การเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่เลวร้ายของ ชาลี แชปลิน (Charlie Chaplin) ตลกอัจฉริยะตลอดกาล

ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็คงจะต้องก้าวต่อไปเท่านั้นแหละ

            ประสบการณ์เลวร้ายเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างหวาดกลัว ไม่อยากพบเจอ บางคนเป็นทุกข์กับภาพเหล่านั้นมาถึงทุกวันนี้ และก็มีมนุษย์หลายคนที่เคยเผชิญประสบการณ์เหล่านี้แต่ยังเข้มแข็งมากพอที่จะก้าวข้ามผ่านไปได้ ไม่เพียงแค่นั้นพวกเขายังสร้างผลงานออกมาจากความประสบการณ์หล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเล่า หนังสือ ศิลปะหรือภาพยนตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือตลกอัจฉริยะตลอดกาล ชาลี แชปลิน (Charlie Chaplin)

            ชาลี แชปลินเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่างมากในการแสดงภาพยนตร์เงียบที่ตลกขบขัน โดยเขามักจะแต่งตัวเป็นคนจรจัด ใส่หมวกใบเล็ก มีหนวดเล็ก ๆ เป็นเอกลักษณ์ เขาสร้างรอยยิ้มให้กับคนทั้งโลก จนได้ชื่อว่า "ตลกอัจฉริยะ" เป็นแรงบัลดาลใจให้กับเฉินหลงคิดการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษจนมีชื่อเสียงโด่งดัง 

            เขาได้รับการยกย่องสูงสุดในฐานะนักแสดงจากสหรัฐ และได้รับตำแหน่งท่านเซอร์จากพระราชินีอังกฤษ ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งจนมาถึงทุกวันนี้ แต่หลายท่านคงคาดไม่ถึงว่าอดีตของศิลปินอัจฉริยะคนนี้เคยเผชิญกับอะไรมาบ้าง ซึ่งมันเป็นความขมขื่นเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งสมควรจะได้รับ

            ชาลี แชปลินเกิดในสลัมของกรุงลอนดอน มีพ่อแม่เป็นนักแสดงเร่ที่ไม่มีชื่อเสียง พ่อของเขาเป็นคนขี้เมาที่ไม่มีใครจ้าง และมักจะมีปากมีเสียงกับแม่ของเขาประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งทั้งคู่ได้หย่าร้างกัน แชปลินกับพี่ชายไปอยู่กับแม่ โดยที่พ่อไม่เคยใส่ใจกับพวกเขาเลย สิ่งที่เขาได้รับมรดกจากพ่อมาก็คือสายเลือดนักแสดง เขาทั้งชอบร้องเพลงและเต้นระบำเลียนแบบพ่อและแม่ 

            หลายครั้งแชปลินเคยถูกจับไปแสดงคั่นตอนที่แม่ของเขาป่วยไม่สามารถแสดงได้ คนดูชอบความสามารถและความน่ารักของเขาในวัยห้าขวบอย่างมาก จนถึงวันหนึ่งที่แม่ของเขาป่วยจนไม่สามารถแสดงได้อีกต่อไปแล้ว ทำให้ฐานะทางบ้ายค่อย ๆ ยากจนลงไป ต้องอดมื้อกินมื้อ 

            แม่ของเขาพยายามเย็บผ้าเลี้ยงชีพ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เนื่องจากมีสุขภาพไม่ดี ทำให้แชปลินและพี่ชายต้องไปขออาหารจากคนข้างบ้าน พี่ชายพยายามหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำเพื่อจะหาเงินซื้ออาหารมาเลี้ยงน้องชายและแม่ แต่มันก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงทั้งครอบครัวได้ ทำให้ทั้งครอบครัวต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์คนยากจน 

