การค้นพบความหลงใหลในการเขียนบทของ อารอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin)

"ผมถึงกับนั่งรถไฟไปนิวยอร์กทั้งที่ไม่มีเงิน ผมรอจนถึงละครครึ่งหลังที่อาจมีเก้าอี้ว่าง และแอบเข้าไปดูฟรีช่วงหลังพักครึ่ง"

            ผมเป็นคนที่ชอบดูภาพยนต์หลายเรื่องและสิ่งที่ผมหลงใหลมากที่สุดก็คือบทพูด ไม่ว่าจะเป็นบทสนทนา การสื่อสารระหว่างตัวละคร หรือห้วงคำนึงในหัวของตัวละคร มีภาพยนต์หลายเรื่องที่มีบทพูดที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากก็คือ บทพูดในเรื่อง The Social Network, Steve Jobs และซีรี่ย์ Newsroom ซึ่งผมมาค้นพบทีหลังว่าผลงานเหล่านี้เป็นฝีมือของนักเขียนบทชื่อว่า อารอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin)

            บทสนทนาของตัวละครที่เขียนโดย ซอร์คิน จะสื่อสารอย่างรวดเร็ว เร้าใจ ไม่ต่างอะไรกับฉากแอคชั่นในภาพยนต์สงคราม ยิ่งไปกว่านั้นตัวบทของเขายังมีความลุ่มลึกที่พวกเราสามารถเก็บเอาไปคิดต่อยอดได้อีกมากมาย จนเราสามารถเรียก อารอน ซอร์คิน ว่าเป็นอัจฉริยะได้เลย แต่ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงไม่รู้เลยว่า ก่อนที่เขาจะมาเป็นนักเขียนบทอัจฉริยะที่ได้รางวัลการันตีมากมาย รวมไปถึงการชนะรางวัลออสก้าร์ เขาใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะค้นพบเส้นทางของตนเองได้

            ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า "ความหลงใหล" (Passion) เป็นคำที่ถูกใช้บ่อยจนซ้ำซาก มีใจความประมาณว่า "หากเราค้นพบความหลงใหลของตัวเอง ก็จะประสบความสำเร็จได้" แน่นอนหากคุณได้ทำในสิ่งที่รักและมันทำเงินให้คุณได้ มันก็มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จได้ แต่อนิจจา ไม่มีอะไรง่ายขนาดนั้น เพราะมีผู้คนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในโลกนี้ที่จะค้นพบความหลงใหลของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นบางคนต่อให้เขาหรือเธอค้นพบได้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำเงินได้เสมอไป

            ความจริงอันแสนเจ็บปวดนี้ พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทุกคนในสังคมประเภทนี้เหมือนถูกดูดเข้าหาอาชีพที่เป็นค่านิยมของสังคม มันจึงทำให้เราทุกคนปรารถนาที่จะวิ่งไล่ตามหาความหลงใหล หรือวิ่งตามหาชีวิตที่มีความหมายในมุมมองของแต่ละคน เรื่องราวของ ซอร์คิน เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างมากของการดิ้นรนไปตามค่านิยม แต่สุดท้ายเขาก็ค้นพบคำตอบของชีวิตท่ามกลางถนนแห่งประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยหยาดเหงือและหยาดน้ำตา

ซ้ายสุดคือ ซอร์คิน จากงานเปิดตัวภาพยนต์ The Social Network ที่เขาได้ออสก้าร์บทภาพยนต์ยอดเยี่ยม

            ในหนังสือ The Element: How finding your passion changes everything ผู้เขียน เคน โรบินสัน (Ken Robinson) และ ลู อาโรนิกา (Lou Aronica) ได้เล่าเรื่องของการค้นพบความหลงใหลของซอร์คินเอาไว้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เริ่มต้นซอร์คินไม่ได้คิดว่าตัวเองอยากจะเป็นนักเขียนมาก่อน เขามองว่าตัวเองเป็นนักแสดงมาโดยตลอด เขาจบมหาวิทยาลัยด้านการแสดง และคลั่งการแสดงอย่างมาก ซอร์คินเล่าว่า 

