ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต ด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง

ทัศนคติที่เปิดกว้างและถ่อมตัวจะเป็นเกราะยางในป้องกันตัวอย่างดี

            ตลอดช่วงชีวิตของผมได้พบเจอผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครู นักเรียน พ่อ แม่ เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงาน ทุกคนที่ผมพบเจอมักจะมีภาพอุดมคติของตัวเองว่าเราควรจะทำแบบนี้ ทำแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น "เราควรจะประหยัดเงิน" "ควรจะเรียนให้เก่งขึ้น" "ควรจะเข้าสังคมให้ดีมากขึ้น" "จะต้องพัฒนาตำแหน่งอาชีพการงานให้สูงมากมากขึ้น" "มีมากขึ้น" "ฉลาดมากขึ้น" "เป็นคนที่ดีมากขึ้น" หรือ "ปรับตัวได้เก่งมากขึ้น" มีแต่คำว่า "ควร" "ควร และ "ควร" 

            แต่ละคนไม่ได้แตกต่างจาก กูรู ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในทุก ๆ ด้าน กล่าวคือ คนส่วนมากต่างคิดว่าตัวเองมีความรู้ ความสามารถ ฉลาด รู้ทันไปหมดเสียทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงลูก การศึกษา สังคม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา รวมไปถึงสัจธรรมของชีวิต แต่ความเป็นจริงที่เรามักจะพบเจอท่ามกลางความมั่นใจอันแสนประหลาดเหล่านี้ก็คือ "พวกเรามักจะเป็นคนที่ผิดพลาดและล้มเหลวเสมอ"

            แล้วเพราะเหตุใด เราถึงมั่นใจในความคิดของตัวเองมากขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงเราแทบจะไม่รู้อะไรเลย เพราะอะไรเราถึงไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าพวกเราเป็นคนที่อ่อนต่อโลก และกำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้โลกใบนี้ให้มากขึ้น เพราะอะไรเราถึงไม่ถ่อมตัวแต่กลับทำเป็นเก่ง เป็นผู้รู้ที่แสนจะน่าหมั่นใส้ทั้ง ๆ ที่โลกใบนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอนสักอย่างหนึ่งเลย ผมตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อนำเสนอว่าเราควรจะเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองให้ถ่อมตัวมากขึ้น และพร้อมที่จะยอมรับกับทุกสิ่งที่จะเข้ามาสู่ชีวิตด้วยทัศนติที่เปิดกว้างมากขึ้น

ปรับทัศนคติของตัวเองให้เปิดกว้าง

            อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่าบุคคลที่ผมพบเจอส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองรู้ไปหมดเสียทุกอย่าง เหตผลเพราะว่าพวกเขามีทัศนคติที่ไม่กว้างมากพอ พวกเราทุกคนต่างก็ใช้ฐานประสบการณ์ของตัวเองไปตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เราศึกษาศาสนาพุทธและเรานำศาสนาพุทธไปผูกโยงกับความดี ความน่ายกย่อง ดังนั้นหากใครนับถือศาสนาพุทธย่อมเป็นคนดี โดยที่เราไม่ได้คิดต่อยอดหรือลงลึกไปเลยว่า จะดีหรือชั่วมันอยู่ที่การปฏิบัติตัว

            ไม่ใช่เพียงแค่การผูกโยงศาสนาพุทธอย่างเดียว แต่มันคือความสอดคล้องกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น การที่เราคิดว่าตนเองเป็นคนดี ดังนั้น "คนที่มีความคิดหรือนิสัยคล้ายกับฉันย่อมเป็นคนดีเหมือนกันกับฉัน" กล่าวคือ เราส่วนใหญ่มีความคิดที่เข้าข้างตัวเองว่าเป็นคนดีและเก่ง นอกจากนั้นเรายังมองพวกที่มีความเชื่อมโยง และสอดคล้องกับเราว่าเป็นคนที่ดีและก็เก่งเหมือนกันกับเราด้วย สิ่งนี้เรียกว่าทัศนคติที่คับแคบ หรือเรียกได้ว่า "เป็นพวกที่ไม่ยอมมองโลกตามความเป็นจริง"

ปรับทัศนคติของตนเองให้เปิดกว้างเข้าไว้

            หากเรามองโลกตามความเป็นจริงเราจะถ่อมตัวมากขึ้น เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนที่แปรเปลี่ยนได้เสมอ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ยิ่งเราขยายขอบเขตประสบการณ์ให้กว้างมากขึ้นเพียงใด เราก็จะเห็นความจริงที่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้นว่าชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ดังนั้นในหนังสือ Rapid Relief from emotional Distress เขียนโดย แกรี เอเมอรี (Gary Emery) และ เจมส์ แคมป์เบลล์ (James Campbell) จึงได้แนะนำให้พวกเราผูกมิตรกับความเป็นจริงเอาไว้จะดีกว่า

