ความเมตตาและให้อภัยคือความเข้มแข็ง และหนทางสู่สุขภาพจิตที่ดี

แต่ก็เพราะว่ามันยากนั้นแหละครับ มันจึงเป็นหนทางที่จะเข้มแข็งและมีสุขภาพจิตที่ดี

            ครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่าความเข้มแข็งคือความแข็งแกร่งทางร่างกาย เป็นการที่คนคนหนึ่งมุ่งลุยอย่างสุดกำลังโดยไม่ท้อถอยตามภาษาของเด็กผู้ชายทั่วไป แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงพบว่า การที่คนคนหนึ่งจะลุยอย่างสุดกำลังได้ พลังกายเป็นเรื่องรองลงมา แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือกำลังใจ เพราะหากขาดกำลังใจไปแล้ว ความพยายามย่อมไม่เกิดขึ้น

            กำลังใจที่เกิดจากความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งแตกต่างกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่จะพัฒนาไปตามวัย แต่ความเข้มแข็งทางจิตใจจะถูกพัฒนาขึ้นผ่านประสบการณ์ชีวิต เหมือนกับเหล็กแข็งแกร่งขึ้นผ่านการชุบแข็งด้วยเปลวไฟที่มีความร้อนสูง กล่าวคือ ยิ่งผ่านประสบการณ์ที่โชกโชนมากเท่าไหร่ ความเข้มแข็งทางจิตใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

            คำว่า "ประสบการณ์ชีวิต" เป็นคำที่กว้างมหาศาล สามารถแปลความหมายได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาหาความรู้ การเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้าย การเผชิญกับเหตุการณ์ที่น่ายินดี ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความสุข ความทุกข์ ทั้งหมดล้วนเป็นประสบการณ์ชีวิต จึงทำให้คำคำนี้มีเนื้อหาที่อาจกล่าวได้ว่าค่อนข้างเป็นนามธรรม

            ลองพิจารณาดูนะครับ หากผมบอกว่าเราควรจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตให้มากที่สุด เพื่อให้จิตใจของเราเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงจะสับสนว่าจะเก็บเกี่ยวอย่างไรกันแน่ เพราะมีเส้นทางให้เดินไปเป็นพันเป็นหมื่นกว่าเส้นทาง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาทางด้านจิตวิทยาและด้านปรัชญา พบว่า ความเมตตาและการให้อภัยคือความเข้มแข็งทางจิตใจ

            อ่านแล้วอาจจะดูน้ำเน่าสำหรับบางคน แต่ผู้อ่านลองคิดดูนะครับ มนุษย์เราทุกคนมีสัญชาตญาณมาแต่กำเนิดซึ่งถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด การเห็นแก่ตัว การป้องกันตัว รวมไปถึงการทำให้ทุกอย่างง่ายมากขึ้นจากการพยายามตีความให้ทุกอย่างเข้าข้างความคิดตัวเองทั้งหมด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "อคติ" ทั้งหมดนี้เป็ยกลไกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นของเราทุกคน

            แต่ความเมตตาและการให้อภัยมันคือสิ่งที่สวนทางกับสัญชาตญาณของมนุษย์ เพราะมันต้องใช้กระบวนการคิดแบบไตร่ตรอง หรือที่จิตวิทยาการเรียนรู้เรียกว่า "อภิปัญญา" (Metacognition) ซึ่งเป็นเข้าใจวิธีคิดของตัวเองผ่านการสำรวจตนเองอีกทีหนึ่ง กล่าวคือ การเมตตาและให้อภัยเกิดจากการที่คนคนหนึ่งเข้าไปสำรวจตรวจสอบความคิดของตนเอง คิดในมุมมองของผู้อื่น และตัดสินใจแสดงออกอย่างใจดีแก่ผู้อื่นอีกทีหนึ่ง

