ความลับของโรคจิตเภท (Schizophrenia)

คุณเคยรู้สึกหรือไม่ว่ามีคนหรือพลังบางอย่างอยู่รอบตัว ถึงจะไม่เห็นใครอยู่ใกล้ ๆ เลยก็ตาม

            ภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Mind เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลมากมายรวมทั้งรางวัลออสก้าร์หลายสาขา ผมเชื่อว่าหลายคนที่มาอ่านอาจจะได้ดูเรื่องนี้บ้างแล้ว เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของ จอห์น แนช (John Nash) อัจฉริยะผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 เขาได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบทฤษฎีเกม (Game Theory) ที่เปลี่ยนความเข้าใจของโลกเกี่ยวกับการตัดสินใจในแนวทางเศรษฐศาสตร์ 

            โดยเขานำเสนอการตัดสินใจไปสู่ชัยชนะของทุกฝ่าย (Win-Win) ไม่ใช่ความเชื่อแบบเก่าที่ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะที่ทำให้ผลลัพธ์เป็นศูนย์ (Zero-Sum Game) อีกทั้งยังสามารถประยุกต์เข้ากับสาขาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ การเมือง หรือชีววิทยาก็ได้เช่นกัน

            อย่างไรก็ตามความอิจฉริยะที่ได้มานั้นต้องแลกกับปัญหาสุขภาพจิต ที่ทำให้เขาเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) อย่างเต็มตัวเป็นระยะเวลานาน ทำให้เขามีระบบการคิดที่ผิดปกติ เช่น เชื่อเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เห็นภาพหลอนต่าง ๆ อาการป่วยของเขาทำให้เขาไม่สามารถทำงานและทำกิจวัตรทั่วไปได้ ความคิดทางคณิตศาสตร์อันปราดเปรื่องใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้ถูกกลบหายไปด้วยความคิดฟุ้งซ่าน จนเกือบจะไม่สามารถกลับมาเริ่มต้นได้ และแทบจะหมดอนาคตทางด้านวิชาการไปเลย 

            โรคจิตเภท (Schizophrenia) หมายถึงโรคที่เกิดความผิดปกติของกระบวนการคิด ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ และเกิดการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงทำให้บุคลิกเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน เช่น จากคนสุภาพ กลายเป็นคนที่หยาบคายและมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือจากคนสะอาดกลายเป็นคนสกปรก ไม่สนใจตนเอง 

            เนื่องจากผู้ป่วยจิตเภทมักมีอาการประสาทหลอน (Hallucination) เช่น เห็นภาพหลอนหรือหูแว่วเกือบจะตลอดเวลา จึงทำให้แสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หลายคนมีอาการหวาดระแวงร่วมด้วยอย่างเช่น จอห์น แนช (John Nash) ระแวงว่าตนเองถูกปองร้าย จึงทำให้ผู้ป่วยมักจะแยกตัวออกจากสังคม เรามักจะพบเห็นบุคคลที่มีอาการจิตเภท พูดคนเดียวหรือพูดกับกำแพง ต้นไม้ ฯลฯ 

            โรคนี้ร้ายแรงกว่าโรคทางจิตอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะว่าโรคได้กัดกินจิตใจของผู้ป่วยและริบเอาความสามารถที่ขอความช่วยเหลือไป เนื่องจากเปลือกสมองส่วนหน้าได้ถูกทำลายไปส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง ทำให้สมองส่วนหน้าทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนั้นมักจะพบว่าผู้ป่วยจิตเภทมีสารสื่อประสาท โดพามีน (Dopamine) ทำงานมาเกินไป จึงไม่แปลกที่ยารักษาบางตัวจะไปกระตุ้นเซลล์ผลิตสารดังกล่าวน้อยลง 

            โรคนี้ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าหากครอบครัวมีโรคนี้ ลูกเกิดมาจะต้องเป็นโรคนี้อย่างแน่นอน แค่เพียงมีโอกาสเป็นเท่านั้น อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาหายได้ แต่ต้องรีบพาแพทย์และเริ่มรักษาให้เร็วที่สุด 

