สุขภาพจิตที่ดี คือการจัดการในสิ่งที่ควบคุมได้ ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

ไม่มีประโยชน์ที่จะควบคุมสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราเพียงแค่ต้องยอมรับทุกสิ่งอย่างที่มันเป็น

            เมื่อปีที่แล้วผมอ่านหนังสือชื่อ Breaking Night เป็นเรื่องราวของ ลิซ เมอเรย์ (liz Murray) เด็กสาวที่ครั้งหนึ่งเคยพัวพันกับการเสียชีวิตของคุณแม่เธอจากโรคเอดส์ รวมถึงคุณพ่อของเธอที่ถูกส่งไปบำบัดรักษายาเสพติด จนหลายครั้งเธอต้องนอนตามที่สาธารณะหรือรถไฟใต้ดิน สุดท้ายด้วยความแข็งแกร่งและความพยายาม เธอจึงสามารถได้ทุนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้สำเร็จ

            ในหนังสือช่วงสุดท้าย เธอได้พูดถึงบทสวดภาวนาที่ใช้โดยผู้ที่มีอาการติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด เธอยึดบทสวดนี้เป็นหลักประจำใจ บทสวดนี้ชื่อว่า "Serenity Prayer" โดยมีเนื้อหาดังนี้ "ข้าแต่พระเป็นเจ้า ขอทรงโปรดประทานความสงบแก่ลูกในการยอมรับสิ่งที่ลูกไม่อาจเปลี่ยนได้ ความกล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ลูกเปลี่ยนได้ และปัญญาที่จะรู้ถึงความแตกต่าง"

            ผมเป็นคนหนึ่งที่ประทับใจบทสวดนี้อย่างมาก เพราะมันสอดคล้องกับจิตวิทยาและปรัชญาสายสโตอิก มนุษย์เราทุกคนพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมทุกอย่างที่อยู่รอบตัวด้วยหลายสาเหตุปัจจัย ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ปกป้องกันตัวเองจากอันตรายและความเจ็บปวดทางจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น คนในอดีตที่เชื่อว่าฝนตกเป็นเพราะบูชาพระเจ้า เพราะมันเข้าใจง่ายและสบายใจมากกว่าฝนตกด้วยเหตุอื่น ๆ ที่อธิบายไม่ได้

            การพยายามที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทำให้เกิดความเศร้า ไม่สบายใจ ไม่พึงพอใจ เรียกทั้งหมดรวมกันว่า "ความทุกข์" เหมือนกับคำพูดของ นักปรัชญาชาวกรีก เอพิคเตตัส ที่กล่าวว่า "ในบรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งมวล บ้างอยู่ภายใต้อำนาจของเราบ้างก็ไม่" เป็นคำกล่าวสั้น ๆ ที่สะท้อนความจริงได้อย่างงดงาม

            บนโลกใบนี้มีสิ่งที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ และสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ พวกเรารู้ข้อเท็จจริงนี้ดี แต่ไม่เคยที่จะทำมันได้เสียที กล่าวคือ เราพยายามจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง คาดหวังให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่ตนเองคิดและปรารถนา นี่แหละคือรากของความทุกข์ทางใจ "ฉันจะได้งานนี้มั้ย" "เธอจะชอบฉันหรือไม่" "ฉันจะดูดีกว่านี้ได้หรือไม่" ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้อื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา

"สุขภาพจิตที่ดีคือการจัดการในสิ่งที่ควบคุมได้ ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้"

            แม้เราจะมีรูปร่างที่ผอมบาง หรือรูปร่างท้วม มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองบุคคลอื่นอยู่ดีที่จะมองว่า "สวย/หล่อ" หรือไม่ เราควบคุมมันไม่ได้เลย แล้วอะไรคือสิ่งที่เราควบคุมได้บ้าง มีไม่กี่อย่างนั่นคือ "วิจารณญาณและการกระทำโดยเจตนาของเรา" เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเหตุการณ์ใดมีความหมายกับเรา และเราจะตอบสนองกับมันอย่างไร เราสามารถเลือกที่จะทำในสิ่งที่สอดคล้องกับคุณธรรมได้ ส่วนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของเราทั้งสิ้น

            ตั้งแต่สภาพอากาศไป การกระทำและมุมมองความคิดของผู้อื่น ไปจนถึงสุขภาพและร่างกายของเรา แทบจะกล่าวได้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ทั้งสิ้น หากผู้อ่านลองพิจารณาดู เราไม่สามารถควบคุมร่างกายของเราได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน เราอาจจะสั่งการมันด้วยความคิด "ยกน้ำหนักสิ วิ่งสิ ต้องกินให้น้อยลง" แต่นั้นไม่ได้ทำให้สะโพกของเราเล็กลงได้ ไม่ได้ทำให้ไหล่ของเราหนาขึ้นได้ไปจนถึงไม่ได้ทำให้จมูกของเราคมโด่งมากขึ้น 

            เพราะมันมีหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลกับร่างกายของเรา เช่น ยีน การคลอดก่อนกำหนด หรือการได้รับบาดเจ็บ ผู้อ่านหลายคนอาจจะสับสนว่าแล้วอะไรบ้างที่เราสามารถควบคุมได้ หรือพอที่จะควบคุมได้บ้าง โชคดีที่ในหนังสือ The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) ได้นำเสนอการแบ่งขั้วการควบคุม (Dichotomy of Control) ได้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งออกเป็นอิทธิพล 3 ระดับที่เรามีต่อโลกใบนี้

            1) มีอิทธิพลระดับสูง: วิจารญาณในการเลือกและตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร สิ่งนี้เราสามารถควบคุมมันได้อย่างแท้จริง 

            2) มีอิทธิพลบางส่วน: สุขภาพ ความร่ำรวย ความสัมพันธ์ และผลที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา สิ่งนี้เราสามารถควบคุมมันได้บางส่วน เช่น การตัดสินใจไปออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เจ็บไม่ป่วย หรือการออมเงินจนเป็นนิสัย ก็ไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยได้ 

            3) ไม่มีอิทธิพลเลย: สภาพอากาศ เชื้อชาติ ความคิดเห็นของผู้อื่น และเหตุปัจจัยภายนอกแทบทั้งหมด อิทธิพลระดับนี้คือสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง เราไม่สามารถเปลี่ยนฟ้าฝนได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชาติกำเนิดได้ เราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมและความคิดของผู้อื่นได้

            จากระดับอิทธิพลการควบคุมจะเห็นว่า เราควรใส่ใจในส่วนที่เราควบคุมได้อย่างแท้จริงดีกว่า มาร์คัส ออเรเลียส จักรพรรดินักปรัชญาผู้เรืองอำนาจในยุคโรมัน อธิบายว่า "เราสามารถแสดงคุณธรรมซึ่งล้วนอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของเรา ความสง่างาม การทำงานหนัก ความไม่เห็นแก่ตัว ความพึงพอใจในตัวเอง ความประหยัด อดออม การมีจิตใจดี ความเป็นอิสระ ความเรียบง่าย การนึกถึงใจเขาใจเรา และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่"

            โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า "เราเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะหยุดยั้งตัวเองจากการบ่มเพาะขัดเกลาคุณสมบัติเหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจของเราที่จะยับยั้งความเลวร้ายในใจ ปรามความเย่อหยิ่งจองหอง หยุดความมักใหญ่ใฝ่สูงจากชื่อเสียง และควบคุมอารมณ์ของตัวเอง" เราสามารถแสดงออกอย่างมีคุณธรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องอ้างว่าเราไม่มีพรสวรรค์ มีชาติกำเนิดที่ไม่ดี มีฐานะทางการเงินที่ไม่ดีเทียบเท่าผู้อื่น เรามีอำนาจในตัวเองอยู่เสมอที่จะกำหนดเจตจำนงในการแสดงพฤติกรรมที่มีคุณธรรมได้หรือจะไม่ก็ได้เช่นกัน

            ผมขอยกบทสวด "Serenity Prayer" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง "ข้าแต่พระเป็นเจ้า ขอทรงโปรดประทานความสงบแก่ลูกในการยอมรับสิ่งที่ลูกไม่อาจเปลี่ยนได้ ความกล้าที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ลูกเปลี่ยนได้ และปัญญาที่จะรู้ถึงความแตกต่าง" บทสวดนี้ให้พลังกับผู้คนที่เผชิญกับอดีตอันแสนแลวร้าย เพราะความเจ็บปวดในอดีตคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมความคิดและการแสดงออกของเราในปัจจุบันได้

            ผู้คนจำนวนมากตกหลุมพรางแห่งอดีตและอนาคตโดยละเลยปัจจุบันขณะ พวกเขาเศร้าและผิดหวังกับอดีตที่ผ่านมาและกลัววิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเปลี่ยนแปลงอดีตหรือคาดหวังกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพราะเราไม่สามารถควบคุมมันได้ เราเพียงแค่ต้องยอมรับทุกสิ่งอย่างที่มันเป็น อย่างที่ เอพิคเตตัส เคยกล่าวไว้ว่า 

"เพราะมันเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ ดังนั้นจึงโง่เขลาที่จะไปกังวลในสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา"

อ้างอิง

Murray, L. (2010). Breaking Night: A Memoir of Forgiveness, Survival, and My Journey from Homeless to Harvard. NY: Hachette Books.

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

ความคิดเห็น