กลับมาเห็นอกเห็นใจตัวเองอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างความเคารพในตัวเอง

การต่อว่าตัวเองจากความผิดพลาดหรือล้มเหลว โครตจะไม่มีประโยชน์เลย

            หลายบทความที่ผมเขียนมักจะมีคำว่า "ความผิดพลาดและล้มเหลว" อยู่เสมอ เพราะจากประสบการณ์และงานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า ความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว เป็นความรู้สึกเชิงลบรุนแรงที่มีต่อตัวเองอย่างมาก ความรู้สึกนี้กระทบต่อจิตใจของเราอย่างคาดไม่ถึง และจากการศึกษาชื่อ The Intergenerational Transmission of Fear of Failure โดย Andrew Elliot และ Todd Thrash พบว่าความกลัวล้มเหลวสามารถถ่ายทอดลงมาสู่รุ่นลูกได้ และกระบวนการนี้กำลังทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

            ความล้มเหลวสามารถกัดกร่อนความมั่นใจ แรงจูงใจของเราและความหวังของเราจนร่อยหรอ เพราะความล้มเหลวสัมพันธ์กับความเคารพในตัวเอง เมื่อเรามีความเคารพในตัวเองต่ำ เราจะโทษตัวเองเมื่อทำผิดพลาดล้มเหลว ถูกปฏิเสธ และอึดอัดคับข้องใจ โดยใช้คำพูดที่โหดร้ายและเป็นการโทษตัวเองอย่างเลวร้ายที่สุด หลายคนเรียกตัวเองว่า "ขี้แพ้" และ "พวกโง่" กล่าวคือ เราเข้มงวดกับตัวเองอย่างที่ไม่เคยเข้มงวดกับใครมาทั้งชีวิต

            เมื่อเรามีความเคารพในตัวเองต่ำ เราจะโทษตัวเองและทำร้ายจิตใจตัวเองอย่างรุนแรง ผมอยากให้ผู้อ่านลองนึกย้อนกลับไปสมัยที่เรายังเป็นเด็ก เราต้องการความรัก ความสนใจ และความเห็นอกเห็นใจเสมอ เราให้อยากผู้คนเข้าใจเรา ไม่เพียงแค่นั้นเมื่อเราเผชิญกับความผิดพลาดเราจะเห็นอกเห็นใจตัวเองและลองทำสิ่งนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

            กระบวนการปลอบโยนและลองใหม่อีกครั้งหนึ่งเป็นสิ่งวิเศษที่เราเคยมีในวัยเยาว์ (บางครอบครัวที่เผชิญกับประสบการณ์เชิงลบอาจจะแตกต่างไปจากนี้บ้าง) แต่เมื่อเราเผชิญกับประสบการณ์ชีวิต ความเหลื่อมล้ำ สังคมที่เลวร้าย ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ทำให้พรวิเศษที่เราเคยมีจางหายไป กลายเป็นเราจะต้องวิ่งแข่งขันและกดดันตัวเองอย่างรุนแรง หลายคนเลือกที่จะโทษสังคม โทษคนอื่น ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตัวเองทางจิตวิทยา (Defense Mechanisms) แต่หลายคนก็เลือกที่จะโทษตัวเองแทนการโทษคนอื่นเช่นเดียวกัน

            ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลให้เราต้องการความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง ทั้งจากคนรอบข้างและตัวเราเอง เพียงแต่เราจะไปคาดหวังให้คนรอบข้างเห็นอกเห็นใจคงยากเกินไป ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นเราควรจะควบคุมในสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้ก็คือ "ความคิดของเราเอง" นั้นคือการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อตนเอง เพราะความเห็นอกเห็นใจเป็นความรู้สึกที่พิเศษอย่างมาก มันเป็นความรู้สึกเชิงบวกที่สามารถสร้างสันติสุขได้อย่างแท้จริง

เราควรจะควบคุมในสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้ก็คือ "ความคิดของเราเอง"

            หากเราจะรักษาความเคารพในตัวเองไม่ได้สูญหายไปจากการเข้มงวดกับความล้มเหลวของตัวเองที่เกิดขึ้น เราจะต้องเห็นอกเห็นใจตัวเอง ซึ่งก้าวแรกที่เราจะต้องเดินไปสู่จุดนั้นก็คือ การอ้าแขนรับความจริงอันเรียบง่ายและเป็นพื้นฐานที่สุดที่ว่า เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ของเราอ่อนแอ เราควรทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับมัน ไม่ใช่ยิ่งทำลายมัน

