การระบายความรู้สึกเพื่อปลดปล่อยตนเอง

"การระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา 
จะช่วยล้างพิษที่อยู่ในใจออกไปได้"

            ระหว่างสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายในประเทศสหรัฐอเมริกาปี 1863 ซึ่งเป็นการทำสงครามระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ลีซึ่งเป็นนายผลจากฝ่ายใต้พ่ายแพ้จากสมรภูมิหนึ่ง และกำลังถอยทัพกลับ เขาพบว่าตรงทางข้างหน้าเป็นแม่น้ำที่มีน้ำเอ่อล้นจนไม่สามารถข้ามไปได้ และกองทัพฝ่ายเหนือ (รัฐบาล) ผู้ชนะก็กำลังประกบอยู่ด้านหลัง นายพลลีจึงเหมือนติดอยู่ในกับดัก เขาไม่สามารถหนีไปไหนได้

            อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีเหมือนกับสวรรค์ประทานมาให้ เป็นโอกาสที่จะยุติสงครามที่โหดร้ายนี้เสียที เขาจึงเขียนโทรเลขสั่งให้นายพลมี้ค ซึ่งเป็นนายพลของฝ่ายเหนือให้โจมตีทันทีโดยไม่ต้องแจ้งสภาสงคราม แต่มี้คกลับฝ่าฝืนคำสั่งของเขา แล้วไปแจ้งสภาเสียก่อน เขาส่งโทรเลขคำแก้ตัวไปให้ลินคอล์น กว่าที่ทุกอย่างจะเรียบร้อย น้ำในแม่น้ำก็ลดลงจนนายพลลีสามารถหนีข้ามไปได้อย่างน่าเสียดาย

            ลินคอล์นโกรธอย่างมาก เขาพูดเสียงดังใส่ลูกชายของเขา "นี้มันหมายความว่าอย่างไร พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เราได้พวกเขาอยู่ในกำมือแล้ว เพียงแค่ยื่นมือของเราออกไปเท่านั้น พวกเขาก็จะถูกเราจับกุม ไม่มีอะไรที่พ่อจะสั่งหรือทำให้กองทัพเคลื่อนกำลังได้หรือยังไงภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ว่านายพลคนไหน เกือบทุกคนก็สามารถเอาชนะนายพลลีได้ ถ้าพ่ออยู่ที่นั้น พ่อก็คงจะจัดการเขาด้วยตัวพ่อเอง"

            ด้วยความผิดหวังอย่างขมขื่น ลินคอล์นนั่งลงเขียนจดหมายถึงนายพลมิ้ค ด้วยข้อความตำหนิอย่างรุนแรง โดยมีใจความพอสรุปได้ว่า ผมไม่เชื่อว่าคุณพอใจกับโชคร้ายอันใหญ่หลวงที่นายพลลีหลบหนีไปได้ ทั้ง ๆ ที่เราจะสามารถจับกุมเขาได้แล้วอย่างง่ายดาย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ สงครามก็จะยืดเยื้ออย่างไม่มีกำหนด หากคุณไม่สามารถโจมตีในสถานการณ์อย่างนั้นได้ แล้วคุณจะโจมตีได้อย่างไรหากเขาสามารถข้ามแม่น้ำไปได้แล้ว มันไม่มีเหตุผลพอที่จะคาดหวังได้เลย และผมก็ไม่คาดหวังว่าตอนนี้คุณจะสามารถทำอะไรได้มากนัก โอกาสทองของคุณได้ผ่านเลยไปแล้ว และผมรู้สึกผิดหวังอย่างประมาณไม่ได้อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

            มันเป็นจดหมายระบายรู้สึกโกรธเกรี้ยวที่รุนแรงมากสำหรับคนบุคลิกใจเย็นและสุภาพแบบลินคอล์น มีคนพบจดหมายนี้ปะปนอยู่ในเอกสารอื่น ๆ เขาไม่ได้ส่งมัน และเขาก็ไม่ได้ตำหนินายพลมี๊คอย่างรุนแรงเหมือนกับที่เขาเขียนในจดหมายด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเห็นอกเห็นใจทหารทุกคนที่อยู่ในสงคราม ต้องเห็นความตายความเจ็บปวดอยู่รอบตัว เขาไม่ควรจะไปตำหนิหรือตัดสินบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็ได้ หรือเขาเพียงแค่ใจเย็นลงเพียงเพราะว่าเขาได้เขียนข้อความระบายความรู้สึกออกไป

