การออกแบบสถานที่ทำงานอย่างไร ให้พนักงานมีความสุข

พนักงานที่มีความสุขหมายถึงกำไรที่มากขึ้นยิ่งคนกระตือรือร้นและลงทุนลงแรงกับงานเท่าใด บริษัทก็จะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

            ที่กูเกิลเพล็กซ์ (Googleplex) เป็นสำงานใหญ่ของบริษัทกูเกิลในเมาน์เทนวิว ที่นี้พนักงานจะได้มีโอกาสชิมอาหารอันประณีตระดับงานศิลป์กว่า 200 ชนิด เช่น นกกระทาอบ สเต็กทาร์ทาร์ ซุปล็อบสเตอร์ ปลาค็อดดำราดซอสเพสโตใส่พาสลีย์โรยขนมปังป่น และสเต็กเนื้อวัวชั้นดี นอกจากนั้นยังมีอาหารเบา ๆ อย่างอื่นอีกมากมาย เช่น สลัดบาร์ นูดเดิลบาร์ แฮม ไส้กรอก และผักต่าง ๆ เพื่อให้ชาวกูเกิลกินได้ไม่อั้น 

            อาหารฟรีมากมายหลากหลายชนิดสำหรับพนักงานคือเหตุผลหนึ่งที่นิตยสาร Fortune จัดอันดับให้กูเกิลเป็นสุดยอดบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นพนักงานยังสามารถนวด ตัดผม แต่งคิ้ว เรียนภาษาต่างประเทศ หรือหาหมอได้ภายในบริเวณบริษัทโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

            อีกทั้งภายในพื้นที่ยังมีศูนย์สุขภาพสามแห่ง ลานโบว์ลิงหนึ่งแห่ง สนามบาสเกตบอล ลานฮอกกี้ โต๊ะปิงปอง ตู้เกม ฟุตบอลโต๊ะ หน้าผาจำลอง สนามพัตกอล์ฟ สนามวอลเลย์บอลพื้นทราย นอกจากนั้นยังมีบ้านต้นไม้ในร่ม สวนตัดแต่งงดงาม ฟาร์มสำหรับเลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรก ยานอวกาศจำลอง และยังมีโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดเท่าของจริง 

            กูเกิลไม่ใช่องค์กรเดียวที่ลงทุนเพื่อความสะดวกสบายของพนักงาน บริษัทซอฟแวร์ แซส ที่วิเคราะห์ธุรกิจซึ่งทำรายได้กว่าสามพันล้านเหรียญในปี 2012 มีสนามเทนนิส ซาวนา โรงบิลเลียด สระว่ายน้ำที่มีระบบทำความร้อน และที่ปรีกษาด้านงานและชีวิตส่วนตัว 

            ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำอย่างเป็นความลับเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงิน การดูแลผู้สูงอายุ และปัญหาครอบครัว ส่วนที่เฟซบุ๊ก พนักงานสามารถขี่จักรยานซึ่งบริษัทจัดไว้ให้ไปยังร้านตัดผม นำผ้าไปซักร้านซักแห้ง กาแฟขนมขมเคี้ยวฟรี หรือหาหมอฟันบริษัทได้อย่างสะดวกสบาย

            เหตุผลเบื้องหลังการทุ่มเงินมหาศาลนี้คืออะไร สำหรับหลายบริษัทในนิตยสาร Fortune สูตรพื้นฐานของพวกเขาก็คือ พนักงานที่มีความสุขหมายถึงกำไรที่มากขึ้น ยิ่งคนกระตือรือร้นและลงทุนลงแรงกับงานเท่าใด บริษัทก็ยิ่งประสบความสำเร็จตามเกณฑ์วัดต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น 

            การศึกษาบอกว่าพนักงานที่มีความสุขจะมีผลิตภาพดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นและให้บริการลูกค้าดีขึ้น พวกเขาจะลาออกหรือลาป่วยน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นยังทำหน้าที่ทูตนอกบริษัทในการกระจายเรื่องดี ๆ (ปากต่อปาก) ซึ่งจะดึงดูดคนมีฝีมือเข้ามาร่วมทีมด้วย