ความลับของโรคจิตเภท

            ในช่วงปี ค.ศ. 1960 - 1970 เลเนิร์ด เฮสสัน (Leonard Heston) ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับองค์ประกอบของโรคจิตเภทที่ส่งต่อทางพันธุกรรม และศึกษาเด็กที่แม่ผู้ให้กำเนิดซึ่งเป็นโรคจิตเภทและยกลูกให้ผู้อื่นอุปการะ เฮสสันต้องแปลกใจที่พบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่แข็งแรงดี มีทั้งคุณสมบัติความเป็นศิลปินเหนือกว่าผู้อื่นและยังประหลาดกว่าผู้อื่นด้วย พวกเขาไม่ได้เป็นโรคจิตเภท "พวกเขามีพรสรรรค์" เฮสสันอธิบาย "เขามีพรสวรรค์ทางศิลปะและแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางจินตนาการให้เกิดความเป็นจริง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่พบบ่อยนักในกลุ่มบุคคลทั่วไป" 

            ดังนั้นบุคคลที่มีโรคจิตเภทอ่อน ๆ อาจมีประโยชน์ กล่าวคือหากเด็กได้รับพันธุกรรมโรคจิตเภทในระดับหนึ่ง จะช่วยให้เขามีแนวโน้มคิดแบบยืดหยุ่นหรือสร้างสรรค์ และมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม จึงทำให้เกิดคำว่า สคิทโซไทพี (Schizotypy) เพื่อใช้อธิบายบุคลิกภาพแบบจิตเภทในระดับเบา จนไปถึงระดับหนัก ซึ่งนักจิตวิทยาได้พัฒนาแบบสอบถามเพื่อวัดระดับของบุคลิกจิตเภทขึ้นมา 22 ข้อ โดยให้ตอบแบบใช่หรือไม่ใช่ จากนั้นรวมคำตอบที่ใช้มานับเป็นคะแนน ผมได้ยกตัวอย่างข้อคำถามมาดังนี้

            ข้อ 6 คนบางคนคิดว่าฉันเป็นคนประหลาด

            ข้อ 3 บางทีผู้คนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนิสัยหรือกิจวัตรที่ไม่ปกติของฉัน

            ข้อ 12 คุณเคยมีประสบการณ์ด้านโหราศาสตร์ การมองเห็นอนาคต ยูเอฟโอ การรับรู้นอกเหนือจากการรับรู้ทั่วไป (ESP) หรือสัมผัสที่ 6 หรือไม่

            ข้อ 19 ฉันเป็นคนแปลก ๆ ไม่เหมือนคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป

            ข้อ 14 คุณพบว่าการไม่ปล่อยให้คนอื่นรู้เรื่องของคุณมากเกินไปนั้นดีที่สุดแล้วหรือไม่

            ข้อ 22 ฉันมักจะเก็บความรู้สึกไว้กับตนเอง

            ผมยกตัวอย่างมา 6 ข้อเพื่อไม่ให้ยาวจนเกินไป จากหนังสือ Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change เขียนโดย เลเนิร์ด มโลดินอฟ (​Leonard Mlodinow) ผู้อ่านจะเห็นว่า 4 ข้อแรกเป็นข้อคำถามที่ถามเกี่ยวกับความประหลาดของผู้ตอบ ข้อที่ 14 จะเป็นการถามเกี่ยวกับความหวาดระแวง และข้อที่ 22 จะเป็นเรื่องของการเก็บตัว จากการวิจัยกับบุคคลทั่วไปประมาณ 1,700 คน ผลปรากฎว่าคะแนนเฉลี่ย หรือจำนวนข้อที่แต่ละคนตอบว่าใช่ คือประมาณ 6 ข้อ แต่ถ้าตอบใช่ 13 ข้อหรือมากกว่านั้นแปลว่าเราอยู่ในกลุ่มบนที่มีประมาณ 10% ซึ่งจะมีลักษณะเพี้ยนแต่มีพรสวรรค์ในการคิดแบบยืดหยุ่นหรือสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการคิดแบบขยาย (Divergent) ซึ่งคือการคิดออกมาหลาย ๆ ไอเดีย 

