บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ยิ่งประสบการณ์นั้นสร้างความเจ็บปวดมากเท่าไหร่ 
เราก็มีแนวโน้มที่จะเก็บความรู้สึก 
เหล่านั้นเอาไว้ในใจมากเท่านั้น 

            โรซาลีเป็นผู้หญิงวัย 80 ปีที่ทั้งใจดีและน่ารัก เธอมีความฝันอยากจะเขียนหนังสือเด็กมาตลอด แต่เธอวาดรูปไม่เก่ง โดยเธอให้เหตุว่าครั้งหนึ่งเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว เธอตัดสินใจเริ่มเรียนศิลปะพร้อมกับความฝันที่อยากวาดหนังสือเด็กมาตลอด แต่เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เธอจดจำมาตลอดชีวิต และทำให้เธอคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะวาดรูปได้ตามที่เธอใฝ่ฝันเอาไว้ สาเหตุนั้นเรียบง่ายมากจนน่าตกใจ

            เธอเล่าว่าระหว่างที่เธอกำลังฝึกหัดวาดภาพ ผู้สอนที่กำลังเดินรอบห้องเพื่อตรวจงานของทุกคน เขาหยุดที่งานของโรซาลี พร้อมกับคว้าชอล์กจากมือของเธอแล้ว "แก้" ภาพของเธอ ช่วงเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้นที่ครูได้วาดภาพทับรูปของเธอ โรซาลีรู้สึกอับอายเพราะไม่มีนักเรียนคนอื่นที่ถูกแก้งานแบบเธอเลย สายตาทุกคู่จับจ้องมาที่เธอ มันทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดเกินกว่าที่จะรับมือได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอก็รู้สึกว่า "ฉันคงวาดภาพไม่ได้เรื่อง"

            เรื่อวราวของโรซาลีผมนำมาจากหนังสือ Personality isn't permanent โดยนักจิตวิทยา นักเขียน เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Benjamin Hardy) เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างมาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดกับโรซาลีเป็นเหตุการณ์ที่เรียบง่ายมาก ผมเชื่อว่าหลายคนก็เคยพบเจอประสบการณ์ที่คล้ายกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้มันได้ทำลายความฝันของเธอ ผมคิดว่าครูคนนั้นคงไม่ได้มีเจตนาร้ายกับเธอ เขาไม่ได้พูดหรือบั่นทอนจิตใจของเธอเลย เขาอาจคิดว่าถ้าวาดแบบนี้มันอาจจะสวยขึ้นหรือถูกต้องมากขึ้น เขาคงอยากให้เธอเรียนรู้ แต่ในทางกลับกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กี่วินาทีเท่านั้น มันกลับทำให้ธอเกิดบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) ซึ่งทำลายความฝันของเธอไปตลอดกาล

            บาดแผลทางจิตใจ คืออาการที่ทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลงไป โดยเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเป็นสารเคมีที่ส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ มีผลกระทบต่อสมองในส่วนความคิด อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าต่อเนื่องไปถึงการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ทำให้เรารู้สึกจมดิ่ง และกลายเป็นความเครียดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ "เรารู้สึกว่า" ไม่สามารถรับมือได้

บาดแผลทางจิตใจสามารถเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ที่เรียบง่าย

            หลายคนอาจคิดว่าบาดแผลทางจิตใจต้องเกิดจากเหตุการณ์ที่เลวร้ายแบบสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยโดนทำร้าย โดนข่มขื่น เกิดเหตุก่อการร้าย ไปจนถึงภัยพิบัติ แต่จริง ๆ แล้วบาดแผลทางจิตใจสามารถเกิดขึ้นได้กับเหตุการณ์ที่เรียงง่ายมาก และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เหมือนกับเรื่องราวของโรซาลี ที่สูญเสียความฝันของเธอจากการที่ครูสอนศิลปะมาแก้ไขงานของเธอเพียงคนเดียวเป็นเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น

            สิ่งนี้มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของเพื่อนหลายคนที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์รวมถึงผมเองด้วย หลายคนเล่าให้ฟังว่าครูสอนวิชาคณิตศาสตร์โหดมาก ดุมาก และมักจะทำโทษเด็ก (อ้างอิงจากเพื่อนและตัวผมเท่านั้นนะครับ) พฤติกรรมเหล่านี้มันทำให้ทั้งผมและเพื่อน ๆ ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์และรู้สึกว่า "ยากมาก ๆ" ไม่ใช่เพียงแค่วิชาคณิตศาสตร์แต่คนอื่น ๆ ก็อาจจะมีบาดแผลบางอย่างกับบางวิชาซึ่งไม่ใช่เพราะเนื้อหาแต่ส่วนใหญ่จะด้วยตัวผู้สอน 

            ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น เจนนิเฟอร์ รูท (Jennifer Root) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาคณิตศาสตร์ เธอฝึกวิธีสอนคณิตศาสตร์ที่ดีให้กับครูหลาย ๆ คน ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยคาดหวังรูฟคาดหวังว่านักเรียนของครูที่เธอสอนจะสามารถเข้าใจคณิตศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะว่านักเรียนหลายคนต้องทรมานจากบาดแผลทางคณิตศาสตร์ กล่าวคือนักเรียนมักจะรู้สึกบั่นทอนจิตใจเมื่อจะตัองเผชิญหน้ากับการเรียนคณิตศาสตร์ 

            เพียงแต่บาดแผลทางคณิตศาสตร์ที่นักเรียนอเมริกันเผชิญไม่ใช่การโดนครูดุ หรือโดนทำโทษ แต่มาจากความวิตกกังวลหรือความกลัวว่าจะทำผิด พวกเขากลัวผิดพลาดหรือจะเปิดเผยจุดด้อยว่าตนเองไม่เก่งพอ และกลัวว่าครูหรือพ่อแม่ของตนเองจะรู้ ซึ่งรูฟอธิบายว่าบาดแผลดังกล่าวพบกับการที่นักเรียนโดนผู้ใหญ่หรือครูตราหน้าว่าเขาหรือเธอไม่เก่ง หรือการที่พวกเขาวิตกกังวลระหว่างที่ทำข้อสอบเลขหรือติดอยู่กับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งแล้วไม่สามารถไปต่อได้ เมื่อไม่มีความช่วยเหลือจากครู ที่ปรึกษา หรือพ่อแม่

            สิ่งที่โรซาลี เพื่อนหลายคนของผม และกรณีศึกษานักเรียนอเมริกันที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นสามารถมาจากเหตุการณ์ที่มองจากภายนอกแล้วมันเป็นเรื่องที่เล็กน้อยมาก ๆ แต่ผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะมองว่ามันเป็นหายนะ ซึ่งมันส่งผลต่ออนาคตที่มีต่อศิลปะ หรือคณิตศาสตร์ต่อไป กล่าวคือ

เรื่องราวที่คนอื่นอาจมองว่าเล็กน้อยสามารถทำให้คนคนหนึ่งเกิดบาดแผลทางจิตใจได้ และอาจจะเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดมากกว่าที่เราคิดไว้ด้วย

            แน่นอนว่ามีกรณีศึกษาบาดแผลทางจิตใจมากมายไม่ว่าจะเป็นคนที่โดนข่มขืน โดนทารุณกรรมอื่น ๆ หรือเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายอื่น ๆ แต่ในบทความนี้ผมอยากนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นว่าบาดแผลทางจิตใจสามารถเกิดจากเหตุการณ์ที่ท่านมอง (โดยส่วนตัว) ว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก หรือคาดไม่ถึงว่าเหตุการณ์แบบนี้จะทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันสามารถเกิดขึ้นได้จากเรื่องที่เล็กน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น การทำโทษเพียงหนึ่งครั้ง การดุเพียงไม่กี่ครั้ง หรือสายตาเย็นชาที่มองมาในวันที่เด็กคนหนึ่งต้องการความอบอุ่นอย่างสุดซึ้ง 

ผลกระทบต่อบาดแผนทางจิตใจ

            บาดแผลทางจิตใจเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะทำให้เรามีความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) ลดลง มันจะทำให้เรายึดติดและมีความคิดที่ตายตัว เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Benjamin Hardy) ยังยกตัวอย่างงานวิจัยในหนังสือ Personality isn't permanent ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนที่ทรมานจากโรคพีทีเอสดี (โรคเครียดหลังจากเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ) ยังได้คะแนนจิตนาการศูนย์คะแนน เนื่องจากจินตนาการเกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นทางจิตใจ และจินตนาการยังเป็นการที่เรามองเห็นและเชื่อในมุมมองที่แตกต่างหรือเป็นไปได้ในมุมอื่น ๆ 

            แต่เมื่อเราได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ เราจะเริ่มคิดในมุมขาว-ดำเท่านั้น แทนที่จะมองในมุมมองอื่น ๆ หรือบริบทที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ฉันสอบตก = ฉันไม่เก่ง มีคนช่วยเหลือฉัน = เป็นคนดี ฉันควรไว้ใจ โดยไม่ได้มองว่าการที่เขาช่วยเหลืออาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่าง หรืออาจจะช่วยเพราะปัจจัยอะไรบางอย่างนอกเหนือจากการที่เขาเป็นคนดี เช่นเดียวกับที่มองว่าฉันสอบตก คือฉันไม่เก่ง เนื่องจากอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลก็ได้ถึงทำให้เราสอบตก

            นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คารอล ดเว็ค (Carol Dweck) ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success เรียกมุมมองความคิดแบบขาว-ดำว่า "กรอบความคิดตายตัว" ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยน เติบโต หรือพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งได้ เป็นความเชื่อที่บอกว่าทักษะ บุคลิกภาพ และนิสัยเป็นลักษณะตายตัวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวคือเวลาที่เราเผชิญบาดแผลทางจิตใจ ความยืดหยุ่นของเราจะลดลงจนถึงหายไปหมดสิ้น เหมือนกับโรซาลีที่แม้จะมีความฝันว่าอยากเขียนหนังสือเด็ก แต่เธอกลับบอกตนเองว่าไม่สามารถวาดรูปได้ หากเป็นคนทั่วไปก็อาจจะบอกว่า "ฉันวาดรูปไม่เก่ง คงต้องไปฝึกเพิ่มกว่านี้อีกเยอะ"

            ดเว็คยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า กรอบความคิดตายตัวคือการรับมือกับชีวิตที่ถูกำหนดไว้โดยอดีต ขั้วตรงข้ามของกรอบความคิดตายตัวนี้คือสิ่งที่เขาเรียกว่า "กรอบความคิดเพื่อการเติบโต" ซึ่งก็คือความเชื่อที่ว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเรามีความคิดเพื่อการเติบโตจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า และมองว่าเราสามารถพัฒนาได้ เปลี่ยนแปลงได้รวมไปถึงนิสัยของเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน กล่าวคือ เราจะมีความยืดหยุ่นทางจิตใจที่สูงขึ้นในกรณีที่เรามีความคิดเพื่อการเติบโต

            จากภาพดังกล่าวจะเห็นว่าบาดแผลทางจิตใจส่งผลกระทบต่อการขึ้นลงของกรอบความคิดตายตัว และกรอบความคิดเพื่อการเติบโต หากเรามีบาดแผนทางจิตใจก็จะทำให้ กรอบความคิดตายตัวมีน้ำหนักมากว่า ซึ่งจะทำให้ความยิดหยุ่นทางจิตใจน้อยลงตามไปด้วย โดยเราจะยึดติดกับความคิดที่เป็นขาว-ดำ ตรงกันข้ามกับบุคคลที่แทบจะไม่มีบาดแผลทางจิตใจ หรือมีน้อย เขาจะมีกรอบความคิดเพื่อการเติบโต ซึ่งจะทำให้เขามีความยืดหยุ่นทางจิตใจ เขาจะมีมุมมองที่ไม่ตายตัว สามารถยืดหยุ่นปรับตัวได้อย่างดี 

            ในหนังสือ The Untethered Soul ผู้เขียน ไมเคิล ซิงเกอร์ (Michael Singer) ได้เล่าถึงคนคนหนึ่งที่ถูกหนามขนาดใหญ่แทงเข้าที่แขนโดยบังเอิญทำให้เจ็บปวดอย่างรุนแรง แต่เธอกลับทิ้งมันไว้อย่างนั้นแทนที่จะยอมทนเจ็บอีกครั้งเพื่อดึงหนามนั้นออก กล่าวคือเธอเลี่ยงความเจ็บปวดที่ต้องดึงหนามออก ซึ่งการตัดสินใจนั้นก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย เพราะการใช้ชีวิตอยู่กับหนาม เธอต้องมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรมาโดนมัน

            เธอไม่สามารถนอนบนเตียงได้อีกต่อไปเพราะว่ามีโอกาสที่เธอจะพลิกตัวไปโดนหนาม เธอต้องปรับตัวด้วยการสร้างอุปกรณ์ขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจว่าเวลานอนจะไม่นอนพลิกตัว เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา แม้จะเป็นกิจกรรมที่เธอชอบ แต่การเล่นกีฬาก็จะทำให้เธอเจ็บปวดจากหนามอย่างสาหัส เธอจึงต้องพัฒนาแผนรองมาสวมเพื่อป้องกันการกระแทก ถึงแม้เจ้าแผ่นนั้นจะไม่สบาย และจำกัดประสิทธิภาพในการเล่น แต่อย่างน้อยเธอก็ได้เล่นกีฬาที่เธอรักขณะที่ป้องกันเจ้าหนามนั้นไปด้วย

