตจะพบว่า เทคโนโลยีเมื่อเริ่มแรกจะมีความซับซ้อน ยุ่งยาก จนกระทั่งมีการพัฒนาทำให้ใช้ง่ายมากยิ่งขึ้น จนสามารถเข้าถึงใจของผู้บริโภคได้  มันไม่ใช่ว่ามนุษย์เราโง่ถึงชอบอะไรที่ง่าย 

            แต่มันเป็นการตอบสนองต่อกระบวนการทำงานของสมองที่ Daniel kahneman นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking fast and slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ 

            2. ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์

            โดยส่วนมากเวลาที่สิ่งแวดล้อม เช่น เราเห็นนกบิน เห็นป้ายโฆษณา อ่าน Social Medias จะเป็นการทำงานของระบบที่ 1 ก่อนเสมอ เมื่อข้อมูลที่อ่านมีความซับซ้อน ยุ่งยาก วุ่นวาย ก็จะส่งไปที่ระบบ 2 เพื่อใช้การคิดวิเคราะห์ แต่ระบบ 2 มันขี้เกียจมาก ดังนั้น ในการดำเนินชีวิตของเราส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำงานของระบบที่ 1 ที่จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นง่าย ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น อะไรก็ตามที่เรียบง่าย เข้าใจไม่ยาก จะถูกใจระบบที่ 1 

            Daniel kahneman ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า "หากคุณอยากให้คนอื่นมองว่าคุณน่าเชื่อถือและเฉลี่ยวฉลาด จงอย่าใช้ภาษาที่ซับซ้อน แต่ควรใช้ภาษาง่าย ๆ" เช่น เวลาตีพิมพ์ข้อความ ใช้กระดาษที่ดีเพื่อเน้นความแตกต่างระหว่างตัวอักษะกับพื้นหลัง และใช้ภาษาง่าย ๆ ที่คล้องจองกัน ทำให้อ่านง่ายมากที่สุด เพื่อลดความตึงเครียดในการคิด  ยกตัวอย่างเช่น อินโฟกราฟิก ที่มีข้อความน้อยมาก และใช้สีตัดกัน วางโครงสร้างอย่างเรียบง่าย

ความเรียบง่ายในการดำเนินชีวิต

            ความเรียบง่ายสามารถนำมาปรับใช้กับการศึกษาได้ เช่น การสอนแบบไม่สอน โดยครูจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและปล่อยให้นักเรียนรู้เรียนเอง  ผมเป็นครูด้านการศึกษาพิเศษ เวลาสอนนักเรียนที่เป็นโรคออทิสติก ผมจะใช้การอธิบายง่าย ๆ แบบจับต้องได้ ไม่อธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือสิ่งที่ซับซ้อน เน้นการใช้ภาพประกอบในการอธิบาย  เวลาสอน ก็จะใช้สื่อการสอนแบบง่าย ๆ  โดยใช้กระบวนการสอนที่พัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่น การคิด ความจำ การจำแนก แบบเรียบง่าย  

            เช่นเดียวกับแม่ของผมที่เป็นโรคจิตเภท เวลาที่สอนเขา ผมจะใช้การอธิบายง่าย ๆ กระตุ้นให้เค้าคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ มอบหมายหน้าที่ ภารกิจที่ไม่ยากจนเกินไป เพื่อให้เค้ารู้สึกว่ามีความภูมิใจ และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้น  แต่ผมก็ยังไม่ได้เก่ง มีผิดพลาดบ้าง และต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา 

            ยิ่งชีวิตกระตุ้นให้เราไปเร็วมากแค่ไหน เราก็จะเหนือยมากแค่นั้น ซึ่งโลกในปัจจุบันทำให้เราแข่งขันกันแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว (ส่วนใหญจะไม่รู้ตัว) เราเห็นชีวิตของเพื่อนใน Facebook หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในส่วนต่าง ๆ ของโลก แม้จะมีระยะทางที่ห่างไกลออกไป  ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาทำให้เราคาดหวังกับตัวเองมากขึ้น กดดันตนเองจนเกิดความเครียด 