การเมตตาและให้อภัยเกิดจากการเข้าไปสำรวจตรวจสอบความคิดของตนเองและคิดในมุมของผู้อื่น

            ในหนังสือ To Kill a Mockingbird ตัวเอกสุดเท่ของเรื่องอย่าง แอตติคัส ฟินซ์ (Atticus Finch) มักจะสอนลูก ๆ ของเขา เจม และ สเกาท์ ว่า "ก่อนจะตัดสินใจใคร เราจะต้องยืนอยู่บนรองเท้าของเขาเสียก่อน" ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาและหลักศาสนามากมาย ยกตัวอย่างที่ โสเครตีส นักปรัชญากรีกโบราณชื่อดัง เคยกล่าวว่า "ไม่มีใครทำผิดด้วยความเต็มใจ"

            ปรัชญาสายสโตอีกเชื่อว่า คนเราทำในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำ ถ้าพวกเขาโกหกก็เพราะพวกเขาคิดว่ามันจะดีกับตนเอง ถ้าพวกเขาขโมยก็เพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่จะทำ ถ้าพวกเขาเห็นแก่ตัว พวกเขาอาจจะรู้สึกว่านั่นคือวิธีที่เขาทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ แล้ว 

            พวกเขาขาดปัญญาจึงไม่รู้ว่าอะไรถูกผิดและต่อให้รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่อาจจะเป็นสิ่งที่ผิด พวกเขาก็ยังคงเข้าใจผิดและคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขาอยู่ดี กล่าวคือ พวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำผิด เพียงแต่มีความเข้าใจอยู่แค่นั้น เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมากมายที่ทำให้พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขาทำ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาหรือดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

            บางคนหลักแหลม บางคนก็ไม่ มูโซนิอัส นักปรัชญาสายสโตอีกท่านหนึ่งอธิบายว่า "คนบางคนถูกเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ในขณะที่บางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย กลุ่มหลังก็จะมีนิสัยและการเลี้ยงดูที่ต่ำต้อยกว่า ซึ่งทำให้พวกเขาต้องการการชี้แนะที่ดีพอและระมัดระวัง ต้องให้การสั่งสอนที่เป็นเลิศและทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้"

            ในหนังสือ The Little Book of Stoicism ผู้เขียน โยนัส ซัลซ์เกเบอร์ (Jonas Salzgeber) อธิบายว่า "ไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราจะไปโกรธเคืองคนเหล่านี้ เพราะมันไม่ใช่ความผิดของพวกเขา วิธีที่ดีกว่าในการรับมือกับพวกเขาก็คือชี้นำด้วยตัวอย่าง แทนที่จะไปตอบโต้ความเกรี้ยกราดก็ให้ตอบโต้ด้วยความเมตตาและความเข้าใจแทนที่จะไปตัดสินพวกเขา หรือให้เราลองพยายามช่วยเหลือและสนับสนุนเขาดู

            แม้จะเป็นข้อความที่กินใจและเต็มไปความเมตตา แต่ในความเห็นของผมเราสามารถเกิดอารมณ์โกรธ เศร้า ผิดหวังได้เมื่อเราพบเจอกับการกระทำเลวร้ายที่คนอื่นทำต่อเรา แต่เราจะต้องรู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง ซึ่งการรับมือด้วยการพยายามเข้าใจพฤติกรรมของเขา ก็เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการอารมณ์ทางด้านจิตวิทยา มันเป็นการถอยตัวเองออกจากสถานการณ์ตรงหน้าแล้วคิดให้รอบด้านมากขึ้น

            นอกจากนั้นการที่เราตอบสนองกลับไปด้วยความเมตตาแทนความเกรี้ยวกราดใส่ เป็นการรับมือที่ฉลาด เพราะจะทำให้อีกฝ่ายอารมณ์เย็นลง และมีโอกาสที่เขาจะคิดทบทวนการกระทำของตนเอง ไม่เพียงแค่นั้นสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เราเติบโตอีกด้วย เพราะมันเป็นการฝึกฝนคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเอง การให้อภัย ความเมตตา และความอดทน