            ในอดีตสถานที่ทำงานแตกต่างกับที่ผมได้ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นโดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่ปัจจุบันสถานที่ทำงานก็มีลักษณะแตกต่างกันกับที่กล่าวมา ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะทำได้อย่างกูเกิล หรือ เฟซบุ๊ก บริษัทบางแห่งมีแค่เพียงแค่โต๊ะนั่งทำงานเท่านั้น ไม่ได้มีสวัสดิการอื่น ๆ เพิ่มเติมเลย แม้ว่าการลุงทุนกับสวัสดิการจะทำให้เกิดผลทางบวกที่ดีกับพนักงานอย่างคาดไม่ถึง  

            อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าบริษัทต่าง ๆ จะเพิ่มเติมสวัสดิการเพื่อทำให้พนักงานมีความสุขและเปิดพื้นที่ให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเราสามารถศึกษาจากประวัติศาสตร์ของการออกแบบสำนักงานโดยย่อ ซึ่งจะทำให้เราได้เข้าใจความเป็นมา และเข้าใจสาเหตุของการวิวัฒนาการ ว่าทำไมบริษัทชั้นนำของโลกถึงได้สร้างสรรค์สถานที่ทำงานเพื่อพนักงานขนาดนั้น

            สถานที่ทำงานที่มีคุณภาพเป็นสถานที่ที่พนักงานสามารถเลือกทำงานในพื้นที่ที่เหมาะสมกับเขาได้ เพราะคนเรามีบุคลิกภาพที่แตกต่าง รูปแบบการทำงานก็แตกต่างไปด้วย แต่ก็มีพื้นที่ส่วนกลางเหมือนกับแอปเปิลพาร์กที่ผมเล่าไว้ข้างต้น สตีฟ จ็อบส์ ออกแบบให้พนักงานได้เดินมาเจอกันบ่อยครั้ง นอกจากนั้นองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลกยังนิยมสร้างพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องพักผ่อนเพื่อให้พนักงานได้เดินมาเอาของว่าง หรือเครื่องดื่มได้ตามสะดวก ซึ่งจะทำให้พนักงานได้สื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกัน

            องค์กรของประเทศไทยหลายแห่งเช่าพื้นที่สำนักงานส่วนกลางต่าง ๆ เช่น True Digital Park เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้พนักงานของพวกเขาได้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ผ่อนคลาย อาหาร ความสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงการออกแบบที่ทันสมัย แน่นอนว่านอกจากที่ผม

            ยกตัวอย่างแล้วยังมีบริษัทที่ให้เช่าสำนักงานมากมาย ซึ่งก็ต้องเผชิญหน้าและพลิกแพลงวิกฤตจากโควิด-19 ให้ได้ เนื่องจากพนักงานทำงานที่บ้านแทบทุกที่ อีกทั้งหากวิกฤตนี้จบไปแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะมีพนักงานจะทำงานที่บ้านกันมากขึ้นอยู่ดี บริษัทต่าง ๆ จึงต้องเร่งศึกษา และสร้างนวัตกรรมที่ดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ ยังคงต้องมีสำนักงานเหมือนเดิม 

            อย่างไรก็ตามในอนาคต แม้การทำงานที่สำนักงานจะลดน้อยลง แต่ผมเชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะสามารถปรับตัวผ่านไปได้อย่างที่มันเป็นมาเสมอ เพราะพวกเขามีทรัพยากรมากมายที่จะสร้างพื้นที่อำนวยความสะดวกที่พนักงานได้รับในสิ่งที่พวกเขาจะหาไม่ได้จากบ้านของพวกเขาเอง 

            ยกตัวอย่างเช่นสิ่งที่นักจิตวิทยาวิวัฒนาการ อยากให้ออกแบบสำนักงานโดยอิงจากสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในสมัยโบราณที่เรายังอยู่ในทุ่งสะวันนา พวกเราอยู่รอดโดยการยังชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า และจะกระวนกระวายใจเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบที่เคยเป็นอันตรายต่อบรรพบุรุษ 

            แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับสัญชาตญาณของเรามาก เพราะถึงแม้เราจะเกิดในยุคปัจจุบันแต่ในยีนของเรายังมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในอดีตอยู่ เนื่องจากเราวิวัฒนาการทางสังคมมาอย่างรวดเร็วจนเกินไป เราจึงรู้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว 

            เช่น เราจะสงบมากขึ้นที่ได้ยินเสียเตาผิง บางคนเปิดเสียงนี้ตอนอ่านหนังสือด้วยซ้ำ เพราะเสียงไฟทำให้สัตว์ป่าถอยออกไป และทำให้บรรพบุรุษของเราปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีเสียงธรรมชาติอื่น ๆ เช่น คลื่น เสียงนกร้อง หรือเสียงฝนที่ทำให้เราผ่อนคลายได้ด้วย

            จึงไม่ใช่เรื่องแปลงที่สำนักงานในบริษัทชั้นของโลก จะมีพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติให้พนักงานสามารถเข้าไปทำงานได้ หรือสามารถมองเห็นธรรมชาติดังกล่าวได้ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุผลที่แอปเปิลพาร์กถูกออกแบบให้เป็นวงกลมโดยมีส่วนที่เป็นต้นไม้ใบหญ้าอยู่ตรงกลาง ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งในปี 2006 ที่พบว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจจะสว่างวาบขึ้นขณะที่เราดูภาพภูมิทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพื้นที่อยู่อาศัยอันปลอดภัยเป็นจุดเด่นของภาพ

            เป็นที่น่าพึงพอใจที่สถานที่ทำงานในบริษัทชั้นนำต่างสร้างสรรค์เพื่อให้พนักงานมีความสุขซึ่งจะส่งผลให้พวกเขามีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนที่ชนะทั่งคู่ (Win-Win) หลักการนี้เป็นแนวทางของทุกสรรพสิ่ง นอกจากสถานที่ทำงานแล้วความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก็ยังเป็นจุดสำคัญที่ต้องพิจารณา นั้นจึงเป็นเหตุผลที่หลายองค์กรออกแบบสิ่งแวดล้อมให้ลดความสัมพันธ์เปิดพิษ และการเมืองให้น้อยลง หลักใหญ่ใจความก็เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขนั้นแหละครับ 

            การที่บริษัทเอาเปรียบพนักงานจึงเป็นรูปแบบการทำงานที่ล้าหลัง บริษัทส่วนมากคิดว่าตนเองโดนพนักงานเอาเปรียบ มีทัศนคติที่คับแคบซึ่งแนวความคิดเหล่านี้จะทำให้พวกเขาวิ่งลงเหวไปสู่หายนะ ในยุคที่ทุกองค์กรต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนผ่าน (Transformation) กันอยู่ตลอดเวลา การทำให้บริษัทและพนักงานร่วมชนะไปด้วยกัน (Win-Win) จึงเป็นเหมือนการเริ่มต้นที่จะสร้างสรรค์และพัฒนา 

ให้เกิดนวัตกรรมที่จะนำพาองค์กรให้เดินหน้าและอยู่รอดในยุคสมัยที่คาดเดาอะไรได้ยากยิ่งนัก 

อ้างอิง

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

Biederman, I., & Vessel, E. (2006). Perceptual Pleasure and the Brain. American Scientist. 94(3): 247-255. https://doi.org/10.1511/2006.59.247

Lichtenfield, S., Elliot, A., Maier, M., & Pekrun, R. (2012). Fertile Green: Green Facilitates Creative Performance. Personality and Social Psychology Bulletin. 38 (6): 784-797. https://doi.org/10.1177/0146167212436611

Lyubomirsky, S., King, L., & Diener, E. (2005). The Benefits of Frequent Positive Affect: Does Happiness Lead to Success?. Psychological Bulletin. 131(6): 803-855. https://doi.org/10.1037/0033-2909.131.6.803

ความคิดเห็น