การแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและกัน ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

แพทย์ที่แบ่งปันเรื่องราวของตัวเองกับเพื่อนแพทย์ด้วยกันสามารถยกระดับสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้

            ผมเขียนบทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตมาหลายบทความ พบว่าสิ่งที่ทำให้สุขภาพจิตเสื่อมถอยลงไม่ใช่ความรู้สึกเศร้า โกรธ กังวล เครียด ที่เรียกว่าอารมณ์เชิงลบโดยตรง แต่เป็นทัศนคติหรือวิธีคิดที่เกิดขึ้นจากอารมณ์เชิงลบ

            หากเราคิดว่าอารมณ์เชิงลบเป็นสิ่งเลวร้าย เราไม่อยากเศร้า ไม่อยากทุกข์ ไม่อยากกังวล หรือโกรธก็ย่อมทำให้เรามีทัศนคติต่ออารมณ์เหล่านี้ในเชิงลบส่งผลให้สุขภาพจิตของเราเสื่อมถอยลง ในทางกลับกันหากเราคิดว่าอารมณ์เชิงลบเหล่านี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ย่อมทำให้เราห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิตเสื่อมถอย

            อย่างไรก็ตามในบทความนี้ผมจะไม่เน้นการปรับทัศนคติต่ออารมณ์เชิงลบของผู้อ่านให้เป็นเชิงบวก เช่น การมองให้เป็นเรื่องท้าทาย หรือการวิเคราะห์ว่าอารมณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับค่านิยมของเราอย่างไรบ้าง 

            แต่ผมอยากให้ผู้อ่านเข้าใจว่าอารมณ์เชิงลบทั้งหมด หรือให้พูดในเชิงพุทธศาสนาก็คือ "อารมณ์ทุกข์" เป็นความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้ ทำได้เพียงแต่เข้าใจมัน และจัดการกับมัน หรือจัดการกับสาเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น

            การจัดการอารมณ์เชิงลบ (ความทุกข์) สามารถทำได้สองวิธีใหญ่ ๆ 1) จัดการกับอารมณ์โดยตรง และ 2) เบี่ยงเบนความสนใจของตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วเราสามารถทำได้สองวิธีพร้อมกัน เพียงแต่ในบทความนี้ผมจะเน้นไปที่การจัดการกับอารมณ์โดยตรง

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนจัดการกับอารมณ์เชิงลบอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งมันดันกลายเป็นวิธีที่ดีเสียด้วยสิ นั่นก็คือ "การแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและกัน" เช่น การบ่นกับเพื่อนในบาร์ ที่ทำงาน ร้านอาหาร ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย โต๊ะกันข้าว ฯลฯ ทั้งหมดนั้นเป็นวิธีการจัดการอารมณ์เชิงลบที่มีคุณภาพทั้งสิ้น

การแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและกันในที่ทำงานเป็นวิธีการจัดการอารมณ์เชิงลบที่มีคุณภาพ

            มีการศึกษาหรือโครงการหนึ่งที่พบว่า แพทย์ที่แบ่งปันเรื่องราวของตัวเองกับเพื่อนแพทย์ด้วยกันสามารถยกระดับสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้ โดยโครงการนี้จะแบ่งหน้าที่ของผู้เข้าร่วมออกเป็นสองหน้าที่ใหญ่ ๆ 

            หน้าที่แรกคือให้ตั้งใจฟัง โดยเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ฟัง รู้สึก และทำความเข้าใจประสบการณ์ของผู้เล่า พร้อมทั้งสังเกตว่าเรื่องราวนั้นส่งผลอย่างไรต่อตนเอง ระหว่างที่ฟังเรื่องนั้นตนเองรู้สึกอย่างไรบ้าง ตัดสินเรื่องดังกล่าวอย่างไร และอารมณ์ความรู้สึกที่เด่นชัดที่สุดในตอนนั้นคืออะไร กล่าวคือให้วิเคราะห์ความรู้สึกของตัวเอง

            ส่วนอีกหน้าที่เป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยยกระดับสุขภาพจิตให้ดีมากขึ้นกว่าที่จินตนาการได้ก็คือ การที่ผู้ฟังช่วยผู้เล่าค้นหาความหมายของประสบการณ์นั้นด้วยการตั้งคำถาม เช่น "อะไรทำให้ประสบการณ์นี้เป็นสิ่งที่น่าจดจำ" "สิ่งใดที่ทำแล้วช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้" และ "คุณได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง" ซึ่งผู้อ่านสามารถจดเอาไปใช้ได้กับทั้งตนเองและผู้อื่น