            ผู้หญิงคนนี้ต้องเปลี่ยนชีวิตของตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรมาโดนหนาม ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อน การเล่นกีฬาไปจนถึงความสัมพันธ์ เธอสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตัวเองไม่มีปัญหาจากเจ้าหนามนั้น เธอหลีกเลี่ยงการมีอิสระ และการสร้างชีวิตในแบบที่เธอต้องการจริง ๆ เธอยอมรับเป้าหมายที่เล็กกว่าเดิมเพื่อเลีกเลี่ยงความเจ็บปวด เธอจำกัดพฤติกรรมที่อยากมี และพัฒนาบุคลิกภาพที่ไม่ได้มีความหมายมากไปกว่า การรับมือกับความเจ็บปวดที่มาจากหนาม

            บาดแผลทางจิตใจก็เหมือนกับหนาม เราพยายามจะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากมัน เราจึงพยายามมองข้าม พยายามไม่คิดถึงมัน เหมือนกับโรซาลีที่หลีกเลียงการวาดรูปมาตลอดชีวิต และเด็กหลายคน (เฉพาะที่ผมรู้จัก) เติบโตมาโดยไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวคือ บาดแผลทางจิตใจก็คือหนามที่แทงเรา มันคืออารมณ์และประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่เราหลีกเลี่ยงทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต 

            แทนที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวและความจริง เรากลับหลีกเลี่ยงมัน แทนที่จะสร้างชีวิตที่ปรารถนา เรากลับสร้างชีวิตที่ปล่อยให้ปัญหาคงอยู่ หรือแทนที่จะลงมือวาดรูปเพื่อความฝันของตัวเอง กลับยอมสยบให้กับบาดแผลแล้วเลือกเดินทางอื่น โชคยังดีที่เพื่อนผมหลายคนที่มีบาดแผลกับวิชาคณิตศาสตร์ไม่ได้มีความฝันที่ว่าอยากจะเป็นวิศวะ หรืออาชีพที่ต้องใช้คณิตศาสตร์เป็นหลัก แต่มันก็เป็นบาดแผลที่ปิดโอกาสการเลือกเรียนอีกหลาย ๆ สาขาในระดับมหาวิทยาลัย

แทนที่จะสร้างชีวิตที่ปรารถนา เรากลับสร้างชีวิตที่ปล่อยให้ปัญหาคงอยู่อย่างนั้น

วิธีการเปลี่ยนบาดแผลทางจิตใจ

            ปีเตอร์ เลอวีน นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านบาดแผลทางจิตใจ กล่าวไว้ว่า "บาดแผลภายในจิตใจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา แต่เป็นสิ่งที่เราเก็บไว้ข้างในโดยที่ไม่มีพยานรับรู้ผู้เข้าอกเข้าใจ" ยกตัวอย่างโรซาลี เธอไม่มีใครคอยรับฟัง ไม่มีใครฟังเรื่องราวที่เจ็บปวดและช่วยให้เธอเห็นมุมมองใหม่ เธอเก็บความเจ็บปวดครั้งนั้นเอาไว้กับตัวและพุ่งความสนใจไปกับเป้าหมายที่เล็กลง ไม่มีใครคอยให้กำลังใจว่าเธอสามารถทำตามความฝันของเธอได้ 

            ผมนึกถึงเพื่อนของเราที่มักจะมาปลอบใจเรา และทำให้เราเห็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง ผมเคยคิดว่าคนคนหนึ่งเกลียดผมมาก แต่เพื่อนของผมก็ยืนยันกับผมว่า "มึงแค่คิดมากเกินไป" ก็จริงหลังจากนั้นคนคนนั้นก็คุยกับผมปกติ อาจจะเป็นแค่อารมณ์ช่วงหนึ่งของเขาก็ได้ เช่นเดียวกับโรซาลีที่ไม่มีเพื่อนหรือคนอื่น ๆ ที่มาบอกกับเธอว่า "ครูคนนั้นไม่ได้ตั้งใจทำให้เธอรู้สึกไม่ดี" หรือ "ครูคนนั้นเขาพยายามจะแสดงให้เธอเห็นเป็นตัวอย่างหรือเปล่า" แต่บทสนทนาดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้น 

            ก็เหมือนกับประสบการณ์ที่เจ็บปวดอื่น ๆ ที่ถูกเก็บไว้เป็นความลับ เบนจามิน ฮาร์ดี้ (Benjamin Hardy) ได้ยกตัวอย่างสถิติของประสบการณ์เจ็บปวดที่ร้ายแรงกว่านี้มากอย่างการล่วงละเมิดทางเพศ ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าร้อยละ 90 ของเหยื่อที่รอดชีวิตไม่ได้รายงานการล่วงละเมิดทาเพศกับทางการหรือเล่าให้ใครฟัง เพราะยิ่งประสบการณ์นั้นสร้างความเจ็บปวดมากเท่าไหร่ เราก็มีแนวโน้มที่จะเก็บความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้ในใจมากเท่านั้น 