            "ผมถึงกับนั่งรถไฟไปนิวยอร์กทั้งที่ไม่มีเงิน ผมรอจนถึงละครครึ่งหลังที่อาจมีเก้าอี้ว่าง และแอบเข้าไปดูฟรีช่วงหลังพักครึ่ง" การเขียนบทจึงไม่ได้อยู่ในหัวของเขามาก่อนเลย "มันเป็นเหมือนงานน่าเบื่อมาตลอด" เขากล่าว อย่างไรก็ตามซอร์คินได้มีโอกาสเขียนบทละครสั้น ๆ สำหรับแสดงในงานปาตี้ของมหาวิทยาลัยครั้งหนึ่ง การเขียนนั้นประทับใจอาจารย์ของเขาที่ชื่อ เจอราร์ด โมเสส อย่างมาก เขากล่าวกับซอร์คินว่า "เธอทำเป็นอาชีพได้เลยนะ รู้ไหม ถ้าต้องการ" แต่ด้วยความหลงใหลในการแสดงก็ทำให้เขาปล่อยคำแนะนำนี้ให้ลอยผ่านไป

            หลังจากที่เขาเรียนจบการแสดงได้ประมาณสามเดือน เขาก็ต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อนคนหนึ่ง โดยอาศัยนอนบนพื้นอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ในแถบหนึ่งของเมืองนิวยอร์ก ด้วยค่าใช้จ่ายอาทิตย์ละ 50 ดอลลาร์ เขาเล่าว่า "ตอนนั้นผมได้งานทำในบริษัทผลิตละครสำหรับเด็กอยู่พักหนึ่ง แล้วก็มีงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นละครโทรทัศน์อยู่เรื่องหนึ่ง ตอนนั้นเป็นปี 1984 ผมไล่ตะเวนทดสอบคัดตัวเป็นนักแสดงอยู่เรื่อย ๆ"

            จนกระทั่งวันหนึ่งเขากำลังถังแตก ทีวีเสีย เท่าที่พอจะทำได้ก็มีแค่หาอะไรเขียนเล่น ๆ ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดโบราณรุ่นคุณปู่อยู่เครื่องหนึ่งที่เพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งฝากเอาไว้  "ผมไม่มีอะไรจะทำ ผมเลยนั่งหน้าเครื่องพิมพ์ดีด แล้วก็ลงมือพิมพ์ตั้งแต่สามทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืนของวันรุ่งขึ้น ผมตกหลุมรักทั้งหมดที่พิมพ์ลงไป" ช่วงเวลานั้นทำให้เขาตระหนักว่า เวลาหลายปีที่ผ่านไปกับการเรียนการแสดงและการนั่งรถไฟไปโรงละครนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงเลย แต่เกี่ยวกับบทละครต่างหาก

            ซอร์คินเล่าว่า "ผมเคยลำพองว่าตัวเองเป็นนักแสดง ทั้ง ๆ ที่ในความจริงผมเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น โดยไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการเขียนมาก่อนเลย" บทเรื่องแรกที่เข้าเขียนก็คือ Hidden in This Picture ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี หลังจากนั้นเขาก็ใช้เวลาเกือบสองปีเขียนละครเวทีเรื่อง A Few Good Men ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงอย่างมาก ซอร์คินเล่าว่า "ในระหว่างที่ผมทำงาน ผมรู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ตอนมันออกแสดงที่บรอดเวย์ ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์เจอราร์ด ผมจึงโทรไปหาท่านแล้วถามว่า นี้คือสิ่งที่อาจารย์หมายถึงใช่ไหมครับ