            ความลับมันอยู่ที่ว่าบุคคลที่เป็นโรคจิตเภท หรือมีระดับความเป็นจิตเภทสูงจากแบบทดสอบ มีตัวกลั่นกรองการรู้คิดที่หลวม ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดกระบวนการคิดแปลกใหม่และพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม ก่อนอื่นผมขออธิบายเล็กน้อยว่า มนุษย์ทุกคนมีตั่วกลั่นกลองด้วยกันทั้งนั้น นักจิตวิทยาเรียกว่า การยั่งคิด (Cognitive Inhibition) ซึ่งนำไปสู่ความคิดและความประพฤติตามแบบแผน 

            ยกตัวอย่าง การแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียน นักเรียนมักจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเนื่องจากมีตัวกลั่นกรอง จึงปฏิบัติตัวไปตามบรรทัดฐานทางสังคมแบบคนไทย แต่เพื่อนเราบางคนอาจไม่คิดมาก และชอบการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งเค้ายังเป็นคนที่ดูไม่เหมือนใคร แปลกและดูแตกต่าง เราพบเห็นคนแบบนี้ได้ทั่วไป หากยิ่งเป็นคนที่มีลักษณะที่แปลกมากเป็นพิเศษ เขาจะมีปัญหาการควบคุมความคิดไม่ให้ฟุ้งซ่าน 

            กลับมาที่เรื่องของ จอห์น แนช (John Nash) นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบลที่เป็นโรคจิตเภท หลังจากที่เขารักษาตัวจนหายดีแล้ว มีเพื่อนเขาได้ถามถึงตอนที่เขาป่วย โดยถามว่าทำไมเขาถึงเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวจากนอกโลกมอบหน้าที่ให้เขากอบกู้โลก เขาอยากรู้ว่าทำไมแนชถึงเชื่อความคิดบ้า ๆ แบบนี้ ซึ่งแนชตอบว่า "เพราะว่าความคิดเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลายที่โผล่มาจากจุดเดียวกับพวกสมการทางคณิตศาสตร์น่ะสิ ผมเลยเก็บมาคิดจริงจังทั้งหมด" 

            ยิ่งไปกว่านั้นมีการศึกษาจากภาพสมองแสดงให้เห็นว่าคนที่เชื่อเรื่องแปลก ๆ อย่างโทรจิต พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ และเครื่องรางนำโชค มักเป็นคนที่สมองคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าด้านข้างทำงานน้อยมาก รวมทั้งวงจรการหลั่นกรองอื่น ๆ ด้วย เช่นเดียวกันกับเด็กที่สมองส่วนนี้ยังโตไม่เต็มที่ ก็จะมีความคิดสร้างสรรค์และยืดหยุ่นอย่างมาก เขาจะเชื่อและคิดในเรื่องที่แปลกและแตกต่าง แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นสมองส่วนนี้จะพัฒนา อย่างไรก็ตามหากเราแก่ตัวมากขึ้นจนคอร์เทกซ์กรีบหน้าผากส่วนหน้าด้านข้างเสื่อมลง ความยั่งคิดของเราจะลดลง และจะทำให้เราเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมากขึ้น

            จึงไม่แปลกที่นักวิทยาศาสตร์อัจริยะหลายคนจะดูเหมือนเป็นคนที่มีอาการจิตเภทอ่อน ๆ เขาจะมีการแสดงออก การแต่งตัว และความสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไปจากบรรทัดฐานทางสังคม หรือเรียกได้ว่า "พิลึก" พวกเขาอาจจะตกหลุมรักสัตว์หรือคุยกับมนุษย์ต่างดาว ในคนกลุ่มนี้ระดับการยั่งคิดสูงพอที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่คนอื่น ๆ ก็คิดว่าพวกเขาแปลกอยู่ดี อย่างไรก็ตามความคิดของพวกเขาหลายคนก็เคยเปลี่ยนแปลงโลกนี้มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ไอน์สไตน์ มักชอบเก็บก้นบุหรี่ตามถนนมาดมหลังจากที่หมอห้ามไม่ให้เขาสูบไปป์ แม้กระทั่ง ไอแซค นิวตัน ใช้วิธีการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเพื่อมองหารหัสเรื่องอวสานโลก 

