การเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตรของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)

"เขาเป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา" 

            อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาผู้ปลดปล่อยทาสนับล้านเป็นอิสระได้สำเร็จ ในวันที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่งจากการชนะเลือกตั้งในปี 1860 เป้าหมายของเขาคือการปลดปล่อยทาส และยุติความขัดแย้งระหว่างอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ที่กำลังรุนแรงพร้อมที่จะเกิดสงครามกลางเมืองได้เสมอ 

            มันเป็นภารกิจที่ยากอย่างมาก เพราะเป้าหมายและความปรารถนาที่จะสร้างความเท่าเทียมของเขาสามารถเป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งที่สามารถบานปลายกลายเป็นสงครามได้ ซึ่งมันเป็นเป้าหมายที่เกินกว่าความสามารถของเขาจะรับมือได้

            หลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งการเป็นตัวแทนลงสมัครประธานาธิบดี เขาได้เชิญผู้สมัครสามคนที่พ่ายแพ้เขาในการเป็นตัวแทนลงสมัครประธานาธิบดีของพรรคลีพับลิกันมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

            เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่าเพราะอะไรเขาจึงเชิญทั้งสามคนนั้นมาดำรงตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาแทบจะทำสงครามเพื่อแย่งชิงตำแหน่งตัวแทนนี้ อีกทั้งพวกเขาทั้งสามยังชิงชังลินคอล์นอย่างมาก เนื่องจากลินคอล์นมีบุคลิกที่ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้นำเอาเสียเลย หลังค่อม สูงโย่ง การศึกษาก็ไม่สูง อีกทั้งไม่ค่อยมีประสบการณ์การเมือง ต่างกับพวกเขาที่เป็นที่รู้จัก มีการศึกษาสูง และมีประสบการณ์ทางด้านการเมืองที่สูงอย่างมาก

            ในระหว่างการเลือกตั้งพวกเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ลินคอล์นอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอก และนโยบายของเขา ถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์ ดอริส กู้ดวิน (Doris Goodwin) ผู้เขียนหนังสือ Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln กล่าวว่า "การที่ลินคอล์นถูกรัฐมนตรีพวกนี้ห้อมล้อม อาจบดบังรัศมีประธานาธิบดีของทนายบ้านนอกคนนี้ได้เลย"

            เพราะอะไรลินคอล์นถึงเลือกเอาศัตรูมาเป็นพันธมิตรของตนเอง หากเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันคงรู้สึกมีอีโก้ (Ego) อันมากล้น และพยายามปกป้องอำนาจของตนเองและอัตราของตัวเองให้มากที่สุด โดยการเชิญคนที่คิดเหมือนกับเราเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรี หรือคนที่สนับสนุนเรา ซึ่งเราพบเห็นได้ทั่วไปทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตรและเผด็จการ แต่ลินคอล์นกลับเชิญศัตรูคู่แข่งตัวฉกาจที่รังเกียจตัวเองเสียด้วยซ้ำ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่สูงขนาดนี้ 

            คู่แข่งของเขาเกลียดขี้หน้าเขาอย่างมาก บางคนมองว่าเขาไร้ความสามารถ บางคนเรียกเขาว่า "เจ้าลิงแขนยาวเก้งก้าง" แต่ลินคอล์นกลับกล่าวว่า "เราจำเป็นต้องมีคนที่เก่งที่สุดอยู่ในคณะรัฐมนตรี ผมไม่มีสิทธิกีดกันไม่ให้พวกเขารับใช้ประเทศชาติ" 

            สุดท้ายรัฐมนตรีเหล่านั้นประจักษ์แก่สายตาของตัวเองว่า "เขาเป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา" ซึ่งเป็นคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม เอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin Stanton) ผู้ที่ด่าเขาว่าเป็นลิงนั้นแหละ ซึ่งในหนังสือ Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียน ได้กล่าวถึงคำพูดของกู้ดวินว่า 

            "การที่ลินคอล์นสามารถรับมือกับพวกเสือสิงห์กระทิงแรดในคณะรัฐมนตรีได้ บ่งบอกให้เรารู้ว่า เมื่อคุณสมบัติที่เรามักเชื่อมโยงกับความนอบน้อมอย่างความเมตตา ความอ่อนไหว ความห่วงใย ความซื่อสัตย์ และความเข้าอกเข้าใจมารวมอยู่ในตัวของนักเมืองผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง มันอาจจะกลายเป็นขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ได้"

            ในท้ายที่สุด อับราฮัม ลินคอล์น ก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดปล่อยทาสได้สำเร็จ ชนะสงครามกลางเมือง ปูพื้นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จด้วยการร่วมมือร่วมใจกันทำงานจากอดีตศัตรูที่กลายมาเป็นพันธมิตรที่รู้ใจและยิ่งใหญ่ที่สุด จึงเป็นที่น่าเดียดายอย่างมากที่เขาโดนลอบสังหารเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาชนะทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว

ข้อคิด

            1) ธรรมชาติของมนุษย์อยากจะเป็นคนที่มีค่า อับราฮัม ลินคอล์น เปลี่ยนคู่แข่งของเขาให้เป็นพันธมิตรได้เพราะเขาให้คุณค่าคนเหล่านั้น เขาชมเชย พูดถึงในด้านดี ให้อำนาจ ให้การตัดสินใจ และที่สำคัญเขาให้ตำแหน่งที่สำคัญแก่ศัตรู มันเป็นการซื้อใจโดยใช้ใจในการแลกเปลี่ยน เมื่อเราให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับใครสักคน เขาจะรู้สึกดีกับเราอย่างแน่นอน เขาจะเริ่มมองเราในด้านบวกมากกว่าด้านลบ บวกกับลินคอล์นเป็นคนที่ถ่อมตัวและมีความสามารถอยู่แล้ว จึงทำให้ทัศนคติเชิงลบที่ศัตรูทั้งสามของเขามีเปลี่ยนแปลงเป็นทัศนคติเชิงบวกได้

            2) มนุษย์มีอคติและความลำเอียง โดยส่วนมากมนุษย์จะคิดอย่างรวดเร็วด้วยสัญชาตญาณก่อนการใช้สติพิจารณาด้วยเหตุผลซึ่งช้ากว่าเสมอ ทำให้การแสดงออกของมนุษย์ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยอคติและความลำเอียง มีความคิดเห็นที่ตั้งไว้ก่อนอยู่แล้ว เราเรียกอคติชนิดนี้ว่า อคติแบบแขวนสมอ (Anchoring Bias) คือการปักใจเชื่อข้อมูลแรก ส่งผลให้เราแสดงอารมณ์หึงหวง สงสัย กลัว อิจฉา และหยิ่งยะโส ซึ่งเป็นอารมณ์เชิงลบออกมาต่อเป้าหมายของเรา

            คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นในเรื่องที่เขาเชื่อ ส่วนใหญ่ก็เป็นการหาข้อโต้แย้งเพื่อคงไว้ซึ่งความเชื่อที่มีอยู่แล้ว ด้วยความที่เป็นคู่แข่งในพรรคคลีพับลิกันจึงทำให้ผู้สมัครทั้งสามมีอคติที่ชิงชังต่อลินคอล์น พวกเขาโจมตีและสร้างความเกลียดชัง แต่ในทางกลับกันลินคอล์นสามารถจัดการกับอคติและความลำเอียงของตัวเองได้ เขามองเห็นเป้าหมายที่สำคัญและต้องการความช่วยเหลือของบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความสามารถ 

            การที่เขาจัดการกับอคติของตนเองได้มันทำให้เขาเห็นด้านบวกของผู้อื่นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้การแสดงออกทางพฤติกรรมของลินคอล์นเป็นไปในทางบวกซึ่งศัตรูของเขาสามารถรับรู้ได้ และสุดท้ายอคติที่เกาะกินจิตใจของคู่แข่งทั้งสามก็ค่อย ๆ เลือนหายไป จนสุดท้าย เอ็ดวิน สแตนตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยด่าลินคอล์นว่าเป็นลิง ชื่นชมเขาว่า "เขาเป็นผู้นำที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา"

            3) ซ่อนวิสัยทัศน์ที่แท้จริงไว้ในม้าโทรจัน แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีอคติ ความลำเอียง และมีอารมณ์เชิงลบที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการกับมันได้โดยการไม่แสดงออกมาทางตรง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ ผมเชื่อว่าลินคอล์นก็เป็นมนุษย์มีความรู้สึกโกรธและไม่พอใจศัตรูของเขาไม่มากก็น้อย เพียงแต่เขาเลือกที่จะจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นและแสดงออกอย่างมีน้ำใจ ทั้งหมดก็เพื่อประชาชนภายในประเทศหรัฐอเมริกา

            การจัดการอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ผมเปรียบเหมือนการที่ทหารกรีกซ่อนตัวในม้าโทรจันจากตำนานสงครามระหว่างกรีกและทรอย พวกทหารกรีกซ่อนตัวเพื่อให้ทหารกรุงทรอยนำม้าที่คิดว่าฝ่ายกรีกยอมแพ้เข้าไปในกำแพงเมือง หลังจากนั้นพวกทหารก็ออกมาจากม้าตอนกลางคืนเพื่อเปิดกำแพงให้ทหารที่เหลือบุกเข้ายึดกรุงทรอยได้สำเร็จ เหตุผลที่ทหารกรีกต้องทำแบบนั้นเพราะกำแพงเมืองทรอยมีความแข็งแกร่งอย่างมาก จำเป็นต้องทะลวงเข้าไปด้วยกลอุบาย

            ดังนั้นถ้าเราอยากเปลี่ยนศัตรูมาเป็นพันธมิตร เราจำเป็นต้องคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ อยากมีคุณค่า นอกจากนั้นพวกเขายังมีอคติและความลำเอียง จากนั้นเราจึงพยายามตอบสนองธรรมชาตินั้นโดยการถ่อมตัว ชื่นชม ไม่โอ้อวด พร้อมกับซ่อนวิสัยทัศน์ที่แท้จริงไว้ในม้าโทรจัน เหมือนกับที่อับราฮัม ลินคอล์นปฎิบัติกับอดีตศัตรูก่อนที่พวกเขาเหล่านั้น

จะกลายมาเป็นหนึ่งในทีมพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

อ้างอิง

Goodwin, D. (2006). Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln. NY: Simon & Schuster.

Grant, A. (2014). Give and Take: Why Helping Others Drives Our Success. NY: Penguin. Books

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

ความคิดเห็น