            เรื่องราวที่เล่าสามารถเป็นไปได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงช่วงเวลาที่ติดตรึงใจของการดูแลผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต ประสบการณ์อันน่าประหลาดใจที่พบเจอระหว่างการรักษาซึ่งเปลี่ยนความคิดที่พวกเขามีต่อผู้ป่วย ความผิดพลาด การกล่าวโทษ และการให้อภัย 

            การศึกษาหรือโครงการนี้ใช้แพทย์ทั้งหมดจำนวน 70 คน โดยมีระยะเวลาศึกษา 1 ปี แบ่งเป็น การนัดพบปะพูดคุยกันสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นก็เดือนละครั้งเป็นเวลา 10 เดือน ในช่วงท้ายของโครงการพวกเขาระบุว่าความรู้สึกหมดไฟในการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รู้สึกเหนื่อยใจกับเรื่องงานและกลัวการตื่นมาทำงานน้อยลง รวมถึงพึงพอใจกับการทำงานมากขึ้นและมีแนวโน้มน้อยลงที่จะเสียใจกับการเลือกอาชีพนี้

            อีกทั้งพวกเขายังตระหนักด้วยว่าไม่ได้มีแค่ตัวเองที่ต้องเผชิญกับความเครียด โดยแพทย์คนหนึ่งบอกว่า "ความรู้สึกที่ว่าไม่ได้มีแค่เราคนเดียวต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนั้นช่วยยืนยันว่าสิ่งที่เรารู้สึกและพบเจอเป็นเรื่องจริง" 

            สุขภาพจิตของแพทย์กลุ่มนี้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก่อนเริ่มโครงการพวกเขาได้ทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลสำหรับผู้คนทั่วไปในวัยผู้ใหญ่ ที่ผู้ชายจะมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 15 คะแนน ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ 20 คะแนน แต่คะแนนเฉลี่ยของแพทย์กลุ่มนี้คือ 33 คะแนน (ก่อนเข้าร่วมโครงการ) หลังจากเข้าร่วมโครงการได้ 8 สัปดาห์ คะแนนเฉลี่ยของพวกเขาก็ลดลงเหลือ 15 คะแนน   

            และเมื่อโครงการที่ใช้เวลาหนึ่งปีสิ้นสุดลง คะแนนของพวกเขาก็ลดลงเหลือ 11 คะแนน ทั้งที่สภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งเต็มไปด้วยความเครียดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะทางจิตที่น่าประทับใจมาก

            นอกจากนี้แพทย์ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการยังรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยมากขึ้น โดยพวกเขารู้สึกสงสัยใคร่รู้เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคที่รักษามากกว่าที่จะรู้สึกไม่พอใจ และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกขอบคุณเมื่อต้องใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยที่กำลังทุกข์ทรมานแทนที่จะรู้สึกอึดอัดใจ

            การเปิดรับเพื่อสัมผัสกับความทุกข์ซึ่งเป็นแก่นแท้ของอาชีพแพทย์ ช่วยให้แพทย์ที่เข้าร่วมโครงการกลุ่มนี้ตระหนักถึงคุณค่าหรือความสำคัญของอาชีพนี้อีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงแค่อาชีพแพทย์เท่านั้นเพราะมีหลายอาชีพกำลังประสบความปัญหาหมดไฟในการทำงานในปัจจุบัน การแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตผู้คนในที่ทำงานได้อย่างดี

            กลยุทธ์นี้ท้าทายวิธีคิดที่หลายคนมีต่อการจัดการความเครียด กล่าวคือแทนที่จะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเหมือนกับที่หลายคนทำเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง ดูภาพยนต์ หรือการคิดจินตนาการเพื่อให้ละจากความคิดเชิงลบในขณะนั้น แน่นอนวิธีเหล่านี้สามารถคลายความกดดันได้ และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้เช่นกัน แต่มันก็ไม่ได้หยุดสาเหตุแห่งการเกิดอารมณ์เชิงลบได้

            สุดท้ายอารมณ์เชิงลบก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราควรจะที่จะหาวิธีจัดการไปพร้อมกับเบี่ยงเบนความคิดในบางโอกาสและจังหวะเวลาได้ โดยเราสามารถแบ่งปันเรื่องราวต่อกันและกัน เหมือนกับที่พวกเราทำกันนั้นแหละครับ เพียงแต่ถ้าให้ดีที่สุดอย่าลืมผัดกันตั้งคำถามที่สำคัญในขณะที่กำลังรับฟังว่า

"อะไรทำให้ประสบการณ์นี้เป็นสิ่งที่น่าจดจำ" "สิ่งใดที่ทำแล้วช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้" และ "คุณได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง"

อ้างอิง

Epstein, R. (2017). Attending: Medicine, Mindfulness, and Humanity. NY: Scribner.

McGonigal, K. (2016). The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It. NY: Avery.

ความคิดเห็น