            เราสามารถทำโดยการสลัดเสียงพูดที่โหดร้ายในหัวเราออกไป และรับเอาเสียงพูดที่ใจดีกว่าเข้ามาแทนที่คือสื่งที่ต้องทำเร่งด่วนที่สุด มีการศึกษาที่พบว่า การเห็นอกเห็นใจตัวเองจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ของเรา และมีการศึกษาอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการเห็นอกเห็นใจเป็นเกราะป้องกันสำหรับนักศึกษาในประเทศหรัฐอเมริกาที่ต้องย้ายมาเรียนต่อวิทยาลัยในที่อื่น

            นอกจากนั้นยังมีการค้นพบอีกว่าคนที่ฝึกฝนการเห็นอกเห็นใจสามารถฟื้นตัวทางอารมณ์จากการแยกทางและการหย่าร้างได้เร็วกว่า และฟื้นตัวจากประสบการณ์ความล้มเหลวและการถูกปฏิเสธได้รวดเร็วกว่า ด้วยการค้นพบทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การต่อว่าตัวเองจากความผิดพลาดหรือล้มเหลว โครตจะไม่มีประโยชน์เลย กลับกันการปลอบใจตัวเองให้กำลังใจตัวเอง และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเองสามารถทำให้เราก้าวเดินต่อไปด้วยความเคารพที่มีต่อตนเองได้

            ในหนังสือ Emotional First Aid: Healing Rejection, Guilt, Failure, and Other Everyday Hurts เขียนโดย กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาชื่อดัง เขาได้แนะนำแบบฝึกหัดสำหรับการหันมาเห็นอกเห็นใจตัวเอง เขาแนะนำว่าให้ทำแบบฝึกการเขียนต่อไปนี้สามครั้ง แต่ละครั้งให้บรรยายเหตุการณ์หนึ่งในอดีตของเรา (ถ้าเป็นไปได้ ให้รวมเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นานไว้อย่างน้อยหนึ่งเหตุการณ์) พยายามเขียนให้ได้วันละหนึ่งเหตุการณ์เป็นระยะเวลาทั้งหมดสามวัน

            1) เราต่างเคยเผชิญกับความล้มเหลว ความอับอาย การดูหมิ่น หรือการถูกปฏิเสธซึ่งทำให้เราโทษตัวเองและรู้สึกแย่กับตัวเอง เลือกเหตุการณ์ลักษณะนั้นมาหนึ่งเหตุการณ์ แล้วบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและความรู้สึกของเราต่อเหตุการณ์นั้นอย่างละเอียด

            2) นึกภาพว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับเพื่อนรักหรือสมาชิกครอบครัวคนสนิทซึ่งรู้สึกแย่กับตัวเขาหรือเธอเอง อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น บรรยายประสบการณ์ของคนคนนั้นในเหตุการณ์ดังกล่าวรวมทั้งปฏิกิริยาและความรู้สึกของเขาในสถานการณ์เดียวกันนี้

            3) เราไม่อยากเห็นคนคนนี้ตกอยู่ในความเจ็บปวดทางอารมณ์เอาเสียเลย และตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเขาโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือเพื่อทำให้เขารู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง ดูให้แน่ใจว่าเราได้แสดงน้ำใจ ความเข้าใจ และความห่วงใยเกี่ยวกับประสบการณ์ที่คนคนนั้นเผชิญรวมถึงความรู้สึกของเขาที่เป็นผลตามมา และย้ำเตือนให้เขาตระหนักว่าเหตุใดเขาจึงมีค่าคู่ควรกับความเห็นใจและกำลังใจ

            4) คราวนี้บรรยายประสบการณ์ของเราเองและความรู้สึกของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่ต้องพยายามใช้ความรู้สึกส่วนตัว แต่ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงความรู้สึกของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดูให้แน่ใจว่ามันไม่ได้ฟังดูด่วนตัดสินหรือเป็นไปในเชิงลบ ตัวอย่างเช่น เราอาจจะบันทึกไว้ว่าคนที่เรารักไม่โทร ไม่ทักเรามาบ้างเลย เพราะนั่นคือข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่เขียนว่าคนที่เรารักเกลียดเรา หรือคิดว่าเราเป็นพวกขี้แพ้จึงไม่ติดต่อเราเลย

