"ข้าถูกลากไปด้วยพลังประหลาดแบบใหม่ ความปรารถนาและเหตุผลดึงข้าไปคนละทาง ข้าเห็นเส้นทางที่ถูกต้องและยอมรับว่าถูก ทว่ากลับเดินไปตามเส้นทางที่ผิด"
คีธ ริชาร์ดส์ (Keith Richards) เป็นมือกีต้าร์วงในตำนานอย่างโรลลิ่งสโตนส์ (The Rolling Stones) ในสมัยเด็กเขาเป็นสมาชิกตัวเล็กที่แสนสงบเสงี่ยมในวงประสานเสียงของโรงเรียนแห่งหนึ่ง วงนี้ได้ทำชื่อเสียงอย่างมากให้กับโรงเรียน โดยการประชันกับโรงเรียนอื่น ๆ มากมายหลายครั้ง ดังนั้นครูผู้ควบคุมวงจึงใช้สิ่งนี้เป็นเป็นข้ออ้างให้ริชาร์ดส์และเพื่อน ๆ ไม่ต้องเข้าเรียน เพื่อจะได้เดินทางไปร่วมการแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้
แต่เมื่อนักเรียนในกลุ่มนี้ได้แตกเนื้อหนุ่มทำให้เสียงของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ครูผู้ควบคุมวงกลับทอดทิ้งพวกเขา เมื่อพวกเขาได้รับแจ้งว่าต้องเรียนซ้ำชั้นเพื่อชดเชยเวลาเรียนที่ขาดไป โดยครูผู้ควบคุมวงผู้เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมดไม่ได้ปกป้องอะไรพวกเขาเลย ริชาร์ดส์เล่าให้ฟังว่า "มันเหมือนโดนเตะเข้าที่ท้อง ขณะที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น สไปค์ เทอร์รี่ และผม พวกเราได้กลายเป็นผู้ก่อการร้าย ผมคลั่งแค้น ผมหมกไหม้อยู่ในไฟแห่งการล้างแค้น ผมมีเหตุผลที่จะถล่มประเทศนี้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มันยืนหยัดต่อสู้มา ผมใช้เวลาสามปีต่อจากนั้นกับการพยายามจะสร้างปัญหาแม่งทุกอย่าง ถ้าคุณอยากจะเพาะพันธุ์ขบถ นี่คือวิธีที่จะทำมัน"
เขายังเล่าต่อว่า ไฟแค้นนี้ยังไม่ดับมอด นั่นคือตอนที่ผมเริ่มมองโลกนี้ในทางที่ต่างออกไป ไม่ใช่ในทางของพวกเขาอีกต่อไป นั่นคือตอนที่ผมตระหนักว่ามีอันธพาลที่ใหญ่กว่าเด็ก อันธพาลในห้องเรา ยังมีพวกมัน ไอ้พวกที่อยู่ในอำนาจและชนวนระเบิดที่ลามอย่างช้า ๆ ได้ถูกจุดขึ้น" เรื่องเล่าชีวิตนี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างการพัฒนาตัวตนในวัยหนุ่มสาว กับอัตลักษณ์ทางการเมืองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเขา
แม้ริชาร์ดส์อาจจะมีความโน้มเอียงในบุคลิกภาพของเขาที่จะกลายเป็นเสรีนิยมอยู่ก่อนแล้ว แต่แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกฟ้าลิขิตมา แต่เป็นการที่ครูคนนั้นปฏิบัติตต่อเขา หากครูคนนั้นปฏิบัติกับเขาแตกต่างออกไปจากนี้ หรือเขาตีความเหตุการณ์นี้แตกต่างไปจากที่เป็นมา เขาก็อาจจะจบลงที่ชีวิตการทำงานแบบคนปกติทั่วไป แต่สิ่งนี้ทำให้เขาเติบโตมาเป็นนักรบผู้ต่อต้านการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม
เราลองมาพิจารณาเรื่องนี้กันดู สมัยเด็กริชาร์ดส์ เป็นเด็กสงบเสงี่ยมคนหนึ่งซึ่งมีจุดเปลี่ยนมาจากประสบการณ์อยุติธรรมที่เขาได้รับในสมัยที่เขาอยู่โรงเรียน นั้นทำให้เส้นทางความคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าตลอดการดำเนินชีวิตของเรา มันมีหน่วยความจำขนาดใหญ่ที่บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปเก็บไว้ ยิ่งประสบการณ์นั้นเจ็บปวดรวดร้าวมากแค่ไหน มันก็จะกินพื้นที่จำนวนมากในหน่วยความจำมหาศาลนั้น
ความลับของจิตใต้สำนึก
