มนุษย์ทุกคนควรจะต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะต้องพยายามมากแค่ไหนก็ตาม

"เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด"

            ผมเชื่อเสมอว่ามนุษย์เราเกิดมาเท่าเทียมกัน แม้ในปัจจุบันมนุษย์เรายังห่างไกลกับความจริงข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สติปัญญา ความพิการ หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ทำเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกัน ยิ่งในปัจจุบันความได้เปรียบเสียเปรียบนั้นยิ่งส่งผลมากเป็นทวีคูณบทสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทย

            เราจะเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากบนโลกใบนี้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่ดี การเรียนในมหาวิทยาลัย การแพทย์ที่มีคุณภาพ อาหารที่ถูกสุขลักษณะ ความปลอดภัยทางด้านร่างกาย สุขภาพกายที่พิการ ไม่ว่าจะเป็น ออทิสติก สมาธิสั้น หรือพิการทางประสาทสัมผัส และอื่น ๆ อีกมากมายมหาศาลที่ผมไม่ได้กล่าวเอาไว้ในย่อหน้านี้

            นี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งประเด็นดังกล่าวพวกเราทุกคนรู้กันดี และหลายคนในสังคมได้นำประเด็นดังกล่าวมาพูดว่า "มนุษย์ทุกคนไม่ได้เท่าเทียมกัน" แน่นอนว่ามันเป็นความจริง แต่กลายเป็นว่าบุคคลเหล่านั้นนำเอาข้อเท็จจริงนี้มาใช้แบบพิกลพิการ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ และมองว่าความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องปกติที่เป็นความจริงและเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

            แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ควรยอมรับมัน แม้มนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกันในปัจจุบัน แต่มนุษย์ทุกคนควรจะเท่าเทียมกัน นั่นหมายความว่าเราจะต้องพยายามมากถึงมากที่สุดเพื่อให้ความเท่าเทียมอย่างแท้จริงเกิดขึ้นมาให้ได้ อาจจะ 50 ปี 100 ปี หรือ 1000 ปี เราไม่สามารถรู้ได้ ท่านผู้อ่านทุกท่านลองจินตนาการถึงโลกที่ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่สามารถสอดแทรกกลไกทางชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งผมมองว่ามันจะเป็นจริงขึ้นสักวัน

แม้มนุษย์ทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกันในปัจจุบัน แต่มนุษย์ทุกคนควรจะเท่าเทียมกัน

            ครั้งหนึ่ง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวเกี่ยวกับความยุติธรรม มีใจความว่า "คุณพูดว่าไม่มีความยุติธรรมชนิดสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้หรอก และผมก็ตอบคุณว่า ก็เพราะอย่างนั้นสิ เราถึงต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดได้ใกล้ความยุติธรรมสมบูรณ์ให้มากที่สุด" เป็นคำกล่าวที่ผมประทับใจและเก็บไว้เป็นคติประจำใจเสมอมา

            ทุกวันนี้ผมเป็นครูการศึกษาพิเศษ ที่ให้ความช่วยเหลือและสอนนักเรียนที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) หน้าที่ของผมก็คือการมอบโอกาสให้กับนักเรียนเหล่านั้นให้ได้เรียนอย่างเท่าเทียมกับนักเรียนคนอื่นในโรงเรียน ด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย มันก็ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมได้เต็มที่หรอกครับ แต่ผมก็ต้องพยายามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สักวันผมอาจจะค้นพบวิธีที่ดีที่สุด หรือในวันที่ผมจากโลกนี้ไปแล้วอาจจะมีวิธีที่แสนวิเศษที่จะทำได้อย่างสำเร็จก็เป็นได้ เราไม่มีทางรู้ได้เลย 

            ผมฝันว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยของเราจะมีกระบวนการทางสังคมที่จับมือกับวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เด็ก ๆ หลายคนได้ลืมตามองแสงสว่างที่งดงามที่เรียกว่าชีวิต ให้เขาได้เกิดมาบนสังคมที่เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ อาหารที่มีสุขลักษณะ การศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสที่พวกเขาจะได้เติบโตอย่างมีความสุข และก้าวหน้าได้โดยไม่เสียสุขภาพจิตอย่างรุนแรงเหมือนกับที่เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ว่าจะรวยหรือจนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

            หากลองมองย้อนกลับไปในอดีต คำว่าเท่าเทียมกันยิ่งห่างไกลกว่าในปัจจุบัน ทุกวันนี้โลกของเราก้าวหน้ามากขึ้น มีกลไก วิธีการ ระบบ จำนวนมากมาแทรกสอดเข้ามาลดช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมกัน และพยายามสร้างสมดุลแห่งความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นมา ผมอ่านหนังสือชื่อ To kill a mockingbird เขียนโดย ฮาร์เปอร์ ลี (Harper Lee) ซึ่งได้พูดถึงสังคมชนบทในประเทศอเมริกาในอดีตที่เต็มไปด้วยความรังเกียจคนผิวดำ รวมไปถึงภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Green book ที่ถ่ายทอดการเหยียดผิวได้อย่างชัดเจนอย่างมาก

            แต่ในปัจจุบันทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และก็กำลังจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งวิทยาการทางวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้ามากพอ ซึ่งจะก้าวหน้าไปพร้อมกับสติปัญญาและจิตใจของมนุษย์ที่จะดีขึ้น อันมีสาเหตุจากองค์ความรู็ทางจิตวิทยาและสังคมศาสตร์ที่สามารถแทรกแซงมนุษย์ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก รวมไปถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู็และพัฒนาจิตใจให้มีความยุติธรรม คุณธรรม และจริยธรรมอย่างถูกต้องและไม่เพ้อเจ้อ

ทิศทางนี้จะเป็นความจริงเข้าสังคม ว่ามนุษย์ทุกคนควรจะเท่าเทียมกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ความคิดเห็น