ตัวตนที่เราเป็นในวันนี้ ไม่ได้กำหนดสิ่งที่เราจะเป็นในวันพรุ่งนี้

สติปัญญาไม่ใช่ความสามารถที่มีขอบเขตจำกัด แต่เป็นความสามารถที่เพิ่มพูนได้

            ตลอดชีวิตของคนเรามีการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมาย และคำถามมากมายก็ได้รับคำตอบมาแล้วเช่นเดียวกัน สำหรับผมแล้วมีคำถามหนึ่งที่ในอดีตผมเฝ้าถามกับทั้งตัวเองและผู้อื่น นั่นคือ "คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่" ซึ่งเมื่อก่อนผมอาจจะบอกว่า "ไม่มีทาง" ผู้คนไม่มีทางเปลี่ยนแปลง มนุษย์เรายังไงก็คงใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต และสัญชาตญาณนั้นก็เป็นขับเคลื่อนพฤติกรรมที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง

            แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมก็ได้เรียนรู้ว่าตัวตนของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าความคิดของผมในอดีตจะผิดไปเสียหมดนะครับ เพราะหากคนคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในจุดเดิม สถานการณ์เดิม เขาก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนเพราะมนุษย์เราใช้สัญชาตญาณหรืออารมณ์นำเหตุผล ความคิด และสติ

            สถานการณ์ บริบท หรือสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวที่เราอยู่ในขณะนี้จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการแสดงพฤติกรรม หรือ การเป็นตัวตนของเราในวันนี้ โดยเฉพาะตัวบุคคลที่เราอยู่ด้วยในปัจจุบันส่งผลให้ มุมมองที่เรามีต่อตนเองเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งเป็นคนที่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่ค่อยเอาการเอางาน แต่เมื่อเขาเปลี่ยนสถานที่ทำงานพบกับสังคมใหม่ ๆ ที่มีค่านิยมในการลงทุน การเก็บเงิน มันก็ทำให้เขาใช้เงินน้อยลง เก็บเงินได้และตั้งใจทำงานมากขึ้น

            สิ่งนี้ไม่ใช่วุฒิภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มันเป็นพลังของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปต่างหาก ดังนั้นคำถามที่ว่าตัวตนที่แท้จริงของเราคืออะไรกันแน่ มันจึงเป็นการยากที่จะหาเพราะเราทุกคนล้วนขับเคลื่อนด้วยสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ผมสามารถพูดได้เลยว่าหากเราออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น

            มีการศึกษาหนึ่งในฮ่องกงที่นักวิจัยให้พวกนักศึกษาอ่านและประเมินข้อความเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความแน่นอนของระดับสติปัญญาซึ่งรวมถึงข้อความที่กล่าวไว้ว่า "คุณมีสติปัญญาในระดับหนึ่งและคุณไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงมันได้มากนัก" และ "คุณสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ แต่คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับสติปัญญาขั้นพื้นฐานของตัวเองได้"

หากเราออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประสบความสำเร็จ ไม่ว่าใครก็ประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น

            เมื่อได้คำตอบจากนักศึกษาที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดเหล่านี้ นักวิจัยก็ได้แบ่งนักศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม นั่นคือกลุ่มที่มองว่าสติปัญญาของพวกเขาเป็นสิ่งที่ตายตัวและถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า และกลุ่มที่มองว่าสติปัญญาของพวกเขาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

            จากนั้นนักวิจัยก็ถามนักศึกษาเหล่านี้ว่าพวกเขาตั้งใจจะลงเรียนวิชาซ่อมเสริมภาษาอังกฤษในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหรือไม่ แน่นอนว่าคนที่ได้คะแนนภาษาอังกฤษดีมากสมัยมัธยมปลายมีแนวโน้มจะลงเรียนน้อยกว่านักศึกษาที่ได้เกรด C หรือแย่กว่านั้น แต่แม้กระทั่งในบรรดานักศึกษาที่ได้คะแนนต่ำ คนที่มองว่าระดับสติปัญญาเป็นสิ่งที่ตายตัวจะมองว่าไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่ต้องลงเรียน

            พวกเขาคิดว่าตัวเองเก่งเท่าที่จะเก่งได้แล้วในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ว่าจะลงเรียนไปทำไม มีเพียงผู้ที่ได้คะแนนต่ำที่มองว่าสติปัญญาของตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้นที่เต็มใจจะลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมตามที่พวกเขาจำเป็นต้องเรียนจริง ๆ 

            กล่าวคือ การมองว่าตัวเองเป็นสิ่งที่ตายตัวและแน่นอนส่งผลให้เราปกป้องตัวเองและหลอกตัวเองแบบไม่รู้จบ เมื่อเรามองคุณลักษณะอย่างสติปัญญาว่าเป็นความสามารถที่ตายตัว คะแแนนสอบที่ย่ำแย่หรือผลการประเมินการปฏิบัติงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็จะกลายเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายเกินจะทนไหว หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ มันคือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ดังนั้นปล่อยมันไปเถอะ

            ดังนั้นแทนที่จะมองแบบนั้น เราควรฝึกตัวเองให้มองสติปัญญาและทักษะในแง่มุมอื่น ๆ ว่าเป็นกล้ามเนื้อที่จะเติบโตก็ต่อเมื่ออกแรง และจะฝ่อลงเมื่อถูกละเลย เมื่อเรายอมรับว่าคำตอบของคำถามที่ว่า "ตัวตนที่แท้จริงของฉันเป็นอย่างไร" เราควรเขียนด้วยดินสอไม่ใช่ปากกา ภัยคุกคามก็จะกลายเป็นโอกาส ส่วนความล้มเหลวก็จะกลายเป็นบทเรียนของชีวิต

