มหาวิทยาลัยนิยม เป็นการแข่งขันที่ก้าวหน้าหรือถอยลงกันแน่

มนุษย์มีศักยภาพที่ทรงพลังโดยเฉพาะทางด้านความคิดในตัวมันเองอยู่แล้ว

            ในระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความนี้สังคมไทยกำลังโต้เถียงกันอย่างดุเดือดเกี่ยวกับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่าควรจะมีการเก็บดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งก็คิดว่าในเมื่อเป็นกองทุนก็ควรจะมีเงินหมุนเวียนเพื่อต่อยอดกองทุนต่อไป ในขณะที่อีกฝ่ายคิดว่ากองทุนนี้ไม่ควรจะเก็บดอกเบี้ย และยังสามารถกระตุ้นให้ผู้กู้มีแรงจูงใจที่จะจ่ายหนี้คืนซึ่งในปัจจุบันมีผู้กู้จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จ่ายหนี้ ไม่เพียงแค่นั้นยังมีการรณรงค์ให้เรียนฟรีในระดับปริญญาตรีอีกด้วย 

มหาวิทยาลัยนิยม การแข่งขันที่ก้าวหน้าหรือถอยลง

            ความครุกรุ่นของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นจึงเป็นที่น่าชวนพูดถึงเรื่องการเรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างมาก ผมมักจะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าหากไม่ได้เรียนจบปริญญาจะมีงานทำหรือไม่ การศึกษาในระดับอุมดศึกษาแตกต่างกับต่างประเทศอย่างไรบ้าง เพราะในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานักเรียนที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถประกอบอาชีพที่มีรายได้หล่อเลี้ยงตัวเองได้ แม้ปริมาณรายได้จะแตกต่างกับบุคคลที่จบระดับศึกษาปริญญาตรีก็ตาม

            สำหรับประเทศไทย คงเป็นไปได้ยากมากที่จะมีบริษัทไหนจะรับบุคคลที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สามารถมีรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองได้ เพราะประเทศไทยเป็นสังคมที่นิยมการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ผมเรียกสิ่งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยนิยม" ลองคิดดูนะครับไม่มีใครตั้งเป้าหมายให้ลูกของตัวเองสุดแค่มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรอกครับ แต่พวกเขาตั้งเป้าไปถึงมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ

            โดยไม่มีใครตั้งเป้าหมายเข้าเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน หรือที่ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า ทั้ง ๆ ที่จำนวนผู้เรียนในปัจจุบันสามารถเข้าถึงทุกที่นั่งในมหาวิทยาลัยได้ แตกต่างจากในอดีตที่จำนวนนักเรียนเยอะมากกว่านี้ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือค่านิยมของการเข้าเรียนในประเทศไทยไม่ได้แตกต่างจากสหรัฐอเมริกาเลย ค่านิยมการเรียนมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศที่เรียกว่า ไอวีลีก (Ivy League) เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดถึงขนาดมีการโกงกันเกิดขึ้นมากมาย

            การหมกมุ่นเรื่องการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนี้ฝังรากอยู่ในความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างมากขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าใครเข้าเรียนที่ไหนได้ก็จะมีเดิมพันสูงมากขึ้น แตกต่างกับในอดีตที่ชาวอเมริกันเรียนจบปริญญาตรีภายใน 4 ปีมีแค่หนึ่งในห้าเท่านั้น และคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็นิยมไปเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน นอกจากนั้นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็เป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญน้อยมากแตกต่างกับในปัจจุบัน

