ข้อคิดที่ได้จากเรื่องราว กำเนิดนาฬิกาพก จุดเริ่มต้นแห่งความหมกมุ่นด้านเวลา

"แม้จะตระหนักดีว่าข้าพเจ้านั้นเบาปัญญาและไม่รู้จักโตเพียงไร ก็ไม่อาจหักห้ามใจไม่ให้ถือนาฬิกาไว้ขณะอยู่ในรถม้านั้นทั้งบ่าย"    

            ผมเป็นคนที่ไม่ชอบใส่นาฬิกาข้อมือ เพราะรู้สึกรำคาญแม้การใส่นาฬิกาข้อมือจะเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งที่คนรอบตัวผมนิยม ไม่เพียงแค่นั้นในปัจจุบันยังมีนาฬิกาที่เรียกว่าสมาร์ทวอทช์ ซึ่งมีฟังก์ชั่นอันเต็มไปด้วยประโยชน์หลากหลายแก่ผู้บริโภค แต่ผมก็รู้สึกไม่อยากใส่อยู่ดี อย่างไรก็ตามผมก็เป็นคนที่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาดูนาฬิกาตลอด และค่อนข้างจะกังวลเกี่ยวกับเวลาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสอนที่จะต้องคอยสังเกตเวลาตลอดเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนของผมตามเวลาที่ดำเนินไป หรือเวลาพักที่แสนสั้นของตัวเอง

            ในปัจจุบันเราทุกคนหมกมุ่นด้านเวลา "ด้วยความจำเป็น" เพราะหากเราไม่ดูเวลาเลยเราแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การออกเดินทางไปทำงาน การทำงาน รับประทานอาหารกลางวัน เลิกงาน การเดินทางกลับบ้าน อาหารเย็น พักผ่อน และการนอนหลับ กล่าวคือทุกการกระทำของเรา "การดูเวลา" เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหาที่เปรียบมิได้ ซึ่งหากพิจารณาดูในประวัติศาสตร์มนุษย์เรา พวกเขาไม่เคยไม่ให้ความสำคัญกับ "อีกสิบนาทีจะเที่ยง" หรือ "ห้าโมงครึ่ง" ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันแทบจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า "ความกังวลหรือหมกมุ่นด้านเวลามันเริ่มจากยุคใดสมัยใดกันเล่า"

            ในหนังสือ Notes on a nervous planet ผู้เขียน แมตต์ เฮก (Matt Haig) ได้ยกเรื่องเรื่องราวประวัติของนาฬิกาพกที่น่าสนใจ โดยเขาได้ศึกษาประวัตศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 16 ที่นาฬิาพกได้กำเนิดขึ้น และเปรียบเทียบกับในอดีตที่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชนิดไหนเลยที่พรรณถึง การคร่ำเครียดเพราะตื่นสายและพลาดการประชุมกำหนดแผนงานตอนเก้าโมงเช้า เวลาแบ่งออกเป็นไม่กี่ประเภทเท่านั้น เช่น กลางวัน กลางคืน มื้ออาหาร เวลาล่าสัตว์ เวลาต่อสู้ เวลาพักผ้อน เวลาเล่น เวลาจูบ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยตัวเลขอย่างชัดเจนจากเวลาเลย จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างมากว่าเกิดอะไรขึ้นในศตวรรษที่ 16 ที่นาฬิกาพกเป็นกลายเป็นแฟชั่นที่คนนิยมกัน 

พฤติกรรมของมนุษย์หลายคนในยุคนั้นจะเป็นอย่างไร เรื่องราวมีดังนี้

เรื่องราวกำเนิดนาฬิกาพก จุดเริ่มต้นแห่งความหมกมุ่นด้านเวลา

            นาฬิกาพกถูกคิดค้นราวศตวรรษที่ 16 และเช่นเดียวกับของที่ผู้คนปรารถนาจะครอบครองชนิดอื่น นาฬิกาพกเป็นเครื่องแสดงฐานันดรในช่วงแรก เป็นของใหม่ของชนชั้นสูง นาฬิกาพกในช่วงกลางศตวรรษนั้นมีราคาราว 15 ปอนด์ ซึ่งสูงกว่ารายได้ทั้งปีของคนงานในไร่ ผู้คนถลุงเงินมากมายถึงเพียงนั้นให้นาฬิกาที่ไม่มีแม้แต่เข็มยาว อย่างไรก็ตาม นาฬิกาพกดูจะเป็นตัวการทำให้คนกระสับกระส่ายเพราะเวลามากขึ้น หรืออย่างน้อยก็วิตกกับการ "ดูเวลา"

            เมื่อนักการบริหารของราชนาวีอังกฤษและสมาชิกรัฐสภาชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นนักเขียนบันทึกรายวันอย่างซามูเอล พีปส์ (Samuel Pepys) ซื้อนาฬิกาพกเรือนแรกซึ่งเป็นของดีมากทีเดียว ในลอนดอนปี ค.ศ. 1665 เขาระลึกได้ทันทีเหมือนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันว่าการเข้าถึงข้อมูลบางอย่างให้อิสรภาพบางประการที่ต้องแลกมาด้วยสิ่งอื่น ต่อไปนี้คือข้อความที่เขาเขียนในบันทึกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1665

