จิตวิทยาของการชมเชย (Psychology of Compliments)

"การชมเชยเหมือนแสงอาทิตย์ที่ให้ความอบอุ่น  
แก่จิตวิญญาณของมนุษย์" Jess Lair
            ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีมากนัก แต่เวลาผมฟังเพลงโอเปร่า ผมจะตะลึงอย่างมากว่าเขาร้องได้อย่างไร เพราะแค่ร้องออกมาแบบทั่วไปผมยังแทบร้องไม่ได้ ผมคิดว่าคนที่สามารถร้องโอเปร่าได้จะต้องเป็นคนที่เก่งมาก มีพรสวรรค์ คงเป็นที่น่าชื่นชอบจากทุกคน แต่นักร้องโอเปร่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่งชื่อว่า เอนริโก คารูโซ (Enrico Caruso) ไม่ได้มีประสบการณ์ที่โรยด้วยกรีบกุหลาบอย่างที่ผมคิดไว้

            คารูโซเป็นเด็กที่ยากจน ต้องทำงานที่โรงงานในเมืองเนเปิ้ลส์ แต่เขามีความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักร้อง โชคร้ายที่ครูของเขาดูถูกเขาว่า "เธอร้องเพลงไม่ได้หรอก เสียงของเธอไม่เหมาะที่จะร้องเพลง มันฟังคล้ายเสียงลมพัดผ่านบานเกล็ดหน้าต่าง" ตอนผมอ่านเรื่องนี้ผมหงุดหงิดมาก มันคงจะเป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจเด็กอย่างรุนแรงมากเลย แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น

            โชคดีในโชคร้ายที่เขามีแม่เป็นคนที่วิเศษอย่างมาก เธอเป็นชาวนายากจน แต่เธอรู้ว่าเขาอยากเป็นนักร้อง เธอโอบกอดเขา ชมเชยเขา เธอยอมเดิมเท้าเปล่าเพื่อเก็บเงินไว้จ่ายค่าชั่วโมงเรียนดนตรีของเขา ความรัก ความเข้าใจ คำชมเชยและกำลังใจจากแม่ซึ่งเป็นชาวนายากจนคนหนึ่งได้เปลี่ยนชีวิตของคารูโซไปตลอดกาล และเติบโตขึ้นกลายเป็นนักร้องโอเปร่าที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเขา

            ความรักและคำชมเคยที่แม่ให้กับคารูโซ ทำให้เขากลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ นักจิตวิทยาชื่อดัง บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ได้ทำการทดลองที่โด่งดัง (สามารถอ่านเรื่องการเสริมแรงและการลงโทษได้ในลิ้งนี้) และได้ผลสรุปว่าพฤติกรรมของบุคคลเป็นผลพวงมาจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากผลกรรมที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมนั้น นอกจากนั้นสกินเนอร์ยังให้ความสำคัญที่การชมเชยแทนการวิจารณ์ การลดการวิจารณ์ให้น้อยที่สุด และเน้นการชมเชยมากขึ้น จะเป็นการย้ำส่วนดี ๆ ของบุคคลให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สิ่งไม่ดีก็จะลดลงเพราะไม่ได้ให้ความสนใจกับมัน
           มนุษย์อยากเป็นคนสำคัญ เราจึงมักแสดงออกโดยการอยากเป็นคนสำคัญ อยากมีคุณค่า อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับความสนใจ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นรู้สึกมีความสำคัญหรือได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน หากเขารู้สึกไม่ค่อยสำคัญ ไม่ค่อยมีใครสนใจ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจ หรืออยากได้รับความสำคัญ การชมเชยก็เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อความปรารถนาของมนุษย์ที่อยากเป็นคนสำคัญ อยากมีคุณค่า และอยากได้รับการยอมรับได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันถ้าคนคนหนึ่งอยากได้รับการยอมรับ อยากเป็นคนสำคัญแต่กลับได้รับการดูถูก การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ก็จะสามารถเขาผิดหวัง รู้สึกแย่ และอาจจะพยายามที่จะให้คนสนใจมากขึ้นด้วยวิธีอื่นซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่สังคมพึงปรารถนานัก

            นอกจากนั้นเวลาที่เราถูกชม จะทำให้สารสื่อประสาทโดพามีนหลั่งมากขึ้น เพราะเป็นการได้รับรางวัล อีกทั้ง การชมเชยยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีความลึกซึ้งมากขึ้น ไม่มีใครรู้สึกไม่ดีเวลามีคนชม มนุษย์เรามักรู้สึกดีกับคนที่ยอมรับในตัวเรา ดังนั้นการชมให้ถูกวิธีจึงช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำงานได้ง่ายและมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพราะการชมเชยเหมือนแสงอาทิตย์ที่ให้ความอบอุ่น แก่จิตวิญญาณของมนุษย์