ข้อคิด

            1) ความหลงใหลไม่ใช่สิ่งค้นพบได้โดยง่ายเสมอไป หลายคนอาจพร่ำบอกกับทุกคนว่า เราจะต้องค้นพบความหลงใหลในตัวเองให้ได้เสียก่อน แล้วเราจะประสบความสำเร็จกับการทำงานหรือการเรียน แต่สำหรับผมแล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แน่นอนความหลงใหลเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ก็เราทำในสิ่งที่เราชอบหนิเนอะ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่เคยง่ายเลย เพราะแม้ว่าบางคนจะพบความหลงใหลแต่ก็ไม่สามารถต่อยอดเพื่อเลี้ยงตัวเองได้

            ในกรณีของ อารอน ซอร์คิน (Aaron Sorkin) กว่าที่เขาจะค้นพบความหลงใหลที่แท้จริงได้ก็ปาเข้าไปหลายปี เขาต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากกว่าจะค้นพบมันได้ ไม่เพียงแค่นั้นกว่าที่เขาจะนำความหลงใหลนี้ไปพิสูจน์จนเป็นผลสำเร็จได้ก็กินเวลาไปนานพอสมควร สิ่งนี้เป็นความจริงที่เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากต้องเผชิญ พวกเขาต้องกดดันตัวเองให้ค้นหาสิ่งนี้ให้เจอท่ามกลางตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแต่ก็ด้วยเพราะว่าหลายคนมีต้นทุนที่ดีเอาไว้ก่อนอยู่แล้ว

            2) ความหลงใหลไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ข้อคิดนี้คนจำนวนมากไม่ค่อยพูดถึงมันสักเท่าไหร่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นข้อเท็จจริงที่เรียบง่ายมาก มนุษย์เราไม่ได้ชอบอะไรเพียงอย่างเดียว ผู้อ่านลองนึกถึงดนตรี ภาพยนต์ ซีรีย์ กีฬา เราต่างชอบหลากหลายแนว และในหลายกรณีเราชอบประเภทที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย ในโลกของอาชีพก็เช่นเดียวกัน บางคนอาจจะชอบเป็นนักเขียน นักโฆษณา ครู นักข่าว ซึ่งหลายอาชีพมีความแตกต่างกัน แล้วอะไรคือความหลงใหลของเรากันแน่

            คำตอบคือ ก็ทั้งหมดนั้นแหละครับ เราสามารถหลงใหลในหลายสิ่งหลายอย่างได้ และก็เป็นไปได้อย่างมากที่เราจะไม่สามารถเลือกความหลงใหลเพียงหนึ่งเดียวออกมาสร้างสรรค์เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ในกรณีของซอร์คิน เขาหลงใหลการเล่นละครอย่างมาก เขาไม่ได้สนใจเกี่ยวเรื่องของการเขียนบทเลย จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเขาได้ทดลองเขียนแบบจริงจังมันก็ทำให้เขาได้ค้นพบความหลงใหลที่ซุกซ่อนอยู่ แต่ถามว่าซอร์คินเลิกหลงใหลละครหรือไม่ ผมเชื่อว่าไม่ เขาก็ยังคงชอบละครอยู่เพียงแต่เขาค้นพบแล้วว่าเขาชอบและถนัดกับการเขียนมากกว่า

            เรื่องราวนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับพวกเราทุกคน พวกเราปรารถนาที่จะค้นหาเส้นทางอาชีพ เส้นทางชีวิต หาบางสิ่งบางอย่างเพื่อเลี้ยงชีพตัวเอง เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง และวิเคราะห์ออกมาดี ๆ ว่าความถนัดอะไรของเรากันแน่ที่สอดคล้องกับเส้นทางหาเลี้ยงชีพมากที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าเราทุกคนอาจจะต้องเจอเส้นทางที่ขัดแย้งไม่รู้จะเลือกทางไหนดี สำหรับผมแล้วคำแนะนำก็คือต้องเลือกเดินสักทางหนึ่งเท่านั้นก่อน

จึงจะรู้ได้ว่าเส้นทางไหนคือเส้นทางที่ถูกต้องกันแน่

อ้างอิง

Robinson, K. Aronica. L. (2009). The Element: How Finding Your Passion Changes Everything. NY: Penguin Books.

ความคิดเห็น