            แต่เมื่อความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นและเมื่อช่องว่างของรายได้ระหว่างคนที่จบปริญญาตรีและคนที่ไม่จบกว้างกว่าเดิม มหาวิทยาลัยก็สำคัญขึ้นกว่าเดิม ตัวเลือกมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน วันนี้นักเรียนมักจะพยายามเข้ามหาวิทยาลัยที่เข้ายากที่สุดสำหรับพวกเขา สไตล์การเลี้ยงลูกก็เปลี่ยนไปเช่นกันโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะ ยิ่งช่องว่างรายได้ถ่างกว้าง ความกลัวล้มก็ยิ่งทวีคูณ จึงเป็นสาเหตุให้พ่อแม่พยายามหลบเลี่ยงอันตรายนี้ด้วยการเข้ามายุ่งกับชีวิตลูก ๆ อย่างเข้มข้น 

ยิ่งช่องว่างรายได้ถ่างกว้าง เป็นสาเหตุให้พ่อแม่เข้ามายุ่งกับชีวิตลูก ๆ อย่างเข้มข้น

            ในหนังสือ The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good? ผู้เขียน ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกการเข้ามายุ่งกับชีวิตลูก ๆ ของพ่อแม่ชาวอเมริกันว่า "โรคระบาดของการเลี้ยงดูลูกแบบเจ้ากี้เจ้าการ" ซึ่งอธิบายการแทรกแซงของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ๆ ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการช่วยจัดเวลา ติดตามเกรด กำหนดตารางกิจกรรม และจัดแจงคุณสมบัติในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเขาค้นพบว่ายิ่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสให้พ่อแม่เข้ามาแทรกแซงเจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตลูกได้มากขึ้นเท่านั้น

            มันเป็นปฏิกิริยาวิตกจริตที่เข้าใจได้ เพราะมันเป็นความต้องการของผู้ปกครองผู้ร่ำรวยที่ไม่อยากให้ทายาทของพวกเขาต้องเจอกับชีวิตชนชั้นกลางที่ไม่มั่นคง ปริญญาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังถูกมองว่าเป็นพาหนะหลักที่จะเลื่อนชั้นทางสังคมสำหรับคนที่อยากไต่เต้า และเป็นปราการป้องกันการไถลลงที่มั่นคงที่สุดสำหรับคนที่อยู่ในชนชั้นที่สุขสบายอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่าไม่แตกต่างกับประเทศไทยเลย แม้ว่าการแข่งขันจะไม่ได้เข้มข้นเท่าที่เรียนในกลุ่มไอวีลีกของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตาม

            การที่เราต้องพยายามทุ่มเทแทบตายเพื่อที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ มันไม่ได้เป็นผลที่ดีมากขนาดนั้น ไมเคิล แซนเดล มองว่า เพราะการที่ผู้สมัครมหาวิทยาลัยชั้นนำต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเป็นเวลาหลายปีแทบจะบังคับให้พวกเขาเชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากตัวเองล้วน ๆ และถ้าหากว่าไม่ประสบความสำเร็จล่ะ พวกเขาก็จะต้องโทษตัวเองสถานเดียว 

            นี่คือภาระอันหนักอึ้งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องแบกรับ อีกทั้งยังบั่นทอนสำนึกความเป็นพลเมืองด้วย แซนเดลอธิบายต่อว่า ยิ่งเราคิดว่าเราก้าวหน้าด้วยตัวเองและอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองมากเพียงใด ก็ยิ่งยากที่เราจะเรียนรู้ความกตัญญูรู้คุณและความถ่อมตัว และถ้าปราศจากอารมณ์เหล่านี้ ก็ยากที่จะให้ใครใส่ใจกับประโยชน์สาธารณะ

การเรียนมหาวิทยาลัยจำเป็นหรือไม่

            หากเราตัดเรื่องค่านิยมออกไปคำถามที่ผมตั้งนี้ก็ดูค่อนข้างน่าสนใจ แน่นอนว่าบริษัทหลายแห่งเลือกรับบุคคลที่จบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ทั้ง ๆ ที่บางสายงานไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเลย หากแต่ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกเท่านั้น โอเคผมจะตั้งคำถามให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือ การที่เราเรียนวิชาต่าง ๆ ที่โดยส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาใช้จริง และเรียนวิชาเหล่านั้นเพียงแค่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 15 สัปดาห์ ทำให้เรามีความสามารถมากขนาดนั้นเลยหรือ

