จิตวิทยาของการขอบคุณ (Psychology of Gratitude)

"พูดให้ดีขึ้น ไม่ใช่พูดให้ดังขึ้น สิ่งที่ทำให้ดอกไม้เจริญเติบโตคือฝนไม่ใช่เสียงฟ้าผ่า" Jalal ad-Din Rumi          

            ในหนังสือ How to Win Friends and Influence มีเรื่องเล่าหนึ่งของผู้เขียนคือ เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเถียงกันของลมและพระอาทิตย์ ว่าใครจะทำให้ชายชราถอดเสื้อคลุมได้เร็วที่สุด ผู้ที่เริ่มก่อนคือลม มันพยายามเป่าลมอย่างสุดแรงไปที่ชายชรา แต่เขากลับพยายามดึงเสื้อนอกไว้ให้แน่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าลมจะเป่าแรงมากแค่ไหนเขาก็พยายามดึงเสื้อเอาไว้แรงขึ้น จนในที่สุดลมก็ต้องยอมแพ้

            ต่อมาพระอาทิตย์ออกมาจากหลังก้อนเมฆแล้วยิ้มอย่างใจดีกับชายชรา คราวนี้ชายชราซับหน้าผากจากนั้นจึงถอดเสื้อนอกออก พระอาทิตย์จึงเป็นผู้ชนะอย่างง่ายดายในศึกครั้งนี้ สุดท้ายพระอาทิตย์จึงบอกกับลมว่า "ความอ่อนโยนและมิตรไมตรี มักมีพลังมากกว่าความเกรี้ยวกราดและรุนแรงเสมอ"

            จากเรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นว่าการกระทำที่อ่อนโยน มีมิตรไมตรี เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าความรุนแรง ซึ่งในทางจิตวิทยาก็เป็นเช่นเดียวกัน ไม่มีใครชอบความเกรี้ยวกราดความโหดร้าย ความรุนแรง คนทุกคนชอบความอ่อนโยน ชอบความเป็นมิตร ชอบคนใจดีมีเมตตา และการแสดงความ"ขอบคุณ"ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงถึงความเป็นมิตรและใจดี ใคร ๆ ก็ชอบเวลาที่มีคนมาขอบคุณ มันทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญซึ่งเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณที่สำคัญของมนุษย์ 

            แต่สิ่งจริง ๆ แล้วการขอบคุณไม่ใช่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของสัญชาตญาณมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่การขอบคุณยังเป็นการแสดงความรู้สึกในแง่บวกที่ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย ทั้งผู้ที่ขอบคุณและผู้ที่รับการขอบคุณ แต่โชคร้ายที่คนจำนวนมากรู้สึกเขินเวลาที่พูดคำว่า "ขอบคุณ" ออกไปตรง ๆ เพราะคนไม่ค่อยกล้าแสดงออก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครรู้สึกแย่เวลาได้รับคำขอบคุณเสียด้วยซ้ำ ในทางกลับกันการขอบคุณยังช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการสื่อสารมีความลึกซึ้งมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นการขอบคุณอย่างมีผลดีอย่างมากต่อสุขภาพกายและใจ

            ชิออน คาบาซาวะ จิตแพทย์ นักเขียนชื่อดังผู้ได้อธิบายเกี่ยวกับการขอบคุณในหนังสือ The Power of Out Put โดยเขาเล่าว่ามีการวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินนอยส์พบว่า คนที่มีความรู้สึกขอบคุณ หรือความรู้สึกในแง่บวกมาก และมีความสุข เมื่อเทียบกันแล้วจะมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่มีความรู้สึกดังกล่าวถึง 9.4 ปี หมายความว่า หากเรามีความรู้สึกขอบคุณ ซึ่งเป็นความรู้สึกในแง่บวก เราจะมีอายุขัยที่สูงขึ้นและมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนี้ เพราะว่าความรู้สึกขอบคุณทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานเป็นปกติ ภูมิคุ้มกันโรคสูง จึงทำให้มีอายุยืน ดังนั้นการขอบคุณจึงเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ

