จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

            ผมเป็นคนชอบบทสนทนาในภาพยนตร์อย่างมาก บางครั้งเนื้อเรื่องไม่ได้น่าประทับใจ แต่บทสนทนาน่าประทับใจอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานของ อารอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin) เช่น The Social Network, Steve Jobs และ Trial of the Chicago 7 นอกจากนั้นเขายังเขียนบทละครบรอดเวย์อีกด้วย ผลงานของเขาทำให้ได้รับเข้าเสนอชื่อรางวัลต่าง ๆ มากมายรวมไปถึงออสการ์

            ในหนังสือ The Element ได้มีการเขียนถึงเรื่องราวของซอร์คินเอาไว้ โดยเขาเล่าว่า ผมไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียนมาก่อน ผมมองตัวเองเป็นนักแสดงมาตลอด ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยด้านการแสดง เพราะผมคลั่งการแสดงอย่างมาก มากขนาดตอนเรียนมัธยมปลาย ผมถึงกับนั่งรถไฟไปนิวยอร์กทั้งที่ไม่มีเงิน ผมรอจนถึงละครครึ่งหลังที่อาจมีเก้าอี้ว่าง และแอบเข้าไปดูฟรีช่วงหลังพักครึ่ง การเขียนอะไรเล่น ๆ ให้สนุก ๆ จึงไม่ได้อยู่ในหัวผมมาก่อน มันเป็นเหมือนงานน่าเบื่อมาตลอด ผมเคยเขียนบทละครสั้น ๆ สำหรับแสดงในงานปาตี้ของมหาวิทยาลัยครั้งหนึ่ง อาจารย์ชื่อเจอราร์ด โมเสสบอกว่า "เธอทำเป็นอาชีพได้เลยนะ รู้ไหม ถ้าต้องการ" แต่ผมไม่เข้าใจว่าอาจารย์หมายถึงอะไร ผมปล่อยมันผ่านไป

            หลังจากที่ผมเรียนจบได้ 2-3 เดือน เพื่อนคนหนึ่งไปต่างเมือง เขามีพิมพ์ดีดโบราณรุ่นคุณปู่อยู่เครื่องหนึ่งเลยฝากผมเอาไว้ ตอนนั้นผมต้องจ่ายเงินให้เพื่อนอีกคน อาทิตย์ละ 50 ดอลลาร์เพื่ออาศัยนอนบนพื้นอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ในแถบหนึ่งของเมืองนิวยอร์ก ตอนนั้นผมได้งานทำในบริษัทผลิตละครสำหรับเด็กอยู่พักหนึ่ง แล้วก็มีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นละครโทรทัศน์อยู่เรื่องหนึ่ง ตอนนั้นเป็นปี ค.ศ. 1984 ผมไล่ตะเวนทดสอบคัดตัวเป็นนักแสดงอยู่เรื่อย ๆ 

            จนกระทั่งวันหนึ่งผมกำลังถังแตก ทีวีเสีย เท่าที่พอจะทำได้ก็มีแค่หาอะเขียนเล่น ๆ เพราะไม่มีอะไรจะทำ ผมเลยนั่งหน้าเครื่องพิมพ์ดีด แล้วก็ลงมือพิมพ์ตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืนของวันรุ่งขึ้น ผมตกหลุมรักทั้งหมดที่พิมพ์ลงไป ซึ่งทำให้ผมตระหนักว่า เวลาหลายปีที่ผ่านไปกับการเรียนการแสดง และการนั่งรถไฟไปโรงละครนั้นไม่ได้เกี่ยวกับการงานแสดงเลย แต่เกี่ยวกับว่าอะไรคือละครที่แท้จริงต่างหาก ผมเคยลำพองว่าตัวเองเป็นนักแสดง ทั้ง ๆ ที่ในความจริงผมเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น โดยไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการเขียนมาก่อนเลย