            การเยียวยาบาดแผลทางจิตใจ จึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบาดแผลนั้นให้คนอื่นรับฟัง ไม่จะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือนักจิตวิทยาก็ยิ่งดี เพราะการเก็บความรู้สึกไว้กับตัวส่งผลให้เกิดการยึดติดกับสิ่งที่รับรู้ก่อนหน้านี้และความคิดแบบตายตัวว่าเราเป็นใคร แทนที่จะแสดงความรู้สึกและปรับมุมมองที่มีเสียใหม่ อดีตกลับกลายเป็นเรื่องราวที่เจ็บปวดเกินกว่าจะคิดถึงมัน 

การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดสามารถทำให้คนคนนั้นอาจจะต้องทิ้งอนาคตที่ตัวเองปรารถนามาตลอดชีวิตก็เป็นได้

สรุป

            บาดแผลทางจิตใจจะเกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ "เรารู้สึกว่า" ไม่สามารถรับมือได้ มีผลกระทบต่อสมองในส่วนความคิด อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าต่อเนื่องไปถึงการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรม ทำให้เรารู้สึกจมดิ่ง และกลายเป็นความเครียดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีผลทำให้มุมมองในชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป หากเรามีบาดแผลทางจิตใจก็จะทำให้กรอบความคิดของเราตายตัว ส่งผลให้ความยืดหยุ่นทางจิตใจลดลงตามไปด้วย ทำให้เรายึดติดกับความคิดที่เป็นขาว-ดำ ตรงกันข้ามกับบุคคลที่แทบจะไม่มีบาดแผลทางจิตใจหรือมีน้อย เขาจะมีกรอบความคิดเพื่อการเติบโต ซึ่งจะทำให้เขามีความยืดหยุ่นทางจิตใจมากกว่า

            เหมือนกับโรซาลีที่แม้จะมีความฝันว่าอยากเป็นคนเขียนหนังสือเด็ก แต่ด้วยบาดแผลทางจิตใจอันเกิดจากคุณครูที่แก้ไขงานของเธอคนเดียวในชั่วโมงเรียนศิลปะ ทำให้เธออับอายและก่อให้เกิดบาดแผลในลำดับต่อมา จนเธอเลือกที่จะไม่ทำตามความฝันของตัวเอง ในทางกลับกันเธอเลือกที่จะหาวิธีการหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ให้อะไรไปกระทบกับบาดแผลของเธอ ทั้ง ๆ ที่ในความจริงเธอไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงขนาดนั้น เธออาจจะสามารถไปตามความฝันของเธอได้ หากมีใครสักคนรับฟังเธอ และอาจจะบอกกับเธอว่า "ครูคนนั้นอาจจะไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เธออับอาย หรือเสียใจก็ได้"

            การมีคนรับฟังจะช่วยให้เราเยี่ยวยาบาดแผลตัวเอง มันเป็นการที่เราจะต้องแสดงความรู้สึกออกมา เป็นการกระทำที่กล้าหาญอย่างมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้นคนที่รับฟังอาจจะนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ให้เราได้คิดพิจารณา ซึ่งอาจจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้ โรซาลีอาจจะเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง เธออาจจะมีความสุขกับการเขียน และวาดภาพในหนังสือเด็กของเธอ ถ้าเธอได้พิจารณาอีกมุมมองหนึ่งว่าครูคนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เธอเจ็บปวด หรือครูคนนั้นอาจจะใส่ใจเธอและอยากให้เธอประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ชีวิตของเรามักจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอ เพราะหลายครั้งเรามักจะคิดในแง่ร้าย

 มันจึงต้องมีใครสักคนที่ทำให้มุมมองของเราสมดุล 
ผสมผสานระหว่างความจริง และความคิดไปเองอยู่เสมอ 
เพื่อเราให้ดำเนินชีวิตได้โดยปราศจากความเจ็บปวด 
ที่เรียกว่า "บาดแผลในจิตใจ"

อ้างอิง

Dweck, C. (2007). Mindset: The New Psychology of Success. NY: Ballantine Books.

Hardy, B. (2020). Personality Isn't Permanent: Break Free from Self-Limiting Beliefs and Rewrite Your Story. NY: portfolio.

Singer, M. (2007). The Untethered Soul: The Journey Beyond Yourself. CA: New Harbinger Publications.

ความคิดเห็น