            คาวนี้เรามาดูในมุมของประสาทวิทยากันบ้าง ถ้าใครพอจะรู้จักสารสื่อประสาท อาจจะคุ้นเคยกับสารโดพามีน ที่เป็นสารที่ทำให้อารมณ์ดี เป็นแห่งรางวัล สารเซโรโทนิน ที่เป็นสารแห่งความสุข ทำให้ไม่กังวล สารออกซิโทซิน ที่สารที่ทำให้ผ่อนคลาย อบอุ่น และสารเอนดอร์ฟิน ที่สารความสุข ที่ทำให้ลดความเจ็บปวดได้ สาร1 ใน 4 ตัวอาจจะได้จากการมีความรัก การออกกำลังกาย การได้รางวัล การเสพยา หรือการกอด แต่มีกิจกรรมน้อยมากที่ทำแล้วได้สารแห่งความสุขทั้ง 4 ชนิดนี้ แต่รู้ไหมว่าการขอบคุณเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้สารสื่อประสาททั้ง 4 ชนิดนี้ทำงาน!

            แล้วไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่ขอบคุณเท่านั้นที่สารสื่อประสาททั้ง 4 ชนิดจะทำงาน แต่ผู้ที่ได้รับคำขอบคุณก็เกิดสารดังกล่าสด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่เราขอบคุณผู้อื่นก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อตัวเราเอง ในขณะเดียวกันการได้รับคำขอบคุณจากคนอื่นก็ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจเช่นเดียวกัน การขอบคุณจึงเป็นเหมือนเวทมนตร์วิเศษที่ทำให้ทุกอย่างในชีวิตของมนุษย์ดีมากขึ้น

            อย่างไรก็ตามมันไม่ใช่เวทมนต์แต่สามารถอธิบายด้วยหลักทางจิตวิทยาได้ ซึ่งกลุ่มจิตวิทยาที่เน้นส่งเสริมความรู้สึกเชิงบวก หรือมีจุดเด่นที่จะทำให้บุคคลมีความสุขและมีความก้าวหน้ามากขึ้น คือสาขาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกโด่งดังมากขึ้นด้วยงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า การมีความรู้สึกเชิงบวกหรือมีความสุขทำให้มนุษย์สามารถทำงานได้ผลงานดีขึ้น และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น อารมณ์เชิงบวกจึงให้ผลดีมากกว่าอารมณ์เชิงลบ ซึ่งหมายถึง ความกลัว ความโกรธ ความเศร้า ที่จะทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น และผลักดันให้เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสู้หรือหนี 

            ในขณะที่อารมณ์เชิงบวกจะกระตุ้นให้เราสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ขยับขยายเครือข่ายที่คอยสนับสนุน สำรวจสิ่งแวดล้อม และเปิดกว้างรับข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการลดความเครียด ทำให้มีความสุขมากขึ้น และมีอายุยืนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นอารมณ์เชิงบวกจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างชีวิตที่ดีให้กับคนทุกคนได้ ซึ่งเราสามารถกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงบวกที่มีประโยชน์มหาศาลดังกล่าวได้ด้วยการ "ขอบคุณ"

            ในหนังสือ Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ เลเนิร์ด มโลดินอฟ (​Leonard Mlodinow) ได้อธิบายว่ากิจกรรมที่นักจิตวิทยาเชิงบวกมักแนะนำในการเสริมสร้างความรู้สึกเชิงบวก นั้นคือแบบฝักหัดรู้จักมีน้ำใจ เพียงแค่เราจะต้องบันทึกเหตุการณ์ที่เราทำสิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่น อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ได้ เช่น "วันนี้ช่วยเหลือเพื่อนติวหนังสือ" "วันนี้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน" "วันนี้ช่วยพ่อแม่ทำกับข้าว" หรือ "วันนี้ช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับลูก" จะเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งพิเศษ แค่เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นหน้าที่ก็ได้ เพราะถ้ามันส่งผลที่ดีต่อคนอื่นมากน้อยแค่ไหน มันก็คือการมีน้ำใจนั้นเอง ให้เราทำการบันทึกวันละ 3 อย่างเป็นอย่างน้อย   

            อีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาลที่เป็นพระเอกในบทความนี้ก็คือ "แบบฝึกหัดรู้จักขอบคุณ" ซึ่งเราจะต้องเขียนสิ่งที่รู้สึกขอบคุณ 3 ประการ เป็นประจำ เรื่องที่ขอบคุณอาจมีตั้งแต่วันนี้อากาศดี ข่าวดีเกี่ยวกับสุขภาพตนเอง เช่น "ขอบคุณสำหรับอาหารที่อร่อย" "ขอบคุณสำหรับเครื่องดื่มที่เย็นสดชื่น" "ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเรา" หรือ "ขอบคุณพ่อแม่หรือคนรักที่คอยเป็นห่วง" (มาถึงตรงนี้ผมเลยถือโอกาสขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านในบทความนี้ หรือบทความอื่น ๆ ของผมก็ตาม มันมีความหมายกับผมมาก และหวังว่าทุกบทความมันจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อ่านทุกท่านได้)

           ผู้อ่านจะเห็นว่าเพียงแค่เขียนความรู้สึกขอบคุณก็ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกขึ้นมาแล้ว เพราะว่าการเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองอยากขอบคุณ มันเป็นการย้ำเตือนตนเองให้มีสติรู้ตัวเกี่ยวกับข้อมูลเชิงบวกของตัวเราเอง อย่างไรก็ตามเราสามารถเขียนสิ่งตัวเองอยากขอบคุณวันละ 3 อย่าง พร้อมกับการขอบคุณผู้อื่นแบบต่อหน้า อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ เช่น ขอบคุณพนักงานร้านดะดวกซื้อ ขอบคุณพนักงานส่งของที่เขาส่งของมากให้ ขอบคุณแม่ค้าที่ยื่นอาหารที่เราสั่งมา เมื่อเราหัดทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันจะเป็นการฝึกนิสัยตัวเองให้เป็นคนที่รู้จักขอบคุณผู้อื่นมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ง่ายต่อเราที่จะพูดขอบคุณในเรื่องที่ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเราเติบโตขึ้นมาเป็นคนอย่างที่เป็นในทุกวันนี้ ขอบคุณเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างเสมอมา ขอบคุณคนรักที่ยังอยู่ข้าง ๆ เราแม้ว่าเราจะเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม 

อย่าลืมว่าการขอบคุณทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น มีอายุยืนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ป่วยยากขึ้นหรือถ้าป่วยก็หายไวขึ้น และทำให้ความเจ็บปวดลดลง

            การสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่เสมอไป เพียงแค่ทำสิ่งที่เรียบง่ายให้เป็นนิสัย และทำต่อเนื่องเมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเองได้ เหมือนกับเวลาที่เราน้ำหนักขึ้น มันใช้เวลานานมากกว่าเราจะน้ำหนักขึ้นจนอ้วนได้ เวลาที่เราลดความอ้วนก็ต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นเดียวกัน ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรที่เกิดขึ้นภายในข้ามคืน ดังนั้น หมั่นรู้จักทำดีกับคนอื่นให้มากขึ้นและขอบคุณผู้อื่น บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ในไดอารี่ทุกวัน  

            แต่สำคัญที่สุดอย่าลืมขอบคุณตัวเอง เช่น "ขอบคุณตัวเองที่พยายามดำเนินชีวิตอันยากลำบากนี้ต่อไปและพยายามที่จะมีความสุขมากขึ้น" เพราะบนโลกที่น่าสับสนใบนี้เพียงแค่เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปและปรารถนาที่จะมีความสุขในทุก ๆ วัน ก็เป็นเรื่องที่น่าขอบคุณตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาก่อนถึงจะค่อยขอบคุณตัวเอง เราสามารถขอบคุณในสิ่งที่ธรรมดาและเรียบง่ายมาก ๆ ได้ เพราะมันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โต หรือรุนแรงราวกับฟ้าผ่า หรือฟ้าร้อง แต่ด้วยสายฝนอันเรียบง่ายธรรมดานี้แหละ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอันงดงามให้กับดอกไม้ได้ เหมือนกับที่นักกวี Jalal ad-Din Rumi เคยกล่าวเอาไว้ "พูดให้ดีขึ้น ไม่ใช่พูดให้ดังขึ้น สิ่งที่ทำให้ดอกไม้เจริญเติบโตคือฝนไม่ใช่เสียงฟ้าผ่า" เพราะคำขอบคุณก็เป็นสิ่งที่เรียบง่ายเหมือนกับสายฝนนั้นแหละ

อ้างอิง

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

Kabasawa, S. (2018). The Power of Output: How to Change Learning to Outcome. Tokyo: Sanctuary.

Mlodinow, L. (2018).  Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change. NY: Pantheon Books.      

ความคิดเห็น