หน่วยความจำมหาศาลนั้นก็คือจิตใต้สำนึก (Uncoscious) เป็นสิ่งที่เก็บสะสมสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะความทรงจำที่เจ็บปวดอย่างที่ คีธ ริชาร์ดส์ เคยเผชิญซึ่งจิตใต้สำนึกนี่เป็นสิ่งเราไม่สามารถนึกถึงมันได้ ไม่รู้ตัวว่ามันมีอยู่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) พูดและเขียนถึงจิตใต้สำนึกเมื่อราว 100 ปีก่อน เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษและส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากใน 100 ปีถัดมา
จอห์น บาร์ก (John Bargh) ได้อธิบายว่ามนุษย์ตัดสินใจกระทำอะไรด้วยจิตใต้สำนึกมากกว่าจิตสำนึก (เป็นการคิดที่เรารู้ตัว) บ่อยครั้งที่เราเลือกทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล มหัศจรรย์กว่านั้นคือ แม้ว่าบางครั้งเรามีเหตุผลที่ดีกว่าในสมอง แต่เราก็ยังคงเลือกกระทำโดยไม่มีเหตุผลอยู่ดี สมองซึ่งมีน้ำหนักน้อยมากเมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์ทั้งร่างกายแต่บริโภคแคลอรี่มากถึงร้อยละ 20 ของร่างกายทั้งหมด และตรงไหนกันแน่ที่กินพลังงานมากมายขนาดนั้น
ในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคสมัยที่งานวิจัยเกี่ยวกับสมองรุดหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่รู้จักสมองและวิธีการทำงานของสมองอย่างก้าวกระโดด ทำให้พวกเขารู้สาเหตุของพฤติกรรมหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ในอดีต หรือนิสัย พฤติกรรม อาการทางจิตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม นอกจากนั้นประสบการณ์อดีต พันธุกรรม ยังมีสัญชาตญาณที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ก่อให้เกิดอคติต่าง ๆ หลากหลายประเภท แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาชาวอิสราเอล-อเมริกัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Thinking Fast and Slow ได้แยกระบบการทำงานของสมองออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบ 1 (เร็ว) ระบบ 2 (ช้า) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ระบบที่ 1 จะเป็นระบบที่ทำงานอย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นการคิดแบบง่าย ๆ ใช้สัญชาตญาณ (จิตใต้สำนึก)
2. ระบบที่ 2 จะเป็นระบบที่ทำงานช้า ขี้เกียจ แต่เป็นระบบคิดแบบซับซ้อน ใช้การคิดวิเคราะห์ (จิตสำนึก)
คาฮ์นะมัน อธิบายว่า ระบบ 1 (จิตใต้สำนึก) จะทำงานโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ระบบ 2 (จิตสำนึก) จะอยู่ในสถานะที่ใช้ความพยายามต่ำ ระบบ 1 จะมอบคำแนะนำให่แก่ระบบ 2 อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเเป็นความรู้สึก สัญชาตญาณ ความตั้งใจ หรืออารมณ์ต่าง ๆ หากระบบ 2 เห็นด้วยกับคำแนะนำนั้น ความรู้สึกกับสัญชาตญาณจะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเชื่อ ส่วนสิ่งอื่น ๆ จะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำที่ควบคุมได้ หากสถานการณ์ดำเนินไปด้วยดี (ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น) ระบบ 2 จะทำตามคำแนะนำของระบบ 1