วิธีการเสริมแรงด้วยการชมเชย

            ความจริงแล้วมีวิธีการและรูปแบบการชมเชยมากมายให้เลือกใช้ แต่ผมอยากจะนำเสนอวิธีการชมเชย 4 วิธี ซึ่งผมได้ทำการศึกษามาบ้าง โดยผู้อ่านทุกท่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ หรือ สามารถนำทั้ง 4 วิธีไปใช้ร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

            1) ชมที่ความพยายาม ความพยายามที่ได้รับคำชมนั้นจะเกิดการเน้นย้ำทางจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่เราจะเอ่ยชมจึงไม่ได้อยู่ที่ "ผลงาน" แต่ต้องชมใน "ความพยายาม" หากเราจะชมเชยเด็กคนหนึ่งว่าฉลาด พวกเขาจะมีมุมมองแบบตายตัวเกี่ยวกับความสามารถ ส่งผลให้ยอมแพ้เมื่อเผชิญหน้ากับความล้มเหลว แทนที่จะบอกว่าเขาฉลาดมากแค่ไหน ทางที่ดีควรจะชมไปที่ความพยายาม ซึ่งจะส่งเสริมให้เขามองว่าความสามารถของตัวเองเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และพยายามเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ 

            2) ชมที่นิสัยใจคอ ในหนังสือ Originals ผู้เขียน อดัม แกรนต์ (Adam Grant) เล่าถึงการทดลองที่นำโดยนักจิตวิทยาชื่อ โจน กรูเซค (Joan Grusec) เขาให้เด็ก ๆ แบ่งลูกแก้วให้เพื่อน เด็กจำนวนหนึ่งจะถูกสุ่มชมเชยพฤติกรรมว่า "เยี่ยมมากที่หนูแบ่งปันลูกแก้วให้เด็ก ๆ ที่น่าสงสารเหล่านั้น นั้นเป็นการกระทำที่น่ารักและเอื้อเฟื้อมากเลย" ส่วนเด็กอีกกลุ่มจะได้รับคำชมเชยไปที่นิสัยใจคอ "ฉันเดาว่าหนูเป็นคนประเภทที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นทุกครั้งที่ทำได้ หนูเป็นคนน่ารักและเอื้อเฟื้อมากเลย" ผลการทดลองพบว่าเด็ก ๆ ที่ได้รับคำชมเชยที่นิสัยใจคอจะมีน้ำใจมากกว่าในเวลาต่อมา เด็กจำนวน 45% ที่ได้รับการชมเชยว่าเป็นคนเอื้อเฟื้อยอมมอบวัสดุทำงานฝีมือเพื่อเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอีกสองสัปดาห์ให้หลัง หรือแม้แต่คำพูดว่า "โปรดอย่าเป็นคนขี้โกง" แทนคำว่า "โปรดอย่าโกง" ยังสามารถทำให้ลดการโกงได้ครึ่งหนึ่ง เพราะการพูดว่าโปรดอย่าเป็นคนขี้โกงจะไปกระตุ้นให้เกิดสำนึกในตัวตนของบุคคลขึ้นมา มากกว่าการบอกว่าโปรดอย่าโกง ที่ทำให้คนบางคนคิดว่าฉันจะรอดไปได้อย่างไร 

            เมื่อเราได้รับการชมเชยที่นิสัยใจค่อ เราจะยอมรับนิสัยใจคอนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา แทนที่จะมองการกระทำที่มีศีลธรรมแต่ละครั้งแยกจากกัน เรากลับเริ่มหล่อหลอภาพรวมเกี่ยวกับตัวเองในฐานะคนที่มีศีลธรรม

            3) ชมอย่างเป็นรูปธรรม หากน้องชายของเราสามารถเรียนได้เกรด 4 การชมว่า "เยี่ยมมากที่น้องได้เกรด 4" ถือเป็นการชมที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะเป็นการชมที่ผลงาน เราควรจะพูดถึงรายละเอียดของความพยายาม โดยเราต้องเน้นย้ำอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เช่น "การที่น้องได้เกรด 4 เป็นเพราะน้องพยายาม และทุ่มเทอย่างมากเพื่อที่จะเรียนได้ดีขนาดนี้ พยายามได้ยอดเยี่ยมมาก" หากเราทำแบบนี้น้องของเราก็จะอยากพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม การชมว่าเก่งมากที่ได้เกรด 4 จะทำให้น้องไม่รู้ว่าตนเองทำดีในจุดไหน ในขณะเดียวกันแม้เขาจะรู้สึกดี รู้สึกว่าตัวเองเก่ง แต่ในวันที่เค้าพลาด มันจะเป็นวันที่แย่สำหรับเขามาก