            มาร์คัส ออเรเลียส จักรพรรดินักปรัชญาผู้เรืองอำนาจในยุคโรมัน อธิบายว่า คนแต่ละคนทำสิ่งที่เลวร้ายจากความเขลา พวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำ แต่ทำไปเพราะคิดว่ามันคือสิ่งที่ถูกแล้วในสถานการณ์นั้น ๆ เขาจึงมักจะเตือนตนเองด้วยสี่เรื่องดังต่อไปนี้

            1) คนที่พลาดพลั้งไปล้วนเป็นญาติพี่น้องเรา

            2) พวกเขาทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

            3) ยังไงพวกเราทุกคนก็ล้วนต้องตาย 

            4) เราจะถูกทำร้ายก็ต่อเมื่อเราเลือกให้เป็นเช่นนั้น

            ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในอำนาจควบคุมของเราก็คือการมอบเมตตาและอภัยกับคนที่พลาดพลั้ง คอดคล้องกับ คำอธิบายของ เซเนกา นักปรัชญาชาวโรมันชื่อดังที่กล่าวว่า "ให้อภัยกับหลาย ๆ สิ่ง แต่อย่าหวังการให้อภัยจากใครเลย" เพราะไม่มีใครเจตนาจะทำผิด พวกเขาเพียงแค่มืดบอดและอยู่ในอาณาเขตหรือสถานการณ์ที่จัดการได้ยากลำบาก จึงมีผลต่อความสามารถในการคิดตัดสินใจของพวกเขาที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผล

            ผมเข้าใจว่ามันยากและท้าทายอย่างมากที่จะมีเมตตาและให้อภัย เพราะมันบีบให้เราต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่เลวร้ายหลายอย่างจากการกระทำของคน พร้อมกันนั้นเรายังต้องจัดการกับความคิดของตนเองหลายตลบกว่าจะให้อภัยใครสักคนหนึ่งได้ แต่ก็เพราะว่ามันยากนั้นแหละครับ มันจึงเป็นหนทางที่จะเข้มแข็งและมีสุขภาพจิตที่ดี

            ทุกวันนี้ผู้คนกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตถดถอย โดยการหลงเข้าไปในความโกรธ ความแค้น ความผิดหวัง และความเศร้า ทั้งหมดนั้นเกิดจากการกระทำของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน สภาพสังคม หรือเรื่องราวที่เรารับรู้ในข่าวสาร การที่เราพยายามเข้าใจถึงความเขลาและความมืดบอดของมนุษย์ เข้าใจว่าอะไรคือสื่งที่ควบคุมได้และไม่ได้ จะทำให้เราจัดการความคิดและอารมณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

            ครั้งต่อไปเมื่อเราได้รับการปฏิบัติอย่างใจร้าย ใจดำ อย่าได้โต้กลับ แต่จงยอมรับมัน อย่าไปฝืนต้านแรงส่งที่เกิดขึ้น ยอมรับอย่างที่มันเป็นและโต้ตอบด้วยความอดทนอดกลั้นและมีเมตตา นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ไรอัน ฮอลิเดย์ (Ryan Holiday) ผู้เขียนหนังสือ The Obstacle Is the Way กล่าวว่า "ความหยาบคายที่สุด ความใจร้ายที่สุด และความโหดร้ายที่สุด ล้วนแต่เป็นหน้ากากปิดบังความอ่อนแอที่อยู่ลึกที่สุด 

ความเมตตาในสถานการณ์เหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นมีความเข้มแข็งอย่างยิ่ง" 

อ้างอิง

Salzgeber, J. (2019). The Little Book of Stoicism: Timeless Wisdom to Gain Resilience, Confidence, and Calmness. https://www.njlifehacks.com/

ความคิดเห็น