สิ่งนี้เป็นระบบการทำงานเช่นเดียวกันกับ จิตสำนึก และจิตใต้สำนึก จิตสำนึกก็คือการมีเหตุผล ความจำใช้งานที่เราสามารถดึงมันออกมาใช้ได้ คิดถึงมันได้ รวมไปถึง การคิดวิเคราะห์ ซึ่งก็คือ ระบบ 2 เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ส่วนระบบที่ 1 เป็น ความจุที่เหลือที่เก็บไว้ในสมองของเรา ซึ่งมีอิทธิพลกับระบบ 2 อย่างมาก เช่น ความคิดในแง่ดีที่เรากำลังคิดอยู่ขนาดนี้ อาจมาจากประสบการณ์ดี ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในชีวิต และพันธุกรรมที่ถ่ายทอดความคิดเชิงบวกมาจากครอบครัว หรืออคติต่าง ๆ เช่น อคติที่ทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่น การมองโลกในแง่ร้าย การคิดเข้าข้างตัวเอง มั่นใจในความคิดของตัวเอง ล้วนมาจากการทำงานของระบบ 1 ทั้งสิ้น ซึ่งก็คือจิตใต้สำนึกนั้นเอง
ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า งานจิตวิทยาเชิงวิทยาศาสตร์ก็คือ การเปลี่ยนขบวนการ ไร้สำนึกหรือใต้สำนึก ขึ้นมาเป็นความสำนึกต่าง ๆ นั้นคือการเติมเต็มช่องว่างในเรื่องของจิตสำนึก เช่น คนคนหนึ่งอาจจะกระหายอยากอาหารหรือสุราอย่างรุนแรง คิดว่าจะต้องรับประทานอาหารให้สมองเดินและใช้สุราเพื่อให้พักผ่อน แต่ในความจริงมันอาจจะมาจากความต้องการที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึก ซึ่งสามารถจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ความอยากอันรุนแรงที่มาจากความอึดอัดปรารถนาในความรัก หรือขับข้องใจในความรัก หรือมาจากพันธุกรรมที่มีครอบครัวเป็นโรคสุราเรื้อรัง หรือมาจากประสบการณ์ที่รับประทานอาหารแล้วมีความสุข
ดังนั้นจิตสำนึก (ระบบ 2) กับ จิตใต้สำนึก (ระบบ 1) จึงคานอำนาจกันเสมอ หากเราไม่ยอมรับจิตใต้สำนึกแล้วพยายามจะเก็บมันเอาไว้ มันก็จะหาทางออกมาไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความฝัน การพลั้งปาก หรืออาจจะผุดขึ้นมาเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น เราอาจจะเคยยากจนมาก่อน อยากได้ของเล่นเหมือนเพื่อน แต่ไม่มีเล่น เมื่อโตขึ้นจึงซื้อของเล่นมาจำนวนมากจนน่าตกใจ หรือ การใช้ตลกเสียดสี ล้อเลียนเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความรู้สึกที่ถูกเก็บกดไว้ เรามักจะเห็นตัวอย่างจำนวนมากเป็นตลกเสียดสีการเมือง หรือการโดนอิทธิพลบางอย่างกดให้เรารู้สึกแย่จนแสดงออกเป็นความขบขันแทน
คีธ ริชาร์ดส์ (Keith Richards) เผชิญกับประสบการณ์ที่อยุติธรรม ทำให้หล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพของเขา เมื่อเขาเติบโตขึ้นจึงกลายเป็น นักรบผู้ต่อต้านการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมที่ปะทุออกจากจิตใต้สำนึกจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป หลายครั้งมันสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวเราเองและคนรอบข้าง เพราะภูเขาน้ำแข็งนี้ก็เปรียบเหมือนกับ ควาญช้างและช้าง
โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ผู้เขียนหนังสือ The Happiness Hypothesis ได้นำแนวคิดเชิงพุทธที่เปรียบเปรย จิตใจเป็นเหมือนกับช้าง และตัวเราเหมือนกับควาญช้าง ควาญช้างคือความคิดที่สามารถควบคุมและรู้ตัว ส่วนช้างคือสิ่งที่เหลือทั้งหมด ช้างเป็นทั้งสัญชาตญาณ ปฏิกิริยาลึก ๆ ภายใน อารมณ์ และการรู้ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบอัตโนมัติ ช้างและควาญช้างต่างมีปัญหาของตัวเอง หากทำงานร่วมกันด้วยดีจะสร้างความฉลาดที่เป็นหนึ่งเดียวให้กับมนุษย์ได้ แม้มันมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ ซึ่งเราสามารถนำแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ร่วมกันระหว่างจิตวิเคราะห์ ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และระบบความคิดช้าคิดเร็ว ของ แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) ได้
ระดับของจิต ระบบคิดช้าคิดเร็ว ช้างและควาญช้าง
จิตใต้สำนึก = ระบบ 1 (คิดเร็ว) หรือช้าง เป็นระบบที่เราไม่สามารถควบคุมได้
จิตสำนึก = ระบบ 2 (คิดช้า) หรือควาญช้าง เป็นระบบที่เรานึกคิด ควบคุมมันได้
ควาญช้าง หมายถึง จิตสำนึก หรือระบบ 2 คือจิตที่เรานึกคิด วิเคราะห์ใช้เหตุผล เลือกตัดสินใจ ส่วน ช้างหมายถึง จิตใต้สำนึก หรือระบบ 1 มีความคิดของตัวเองมันเอง โดยกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตลอดชีวิต สัญชาตญาณ และอคติต่าง ๆ รวมไปถึงในระดับพันธุกรรมซึ่งได้รับมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งควาญช้างทำได้เพียงแค่ช่วยช้างให้เลือกสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ควาญช้างอาจมองเห็นไกลไปในอนาคตมากกว่า และเรียนรู้ข้อมูลอันมีค่าได้ด้วยการพูดคุยกับควาญช้างคนอื่น ๆ หรืออ่านแผนที่ แต่ควาญช้างไม่สามารถสั่งช้างให้ไปไหนต่อไหนได้ ถ้ามันไม่อยากไป
เดวิด ฮูม (David Hume) อธิบายว่า "เหตุผลคือทาสของความปรารถนา และควรจะเป็นเช่นนั้นแต่เพียงอย่างเดียวด้วย มันไม่อาจเสแสร้งทำงานอื่น ๆ ได้มากกว่าไปกว่ารับใช้และเชื่อฟังความปรารถนา" ระบบ 2 (ควาญช้าง หรือจิตสำนึก) จะจับตาพฤติกรรมของเราอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวเองให้ยังคงความสุภาพไว้ในยามโกรธหรือกระตุ้นให้ตื่นตัวเวลาขับรถยนต์ตอนกลางคืน ระบบ 2 จะเพิ่มความพยายามเมื่อตระหนักว่าเรากำลังจะทำผิดพลาด
ยกตัวอย่างเวลาเราเกือบจะพูดประโยคที่แสนน่ารักเกียจออกมา แต่พยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมตัวเองไม่ให้ทำแบบนั้นได้ กล่าวคือ ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เรา (ระบบ 2 ควาญช้าง หรือจิตสำนึก) คิดหรือทำนั้นมีต้นตอมาจากระบบ 1 (ช้าง หรือจิตใต้สำนึก) แต่ระบบ 2 จะเข้ามาควบคุมเมื่อสถานการณ์เริ่มยากลำบาก และมักจะเป็นฝ่ายกุมอำนาจในการตัดสินใจ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งและสับสน เหมือนกับสิ่งที่กวีโรมัน โอวิด (Ovid) ได้บรรยายไว้ใน มหากาพย์เมตามอร์โฟเซส (Metamorphoses) มีเดียต้องตัดสินใจเลือกระหว่างความรักที่เธอมีจต่อเจสันกับหน้าที่ที่มีต่อบิดา เธอจึงคร่ำครวญว่า "ข้าถูกลากไปด้วยพลังประหลาดแบบใหม่ ความปรารถนาและเหตุผลดึงข้าไปคนละทาง ข้าเห็นเส้นทางที่ถูกต้องและยอมรับว่าถูก ทว่ากลับเดินไปตามเส้นทางที่ผิด"
