ทุนทางจิตใจ หรือ ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychological Capital)

"เรื่องเลวร้ายมากมายเคยเกิดขึ้น แต่มันไม่ได้กำลังเกิดอยู่ในตอนนี้"    

            ลิซ เมอเรย์ (liz Murray) คือเด็กสาวที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ เธอเป็นเด็กสาวที่เคยไม่มีที่อยู่มาก่อน จากครอบครัวที่มีปัญหาด้านยาเสพติด และคุณแม่ของเธอที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ รวมถึงคุณพ่อของเธอที่ถูกส่งไปบำบัดรักษายาเสพติด ทำให้เธอต้องหาเลี้ยงตัวเอง เผชิญหน้ากับชีวิตที่หนักหนาสาหัสสำหรับเด็กสาวคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการต้องแอบไปนอนที่บ้านเพื่อนตอนกลางคืน การพบเจอความรักกับชายหนุ่มที่พัวพันกับยาเสพติด การต้องนอนตามที่สาธารณะหรือรถไฟใต้ดิน

            อะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอสามารถพลิกชีวิตได้ อะไรที่ผลักดันให้เธอมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง อะไรที่ทำให้นักเรียนที่เรียนไม่จบมัธยมสามารถมุมานะผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นแรงบัลดาลใจให้กับหลายคนบนโลกใบนี้ได้ 

            ชีวประวัติของเธอถูกเขียนขึ้นเป็นหนังสือชื่อ Breaking Night ซึ่งในช่วงหลัง ๆ ที่เธอกำลังรอจดหมายตอบกลับจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอยู่ มันทำให้เธอกระวนกระวาย รู้สึกทุกข์ใจซึ่งทำให้เรื่องราวในอดีตของเธอต่าง ๆ ลอยขึ้นมาหลอกหลอนเธอบนเตียงในความมืด ความเศร้าและความเจ็บปวดที่อยู่เป็นเพื่อนกับเธอทำให้เธอได้ตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่าง

            "สิ่งที่ปรากฏขึ้นมานั้นไม่ง่ายเลย ภายใต้ความเร่งรีบและความสำเร็จทั้งมวลของชีวิตฉันนั้นก็คือ รายการอันชวนหัวใจสลายของความสูญเสีย พ่อยอมยกฉันให้อยู่ในการดูแลของรัฐโดยไร้การต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น แม่ในห้องที่โรงพยาบาลวันนั้น ปากขยับเป็นถ้อยคำที่ไร้เสียง ค่ำคืนที่อยู่ตามลำพังบนขั้นบันได สงสัยว่านานแค่ไหนกว่าจะมีใครสักคนที่สังเกตเห็นถ้าฉันหายตัวไป ฉันนอนอยู่ใต้ผ้าห่อมและปล่อยให้ความรู้สึกเข้าครอบงำ ฉันได้รับรสเค็มของน้ำตา ปล่อยมันหลั่งไหล สัมผัสถึงตำแหน่งในหัวใจที่แหลกสลายในที่สุด และสุดท้ายฉันก็ยอมให้ตัวเองคร่ำครวญ ฉันร้องไห้จนไม่เหลืออะไรให้ต้องร้องอีก"

            "เมื่อฉันปล่อยให้ตัวเองสัมผัสกับความโศกเศร้า และฉันไม่ได้ฝืนต้านหรือปกปิดมันด้วยการเบนความสนใจ ประสบการณ์อื่นก็ปรากฏขึ้นมาเมื่อเต็มใจเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด ฉันก็เริ่มเห็นมุมกลับของมัน ชัยชนะอันมองไม่เห็นในชีวิตเข้ามาสู่ความสนใจ การกระทำด้วยความรักที่มีต่อพ่อแม่นับครั้งไม่ถ้วน ดึงตัวเองให้ลุกออกจากเตียงที่บ้านเพื่อน ๆ ในยามเช้า เพื่อไปโรงเรียน ค่าแรงที่ได้รับเพื่อใช้ดูแลตัวเอง ปัดผมที่ปรกหน้าออกเพื่อสบตาผู้คน มิตรภาพที่เปี่ยมด้วยความรัก ทุก ๆ วันฉันเดินหน้าต่อไปในยามที่อยากล้มเลิกเสียเหลือเกิน จากการยอมรับความโศกเศร้า ฉันก็สามารถรับความแข็งแกร่งของตัวเองแม้จะต้องเผชิญกับความสูญเสียมากมาย 