            เมื่อสมองเราเครียดเราก็จะใช้การทำงานของระบบ 2 มากขึ้น ทำให้เราเหนื่อยกับการคิดมากขึ้นไปอีก  ทำให้เราโหยหาความธรรมดาทั่ว ๆ ไป อยากเพียงแค่อ่านหนังสือสนุก ๆ นอนเฉย ๆ ไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ หรือแค่พูดคุยกับเพื่อนในเรื่องไร้สาระ สนก ๆ  (ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิด) เพราะจิตใจของเราต้องการความสมดุล เพราะการที่เราใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมากขึ้น มันเป็นการสร้างสมดุลให้กับชีวิต

แก้ปัญหาอย่างเรียบง่าย

            เวลาที่เราเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ แม้จะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากแค่ไหน มักจะมีคำตอบที่เรียบง่ายเสมอ  แต่ก่อนอื่นผมอยากจะแนะนำประเภทของปัญหามีอยู่ 2 ประเภท คือ ปัญหาที่แก้ได้ กับปัญหาที่แก้ไม่ได้  ปัญหาไหนที่เราพิจารณาแล้วว่าแก้ไม่ได้ ก็ปล่อยวางมันไป เช่น ฝนตก รถติด รัฐบาลบริหารห่วย ฯลฯ ทำได้เพียงเข้าใจ และผ่อนคลาย 

            แต่ปัญหาไหนที่พิจาณาแล้วว่าสามารถแก้ไขได้ เราก็ควรจะมุ่งแก้ไขตรงส่วนนั้นอย่างเรียบง่าย เช่น ทะเลาะกับคนรัก ก็ขอโทษแล้วอธิบายถึงเหตุผลต่อกันแบบตรงไปตรงมา  ป่วยก็ไปหาหมอ ไม่ชอบวิชาที่เรียน อาจจะมองหาแง่ดีของวิชานั้น ๆ เพิ่มเติม ประโยชน์ต่าง ๆ มุมมองใหม่ ๆ หรือหากแก้ไขไม่ได้ ก็ปรับไปอยู่ในส่วนของปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ แล้วปล่อยวาง พัฒนาตัวเองในด้านอื่น เพื่อค้นหาตนเองต่อไป

            ปัญหาส่วนใหญ่ดูเหมือนจะมีคำตอบแบบเรียบง่าย แต่เมื่อเราเจาะลึกลงไปในปัญหานั้น เราจะพบเจอกับความซับซ้อนหลายชั้นที่เราไม่เคยคิดมาก่อน การแก้ไขปัญหาของเราอาจจะไม่ตรงจุดและซับซ้อนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะบางปัญหามันซับซ้อนจนเราคิดว่าวิธีแก้จะต้องซับซ้อนตามไปด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องหาทางแก้ปัญหาที่สามารถจัดการกับความซ้บซ้อนเหล่านี้  

            และเราจะพบความแปลกใจว่า วิธีแก้ไขปัญหาที่แม้ว่าจะซับซ้อนมากแค่ไหนก็ตาม มักจะมีวิธีแก้ที่เรียบง่ายเสมอ เช่น ปัญหาอาการเศร้าที่เป็นมานาน และเศร้ากับทุกเรื่อง ก็สามารถแก้ไขได้โดยการสร้างความภูมิใจหรือคุณค่าให้กับตนเอง พร้อมกับการปรับวิธีคิดหรือตีความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

            ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถลดความตึงเครียดของสมองได้ จำเป็นต้องดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายมากขึ้น พักผ่อนอย่างเรียบง่าย หาความรู้เพิ่มเติมอย่างเรียบง่าย ดูหนังที่เรียบง่ายมาก หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่กดดันตนเองจนเกินไป  

            เวลาผมสอนเด็กที่โรงเรียน ผมจะนึกถึงคำพูดของ Richard Feynman เสมอ เขากล่าวว่า "ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายความคิดให้เด็กอายุ 8 ขวบเข้าใจได้ แสดงว่าคุณไม่เข้าใจสิ่งนั้น" การทำให้สิ่งที่ซับซ้อนเรียบง่ายที่สุดได้มันจึงเป็นทักษะที่จะต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต อย่างที่ Leonardo Da Vinci เคยกล่าวว่า 
"ความเรียบง่ายคือความซับซ้อนขั้นสูงสุด"
อ้างอิง

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Smith, D. (2013). How to Think Like Steve Jobs. UK: Michael O' Mara Books.

ความคิดเห็น