เราควรหันมาใจดีกับตัวเองเมื่ออกหักจากความรัก แทนที่จะโทษตัวเอง

ความสัมพันธ์ที่แหลกสลายไม่ได้มาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่มาจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในอดีตที่สะสมกันเป็นร้อยเป็นพัน

            การอกหักเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยเผชิญด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในวัยรุ่นหรือในวัยผู้ใหญ่ก็ตาม เพราะความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และมันก็ตามมาด้วยความผิดหวังเสียใจอยู่เสมอเช่นเดียวกัน

            เวลาที่เราตกหลุมรักใครสักคนจะทำให้สารสื่อประสาทบางตัวทำงานเพิ่มขึ้น บางตัวทำงานลดลง ส่งผลให้เรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนปกติ เราเรียกช่วงนี้ว่าช่วงโปรโมชั่น อย่างไรก็ตามสารสื่อประสาทจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป จนสุดท้ายก็อาจจะต้องทำให้ความสัมพันธ์จบลงได้

            ในแต่ละช่วงวัยพวกเรามีวิธีรับมือกับความใจที่แหลกสลายแตกต่างกันไป ในช่วงวัยรุ่นเราอาจจะร้องไห้ โทษคนที่เรารักหรือบุคคลอื่นที่ทำให้ความสัมพันธ์ยุติลง แตกต่างเพียงเล็กน้อยกับในวัยผู้ใหญ่ เพราะหลายคนเลือกปิดกั้นความรู้สึกของตัวเองพร้อมกับเบี่ยงเบนไปทำอย่างอื่นแทน แต่ก็มีหลายคนเช่นเดียวกันที่รับมือกับความผิดหวังเสียของการอกหักโดยการโทษตัวเอง

            การโทษตัวเองเป็นกลไกที่เกิดขึ้นเมื่อเราต้องการหาคำตอบของความผิดหวังเสียใจหรือความล้มเหลว มนุษย์มักจะพยายามหาคำตอบกับทุกสิ่งทุกอย่าง บางคนอาจจะใช้กลไกป้องกันตัวเองโดยการโยนความผิดให้กับคนอื่น แต่แทบทุกคนต้องเคยผ่านการโทษตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น อาจจะเป็นปัญหาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การอกหัก

            เมื่อเราโทษตัวเองมันก็ไม่ต่างกับการทำร้ายตัวเอง มันเป็นความรู้สึกที่เราต้องการทำโทษตัวเองสำหรับความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้น และเมื่อเราโทษตัวเองมันก็จะส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นในตนเองที่ลดลง คุณค่าในตนเองที่ลดลง และอำนาจในตัวเองที่ลดลงอย่างอัตโนมัติ

            เรามักจะพบว่าบุคคลที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าก็มักจะโทษตัวเองแทบจะทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นมา การโทษตัวเองจึงเป็นวิธีจัดการกับปัญหาที่ไม่สมเหตุสมผล และยังเป็นสาเหตุของอาการทางจิตอีกมากมายนอกเหนือจากโรคซึมเศร้า 

            การอกหักจากความรักก็เป็นปัญหารูปแบบหนึ่งที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและตัวบุคคลอื่น การโทษตัวเองจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ 

            อย่างไรก็ตามเราทุกคนสามารถหลุดพ้นจากการโทษตัวเองได้ ด้วยการมีความเมตตาต่อตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เราจะต้องตระหนักและต้องเต็มใจปล่อยวางความเชื่อที่ตำหนิตัวเอง และยอมรับพฤติกรรมทางจิตใจบางอย่าง ที่จะสามารถกำจัดความเกลียดชังตัวเองทิ้งไป จนสามารถสร้างเสริมการเห็นคุณค่าในตัวเองให้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

เราควรจะกลับมาใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น

            บางคนโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้ความสัมพันธ์ล้มเหลว "ฉันมันไม่ดีพอ" หรือ "ฉันเป็นคนผิดเองที่ชวนทะเลาะ" หรือ "ฉันผิดเองที่เป็นคนเอาแต่ใจ" แต่สิ่งที่เราลืมคิดไปก็คือ ความสัมพันธ์ที่แหลกสลายไม่ได้มาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่มาจากหลาย ๆ เหตุการณ์ในอดีตที่สะสมกันเป็นร้อยเป็นพัน

            นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนจำนวนมากเลิกกันเพียงเพราะปัญหาไร้สาระที่ดูเหมือนไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่จริง ๆ แล้วมันมาจากเหตุการณ์มากมายในอดีต เช่น การนอกใจเมื่อหลายปีที่แล้ว การบอกเลิกกันเมื่อปีที่แล้ว หรือ การทะเลาะกันเป็นร้อยครั้งที่ผ่านมา

            พวกเรามักจะพยายามค้นหาสาเหตุเพียงสาเหตุเดียวเท่านั้นที่ทำให้ความสัมพันธ์ยุติลง นั่นก็คือตัวของเราเองนี้แหละที่ทำให้ความสัมพันธ์ครั้งนี้พังลง หลายคนอาจจะคิดโทษตัวเอง แต่สำหรับบางคนก็สามารถโทษตัวเองโดยไม่รู้ตัวซึ่งจะแสดงออกมาทางอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรม ไม่เพียงแค่นั้นเรายังโทษตัวเองในหลาย ๆ เหตุการณ์ ไม่ต่างกับการระดมยิงใส่ตัวเองจนเป็นรูโบ๋ทั้งตัว

            การจะฟื้นคืนกลับมาจากหัวใจที่แหลกสลายได้ เราจะต้องหยุดระดมยิงตัวเอง แล้วกลับมาใจดีต่อตัวเองให้มากขึ้น ลองคิดดูนะครับเรามักจะใจดีกับครอบครัว กับเพื่อนแต่แทบจะไม่เคยใจดีกับตัวเองเลย โดยที่เราลืมไปว่าความรู้สึกของเราทำงานอยู่ตลอดเวลา

            นั่นหมายความว่าจิตใจของเราก็สามารถรู้สึกน้อยใจตัวเองได้เหมือนกัน เมื่อเราสามารถหยุดระดมยิงใส่ตัวเองแล้วยอมรับว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราสามารถมีเมตตาต่อตนเองได้โดย

            1) ตระหนักถึงความจริงและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมัน ยอมรับว่าเราทุกคนคือสิ่งมีชีวิตที่ทำผิดพลาดอยู่เสมอ ไม่มีใครทำอะไรแล้วได้ดั่งใจไปทุกเรื่อยอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราควรจะตระหนักถึงในทุกสถานการณ์

            2) การเขียนข้อความปลอบโยนให้กับคนแปลกหน้าที่กำลังหัวใจสลาย หรือเขียนข้อความดังกล่าวปลอบโยนคนอื่นหรือตัวเองในไดอารี่ประจำวัน

            3) นึกภาพตัวเองกำลังพูดคำตำหนิที่เคยตำหนิตัวเองให้เพื่อนรักที่กำลังอกหักและรู้สึกเจ็บปวด เพราะพวกเราส่วนใหญ่ใจดีกับเพื่อน แต่ใจร้ายกับตัวเอง เราไม่พูดจากับเพื่อนที่กำลังลำบากแบบนี้ มันเป็นเครื่องเตือนใจที่เด่นชัดว่าเราไม่ควรจะตำหนิใครก็ตามที่กำลังอกหักและเจ็บปวดอยู่

            อย่าลืมว่าเราทุกคนคือสิ่งมีชีวิตที่ทำผิดพลาดอยู่เสมอ ไม่มีใครทำอะไรแล้วได้ดั่งใจไปทุกเรื่องอย่างแน่นอน เราต้องหันมาใจดีกับตัวเองบ้าง เพราะเราทำดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้วต่อความสัมพันธ์ต้องยุติลงก็ตาม อย่าลืมว่าการยุติของความสัมพันธ์มีมากกว่าหนึ่งสาเหตุเสมอ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเพราะอะไรความสัมพันธ์หนึ่งถึงจบลงอย่างแน่ชัด

ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดก็คือ "การปล่อยวาง"

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Winch, G. (2018). How to Fix a Broken Heart. NY: Simon & Schuster/ TED.

คาลอส บุญสุภา. (2565). การประคับประคองใจเมื่ออกหักจากความรัก (Broken Heart). https://sircr.blogspot.com/2022/02/broken-heart.html

ความคิดเห็น