ระบบ 2 (จิตสำนึก หรือควาญช้าง) คือตัวตนที่เราคิดว่าเราเป็น มีหน้าที่ตัดสินใจ แต่มันก็มักจะส่งเสริมหรือหาเหตุผลมาสนับสนุนแนวคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่สร้างขึ้นโดยระบบ 1 (จิตใต้สำนึก หรือช้าง) และก่อตัวเป็นความขัดแย้งเหมือนกับที่กวีโรมันโอวิดกล่าวไว้ในมหากาพย์เมตามอร์โฟเซสที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้น ซึ่ง คาฮ์นะมัน ยกตัวอย่างว่า "คุณอาจไม่รู้ตัวว่ามองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับโครงการหนึ่ง เพียงเพราะผู้นำโครงการมีคุณลักษณะบางอย่างที่ทำให้คุณนึกถึงน้องสาวสุดที่รักของคุณ หรืออาจไม่ชอบหน้าใครสักคนเพียงเพราะเขามีหน้าตาคล้ายกับทันตแพทย์ของคุณ"
เมื่อเรารู้สึกตัวว่าเราตัดสินใจอย่างไม่ถูกต้องเหมือนกับตัวอย่างข้างต้น ระบบ 2 จะทำหน้าที่ยับยั้งความคิดอันโง่เขลาจำนวนมาก รวมถึงความคิดชั่ววูบที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย การทุ่มเทความสนใจของระบบ 2 สามารถทำให้เราตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น เช่น การเปรียบเทียบการตัดสินใจ และการลำดับเหตุผล อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ได้ดีเสมอไป ระบบ 2 หรือจิตสำนึกนั้นมีความสามารถจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล เราไม่สามารถคิดอย่างถูกต้องตลอดเวลาเมื่อต้องใช้เหตุผล และความผิดพลาดต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นผลมาจากสัญชาตญาณอันผิดพลาดที่เข้ามาแทรกแซงเสมอไป เพราะโดยปกติแล้วเราจะทำผิดพลาดเนื่องจากตัวเรา (ระบบ 2 จิตสำนึก หรือควาญช้าง) ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านั้นต่างหาก
คุณสมบัติสำคัญของการมีทักษะที่ยอดเยี่ยมก็คือ การสามารถจัดการกับข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ถึงแม้ คีธ ริชาร์ดส์ (Keith Richards) จะนำประสบการณ์ความเจ็บปวดของตนเองมาเป็นแรงขับเคลื่อน และสร้างเป็นเจตจำนงที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรมตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ของเขา แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะต่อให้สิ่งที่เรากำลังเป็น และเลือกเดินอยู่ทุกวันนี้ จะมีอิทธิพลมาจากจิตใต้สำนึก ที่สะสมไปด้วยพันธุกรรม ประสบการณ์ สัญชาตญาณ หรืออคติต่าง ๆ มันก็ไม่สำคัญ มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของเราที่จะต้องตระหนักว่าเส้นทางเลือกที่เราเลือกหรือกำลังคิดถูกต้องหรือไม่ เพราะสิ่งที่ ริชาร์ดส์ เลือกคือเส้นทางที่ต่อสู้กับอิทธิพลความอยุติธรรม มันก็ไม่ใช่อะไรที่ผิด
ยอมรับในความไม่แน่นอนของโลกใบนี้ และความเป็นไปได้ที่จะผิดพลาด แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น
Haidt, J. (2006). The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.
Haidt, J. (2013). The Righteous Mind: Why Good People Are Divided by Politics and Religion NY: Vintage.
Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.
กิติกร มีทรัพย์. (2554). พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สมิต
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2563). รู้ไว้บำบัดใจ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
ยศ สันตสมบัติ. (2559). ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์ จากความฝัน สู่ทฤษฎีสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น