            ผมเห็นด้วยกับไมเคิล แซนเดลที่มองว่าการให้ค่ากับการศึกษาในระดับสูงและมองว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาทางด้านสังคมและการเมือง หรือปัญหาอื่น ๆ ที่หนักหน่วง คือ "คำหลอกลวง" ซึ่งจะบั่นทอนประชาธิปไตรและทำให้พลเมืองไร้พลัง เราจะเห็นได้จากทัศนคติที่คนเมืองมักจะมองคนต่างจังหวัดว่าไร้การศึกษา เป็นกลุ่มคนที่มักจะเป็นเป้าในการซื้อเสียงของนักการเมือง ขาดความรู้ทางด้านการเมือง แน่นอนว่ามุมมองดังกล่าวเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

            ความกลวงเปล่านี้ผลิตสร้างความไม่พอใจแบ่งออกเป็นสองแบบ 1) ความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นเมื่อระบบไม่เอื้อให้กับคนที่ทำงานหนักและทำตามกติกาก้าวหน้าได้ และ 2) ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นเมื่อคนที่ได้รับการศึกษาสูง ๆ มีหน้ามีตาในสังคมกลับได้รับประโยชน์เต็มที่ในขณะที่พวกเขาหรือบุคคลที่ด้อยโอกาสในสังคมกลับกลายเป็๋นผู้แพ้  ซึ่งทำให้พวกเขาหมดกำลังใจมากกว่าเพราะมันสื่อนัยว่าคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังต้องโทษตัวเองที่ล้มเหลว "ฉันมันไม่เก่ง" "ฉันมันไม่ดีพอเหมือนกับคนอื่น"

            ผมมักจะเห็นนักเรียนมากมายในโรงเรียนของผมคอตกนั่งมองนักเรียนคนเก่งตอบคำถามหรือแสดงความสามารถออกมา และได้รับการยอมรับจากครู/อาจารย์ในโรงเรียน อย่าเข้าใจผิดนะครับผมไม่ได้โทษผู้สอน เพราะสิ่งนี้เป็นค่านิยมที่ถูกออกแบบมาผ่านความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาอย่างยาวนานในสังคมของเรา เราจะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่พร้อมจะนิยมบุคคลที่มีการศึกษาในระดับสูงโดยเฉพาะกับบุคคลที่จบมาจากสถานศึกษาชื่อดังในต่างประเทศมากกว่าบุคคลที่การศึกษาไม่สูงเท่า แม้แต่ตัวผมเองก็มีอคติแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว (ผมพยายามจะปรับเปลี่ยนมันอยู่)

            แซนเดลมองว่า การปกครองที่ดีต้องอาศัยปัญญาเชิงปฏิบัติและคุณธรรมของพลเมือง ซึ่งก็คือความสามารถที่จะอภิปรายกันเรื่องประโยชน์สาธารณะและพยายามบรรลุประโยชน์นั้นให้สำเร็จ แต่ศักยภาพทั้งสองนี้ไม่มีด้านไหนพัฒนาได้ดีเลยในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ แม้แต่มหาวิทยาลัยที่โด่งดังที่สุดด้วย ประวัติศาสตร์ไม่นานนี้ยังบอกเราว่าศักยภาพการตัดสินใจทางการเมืองซึ่งต้องอาศัยอุปนิสัยและการหยั่งรู้ทางศีลธรรม ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับความสามารถที่จะทำคะแนนได้ดีในข้อสอบมาตรฐานและการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ 