            ชาลี แชปลินได้เห็นสภาพของผู้คนที่จนตรอกและพ่ายแพ้กับชีวิต ต้องเรียงแถวรับอาหารบริจาค ที่บางครั้งก็เต็มไปด้วยการเย้ยหยันหรือเมตตาจอมปลอม ประสบการณ์นี้ทำให้เขาซึมซับและเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความยากจนไว้เต็มหัวใจ ไม่เพียงแค่นั้นแม่ของเขานอกจากจะสุขภาพไม่ดีแล้วยังเริ่มมีการเสียสติ ทำให้ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลจิตเวชอยู่เป็นประจำ 

ประสบการณ์เลวร้ายเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของชาลี แชปลิน

            บางครั้งทั้งสองพี่น้องก็หนีออกจากสถานสงเคราะห์ เพื่อจะอยู่เองให้ได้ จากการขายหนังสือพิมพ์บ้าง ขายดอกไม้บ้าง ทำงานในโรงงานบ้าง ศาลเคยสั่งให้พ่อของเขารับลูกทั้งสองคนไปอยู่ด้วย แต่เมียใหม่ของพ่อไม่ชอบเด็กทั้งสองคนเอาเสียเลย บางครั้งเธอก็ไม่ให้เขาทั้งสองเข้าไปในบ้าน ทำให้ทั้งสองต้องหนาวอยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน ๆ แต่สุดท้ายพ่อของเขาก็เสียชีวิตลง ทำให้ทั้งสองไร้ที่พึ่งต้องเผชิญโลกเองเหมือนเดิม

            เมื่ออายุแปดขวบแชปลินก็เริ่มรับงานแสดงเป็นตัวประกอบ มีบทเล็กน้อย ทำให้พอได้เงินไปซื้ออาหารบ้าง แต่มันก็เป็นอย่างนั้นอยู่ไม่นานเพราะแม่ของเขาเกิดอาการเสียสติขั้นรุนแรง เขาต้องคอยปลอบแม่ให้สงบ แล้วจูงแม่ซึ่งไม่รู้เรื่องไปส่งโรงพยาบาลจิตเวชด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามการแสดงของเขามีความก้าวหน้าขึ้น แม้เขาจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็ให้พี่ชายช่วยอ่านบทให้ฟังซึ่งเขาสามารถจำมันได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องให้พี่ชายอ่านทวนให้อีกเป็นครั้งที่สอง 

            แชปลินเริ่มมีชื่อเสียงและย้ายครอบครัวไปอยู่สหรัฐอเมริกา และพาแม่ไปเข้าโรงพยาบาลจิตเวชที่นั้น ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมแม่เขาจะกอด จูบ จับมือ แล้วคุยกับแม่ เท่าที่พอจะสามารถคุยได้ จนกระทั่งแม่ผู้เป็นที่รักได้ตายจากลูกทั้งสองคนไปขณะที่แชปลินกำลังถ่ายหนังอยู่ เขารีบไปที่โรงพยาบาลร้องไห้และพูดกับแม่ที่ไร้สติในโรงพยาบาลอยู่หลายชั่วโมง

            ประสบการณ์เลวร้ายทุกอย่างที่เขาเผชิญหล่อหลอมให้เขากลายคนที่ต่อสู้จนประสบความสำเร็จ เขาใช้สิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง จนเป็นภาพจำของเขาในบทของ "คนจรจัด" นอกจากนั้นยังสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความเลวร้ายของทุนนิยมแบบตลกร้าย ทั้งหมดนี่ทำให้ภาพยนตร์ของเขาไม่ได้ตลกเพียงอย่างเดียวแต่ยังสะท้อนสังคมและกลายเป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้

ข้อคิด

            1) คนเราสามารถประสบความสำเร็จได้แม้มีช่วงชีวิตที่เลวร้าย ผมมักจะบอกกับคนอื่นเสมอว่าความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เพราะแต่ละคนมีระดับของความสำเร็จที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคน แต่สำหรับกรณีของแชปลิน ผมมองว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เลย เพราะเขาไม่ได้แค่เคยมีประสบการณ์ที่เลวร้าย แต่ตลอดเวลาที่เขาพัฒนาการแสดงของตัวเองผ่านการทำงาน เขาก็กำลังเผชิญกับทุกนาทีที่เลวร้าย