            มันเป็นไปได้ไงที่เพียงแค่เขียนข้อความระบายความรู้สึกของตัวเองออกไป จะทำให้ความโกรธเกรี้ยวที่รุนแรงขนาดนี้จางหายไปได้เลยหรือ แต่ในความจริงแล้วมันเป็นไปได้! และมันเป็นไปได้มากกว่าแค่ปลดปล่อยความโกรธอีกด้วย มันยังสามารถทำให้คนที่ซึมเศร้า คนที่รู้สึกว่าล้มเหลวย่อยยับในชีวิต หรือคนที่สูญเสียคนรัก มีสุขภาพใจและกายดีขึ้น มันทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น หดหู่น้อยลง วิตกกังวลน้อยลง ความดันโลหิตลดลง มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และไปหาหมอน้อยลงหลังจากที่เขียนความรู้สึกของตัวเองเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น การเขียนระบายความรู้สึกสามารถปลอดปล่อยตัวเราเองที่โดนความเลวร้ายของชีวิตกักขังเอาไว้ ออกมามีอิสรภาพอีกครั้งหนึ่งได้

            เจมส์ เพนน์เบเกอร์ (James Pennebaker) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส เข้าสู่วิวาทันทีหลังจากเรียนจบ แต่ผ่านไป 3 ปี เขาก็เกิดรู้สึกสับสนและไม่มั่นคงอย่างมาก ด้วยความที่เขาเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างมากเรียกได้ว่าเป็นดาวรุ่งแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสเลย ทำให้เขาอับอายจากความไม่มั่นคงด้านความสัมพันธ์ เขารู้สึกจมดิ่งสู่ความซึมเศร้า กินน้อยลง ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากขึ้น และสุดท้ายเขาก็เริ่มแยกตัวออกจากสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ 

            เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนแห่งความทุกข์ทรมาน เจมส์ก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่ขึ้น เขาลองตะกายลงจากเตียงแล้วไปนั่งหน้าเครื่องพิมพ์ดีดที่เขาคุ้นเคย โดยจ้องมองมันอยู่สักพัก จากนั้นก็เริ่มเขียนเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานของตนเอง พ่อแม่ของเขา เพศสภาวะของเขา อาชีพการงาน และเรื่องอื่น ๆ รวมไปถึงความตาย เขาใช้เวลาเขียนไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายวัน

            จนกระทั่งบางสิ่งที่น่าทึ่งก็เกิดขึ้น อาการซึมเศร้าจางหายไป เขาเริ่มระลึกถึงความรักอันลึกซึ้งที่มีต่อภรรยาอีกครั้งหนึ่ง การเขียนส่งผลกระทบต่อตัวของเขาเองเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ มันเป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มมองเห็นจุดมุ่งหมายและความเป็นไปได้ในชีวิตของตัวเอง จากประสบการณ์ส่วนตัวนี้เองที่ทำให้เจมส์สามารถข้ามผ่านช่วงเวลาหนักหนาสาหัส และจุดประกายให้เขาทำการวิจัยที่ใช้เวลายาวนานกว่า 40 ปี เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างการเขียนกับกระบวนการจัดการทางอารมณ์ 

            เจมส์ทำการทดลองโดยแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม และบอกให้อีกกลุ่มหนึ่งเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านอารมณ์ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่วงละเมิดโดยสมาชิกในครอบครัว ความล้มเหลวที่ย่อยยับในชีวิต ความสูญเสียบุคคลที่รัก การหย่าร้าง หรือความตาย บางคนเขียนว่าตนเองวางของเล่นไว้ที่พื่้น ทำให้คุณยายลื้นล้มเสียชีวิต หรือบางคนเขียนถึงพ่อตนเอง ที่บอกกับเขาว่าการมีลูก (ตัวเขา) เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาและเขากำลังจะจากไป ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้เขียนเกี่ยวกับอะไรก็ได้ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน โดยทั้ง 2 กลุ่มจะต้องเขียนวันละ 20 นาที เป็นเวลา 3 วันติดกัน 

            จากการศึกษา เจมส์ เพนน์เบเกอร์ พบว่าคนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ของตัวเองจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น หดหู่น้อยลง ภูมิคุ้มกันมากขึ้น และมีความดันโลหินน้อยลงอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งมันยังทำให้พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ความจำดีขึ้น และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการทดลองนี้เจมส์ได้รับอนุญาตจากผู้เข้าร่วมทดลองให้ขอประวัติทางการแพทย์ในอนาคตได้ 

            ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้เล่าว่าหลังจากที่เธอค้นพบผลการวิจัยของเจมส์ เป็นครั้งแรก เธออึ้งไปเลย เพราะมันเตือนให้นึกถึงประสบการณ์ชีวิตของเธอ ที่เธอได้จดบันทึกช่วงเวลาที่พ่อของเธอเป็นมะเร็งเอาไว้ ตลอดช่วงเวลาที่พ่อของเธอจะเสียและตอนที่พ่อของเธอจากไปแล้ว ชีวิตของเธอต้องเปลี่ยนไปอย่างเจ็บปวด การเขียนนั้นช่วยถ่ายทอดความรู้สึกผิดต่อเวลาที่เธอไม่ได้ใช้เวลากับท่าน และสิ่งที่เธอไม่เคยได้พูดกับท่าน นอกจากนั้นเธอยังเขียนถึงเวลาที่ใช้อย่างคุ้มค่า และการที่เธอทำได้ดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้แล้ว "ตลอดช่วงเวลานั้น" เธอเล่า "ฉันได้เรียนรู้ที่จะนั่งลงแล้วอยู่กับอารมณ์ของตัวเอง ทั้งอารมณ์ที่เบิกบานและอารมณ์ที่โศกเศร้า ในการทำเช่นนั้น ฉันก็เห็นตัวเองแจ่มชัดมากขึ้น 

และฉันก็ค้นพบพบสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ ฉันเป็นคนที่ฮึดสู้ ฉันตระหนักได้ว่าฉันสามารถอยู่กับความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มเปี่ยม แม้แต่ด้านที่ฉันไม่พอใจนักก็ตาม"

            จาการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายครั้งกับกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองอีกหลายพันคน ตั้งแต่เด็กจนถึงคนสูงวัย นักศึกษาไปจนถึงคนวัยทำงาน คนสุขภาพดีไปถึงคนป่วย เราสามารถกล่าวด้วยความมั่นใจว่า การเผชิญหน้าและเขียนระบายความรู้สึก เป็นวิธีรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล และความสูญเสียที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก 

วิธีการเขียนระบายความรู้สึกเพื่อปลดปล่อยตนเอง

            เจมส์ เพนน์เบเกอร์ (James Pennebaker) ได้อธิบายกฎการเขียนของเขาเอาไว้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถได้ประโยชน์จาการรบายความรู้สึก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ตั้งเครื่องจับเวลาไว้ 15-20 นาที เปิดสมุดโน๊ตหรือเปิดหน้าเอกสารใหม่ในคอมพิวเตอร์ (สามารถอัดเสียงพูดได้) จากนั้นเริ่มเขียนประสบการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ เดือน หรือปีที่ผ่านมา ไม่ต้องกังวลว่ามันอ่านยากไปหรือไม่ ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเยิ่ยเย้อ หรือจะปะติดปะต่อกันไม่ได้ ให้เขียนอย่างอิสระตามใจพาไป เพราะเราเขียนเพื่อตัวเอง ไม่ได้เขียนให้ใครอ่าน 

            ลองทำแบบนี้ไปสัก 3-4 วัน จากนั้นให้โยนกระดาษเหล่านั้นทิ้งไปหรือลบไฟล์ทิ้งไปเลย ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้อ่านใหม่อีกรอบ เพราะประเด็นมันอยู่ที่ว่าตอนนี้ความคิดก้อนนั้นได้ออกจากหัวของเราไปสู่หน้ากระดาษแล้ว มันเป็นการเปิดกระบวนการที่เราจะสามารถก้าวออกมาจากประสบการณ์ที่เลวร้าย เพื่อเปิดรับมุมมองใหม่แล้ว

            การเขียนระบายความรู้สึกสอดคล้องกับความคิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่อธิบายการระบายความรู้สึกหรืออารมณ์ (Catharsis) ว่าเป็นการที่เราแสดงอารมณ์ออกมา "ระบายความอัดอั้นในอก" หรือ "ปล่อยอารมณ์ร้อน" จะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพมากกว่า อย่างไรก็ตามเวลาที่คนเราระบายอารมณ์ออกโดยการเล่าให้คนอื่นฟัง หรือ ตีอกชกหมอน มันไม่สามารถทำให้เราปลดปล่อยตัวเราออกมาได้เหมือนการเขียน ในทางกลับกันมันยิ่งจะทำให้เรายิ่งโกรธมากขึ้น ไม่ใช่สงบลง หรือแม้แต่การเต้นรำ ร้องเพลงเพื่อแสดงอารมณ์ก็ไม่ได้มีผลอะไร นอกเสียจากว่าการเต้นรำหรือร้องเพลงนั้นจะเป็นการใช้ถ้อยคำเพื่อสร้างเรื่องเล่าในชีวิตของตัวเองให้มีความหมาย การเขียนจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