            บทละครเรื่องแรกที่ผมเขียนคือ Hidden in This Picture ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจากนั้นผมก็ใช้เวลาราวปีครึ่งเขียนละครเวทีเรื่อง A Few Good Men ในระหว่างที่ผมทำงาน ผมรู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ตอนมันออกแสดงที่บรอดเวย์ ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์เจอราร์ด ผมจึงโทรไปหาท่าน แล้วถามว่า "นี้คือสิ่งที่อาจารย์หมายถึงใช่ไหมครับ" 

            ตอนที่ผมกำลังวางแผนจะเขียนเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก ผมก็นึกถึงเรื่องของอารอน ซอร์คินที่ผมได้เขียนไปข้างต้นขึ้นมา การค้นพบศักภาพ และได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ทำในสิ่งที่รัก เป็นเหมือนกับขุมสมบัติที่ทุกคนต่างปรารถนา มีหลายคนที่สามารถค้นพบมันได้ จิตวิทยาเชิงบวกจะมีความแตกต่างจากจิตวิทยาในอดีต เนื่องจากจิตวิทยาในอดีตนั้นจะศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต เพื่อเข้าใจ และแก้ไขปัญหา ซึ่งก็มีวิธีการบำบัดมากมาย ที่โด่งดังที่สุดในยุคแรก ๆ ก็คงเป็นจิตวิเคราะห์ ซึ่งต่อมาได้มีแนวความคิดที่ว่าทำไมเราถึงไม่ลองศึกษาเกี่ยวกับคนทั่วไป เพื่อพัฒนา ส่งเสริมให้พวกเขามีความแข็งแกร่ง แทนที่จะมุ่งซ่อมแซมเพียงอย่างเดียว

            แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกจึงเกิดขึ้นจากเป้าหมายที่ว่า จิตวิทยาควรให้ความสำคัญ กับจุดแข็งของมนุษย์ เช่นเดียวกับการใส่ใจในสุดอ่อน ควรมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับที่มุ่งซ่อมแซมข้อบกพร่อง ควรจะให้ความสนใจกับสิ่งดี ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิต และควรจะใส่ใจกับชีวิตคนปกติธรรมดาที่เขาอาจจะต้องการการเติมเต็มมากขึ้น นอกจากนั้นควรให้ความสนใจกับอฉริยะ และการบ่มเพาะผู้ที่มีพรสวรรค์หรือมีความสามารถพิเศษ และที่สำคัญคือทำอย่างไรเราถึงจะมีความสุข

            มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) หนึ่งในผู้บุกเบิก และผลักดันแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก เคยตั้งคำถามว่าคนที่ทุกข์สุด ๆ เขาแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร และในระยะหลังนี้เราเริ่มถามกันว่าคนที่มีความสุขสุด ๆ เขาแตกต่างจากพวกเราอย่างไร ผลปรากฏว่า มีความแตกต่างอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเขาแคร่งศาสนามากกว่า ไม่ใด้มีสุขภาพดีกว่า ไม่ได้มีเงินมากกว่า ไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีกว่า ไม่ได้มีเรื่องดี ๆ ในชีวิตมากกว่าเรื่องร้าย ๆ สิ่งที่เขาแตกต่างจากเรา คือเขามีความสัมพันธ์ทางสังคมดีที่ดีมาก ๆ เขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่คนเดียว แต่มีคนที่รัก และมีเพื่อนเยอะมาก

            เซลิกแมน ยังได้แบ่งแง่มุมของความสุขออกเป็น 3 แง่มุมที่แตกต่างกัน สามารถสร้างแต่ละแง่มุมได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ เราอาจจะมีแง่มุมหนึ่งที่มากกว่าอีกแง่มุมก็ได้ 