            ไม่ว่าจะเป็นความยากจน อดอยาก และสุขภาพกายและจิตใจของคุณแม่ที่ทรุดลงเรื่อย ๆ ข้อคิดนี้เป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคนได้เลย แม้ผู้อ่านหลายท่านจะไม่ได้เคยผ่านเรื่องราวที่เลวร้ายขนาดแชปลินมาก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เป็นทุกข์เลย ทุกคนต่างก็มีความทุกข์ทั้งนั้นและเราทุกคนก็ต้องการกำลังใจที่จะข้ามผ่านช่วงนาทีแห่งความทุกข์นี้ไปให้ได้ เรื่องราวนี้จึงเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับทุกคน

            2) ประสบการณ์เลวร้ายหล่อหลอมเราให้เข้าใจโลกมากขึ้น ผลงานของเขาหลายชิ้นแม้จะตลก สนุกสนานแต่ก็สะท้อนสังคมที่ยากจน สังคมที่เหยียดกัน สังคมที่โหดร้ายของโลกทุนนิยม มุมมองที่คมเหนือกาลเวลาของเขามาจากประสบการณ์ของตนเอง เพราะความทุกข์ ความผิดพลาด ความล้มเหลว เป็นเหมือนกับหินลับมีด ที่ทำให้มีดของเราแหลมคม สามารถนำไปใช้งานกับวัตถุดิบได้หลากหลาย

            อย่างไรก็ตามความเข้าใจโลกนำมาซึ่งความคิดเชิงลบ เพราะในเมื่อความเป็นจริงรอบตัวมันไม่ได้บวกเสมอไป มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอเรื่องลบ ๆ ดังนั้นการจะหลีกเลี่ยงความคิดเชิงลบ แล้วคิดแต่ในเชิงบวกคงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราสามารถรักษาสมดุลระหว่างความคิดเชิงลบกับความคิดเชิงบวกได้โดยการใช้สติปัญญาโต้แย้งความคิดเหล่านั้น ซึ่งมันเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ทำให้ความคิดของเราสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

            3) ความกล้าหาญ ผมเชื่อว่าหลายคนที่เคยเจอเรื่องราวที่เลวร้ายมักจะโยนความทรงจำนี้เอาไว้ไกล ๆ โดยการเบี่ยงเบนไม่คิดถึงมัน แต่ในความจริงแล้วความทรงจำเหล่านี้มันก็พยายามกลับขึ้นมาสู่ห้วงความคิดของเราอยู่เสมอหากเราพยายามจะหลีกหนีมัน แต่แชปลินกล้าหาญมากพอที่เอาความทรงจำเหล่านั้นมาเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างผลงานที่เป็นตำนานหลายชิ้น

            หากเราเลือกที่จะไม่ยอมรับแล้วพยายามต่อต้านปีศาจจากขุมนรก สุดท้ายมันก็จะทำให้เรากลายเป็นปีศาจตนนั้นเหมือนกับที่นิทเช่นักปรัชญาผู้โด่งดังกล่าวว่า "ถ้าคุณจ้องมองลงไปในนรกนาน ๆ นรกก็จ้องมองมายังคุณด้วย" การยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่สำคัญ แม้ความทรงจำเลวร้ายจะหลอกหลอนเราตลอดไป แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนเราเป็นปีศาจเมื่อจ้องมองมันต่อให้เราจะจ้องมองมันนานแค่ไหนก็ตาม

            เพราะในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็คงจะต้องก้าวต่อไปเท่านั้นแหละ ทำให้ผมนึกถึงประโยคสำคัญของ Captain Mike ในภาพยนตร์เรื่อง The Curse of Benjamin Button ที่กล่าวว่า 

"เราโกรธแค้นต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เราอาจสบถด่าและสาปแช่งโชคชะตาแต่เมื่อมันถึงจุด ๆ หนึ่ง เราก็จำต้องปล่อยวาง"

อ้างอิง

สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2552). วันเยาว์ของคนใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ความคิดเห็น