            "แต่พระเจ้า แม้จะตระหนักดีว่าข้าพเจ้านั้นเบาปัญญาและไม่รู้จักโตเพียงไร ก็ไม่อาจหักห้ามใจไม่ให้ถือนาฬิกาไว้ขณะอยู่ในรถม้านั้นทั้งบ่าย พลางดูว่าเป็นเวลากี่โมงแล้วเป็นร้อยหน และคิดในใจว่าข้าพเจ้าใช้ชีวิตโดยไม่มีนาฬิกาสักเรือนได้อย่างไรมาจวบจนบัดนี้ ทว่าเมื่อนั้นเอง ข้าพเจ้าพลันนึกได้ขณะที่มีอยู่เรือนหนึ่งนี้และคิดว่ามันก่อปัญหา จึงแก้ไขด้วยการไม่พกนาฬิกาเลยชั่วชีวิต" (สำนวนแปลไทยโดยศิริกมล ตาน้อย)

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องราวกำเนิดนาฬิกาพก

            ถ้อยคำบันทึกของพีปส์ แม้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 1665 แต่แทบจะไม่ต่างจากยุคสมัยนี้เลย เราทุกคนต่างมองดูเวลา เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือถ้อยคำ "ข้าพเจ้านั้นเบาปัญญาและไม่รู้จักโตเพียงไร ก็ไม่อาจหักห้ามใจไม่ให้ถือนาฬิกาไว้ขณะอยู่ในรถม้านั้นทั้งบ่าย พลางดูว่าเป็นเวลากี่โมงแล้วเป็นร้อยหน" ความรู้สึกของเขาไม่ต่างจากพวกเราในปัจจุบันที่หยิบสมาร์ตโฟนของตัวเองขึ้นมาดูการแจ้งเตือน ไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook หรือ Twitter ดังนั้นจากเรื่องราวนี้จึงทำให้เราได้ข้อคิดหลายข้ออย่างแน่นอน

"ข้าพเจ้าพลันนึกได้ขณะที่มีอยู่เรือนหนึ่งนี้และคิดว่ามันก่อปัญหา จึงแก้ไขด้วยการไม่พกนาฬิกาเลยชั่วชีวิต"

            1) เวลาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต พอลองมาสังเกตตัวเองดู ไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือเป็นวันหยุด ผมก็หันไปมองดูนาฬิกาอยู่ตลอด เวลาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผมอยู่ตลอด ตอนเช้าจะต้องลุกขึ้นไปอาบน้ำทันที เพื่อที่จะรีบออกจากบ้านเดินทางไกลไปโรงเรียนแต่เช้าทุกวัน ตอนสอนก็ต้องคอยมองเวลาตลอด แม้แต่วันหยุดก็คอยมองนาฬิกาและกระตุ้นตัวเองให้ทำงาน เขียนบทความ หรืออ่านหนังสือบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนก็ถูกกำหนดวิถีชีวิตด้วยเวลาเช่นเดียวกัน

            อย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้แย่มากและเราควรจะเป็นผู้กำหนดเวลาไม่ใช่ให้เวลามากำหนดตัวเรา ผมไม่ได้เพ้อฝันขนาดนั้น เพียงแต่ข้อเท็จจริงมันก็เป็นแบบนี้แหละ เราถูกกำหนดด้วยเวลาซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อเราทุกคนต่างก็หมุนไปตามกาลเวลาและดำเนินชีวิตตามพลวัตทางสังคมที่กำหนดด้วยเข็มวินาที บางทีเราอาจจะหาช่วงเวลาสักวันหนึ่งที่เราจะไม่มองนาฬิกา หรือสนใจการแจ้งเตือนใด ๆ จากสมาร์ตโฟนเลย อยากรู้จังว่าจะรู้สึกอย่างไร

            2) ความกังวลกลายเป็นความปกติของสังคม ความกังวลหรือวิตกกังวลเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ที่แสดงออกมาเมื่อรู้สึกกลัวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ทำให้เราระมัดระวัง แต่ถ้ามีมากไปจะทำให้เราไม่มีความกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือกล้าแสดงออกทางด้านความคิด สิ่งนี้ค่อนข้างน่ากลัวเพราะเวลาที่เรากังวลกับเรื่องไร้สาระไม่ว่าจะเป็นเวลา การแจ้งเตือน ยอด Like ยอด Follower หรือการแสดงความคิดเชิงลบที่เราได้รับมากเกินไปบนโลกไซเบอร์ ย่อมจะทำให้เรากังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวไปด้วย 