            "เรื่องเลวร้ายมากมายเคยเกิดขึ้น แต่มันไม่ได้กำลังเกิดอยู่ในตอนนี้ ฉันไม่ได้นอนอยู่ข้างนอกอีกต่อไป แต่ปลอดภัยอยู่บนเตียง และจากนั้นเป็นคืนแรกในรอบหลายเดือน ฉัดจดจ่ออยู่กับเรื่องอื่นนอกจากจดหมายตอบรับ และฉันปล่อยให้ความรู้ที่ว่าสุดท้ายฉันก็จะปลอดภัยกล่อมจนตัวเองหลับ" ผมเชื่อว่าการที่เธอสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในแต่ละวันของเธอ รวมไปถึงการเรียนรู้ของเธอ มันหล่อหลอมเป็นทุนทางจิตใจให้กับเธอ ทำให้เธอแข็งแกร่ง สามารถลุกขึ้นได้ในวันที่อ่อนแอ ทำให้เธอมีความหวัง และรับรู้ถึงศักยภาพของตนเองที่จะก้าวไปข้างหน้า แม้จะแบกรับอดีตมันโหดร้ายที่เคยก้าวข้ามผ่านมาแล้ว 

ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก

            ในประวัติศาสตร์ จิตวิทยาเริ่มต้นจากการบำบัดผู้ป่วยทางจิต จนวิวัฒนาการมาถึงการพูดถึงเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของบุคคลที่เป็นปกติโดยเริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยนักจิตวิทยามนุษยนิยม อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) จนกระทั่งช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ได้พัฒนาจิตวิทยาเชิงบวกขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการศึกษาจิตวิทยา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม อีกทั้งยังช่วยให้บุคคลมีความพึงพอในชีวิตของตนเอง 

            หลังจากนั้นจิตวิทยาเชิงบวกก็เป็นศาสตร์ที่โด่งดัง มีคนประยุกต์ไปใช้ในบริบทต่าง ๆ รวมไปถึงการทำงาน จนกระทั่ง Luthans และคณะ (2007) ได้ทำการสังเคราะห์จากแนวคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อมาปรับใช้ในการทำงานกับพนักงานในองค์กร โดยมองว่าเป็นศักยภาพให้บุคคลสามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต หากเรามีทุนทางจิตใจจะสามารถรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตได้ อีกทั้งยังพบว่าการที่พนักงานมีทุนทางจิตวิทยาเชิงบวกสามารถทำให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีความพึงพอใจในงานมากขึ้น

            ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychological Capital) จึงเป็นศักยภาพในเชิงบวกของมนุษย์ ที่ทำให้สามารถเข้าใจและจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาได้ โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

            1. การมองโลกในแง่ดี (Optimism) คือ เป็นกระบวนการคิดและคาดหวังที่เป็นบวก ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่แย่แค่ไหนก็ตาม อีกทั้งการมองโลกในแง่ดียังสามารถส่งต่อไปยังผู้อื่นได้ 

            2. ความหวัง (Hope) คือ ความเชื่อและปรารถนาด้วยความคิดว่าจะบรรลุความสำเร็จ หรือสิ่งที่ดีในอนาคต ความหวังยังเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ซึ่งบุคคลสามารถแสดงออกทางอารมณ์และการกระทำได้ทั้งสิ้น

            3. การรับรู้ความสามารถในตนเอง (Self-efficacy) เป็นการประเมินความสามารถของตนเอง ซึ่งจะแสดงออกเป็นความเชื่อมั่นว่าตนเองมีศักยภาพในการจัดการสิ่งต่าง ๆ และจะแสดงพฤติกรรมให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ให้ประสบผลสำเร็จ

            4. ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resiliency) คือความสามารถฟื้นกลับจากสถานการณ์ที่รู้สึกทุกข์ กลับสู่จุดสมดุล การยืดหยุ่นทางจิตใจไม่ได้ทำให้คนไม่ทุกข์ ไม่เครียด ไม่เศร้า แต่ทำให้คนที่กำลังเผชิญความรู้สึกดังกล่าว กลับเข้าหาสมดุลของชีวิตได้อย่างรวดเร็ว  ความยืดหยุ่นทางจิตใจสามารถสร้างขึ้นได้ดังต่อไปนี้ 1) เผชิญหน้ากับความจริง หรือยอมรับความจริง 2) ค้นหาความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือค้นหาคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ  และ 3) เรียนรู้และทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราสามารถปรับตัว ค้นหาข้อผิดพลาด ค้นหาสาเหตุสิ่งต่าง ๆ และเผชิญหน้ากับชีวิตอันยากลำบากต่อไปได้

