อิทธิบาท 4 หลักธรรมแห่งความสำเร็จ

คำว่าประสบความสำเร็จ จึงควรเป็นเป้าหมายที่เรียบง่ายสามารถทำได้โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ 

            ก่อนอื่นเลยผมต้องบอกกับผู้อ่านก่อนว่าผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทางพุทธศาสนา เพียงแต่ผมได้เรียนพุทธจิตวิทยาสมัยที่เรียนปริญญาตรี และปริญญาโท ทำให้ได้เรียนหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  

            ในระหว่างที่ผมเรียนวิชาพุทธจิตวิทยา พบว่ามีหลายหลักธรรมที่มีความทันสมัย น่าสนใจ และเหมาะที่จะนำมาปรับใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งหลักธรรมที่ผมชอบมากที่สุดและคิดว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากมากจนเกินไปคือหลักธรรม "อิทธิบาท 4"

            ในหนังสือล้ม ลุก เรียน รู้ของ ธนา เธียรอิจฉริยะ ได้นำเอาหลักอิทธิบาท 4 มาเป็นโครงหลักในการดำเนินเรื่องราวของหนังสือตนเอง โดยพี่โจ้ ธนาตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองเขียนในเพจ Facebook เพื่อลูกสาวมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การลองผิดลองถูกของตนเอง ผสมกับประสบการณ์ล้ำค่าของบุคคลหลายท่าน ๆ นั้นมันจึงสอดคล้อง สามารถร้อยเรียงไปตามหลักอิทธิบาท 4 ได้ 

            อิทธิบาท 4 จึงเหมาะสมที่จะนำมาเป็นหลักในการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จ โดยหลักธรรมนี้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับแนวคิดทางจิตวิทยาหลายแนว ซึ่งผมจะยกตัวอย่างมาบ้างในบทความต่อจากนี้ ซึ่งผมขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในหลักธรรมพระพุทธศาสนา แต่อยากนำเสนอให้ท่านผู้อ่านเห็นว่าหลักธรรมนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิต การงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยหลักธรรมอิทธิบาท 4 แบ่งออกได้ตามภาพดังต่อไปนี้

หลักอิทธิบาท 4

            1. ฉันทะ (มีใจรัก) คือ ความพอใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยใจรัก ต้องการให้เกิดผลสำเร็จ โดยไม่ได้ทำเพราะปรารถนาอยากได้รางวัลหรือผลกำไรเป็นที่ตั้ง 

            แม้จะไม่ได้สัมพันธ์กันตรงตัวแต่ฉันทะมีความสอดคล้องกับความหลงใหล (Passion) ซึ่งหมายถึงความปรารถนาอันแรงกล้า เป็นสิ่งที่ทำให้เราตื่นเช้าขึ้นมาอย่างมีพลัง และพร้อมที่จะทำสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ ด้วยใจรักโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ในหนังสือ Talk Like TED ได้กล่าว St.John ที่เคยขึ้นเวที TED และพูดถึงเคล็ด 8 ประการสู่ความสำเร็จ เขาสัมภาษณ์ผู้คนที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวน 500 คนตลอด 10 ปี และค้นพบว่าลักษณะที่ทำให้คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างมากซึ่งเคล็ดรับข้อแรกก็คือ ความหลงใหล (Passion) 

            อย่างไรก็ตามฉันทะ กับ ความหลงใหล อาจจะมีความสอดคล้องกันอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ไม่ได้มีความหมายเหมือนกัน 100% เพราะบางครั้งเราก็ลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสมอไป ในขณะที่ฉันทะจะเป็นการรักที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

            2. วิริยะ (พากเพียร) คือ ความขยันหมั่นเพียร พยายามกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความเข้มแข็ง อดทน ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะเกิดผลสำเร็จ

            เป็นอีกข้อหนึ่งที่กำลังมีการพูดถึงในปัจจุบันอย่างมาก โดย Angela Duckworth ผู้เขียนหนังสือ Grit ที่เธอให้ความหมายว่า "ความเพียร" คือความทรหดอดทน มุ่งมั่นไปข้างหน้า ตั้งใจทำงานอย่างหนักโดยต้องใช้เวลา โดยเธอเปรียบเทียบความเพียรเหมือนกับเป็นการวิ่งมาราธอน ผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่ผู้ที่มีความฉลาดทางด้านสติปัญญา (IQ) เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีความพยายามด้วย หากเรามีแต่พรสวรรค์แต่ขาดความเพียรก็จะไม่เกิดทักษะ และถึงแม้จะไม่มีพรสรวรรค์เทียบเท่าคืนอื่น แต่มีความเพียร ไม่ยอมแพ้ 

หมั่นฝึกฝนก็จะสามารถสำเร็จตามเป้าหมายได้ในระยะยาว 

            Angela ให้ความหมายคำว่า Girt ว่าเป็น ความหลงใหล (Passion) + ความอดทน (Perseverance) การจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องมีความอดทนและความหลงใหลไปด้วยกัน เพราะผู้ที่มีทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะมีความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยเมื่อเจออุปสรรคหรือล้มเหลว ทุกท่านจะเห็นว่าหลักธรรมอิทธิบาท 4 มีทั้งฉันทะ (มีใจรัก) และ วิริยะ (พากเพียร) ซึ่งสอดคล้องกับ Girt ที่ประกอบไปด้วยความหลงใหล และความอดทน แม้จะไม่ตรงกัน 100% แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหลักอิทธิบาท 4 สามารถนำมาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

            3. จิตตะ (เอาจิตฝักใฝ่) คือ การอุทิศตนและทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปทางอื่น 

