ความกลัวจะล้มเหลวของพ่อแม่ที่ถ่ายทอดสู่ลูก อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด

"ความล้มเหลวสามารถกัดกร่อนความมั่นใจ แรงจูงใจของเราและความหวังของเราจนร่อยหรอได้"  

            สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินผู้ใหญ่สมัยนี้พูดถึงเด็กรุ่นใหม่อยู่เสมอว่า "เด็กสมัยนี้ไม่อดทนเลย" หรือคำกล่าวอื่น ๆ อีกมากมายที่พูดถึงเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งผมค่อนข้างไม่เห็นด้วยอย่างมาก แน่นอนถ้าเทียบกับคนรุ่นก่อนเด็กรุ่นนี้อดทนเทียบเท่าไม่ได้ แต่เพราะคนแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของครอบครัวและสังคมในสมัยนั้น ๆ และในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นยุคสมัยที่ดีมากนักหรอก

            ในฐานะที่ผมเป็นครู ผมมักจะพบเห็นเด็กรุ่นนี้ประสบกับความเครียด ไม่ว่าจะเป็นจากตัวเลือกที่มากเกินไป ทั้ง สินค้า บุคคลต้นแบบ อาชีพ หนังสือ ข้อมูล ฯลฯ ซึ่งตัวเลือกที่มากขึ้นสร้างความกดดันและความเครียดมากกว่าที่เราจินตนาการไว้ หลายครั้งเด็กเหล่านี้ต้องเก็บกดความรู้สึกเชิงลบเอาไว้ แล้วทำตัวปกติ แต่สุดท้ายสิ่งที่เก็บเอาไว้มันก็มักจะแสดงออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี

            นอกจากความกดดันของตัวเลือกแล้ว ยังมีความกดดันจากครอบครัวอีกด้วย พ่อแม่ที่ทั้งประสบความสำเร็จและคิดว่าตัวเองประสบความล้มเหลว ต่างถ่ายทอดความรู้สึกขยาดกลัวความล้มเหลวให้กับลูกทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว พวกเขาถ่ายทอดโดยการพาลูก ๆ ไปเรียนพิเศษ ฝึกฝนความสามารถพิเศษ มุ่งเน้นผลการเรียน หรือกีฬาตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนประถมเสียอีก

            ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับทุกคน มันกัดกร่อนความมั่นใจของเรา แรงจูงใจของเราและความหวังของเราจนร่อยหรอ มันอาจทำให้เราอยากถอดใจและล้มเลิกความพยายามใด ๆ ในอนาคต พร้อมกับปล่อยโอกาสประสบความสำเร็จให้หลุดลอยไป ตามปกติแล้วยิ่งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติและความสามารถของเราเป็นไปในเชิงลบมากแค่ไหน เราจะยิ่งมีแรงจูงใจน้อยลงตามไปด้วย

            เนื่องจากน้อยคนนักพยายามบรรลุเป้าหมายที่เราเชื่ออย่างแท้จริงว่าไกลเกินเอื้อม ในฐานะครูผมพบเห็นทั้งเด็กนักเรียนปกติและนักเรียนที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม ที่เชื่อว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เพราะเขาเก่งไม่พอ ทั้งนี้เพราะถ้าเราเชื่อว่าเราล้มเหลวเพราะไม่ฉลาดพอ ไม่มีความสามารถพอ หรือโชคดีไม่พอ แล้วเราจะพยายามต่อไปทำไม 

พ่อแม่ที่ทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ต่างถ่ายทอดความรู้สึกขยาดกลัวความล้มเหลวให้กับลูก

            ด้วยความกลัวความล้มเหลว คนจำนวนมากจึงเลือกผัดวันประกันพรุ่ง หลายคนมักจะอ้างว่า "ไม่เหลือเวลาอ่านหนังสือ" "มีงานต้องทำเยอะมาก" หรือ "ไม่มีเวลาเลย" ไม่เพียงแค่นั้นแต่เมื่อเราเก็บกดความเครียดและความกดดันมากจนเกินไป มันก็ทำให้เราควบคุมตัวเองไม่ได้ เราอาจจะออกไปข้างนอกกับเพื่อนและดื่มมากเกินไปก่อนนำเสนองานครั้งสำคัญ หรือนอนหลับน้อยเกินไปจนลืมเอกสารประกอบการเรียนเอาไว้