            โดยพวกเขาแนะนำว่า เราจะสามารถผูกมิตรกับความจริงได้ เราจะต้องเริ่มจากการยอมรับโลกอย่างที่มันเป็น พวกเขาจึงนำเสนอสมการที่เรียกว่า ACT ย่อมาจาก Accept (การยอมรับ) Choose (การเลือก) และ Take Action (การลงมือทำ) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            Accept คือ การยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถรู้และเก่งไปหมดเสียทุกอย่าง และเราดำเนินชีวิตอย่างผิดพลาดและล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ เพราะความเป็นจริงที่เรามองเห็นมาจากประสบการณ์ของเราที่มีอย่างจำกัดเท่านั้น กล่าวคือ เราสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาจากฐานประสบการณ์เท่าที่เรามี หากเราสามารถยอมรับความจริงข้อนี้ได้ เราก็จะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว และยังเป็นคนที่น่าคบหามากขึ้นด้วยเพราะเราจะถ่อมตัวมากขึ้น

            Choose คือการเลือก เมื่อเรารับรู้ความเป็นจริงเรียบร้อยแล้ว เราก็ควรเลือกปฏิบัติตนอย่างเข้าใจความจริงนั้นมากขึ้น โดยเลือกที่จะสงบใจเมื่อทุกอย่างไม่ได้อย่างที่ตนเองต้องการ สงบใจเมื่อเราเผชิญกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลว และหันมาเก็บสะสมประสบการณ์ให้มากขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถเผชิญกับความผิดพลาดและความล้มเหลวที่ลดลงได้

            Take Action คือการลงมือทำ เมื่อเราเลือกที่จะสะสมประสบการณ์ให้เยอะมากขึ้น เราก็จะต้องลงมือหล่อหลอมประสบการณ์นั้น ๆ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือมากขึ้น หรือการดูสื่อต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อสะสมประสบการณ์ พร้อมกับการใช้วิจารณญาณประกอบไปด้วย นอกจากนั้นเราสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อไปเจอคนที่มีวิธีการดำเนินชีวิต และมีวิธีคิดแตกต่างกับเรา เพื่อสะสมประสบการณ์ให้เพิ่มมากขึ้นก็ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

การยอมรับความเป็นจริงจะทำให้เราพร้อมรับกับทุกสิ่ง

            การยอมรับไม่ได้หมายถึงการยินยอม เห็นผิดเป็นชอบ หรือปล่อยให้ตัวเองถูกทำร้าย แต่หมายถึงการยอมรับความเป็นจริงอย่างที่เป็นโดยในใจไม่ต่อต้านหรือปฏิเสธไปทั้งหมด การยอมรับความจริงเป็นทางเลือกเดียวในการยับยั้งความคิดที่ไม่นำไปสู่การพัฒนา เช่นความคิดประเภท "ฉันรู้จักโลกนี้ดี" "ฉันรู้จักการเมืองของประเทศของฉันดีมาก" หรือ "ฉันเป็นคนฉลาดมีความรู้มาก" (น้ำเต็มแก้ว)

            การยอมรับจึงเป็นทัศนคติที่ทรงพลัง เพราะว่าการยอมความจริงว่าเรามีข้อบกพร่องเป็นการแสดงออกซึ่งการให้เกียรติต่อทั้งตนเองและคนรอบข้าง และการยอมรับว่า "ทุกอย่างเป็นอย่างที่มันเป็น" จะเพิ่มความสามารถในการกำกับสถานการณ์ของเราได้ ตรงกันข้ามกับการคิดจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างเช่น "ทำไมฉันถึงไม่เกิดมาร่ำรวยเหมือนคนอื่น" "ทำไมฉันถึงไม่เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก ๆ" 

หรือ "ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดกับฉันด้วย"

            สุดท้าย หากเราเริ่มต้นจากการยอมรับความเป็นจริง เราจะสามารถกำหนดขอบเขตและกำหนดกฎเกณฑ์ได้ดีขึ้น การยอมรับเพิ่มความยืดหยุ่นและทำให้เราตอบสนองได้อย่างมีสติ แทนที่จะตอบสนองว่องไวเกินกว่าเหตุด้วยสัญชาตญาณที่ถือตัวว่าดีและเก่งไปหมดกว่าคนอื่นเสียทุกอย่าง สอดคล้องกับสิ่งที่ อดัม แกรนต์ (Adam Grant) อธิบายไว้ในหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know 