            เมื่อเรามีความรักในสิ่งที่ทำ (ฉันทะ) และมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สำเร็จ (วิริยะ) สิ่งต่อไปที่เราจะต้องมีก็คือการอุทิศตนให้กับสิ่ง ๆ นั้นโดยไม่วอกแวกไปทางอื่น อยู่ในภาวะลื่นไหล (In the Zone) เกิดขึ้นเมื่อเราทำสิ่งที่รัก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน กิจกรรม การจัดองค์ร การบริหารจัดการ หรือการออกกำลังกาย 

            ชิคเซนต์มิไฮยี (Csikszentmihalyi) อธิบายว่าภาะวะลื่นไหล (Flow) จะเกิดขึ้นเมื่อเราทุ่มเทพลังใจหรือความสนใจสู่เป้าหมายที่ทำได้จริง และเมื่อทักษะมาบรรจบกับโอกาสที่จะกระทำ การมุ่งบรรลุเป้าหมายช่วยให้เกิดสำนึกรู้ที่เป็นระเบียบ เพราะเราต้องทุ่มเทสมาธิและความสนใจไปที่งานตรงหน้า ลืมสิ่งอื่น ๆ ชั่วขณะ การได้ด่ำดิ่งในภาวะลื่นไหลเปรียบเสมือนการเชื่อมต่อเข้ากับแหล่งพลังงาน กล่าวคือการเข้าสู่ภาวะนี้จะทำให้เรามีกำลังใจ ซึ่งจะขึ้นลงเมื่อเราได้ทำสิ่งที่ชอบ และมุ่งมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนั้น 

            ดังนั้นเมื่อเรามีจิตตะจะทำให้เรามุ่งมั่นทำในสิ่ง ๆ น้้นอย่างมีสมาธิ และมีกำลังใจที่ได้ทำมัน ซึ่งเราจะรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ทำ โอเค เรามีความรัก ความุ่งมั่น และความสุขที่ได้ทำสิ่งนั้น และต่อไปคือเราจะต้องหาวิธีการที่จะพัฒนาตัวเอง ใคร่ครวญ วางแผน ว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร หรือมันถูกต้องหรือไม่ นั้นคือ วิมังสา

            4. วิมังสา (ใช้ปัญญาคิดไคร่ครวญ) คือ หมั่นใช้ปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญตรวจสอบหาเหตุผล ข้อบกพร้องที่เกิดขึ้นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยต้องรู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง Feedback เพื่อจัดการและดำเนินงานให้ได้ผลดีมากขึ้น

            ข้อนี้สำหรับผมแล้วเป็นเหมือนกับหัวใจสำคัญของหลักอิทธิบาท 4 เพราะเมื่อดำเนินตามทั้ง 3 ข้อมาแล้ว เราควรจะตรวจสอบ ทบทวนตัวเอง ตั้งคำถามกับตนเอง ถึงสิ่งที่ผ่านมา อะไรที่เป็นอุปสรรค มีความสุขหรือไม่ เป็นทุกข์หรือไม่ แล้วทำไมถึงเป็นทุกข์ เราจะต้องตั้งคำถามโดยไคร่ครวญกับตนเองถึงสิ่งที่ผ่านมา และให้ Feedback หรือสะท้อนกับตัวเองกลับไป 

            ในทางจิตวิทยาแล้ว เราควรจะพูดคุย ถามคำถามกับตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเราดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณ ที่เป็นความคิดระบบ 1 เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อให้ระบบ 2 ที่เป็นการคิดวิเคราะห์ทำงาน และใช้ความคิดดังกล่าวเพื่อไตร่ตรอง หาจุดบกพร่อง เพือปรับปรุงและพัฒนาตัวเราเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            อย่างไรก็ตาม การประสบความสำเร็จจะมีความแตกต่างเฉพาะกับบุคคล แต่สิ่งที่ผมอยากจะโน้วน้าวผู้อ่านทุกท่านก็คือ เราอย่าไปตีค่าคำว่า "ประสบความสำเร็จ" สูงจนเกินไป การที่เราวางเป้าหมายเอาไปไกล และยาก จะทำให้ทุกวินาทีที่เราวิ่งผ่านเส้นทางเต็มไปด้วยความทุกข์ ความไม่สบายใจ สุดท้ายในวันที่เราชนะ ก็อาจจะเป็นการชนะที่สูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างไป 

            ดังนั้น คำว่าประสบความสำเร็จ จึงควรเป็นเป้าหมายที่เรียบง่ายสามารถทำได้โดยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหากใช้เวลานานไปสักพัก สิ่งเล็กน้อย ๆ (Small Wins) ก็จะก่อตัวรวมกันเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ (Big Wins) แต่สิ่งที่เราจะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ ฉันทะ (รักในสิ่งที่ทำ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (เอาจิตฝักใฝ่) และวิมังสา (ใช้ปัญญาคิดใคร่ครวญ) 

หากยึดตามหลักธรรมทั้ง 4 ข้อเราก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน 

อ้างอิง

Duckworth, A. (2017). Grit: Why Passion and Resilience are the Secrets to Succes. UK: Penguin Random House.

Gallo, C. (2014). Talk Like TED: The 9 Speaking Secrets of the Worlds Top Minds. UK: Pan Macmillan.

Robinson, K. & Aronica. L. (2009). The Element: How Finding Your Passion Changes Everything. NY: Penguin Books.

ธนา เธียรอัจฉริยะ. (2563). ล้ม ลุก เรียน รู้. กรุงเทพ: KOOB

ความคิดเห็น