            เพราะนั่นเป็นการด่วนตัดสินและไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือเราอาจจะบันทึกว่าเราทำผิดพลาดระหว่างการนำเสนองาน แต่ไม่ใช่เขียนว่าเพื่อนร่วมงานไม่เคารพเราเพราะเหตุการณ์นี้ เนื่องจากไม่ว่าเราจะมองปฏิกิริยาของพวกเขาอย่างไร แต่เมื่อเรามีความเคารพในตัวเองต่ำ เรามักตีความสีหน้าผู้คนผิด ๆ ในเชิงลบมากเกินไป

            แบบฝึกหัดของ กาย วินช์ เป็นเครื่องมือที่ดีเนื่องจากเราจะไม่มีทางต่อว่า ด่าทอคนที่เรารักเมื่อเขาหรือเธอเผชิญกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลวอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามเราจะรับฟัง ปลอบโยน ให้กำลังใจ และปรารถนาให้เขาหรือเธอกลับมายืนขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง

            คำถามก็คือ "เพราะอะไรเราจึงไม่ทำแบบนั้นกับตัวเองบ้าง" ทำไมเราถึงเหยียบย้ำตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เสมอ "ฉันมันไอ้ขี้แพ้" "ฉันทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง" "ฉันฉลาดไม่พอ" "ฉันมันโง่เง่า" "ฉันมันน่าอายสิ้นดี" "ฉันสมควรจะแพ้แล้ว" "คนอย่างฉันไม่เคยไปถึงไหนหรอก" "จะมีใครจ้างหรือออกเดตกับฉันไปทำไปทำไมล่ะ" หรือคำกล่าวเลวร้ายอีกมากมาย ข้อความเหล่านี้เป็นการทำลายกำลังใจและไร้ประโยชน์ 

            สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะบอกผู้อ่านทุกท่านก็คือความเคารพตัวเองสัมพันธ์กับความมั่นใจในตัวเอง และการเห็นคุณค่าในตนเองด้วย เพราะตัวแปรทั้งหมดเป็นความรู้สึกเชิงบวกที่บุคคลมีต่อตนเอง หากเรารู้สึกแย่กับความผิดพลาด ความล้มเหลว ความอับอาย ความเศร้า จนทำลายตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง ตัวแปรเชิงบวกทั้งหมดที่ผมกล่าวมาจะกอดกันลดลงพร้อมกันทั้งหมด

            ในทางกลับกันหากเราเข้าอกเข้าใจตัวเอง เห็นอกเห็นใจตัวเอง รับฟังตัวเองมากขึ้น ตระหนักถึงความสุขและความทุกข์ที่แล่นผ่านไปมา ร้องไห้บ้าง หัวเราะบ้าง เป็นธรรมดาของชีวิต ก็ย่อมส่งผลให้ความเคารพในตัวเอง การเห็นคุณค่าในตัวเองและความมั่นใจในตัวเองกอดกันแน่น แล้วพาเราทะยานไปสู่จุดที่สุขภาพจิตดีมากที่สุด เมื่อนั้นแหละครับ

ที่เราจะสามารถออกแบบชีวิตของตัวเองและรู้สึกถึงคุณค่าในชีวิตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้

อ้างอิง

Elliot, A., & Thrash, T. (2004). The Intergenerational Transmission of Fear of Failure. Personality and Social Psychology Bulletin 30(8):957-971. https://doi.org/10.1177/0146167203262024. 

Neff, K. (2011). Self-Compassion, Self-Esteem, and Well-Being. Social and Personality Psychology Compass. 5(1): 1- 12. https://doi.org/10.1111/j.1751-9004.2010.00330.x

Sbarra, D., Smith, H., & Mehl, M. (2012). When Leaving Your Ex, Love Yourself: Observational Ratings of Self-Compassion Predict the Course of Emotional Recovery Following Marital Separation. Psychological Science. 23(3): 261-269. https://doi.org/10.1177/0956797611429466

Terry, L., Leary, R., & Mehta, S. (2013). Self-compassion as a buffer against homesickness, depression, and dissatisfaction in the transition to college. Self and Identity. 12(3): 278–290. https://doi.org/10.1080/15298868.2012.667913

Winch, G. (2014). Emotional First Aid: Healing Rejection, Guilt, Failure, and Other Everyday Hurts. NY: Plume.

ความคิดเห็น