            พ่อแม่แทบทุกครอบครัวต่างหวาดกลัวความล้มเหลวอย่างสุดซึ้ง พวกเขาจึงถ่ายทอดหนทางแห่งการประสบความสำเร็จให้กับลูกตัวเอง ผมไม่ได้พูดขึ้นมาเองนะครับ เพราะในหนังสือ Emotional First Aid เขียนโดย กาย วินช์ (Guy Winch) เขาได้พูดถึงการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ที่กลัวการล้มเหลวมักถ่ายทอดความกลัวนั้นให้ลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่มองว่าลูก ๆ คือส่วนต่อขยายของตัวเองและเป็นผลผลิตจากทักษะการเลี้ยงดูของพวกเขา

            ดังนั้นเมื่อลูกล้มเหลว ความรู้สึกละอายใจของพ่อแม่จึงถูกกระตุ้นขึ้นมา จากนั้นพวกเขาอาจตอบสนองต่อความล้มเหลวของลูกด้วยการปลีกตัวออกไป ซึ่งบางคนอาจจะแนบเนียนแสดงออกเพียงแค่น้ำเสียงและภาษากาย แต่บางคนก็เปิดเผยโดยการแสดงความโกรธและความไม่พอใจออกมา ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อลูกมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ เพราะมันทำให้เขาลูกเกิดความละอาย และหวาดกลัวความล้มเหลวตามไปด้วย

            พ่อแม่ไม่รู้ตัวเลยว่าพวกเขาส่งผลกระทบในแง่ลบต่อลูก ๆ ได้ถึงเพียงนี้ เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า "ความล้มเหลวสามารถกัดกร่อนความมั่นใจ แรงจูงใจของเราและความหวังของเราจนร่อยหรอได้" เด็กหลายคนเมื่อเติบโตขึ้นมาต้องคอยรักษาบาดแผลทางใจจากความล้มเหลวและแก้ไขนิสัยทำลายตัวเองที่พ่อแม่ส่งผ่านมาให้โดยไม่ได้เจตนา หากเด็กไม่สามารถจัดการบาดแผลนี่ได้วงจรนี้ก็จะถ่ายทอดส่งต่อไปยังรุ่นหลาน

            เราไม่รู้ว่าเด็กรุ่นใหม่ต่อไปจะแตกต่างไปอย่างไรบ้าง มันเกินกว่าที่เราจะคาดการณ์ได้ ผมจึงแนะนำให้พวกเราทำวันนี้ให้ดีและถูกต้องมากที่สุด ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านจัดการกับความกลัวล้มเหลวในตัวให้ได้มากที่สุด เพราะเราทุกคนต่างต้องมีวันที่ผิดพลาดและล้มเหลวด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะมีใครสำเร็จไปเสียทุกอย่าง ในสมัยนี้เด็กนักเรียนที่เก่งหลายคนต้องเผชิญกับบาดแผลทางจิตใจที่รุนแรงเพียงแค่พวกเขาไม่ได้เกรดสี่ หรือสอบไม่ได้ที่หนึ่ง

            พวกเขาลืมคิดไปว่า การที่เรายังมีชีวิต มีลมหายใจยาวนานพอที่จะสร้างชีวิตให้มีความหมายได้ คือสิ่งที่วิเศษแล้ว ผมอยากให้ผู้ใหญ่ที่หวังดีกับเด็กรุ่นใหม่หยุดบอกว่าพวกเขาไม่อดทนบ้าง พวกเขาพยายามไม่มากพอบ้าง เพราะพวกเราเติบโตในบริบทที่แตกต่างกัน และผมก็เชื่อว่าผู้ใหญ่ทุกท่านคงไม่อยากให้พวกเขาต้องเผชิญกับช่วงชีวิตที่สุดแสนจะเลวร้ายอย่างแน่นอน หากเราปรารถนาดีกับเด็กรุ่นใหม่ เราจะต้องหยุดถ่ายทอดความกลัวเหล่านี้เสีย

            เราควรจะสอนให้พวกเขาผิดพลาด สอนให้พวกเขาล้มเหลว และต้องไม่ลืมสอนให้พวกเขาลุกขึ้นมาช่วงเวลาที่เลวร้ายให้ได้ ทักษะในศตวรรษที่ 21 หลายชนิดมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการจัดการอารมณ์ ยืดหยุ่น หรือแก้ไขปัญหา เพราะการศึกษาหลายชิ้นพบเห็นว่าการขาดทักษะเหล่านี้ไปจะทำให้เราเผชิญกับปัญหามากมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

หลายครั้งปัญหาที่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ทำลายสุขภาพจิตของใครไปแล้วหลายต่อหลายคน

อ้างอิง

Elliot, A., & Thrash, T. (2004). The Intergenerational Transmission of Fear of Failure. Personality and Social Psychology Bulletin 30(8):957-971. https://doi.org/10.1177/0146167203262024.

Winch, G. (2014). Emotional First Aid: Healing Rejection, Guilt, Failure, and Other Everyday Hurts. NY: Plume.

ความคิดเห็น