            ทุกท่านจะเห็นว่าองค์ประกอบทั้งหมดเป็นลักษณะเชิงบวก ที่จะช่วยสร้างทุนทางจิตใจเพื่อให้เกิดรากฐานที่แข็งแกร่ง และสามารถพัฒนาความสามารถในการก้าวข้ามอุปสรรถและปัญหาต่าง ๆ ได้ ดังนั้นผู้ที่มีทุนทางจิตใจที่ดี ก็ย่อมสามารถเอาชนะความล้มเหลว ความยากลำบากในอดีต และสามารถก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักยภาพได้ในปัจจุบัน เหมือนกับ ลิซ เมอเรย์ (liz Murray) ที่ผมเล่าไว้ข้างต้น เธอได้เผชิญกับเรื่องราวอันโหดร้ายและน่าเศร้าในอดีต และพลิกชีวิตนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการเดินต่อไปข้างหน้า เหมือนกับบทภาวนาของศาสนาคริสต์ Serenity Prayer ที่เธอยึดไว้เป็นหลักประจำใจ

ข้าแต่พระเป็นเจ้า ขอทรงโปรดประทานความสงบแก่ลูกในการยอมรับสิ่งที่ลูกไม่อาจเปลี่ยน ความกล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ลูกเปลี่ยนได้ และปัญญาที่จะรู้ถึงความแตกต่าง

            "เรื่องราวต่าง ๆ ที่ดีขึ้นสำหรับฉันคือผลจากการที่ฉันมุ่งมั่นกับบางพื้นที่ในชีวิตที่ฉันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และยอมจำนนต่อการได้รู้ว่ายังมีเรื่องอื่นอีกมากมายที่ฉันแค่ไม่สามารถทำให้แตกต่างออกไป ฉันไม่สามารถช่วยเพื่อนจากชีวิตของครอบครัว แต่ฉันก็เป็นเพื่อนของเธอได้ ฉันไม่มีวันเปลี่ยนแฟนของฉันได้ แต่ฉันก็สามารถผละออกมาจากความสัมพันธ์และดูแลตัวเอง ฉันไม่สามารถรักษาพ่อแม่ ไม่ว่าฉันจะอยากทำแค่ไหน แต่ฉันก็สามารถให้อภัยและรักพวกเขาได้ ฉันยังสามารถสร้างชีวิตของตัวเองที่ไม่มีทางถูกจำกัดด้วยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับฉันในอดีต"

            ไม่นานหลังจากนั้นก็มาถึงวันที่มีจดหมายจากฮาร์วาร์ด ในขณะที่เธอเปิดมันเธอได้พูดกับตัวเองว่า

"ไม่ว่าเรื่องราวจะเปิดเผยออกมาอย่างไรนับจากนี้ ไม่ว่าบทถัดไปจะเป็นอะไร ชีวิตของฉันก็ไม่อาจใช้ผลพวงจากเรื่องเรื่องเดียวอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ มันถูกกำหนดด้วยความยินยอมพร้อมใจของตัว ฉันเองที่จะก้าวเท้าออกไป เดินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น" 

            ผมคงไม่จำเป็นต้องบอกกับผู้อ่านทุกท่านแล้วว่า ผู้ที่มีทุนทางจิตใจสูงจะเป็นคนอย่างไร เพราะลิซ เมอเรย์ (liz Murray) เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุด

อ้างอิง

Luthans, F., Abolio. B., Avey B. & Norman, M. (2007). "Postitive psychological capital: Measurement and relationship with performance and satisfaction." Personnel Psychology, 60(3): 541-572.

Murray, L. (2010). Breaking Night: A Memoir of Forgiveness, Survival, and My Journey from Homeless to Harvard. NY: Hachette Books.

Seligman, M. & Csikszentmihalyi, M. (2000). "Positive psychology: An Introduction." American Psychologist, 55(1): 5-14.

ความคิดเห็น