            ความคิดที่ว่า "คนที่ดีสุดและเก่งสุด" จะปกครองประเทศได้เก่งกว่าเพื่อนพลเมืองคนอื่นที่มีคุณวุฒิน้อยกว่าคือมายาคติที่เกิดจากอหังการของพวกที่มีทัศนคติว่าคนที่จูบสูงที่สุดคือคนที่สมควรที่สุด แซนเดลยกตัวอย่างประธานาธิบดีอเมริกัน 2 ใน 4 คนที่เป็นตำนานรูปแกะสลักบนภูเขารัชมอร์ อย่างจอร์จ วอชิงตัน และอับราฮัม ลินคอล์น ไม่เคยจบปริญญา ส่วนแฮร์รี่ ทรูแมน ประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่ไม่จบปริญญา ก็มักติดทำเนียบประธานาธิบดีที่ดีที่สุดของอเมริกา

            แฟรงกลิน รูสเวลต์ ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดออกแบบและดำเนินโครงการนิวดีลเพื่อฟื้นฟูประเทศในยุคที่อเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ด้วยทีมที่ปรึกษาหลากหลาย พวกเขามีความสามารถสูงแต่มีคุณวุฒิน้อยอย่างมากถ้าเทียบกับปัจจุบัน แฮ์รี่ ฮอปกินส์ที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดกับรูสเวลต์ที่สุด เป็นนักสังคมสงเคราะห์จากรัฐไอโอวา รอเบอร์ต แจ็กสัน อัยการสูงสุดซึ่งรูสเวลต์แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลสูงสุด เป็นทนายที่ไม่เคยจบปริญญาด้านกฎหมาย เฮนรี่ วอลเลซซึ่งอาจเป็นรัฐมนตรีเกษตรที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติ เรียนจบจากไอโอวาสเตต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ

            ประวัติศาสตร์จึงเป็นหลักฐานชั้นดีในตัวมันว่า "มหาวิทยาลัยนิยม" เป็นการแข่งขันที่ก้าวหน้าหรือถอยลงกันแน่ แน่นอนว่าการศึกษาในระดับที่สูงเป็นเรื่องดีอย่างแน่นอน ผมคงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าคนที่สามารถจบปริญญาระดับสูงได้จะเป็นคนที่มีความสามารถ ผมเพียงแต่บอกว่าการที่เราศึกษาในระดับสูงขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราดีเด่ หรือเก่งกว่าคนอื่น คนบางคนเผชิญประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้ลองผิดลองถูกอย่างนับไม่ถ้วน ยังมีความคิดที่แยบคายกว่าผู้ที่จบปริญญาเอกหลายคนเสียอีก

            ถ้าการเรียนมหาวิทยาลัยจำเป็นจริง ๆ เราคงจะพบเห็นว่าคนที่จบปริญญาจะต้องมีศักยภาพทางความคิดที่มากกว่าคนที่ไม่จบปริญญาทั้งหมดสิครับ แต่การที่มีคนหลายคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยกลับมีความสามารถทางความคิดที่แยบคายกว่า มองเห็นทางออกของชีวิตได้ดีกว่า แม้เขาจะมีความรู้ในบางเรื่องไม่ลึกเท่ากับคนที่ร่ำเรียนในระดับสูง ๆ ในความคิดเห็นของผมมนุษย์มีศักยภาพที่ทรงพลังโดยเฉพาะทางด้านความคิดในตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องหัดใช้สติในการทบทวนสิ่งต่าง ๆ ใคร่ครวญกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และลองผิดลองถูกกับปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ 

กล้าที่จะล้มเหลว กล้าที่จะผิดพลาด ผมว่าเป็นทัศนคติที่สำคัญมากกว่าการเรียนในระดับที่สูงขึ้นไปเสียอีก

อ้างอิง

Doepke, M. & Zilibotti, F. (2019). Love, Money, and Parenting: How Economics Explains the Way We Raise Our Kids. NY: Princeton University Press.

Frank, T. (2014). Listen, Liberal: Or, What Ever Happened to the Party of the People? NY: Macmillan.

Sandel, M. (2020). The Tyranny of Merit: What's Become of the Common Good?. NY: Farrar, Straus and Giroux.

ความคิดเห็น