            4) ตอบสนองความต้องการเคารพนับถือ อย่างที่ผมกล่าวว่า "มนุษย์อยากเป็นคนสำคัญ เราจึงมักแสดงออกโดยการอยากเป็นคนสำคัญ อยากมีคุณค่า อยากได้รับการยอมรับ" ดังนั้นการชมจึงเป็นวิธีในการตอบสนองความอยากเป็นคนสำคัญที่มีคุณค่าเป็นอย่างดี โดยเราจะต้องชมในลักษณะที่เขารู้สึกสำคัญ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราจะชมลูกน้องของเรา เช่น "เก่งมากเลยนะที่พยายามทำได้ดีขนาดนี้ เธอเป็นกุญแจสำคัญของบริษัทนี้เลยนะ" หรือในกรณีที่จะชมนักเรียนที่ปฏิบัติตัวดี "การที่หนูคิดถึงจิตใจคนอื่น ปฏิบัติต่อผู้อื่นดีขนาดนี้ มันเป็นสิ่งที่หายากมากในสังคมเรา"

            อย่างที่ผมกล่าวไว้ว่าเราสามารถนำ 4 วิธีนี้ไปใช้ร่วมกันได้ เช่น เราอยากชมว่าลูกชายคนโตของเราที่ช่วยสอนการบ้านน้อง เราสามารถชมได้ว่า "หนูมีความพยายามที่ดีมากเลยนะที่สอนการบ้านน้อง หนูเป็นเด็กที่ใจกว้างมาก และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พิเศษมาก" จะเห็นว่าเป็นการชมทั้งความพยายาม นิสัยใจคอ เป็นรูปธรรม และแสดงถึงการยอมรับในตัวเขา อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องนำ 4 วิธีนี้ไปใช้พร้อมกันก็ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อีกอย่างหนึ่งอย่าไปกลัวว่าคนที่ถูกชมจะเหลิง ตราบใดที่เราชมด้วยความจริงใจ ไม่ใช่การเยินยอในสิ่งที่ไม่จริง หากชื่นชมด้วยความจริงใจ แล้วมันจะทำให้อีกฝ่ายเหลิงก็ชั่งมัน 
การแสดงความใจกว้างด้วยความชมเป็นสิ่งวิเศษที่จะปลอบประโลมผู้คนจากโลกที่น่าสับสนใบนี้
            การชมเชยสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้ ในต้นศตวรรษที่ 19 ชายหนุ่มคนหนึ่งในกรุงลอนดอนใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน แต่เขาไม่ได้เรียนหนังสืออีกทั้งพ่อของเขายังโดนจับเข้าคุกเพราะติดหนี้ เขาทั้งเจ็บปวดและหิวโหยอยู่บ่อยครั้ง เขาได้ทำงานในโกดังสินค้าโทรม ๆ ที่มีหนูวิ่งไปวิ่งมา เวลากลางคืนเขานอนในห้องใต้หลังคาที่แสนจะสกปรก เขาไม่เชื่อมั่นในความสามารถด้านการเขียนของตัวเอง จนเขาต้องแอบเอาต้นฉบับชิ้นแรกไปส่งเพื่อไม่ให้มีใครรู้เพราะกลัวคนหัวเราะเยาะ งานเขียนของเขาชิ้นแล้วชิ้นเล่าโดนปฏิเสธ แต่ในวันหนึ่งมันก็ประสบผลสำเร็จ แม้เขาจะไม่ได้รับเงินค่าเรื่อง แต่บรรณาธิการคนหนึ่งก็ชมเชยเขา มันเป็นการได้รับการยอมรับครั้งแรกของเขา ด้วยความปลาบปลื้ม ชาร์ลส์ ดิกเคนส์ (Charles Dickens) เดินไปตามถนนด้วยน้ำตาไหลอาบแก้ม 

            คำชมเชยและการยอมรับ เปลี่ยนแปลงชีวิตดิกเคนส์ตลอดกาล และทำให้โลกนี้ได้อ่านผลงานอมตะมากมายของเขา เช่นเดียวกับ เอนริโก คารูโซ (Enrico Caruso) ด้วยการชมเชยและการยอมรับจากแม่ของเขา ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาด้วยเช่นเดียวกัน มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพทางร่างกายและจิตใจอยู่อย่างมาก การชมเชยเป็นแรงกระตุ้นที่จะสามารถปลุกเอาศักยภาพนั้นให้ตื่นขึ้นมา และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกนี้ได้ตลอดกาล สำหรับผมคำชมเชยเป็นเหมือนเวทมนต์ของมนุษย์ เป็นพรวิเศษที่สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ตรงกันข้ามกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่สามารถทำให้จิตใจเราเหี่ยวแห้งได้ 
โชคยังดีในวันที่คารูโซโดนดูถูกจากคุณครูของเขา ยังมีแม่ของเขาที่คอยให้กำลังใจอยู่เสมอ และคอยร่ายเวทมนต์วิเศษใส่เขา เวทมนต์นั้นเรียกว่า "คำชมเชย" 

 อ้างอิง

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Kabasawa, S. (2018). The Power of Output: How to Change Learning to Outcome. Tokyo: Sanctuary

คาลอส บุญสุภา. (2564). การเสริมแรงและการลงโทษ (B.F.Skinner). https://sircr.blogspot.com/2021/05/bfskinner.html

ความคิดเห็น