            โดยแกรนต์ยกย่องความถ่อมตัวอย่างมาก เขามองว่าความถ่อมตัวไม่ใช่การมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ แต่เขาอธิบายว่ามันมาจากรากศัพท์ภาษาละตินของคำว่า Humility มีความหมายว่า "จากพื้นดิน (From the earth)" มันเกี่ยวข้องกับการมีวิจารณญาณ (Being Grounded) โดยตระหนักว่าเราต่างก็มีข้อบกพร่องและทำผิดพลาดกันได้ ซึ่งเมื่อเราไม่ยอมรับความจริงถึงความไม่รู้ของตัวเองจะทำให้เราแสดงออกอย่างโง่ ๆ เราทะนงตัวเพราะเราไม่รู้ผสมผสานไปกับเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวเอง มันจะทำให้เราไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากตัวเองเลย

            ทิม เออร์บัน (Tim Urban) บล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียง อธิบายไว้ว่า ในขณะที่ความถ่อมตัวเป็นตัวกรองที่ซึมซับประสบการณ์ชีวิตและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นความรู้และภูมิปัญญา ความทะนงตัวกลับเป็นเกราะยางที่มีแต่จะทำให้ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามาเด้งกลับออกไปเท่านั้น สิ่งที่เออร์บันกล่าวออกมาเป็นความจริงที่ปฏิเสธได้ยาก เรามักพบเห็นคนที่ทะนงตัวแสดงออกอย่างมั่นใจ และแสดงความมีอคติต่อข้อมูลที่เขาไม่เห็นด้วยอย่างมากล้นจนเกินไปอยู่เสมอ

            ไม่ว่าจะเป็น แกรี เอเมอรี (Gary Emery) เจมส์ แคมป์เบลล์ (James Campbell) อดัม แกรนต์ (Adam Grant) และ ทิม เออร์บัน (Tim Urban) ต่างก็ให้ความสำคัญไปที่ความเป็นจริงแตกต่างกันออกไป เอเมอรี และแคมป์เบลล์ เน้นไปที่การยอมรับความเป็นจริงเป็นอันดับแรก บุคคลจึงจะสามารถปฎิบัติได้ถูกต้องมากขึ้น ในขณะที่แกรนต์และเออร์บันให้ความสำคัญไปที่ความถ่อมตัวซึ่งจะเป็นเกราะยางอย่างดีสำหรับสะท้อนประสบการณ์ชีวิตหรือความจริงที่จะเข้ามากระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ผิดพลาดหรือล้มเหลว

            การปรับทัศนคติให้เปิดกว้าง และยอมรับความเป็นจริงจึงไม่ได้แตกต่างจากความถ่อมตัวเลย เพราะมันเป็นการที่เรายอมรับต่อประสบการณ์ชีวิตที่สามารถโค่นเราลงได้ในทุกเมื่อ เหมือนกับชาวประมงที่พร้อมกับมือและยำเกรงทะเลไปด้วยกัน หากพลิกมองอีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการให้เกียรติชีวิต โดยมองว่าชีวิตมีความลึกลับและมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย และส่วนใหญ่เราจะเข้าใจมันอย่างผิด ๆ อยู่เสมอ หรือเราอาจจะไม่มีวันเข้าใจชีวิตเลยก็ได้

            เราจะต้องยอมรับความจริงข้อนี้ให้ได้ และเป็นผู้เรียนรู้ชีวิตด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างและถ่อมตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นเกราะยางอย่างดีในปกป้องตัวเองจากความเหี้ยมเกียมที่เกิดขึ้น ซึ่งความเหี้ยมเกียมที่เราได้รับจากชีวิต ก็มาจากผู้คนรอบ ๆ ตัวเรานี้แหละ ผู้คนที่ดำเนินชีวิตตามความต้องการของตนเองอย่างไม่สนใจความรู้สึกของคนรอบข้าง ไม่ว่าบ้านเมืองจะล่มจม หรือคนรอบข้างจะเจ็บปวด ซึมเศร้าไปมากเท่าไหร่ก็ตาม ดังนั้นหัวใจหลักของบทความนี้ก็คือ ให้เรามีทัศนคติที่เปิดกว้าง และยอมรับความเป็นจริงให้มากที่สุด

และระวังจะดำเนินชีวิตด้วยทัศนคติที่คับแคบและมั่นใจตัวเองอย่างผิด ๆ จนน่าขัน

อ้างอิง

Emery, G & Campbell, J. (1987). Rapid Relief from Emotional Distress: A New, Clinically Proven Method for Getting Over Depression & Other Emotional Problems Without Prolonged or Expensive Therapy. NY: Ballantine Books.

Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.

Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.

ความคิดเห็น