            1. การมีชีวิตที่รื่นรมย์ (The Pleasant Life) คือชีวิตที่มีความสุขแบบรื่นรมย์ มีความสนุกสนานเท่าที่เราจะหาได้ เป็นชีวิตที่มีสิ่งตอบสนองทำให้เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของ การรับประทานของที่ชอบ การทำในสิ่งที่โปรดปราน และมีอารมณ์เชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามอารมณ์เชิงบวกนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลจากพันธุกรรม นอกจากนั้นเรามักจะเบื่อง่าย เช่น เราอาจจะมีความสุขมากที่ได้ซื้อของที่ชอบ แต่หลังจากนั้นก็จะรู้สึกเบื่อ เพราะชั่วขณะที่ได้ไปเลือกซื้อของนั้นจะจางหายไปอย่างรวดเร็ว หรือเราอาจจะมีความสุขที่ได้กินอาหารอร่อยในครั้งแรก แต่ในครั้งถัดไปก็ไม่สุขเท่าเดิมอีกแล้ว 

"เพราะวนิลาในวันนี้ไม่หวานเหมือนวันวาน"

            2. การมีชีวิตที่ดี (The Good Life) จำเรื่องของอารอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin) ที่ผมเล่าไว้ด้านบนได้ไหมครับ ในความเห็นของผมเรื่องราวของซอร์คินเป็นตัวอย่างที่ดีมาก การมีชีวิตที่ดีในมุมมองของจิตวิทยาเชิงบวก คือการที่เรามีสมาธิจดจ่อกับงานที่เรารัก ทำให้รู้สึกสนุกสนานและอยากทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่เบื่อหน่าย ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว 

            ไมค์ ชิคเซนต์มิไฮยี (Csikszentmihalyi) เรียกว่า "สภาวะลื่นไหล" (Flow) มันจะแตกต่างจากความสนุกสนานรื่นรมย์ เราจะเป็นเหมือนหนึ่งเดียวกับเสียงดนตรี โลกทั้งใบจะเหมือนกับหยุดหมุน หลายคนเรียกว่า "สภาะท็อปฟอร์ม" (Being in the Zone) มันจะเกิดขึ้นเมื่อเราทุ่มเทพลังใจหรือความสนใจไปที่เป้าหมายที่ทำได้จริง และเมื่อทักษะมาบรรจบกับโอกาสที่จะกระทำ เราจะทุ่มเทสมาธิและความสนใจไปที่งานตรงหน้าจนลืมสิ่งอื่น ๆ ทุกอย่างนอกเหนือจากนั้นไว้ชั่วขณะ เวลาจึงเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว 

            เซลิกแมนแนะนำว่า การที่เราจะเข้าสู่สภาวะลื่นไหล (Flow) ได้เราจะต้องรู้ว่าจุดแข็งของตนเองคืออะไร แล้วเราจะต้องออกแบบชีวิตเพื่อให้ได้ใช้จุดแข็งเหล่านั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นงาน การเล่น มิตรภาพ ครอบครัว เหมือนกับซอร์คิน ที่รู้จุดแข็งว่าตนเองมีความสามารถในการเขียนบท เขาจึงออกแบบงานของตัวเองให้สามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาได้เต็มที่ 

            3. การมีชีวิตที่มีความหมาย (The Meaningful Life) เป็นความรู้สึกอิ่มเอิบหรืองอกงามทางจิตใจ มันคือการที่เราใช้จุดแข็งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ซึ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรานั้น ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่อาจจะเป็นคนในครอบครัว ผู้คนในสังคม หรือจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ความถูกต้อง ความยุติธรรม กล่าวคือ การที่เราทำสิ่งที่ตนเองรักและสิ่งนั้นส่งผลดีต่อคนรอบข้างและทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น เช่น การทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยคาดหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น ๆ จะดีขึ้น

            (หลังจากนั้นเซลิกแมนได้ต่อยอดพัฒนาแนวคิดนี้เพิ่มอีก 2 ข้อ คือ 1) การมีความสัมพันธ์ที่ดี (Relationships) เป็นการได้การยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือความสัมพันธ์แบบอื่น ๆ 2) การบรรลุถึงเป้าหมาย (Accomplishment) เป็นการสร้างความสำเร็จ และความเชี่ยวชาญให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้)

            อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นว่าคนคนหนึ่งจะต้องมีชีวิตทั้งหมดนี้ กล่าวคือการที่เราเพียงชีวิตแบบใดแบบหนึ่ง เราก็สามารถมีความสุขได้ เช่น คนที่รู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำมีความหมาย หรือคนที่มีพันธุกรรมที่เครียดบ่อย วิตกกังวล แต่เมื่ออยู่ในสภาวะลื่นไหล ก็จะรู้สึกมีความสุข หรือคนที่ใช้เงินในการหาความรื่นรมย์ให้กับตนเอง เช่น ซื่อของ หาอาหารอร่อยที่ชอบกินบ่อยครั้ง การฟังเพลงที่ชอบ การดูภาพยนตร์ที่ชอบ ก็สามารถมีความสุขได้ แต่ความสุขนั้นจะยั่งยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทำ 

            แต่ละคนคงมีเคล็ดลับความสุขที่แตกต่างกันออกไป เซลิกแมนได้ทำการศึกษาความสุขแต่ละแง่มุม กับผู้คนเป็นพันคน โดยถามว่า การแสวงหาความเพลิดเพลิน อารมณ์บวก ชีวิตรื่นรมย์ การได้ทุ่มเทเอาใจจดจ่อจนเหมือนเวลาหยุดนิ่ง และการแสวงหาความหมายในชีวิต แต่ละอย่างมีส่วนเติมเต็มความพึงพอใจในชีวิตมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าการแสวงหาความสนุกเพลิดเพลินแทบไม่ได้เพิ่มความพึงพอใจในชีวิตเลย ตรงกันข้ามกับการแสวงหาความหมายในชีวิตมีผลมากที่สุด เช่นเดียวกับการมีได้ทุ่มเทเอาใจจดจ่อก็มีผลมากเช่นกัน อย่างที่ผมบอก เวลาที่คนเราพึงพอใจกับความรื่นรื่นย์ ความสุขมันจะอยู่ได้ไม่นาน 

            ไม่แน่ว่าการที่ อารอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin) ค้นพบสิ่งที่เขาถนัด รัก และสามารถทุ่มเทกับมัน ทำให้เขามีความสุข ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตนี้มีความหมาย เขาจึงพึงพอใจในชีวิตมากยิ่งขึ้น ดังนั้นศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกจึงเป็นการค้นหาศักยภาพหรือจุดแข็งของตนเอง และให้ความสนใจกับสิ่งดี ๆ ทั้งหลายในชีวิต เราสามารถค้นหาตนเอง ทำสิ่งที่รัก ทุ่มเทกับมัน จนเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีความหมายในชีวิตมากขึ้น สุดท้ายเราก็จะมีความสุขได้ 

            อย่างไรก็ตามผมไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องประกอบอาชีพที่คุณรัก เพราะแต่ละบุคคลจะมีเงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ทำให้หลายคนไม่ทำในสิ่งที่ตนต้องการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราไม่ได้ประกอบอาชีพที่เรารัก เราจะไม่สามารถค้นหาความสุขได้เลย เราสามารถหางานอดิเรกในเวลาว่างเพื่อทำสิ่งที่เรารักได้ และหากเราทำไปนาน ๆ ก็อาจจะเป็นช่องทางหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราก็เป็นได้ และวันหนึ่งคุณอาจจะรู้สึกเหมือนซอร์คิน ที่โทรไปหาอาจารย์เจอราร์ด แล้วถามท่านว่า 

"นี้คือสิ่งที่อาจารย์หมายถึงใช่ไหมครับ" 

อ้างอิง

Robinson, K. Aronica. L. (2009). The Element: How Finding Your Passion Changes Everything. NY: Penguin Books.

Seligman, M. (2011). Flourish: A Visionary New Understanding of Happiness and Well-being NY: Atria Books.

Seligman, M. & Csikszentmihalyi, M. (2000). "Positive psychology: An Introduction." American Psychologist, 55(1): 5-14.

Seligman, M. (2004). The New Era of Positive Psychology. https://www.ted.com/talks/martin_seligman_the_new_era_of_positive_psychology

ความคิดเห็น