            ดังนั้น ตัวกลั่นกรองทางความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากมีมากมันจะทำให้เรายั่งคิด และอยู่กับบรรทัดฐานทางสังคม  ซึ่งตัวกลั่นทางความคิดนี้จะอยู่ในสมองส่วนคอร์เทกซ์กรีบหน้าผากส่วนหน้าด้านข้าง ใครก็ตามที่สมองส่วนนี้พัฒนาช้า หรือโดนสารสื่อประสาททำให้สมองส่วนนี้ได้รับบาดเจ็บ ก็จะทำให้เขาเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ที่อธิบายได้ยาก จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคนแก่ ๆ (ที่สมองส่วนนี้เสื่อมไปบ้าง) เชื่อในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล หรือเด็ก (ที่สมองส่วนนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่) มีความคิดสร้างสรรค์และคิดอะไรที่ดูไม่มีเหตุผล

            แล้วมันเป็นเรื่องดีหรือแย่กันแน่ ที่ในโลกของเรามีคนแบบนี้ หากไม่นับคนที่ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์จนสมองส่วนนี้ได้รับความเสียหาย หรือเป็นโรคจิตเภทที่รุนแรง ผมก็คิดว่าไม่น่าจะเสียหายอะไร มันเป็นเรื่องดีที่โลกของเรามีคนแปลกและแตกต่าง เขาอาจจะเชื่ออะไรที่หลุดโลกไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำอันตราย และก็เพราะคนแปลก ๆ แบบนี้แหละที่เปลี่ยนโลกมานักต่อนัก การที่เราปฏิบัติตัวไปตามบรรทัดฐานทางสังคมไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป สิ่งที่คนส่วนมากปฏิบัติกันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องก็ได้ ไม่เชื่อคุณลองคิดดูว่าบรรทัดฐานทางสังคมของชนเผ่ากินคนคืออะไรล่ะครับ มันจึงเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องที่สังคมของเราจะต้องมีการ "ชักกะเย่อ" กันระหว่างความแปลกและแตกต่างกับบรรทัดฐานทางสังคม

            แต่ลองคิดดูสิครับถ้าบางประเทศมีผู้สูงอายุที่สมองส่วนคอร์เทกซ์กรีบหน้าผากส่วนหน้าด้านข้างเสื่อม แล้วพวกเขามีอำนาจเด็ดขาดจาการยึดอำนาจ หรือใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจอยู่เหนือเสียงของประชนได้แล้วจะเป็นอย่างไร น่าคนลุกใช่มั่ยครับ เอ๋หรือมันเกิดขึ้นไปแล้ว....

            อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนที่ปกติหรือแปลกแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักก็ได้ทั้งนั้น แม้แต่บุคคลที่เป็นโรคจิตเภทอย่างจอห์น แนช ก็ยังสามารถหายจากโรคจิตเภทขั้นรุนแรงได้โดยได้รับความรัก ความอดทน และจิตใจที่งดงามจากภรรยาของเขา อลิเซีย ลาร์เด ซึ่งเป็นรักแท้ที่ผูกพันกันไปจนวันสุดท้าย แนชกล่าวตอนขึ้นรับรางวัลโนเบลว่า

            "ผมได้ค้นพบสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต มันอยู่แค่ในสมการลึกลับของคำว่าความรัก ซึ่งสามารถพบได้ด้วยเหตุผลตรรกะนานา ผมมายืนตรงนี้ในค่ำคืนนี้ได้ก็เพราะคุณเท่านั้น 

คุณคือเหตุผลเดียวที่ทำให้ผมมีชีวิต คุณคือเหตุผลทุกอย่างของผม"

อ้างอิง

Heston, L. (1970). The Genetics of Schizophrenic and Schizoid Disease. Science, 167: 249-256. https://genepi.qimr.edu.au/contents/p/staff/1970HestonScience249-256.pdf

Mlodinow, L. (2018).  Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change. NY: Pantheon Books.  

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2553). โรคจิตที่รัก. กรุงเทพ: โพสบุ๊กส์.

ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล. (2564). จอห์น แนช: ชีวิต ทฤษฎีเกม และภาพหลอนในหัวของอัจฉริยะผู้พบรักแท้ใน A Beautiful Mind. https://thepeople.co/john-nash-a-beautiful-mind/

ความคิดเห็น