            กล่าวคือ เวลาที่เรารู้สึกกังวลกับเรื่องเล็กน้อยน้อยจนเป็นนิสัย ก็จะกังวลกับสิ่งรอบ ๆ ตัวมากขึ้นไปด้วยอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นมาตรฐานสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลายคนกลายเป็นคนที่กังวลมากเกินไปกับความคิดเห็นของคนอื่น บางคนพยายามจะทำให้คนทุกคนพึงพอใจ ซึ่งสุดท้ายตัวเองต้องเจ็บปวดเอง จนกระทั่งเกิดภาวะซึมเศร้าไปจนถึงโรคซึมเศร้า ทางที่ดีเราจะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนควรจะทำตามสิ่งที่ใจเราปรารถนาอย่างแท้จริง 

นั่นคือการเป็นอิสระจากการเป็นคนที่กังวลถึงความคิดเห็นของคนอื่นตลอดเวลาโดยมองข้ามความรู้สึกของตัวเอง

            3) ควรถอยห่างออกจากความหมกมุ่น ไม่เพียงแค่เวลาเท่านั้นที่เราหมกมุ่น แต่เป็นสมาร์ตโฟนของเราด้วย ทุกวันนี้เราหมกมุ่นกับการแจ้งเตือนมากมายและความิคดเห็นของผู้อื่นบนโลกไซเบอร์ หลายคนแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมาแบบไม่ยั้งคิด โดยการหยิบขึ้นมาดูแล้วดูอีก ขอเพียงได้ดู ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมเสพติด พวกเราต่างมอบสัญชาตญาณของตัวเองให้กับเวลาและเครือข่ายสังคม ลองสังเกตดูสิครับใจเราแทบขาดเมื่อใกล้จะหมดเวลาในวันหยุด

            ดังนั้นทางที่ดีเราควรจะถอยห่างออกจากความหมกมุ่นให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดช่วงเวลาขึ้นมา หรือใช้เวลาในช่วงวันหยุดโดยไม่มองดูเวลา แต่สิ่งที่เราควรถอยห่างให้มากที่สุดก็คือ เครือข่ายสังคม เราไม่ควรจะได้รับอิทธิพลจากการแจ้งเตือน ยอด Like ยอด Follower มากนัก เราไม่ควรจะได้รับอิทธิพลจากการเอาแต่จ้องดูสถานที่สวยงาม อุปกรณ์ รถหรู บ้านไฮโซ ของผู้คนมากมายในเครือข่ายสังคมที่ค่อนจิกกัดคุณค่าในตัวเองของเราไปเรื่อย ๆ เราควรจะสังเกตความรู้สึกของตัวเอง ใส่ใจสุขภาพของตัวเองและคนที่เรารักให้มากที่สุด แทนที่จะหมกมุ่นกับชีวิตอุปโลกน์บนโลกไซเบอร์

            จากข้อคิดทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเวลาและอยู่โดยปราศจากนาฬิกาไม่ได้ นอกจากนั้นเรายังหมกมุ่นกับเครือข่ายสังคมของเรา จนเราแสดงพฤติกรรมออกมาไม่ได้ต่างกับการเสพติดเลย มันทำให้เรารู้สึกเป็นกังวล ไม่ว่าจะเป็นการกังวลกับอนาคตตัวเอง กังวลกับรูปร่าง กังวลกับความคิดเห็นของผู้อื่น กังวลกับสิ่งที่เราครอบครอง จนเราอยากได้มาเรื่อย ๆ อยากได้สิ่งต่าง ๆ มาเติมเต็มชีวิตของเรา เราไม่ได้หมกมุ่นแค่เวลา แต่เราหมกมุ่นกับทุกสิ่ง ทั้งหมดนี้กลายเป็นมาตรฐานของพวกเราในปัจจุบันอย่างน่าเสียดาย

            สิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพทางสติปัญญาที่สูงเฉียดฟ้า แต่กลับกลายมาเป็นทาสของนาฬิกา เป็นทาสต่อเครือข่ายสังคม เป็นทาสต่อความคิดเห็นของผู้อื่น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหยุดเข็มนาฬิกา เลิกกังวล เลิกหมกมุ่นกับความคิดเห็นที่ต่อให้รับฟังไปก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีอะไรเลยขึ้นมาเลย และสิ่งที่เราควรจะตระหนักก็คือ สิ่งที่คนอื่นคิดต่อเรามันเป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของเราสักนิด ในศตวรรษที่ 17 ซามูเอล พีปส์ตระหนักถึงพฤติกรรมที่หมกมุ่นของตัวเอง เขาจึงเลือก "ข้าพเจ้าพลันนึกได้ขณะที่มีอยู่เรือนหนึ่งนี้และคิดว่ามันก่อปัญหา จึงแก้ไขด้วยการไม่พกนาฬิกาเลยชั่วชีวิต"

เวลาไม่เคยสั้นเกินไป วิถีชีวิตอันกลวงเปล่าของเราต่างหากที่ยาวเกินไป

อ้างอิง

Haig, M. (2018). Notes on a Nervous Planet. Edinburgh: Canongate.

ความคิดเห็น