            เจมส์ เพนน์เบเกอร์ ค้นพบว่ามันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่ระบายออกมา แต่มันคือการทำความเข้าใจ ผู้เข้าร่วมทดลองที่เขียนเพื่อระบายนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไร คนที่รู้สึกโอเคกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว หรือความรู้สึกเจ็บปวดนั้นมันไม่ได้รุนแรงแล้ว หรือได้รับการเยียวยามาแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดและก้าวหน้ามากที่สุดคือคนที่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจอะไร ๆ มากขึ้น คนเหล่านี้จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นในปีถัดมา กล่าวคือ คนที่รู้สึกอัดอั้นตันใจ ยังไม่ได้เริ่มเผชิญหน้ากับปัญหา พยายามหลีกหนีความรู้สึกที่แท้จริง จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการระบายความรู้สึกด้วยการเขียน

            กลับมาที่เรื่องราวของ อับราฮัม ลินคอล์น ตอนที่เขาเขียนจดหมายตำหนินายพลของเขา ทำให้เขาได้ระบายอารมณ์หรือความรู้สึกตนเองออกมา และได้ปลดปล่อยตัวตนของเขา นั้นจึงทำให้เขาตระหนักและคิดได้ว่าเขาไม่ควรจะส่งสิ่งนี้ไป เขาจึงเก็บจดหมายนั้นเอาไว้ จนวันที่เขาตายเราถึงรู้กันว่าเขาเคยเขียนจดหมายนี้ไว้ เราลองนึกถึงบางครั้งที่เราพิมพ์ข้อความด้วยอารมณ์ลงใน Facebook หรือ Line ดู หลังจากนั้นเราก็ลบมันทิ้งไป ก็เป็นกรณีที่คล้ายกัน เพราะเราได้ระบายอารมณ์ออกไปแล้วในการพิมพ์นั้น แม้ว่าจะไม่มีใครรู้เลยก็ตามว่าเราพิมพ์อะไรลงไป

            ยิ่งไปกว่านั้นคนบางคนถูกตัวเองจองจำหรือเก็บกดความรู้สึกผิด ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกวิตกกังวลเอาไว้ในใจ แม้ว่าเราจะรู้สึกเป็นผู้คุมสถานการณ์แต่มันก็เป็นการย้อนแย้ง เพราะเราไม่ได้ทำอะไรกับรากของปัญหาเลย เราปิดบังความอ่อนแอของตนเอง แล้วแสดงออกว่าเข้มแข็ง สุดท้ายอารมณ์ที่จองจำหรือเก็บกดลงไปก็จะผุดขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง กระบวนการจิตวิทยานี้เรียกว่าการรั่วไหลของอารมณ์ (Emotional Leakage) 

            การเรียบเรียงความรู้สึกขณะนั้นลงไปบนกระดาษ หรือบนคอมพิวเตอร์ มันคือการที่เราใช้ถ้อยคำในการสร้างเรื่องเล่าที่มีความหมายขึ้นมา แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม เราก็ยังจะสามารถจบบทเรียนที่ยังค้างคงอยู่ได้ ซึ่งเป็นบทเรียนที่ส่งผลต่อความคิดและคอยรั้งเราไม่ให้ก้าวไปหาเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่กว่า อย่าเอาตัวตนของเราเองไปซ้อนไว้ในจิตใจ ไม่ว่าเรื่องราวที่เราเผชิญมันจะเลวร้ายมากแค่ไหนก็ตาม 

ขอให้กล้าเผชิญหน้าและเขียนเรื่องราวเหล่านั้นลงบนกระดาษ ทำแบบนั้นวันละ 15-20 นาที เราจะสามารถปลดปล่อยตนเองออกมาจากการเก็บกดหรือการถูกจองจำที่แสนยาวนาน

อ้างอิง 

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

Pennebaker, J., & Smyth, J. (2016). Opening Up by Writing It Down (3th ed.). How Expressive Writing Improves Health and Eases Emotional Pain. NY: Guilford Press.

ความคิดเห็น