ถึงแม้ว่าปกติแล้วเราจะไม่ได้มองสิ่งต่าง ๆ แบบนี้ แต่มันก็ยังไม่สายเกินที่จะเริ่มต้นในวันนี้

            บางคนอาจจะบอกว่า Fixed Minded หรือความเชื่อที่ว่าสติปัญญาหรือความสามารถไม่สามารถพัฒนาได้มากกว่านี้ได้แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือยากอย่างมากที่จะเปลี่ยนได้ แต่ผลการศึกษาของนักวิจัยฮ่องกงในครั้งต่อมา ทำให้เราตระหนักว่ามันไม่มีอะไรสายเกินไป

            การศึกษาในครั้งนี้ พวกเขาให้นักศึกษากลุ่มใหม่อ่านบทความที่แตกต่างกันหนึ่งในสองบทความ ซึ่งเป็นบทความทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่ตายตัวหรือเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นได้ ผลก็คือ คนที่ถูกชักจูงให้สติปัญญาเป็นสิ่ที่ตายตัวจะเลือกหนทางที่ง่าย พวกเขาแทบไม่แสดงความมุ่มั่นและพากเพียรต่อภารกิจหลังจากที่ทำผลงานได้ย่ำแย่

            อีกทั้งพวกเขายังหลีกเลี่ยงที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในภายหลัง มีเพียงนักศึกษาที่ได้รับข้อมูลว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เท่านั้นที่แสดงความมุ่งมั่นและพากเพียรซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาตัวเอง อธิบายง่าย ๆ ก็คือเพียงแค่เรารู้ข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าสติปัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้เท่านั้น สามารถทำให้เรามีความมุ่งมั่นและความเพียรในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้นได้

            ผมยกตัวอย่างงานวิจัยฮ่องกงจากหนังสือ Situations Matter: Understanding How Context Transforms Your World ที่เขียนโดย แซม ซอมเมอร์ส (Sam Sommers) ไปแล้ว คาวนี้ลองดูตัวอย่างจากงานวิจัยทางฝั่งตะวันตกบ้าง การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งพวกเขาศึกษากับนักศึกษาที่ถูกขอให้เป็นเพื่อนทางจดหมายกับนักเรียนมัธยมต้นที่ "มีปัญหาการเรียน" นักศึกษาเหล่านี้ได้รับมอบหมายให้เขียนจดหมายเพื่อให้กำลังใจแก่เด็กรุ่นน้องโดยบอกว่าพวกเขาเองก็เคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากสมัยอยู่โรงเรียน

            แต่พวกเขาก็มุ่งมั่นและพากเพียรจนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ พวกเขาได้รับแจ้งให้เน้นย้ำว่าพรสวรรค์ถูกให้ความสำคัญมากเกินไป และสติปัญญาไม่ใช่ความสามารถที่มีขอบเขตจำกัด นอกจากนั้นความสามารถทุกอย่างยังสามารถเพิ่มพูนและพัฒนาขึ้นได้อยู่เสมอ

            วิธีการดำเนินงานวิจัยนี้ไม่ได้ต้องการคำตอบว่านักเรียนมัธยมจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับรู้เนื้อหาในจดหมายนั้น เพราะจดหมายไม่เคยถูกส่งไปจริง ๆ แต่สิ่งที่งานวิจัยนี้ต้องการจะรู้ก็คือ ประสบการณ์การเขียนจดหมายนี้ส่งผลอย่างไรกับนักศึกษาที่เขียนจดหมายให้กำลังใจเหล่านั้น

            สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือผลกระทบนี้ส่งผลต่อตัวตนของนักศึกษาที่เป็นกลุ่มทดลองในระยะยาว เพราะหลายเดือนต่อมานักศึกษาที่เขียนจดหมายยังคงบอกว่าพวกเขามีความสุขกับสถานศึกษามากกว่านักศึกษาปริญญาตรีคนอื่น ๆ ของสแตนฟอร์ด แถมเกรดเฉลี่ยของพวกเขายังสูงขึ้นด้วย ผลของการเขียนจดหมายยิ่งมากเป็นพิเศษในหมู่ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา 

            พวกเราทุกคนเผชิญกับช่วงเวลาอันแสนยากลำบากของทุกช่วงชีวิต หลายคนยอมแพ้และพยายามหาความสุขไปวัน ๆ ซึ่งพวกเราหลายคนรู้กันดีว่าความสุขเป็นอะไรที่ยิ่งไปค้นหาก็ยิ่งไม่เจอ ดังนั้นผมจึงอยากให้ทุกคนอย่ายอมแพ้ เพราะจากผลการศึกษาทั้งหมดนี้มันสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตนี้มีความหวังหลายมากกว่าที่พวกเราคิดเอาไว้

            มันบอกว่าเมื่อใดก็ตามที่เราล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ ให้จำไว้ว่าตัวตนของเราสามารถยืดหยุ่นได้เสมอ และมันจะมีประโยชน์อย่างมากกับตัวเราหากเราจดจ่อกับความพยายามและปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับการทำแต่สิ่งเดิม ๆ ที่ตัวเองถนัด นอกจากนั้นการศึกษาเหล่านี้ยังบอกว่า เราควรจะต้องเลิกคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ด้อยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมองข้ามข้อบกพร่องอะไรก็ตามที่เราคิดไปเองว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา

            เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่จำเป็นต้องค้นหาตัวตนที่แท้จริงอันไม่มั่นคงและเปลี่ยนไปได้เสมอตลอดชีวิตของตัวเอง ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่า เราคือคนที่มีตัวตนแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนรอบตัว สถานที่ทำงาน โรงเรียน เพื่อนฝูง ครอบครัว หรือแหล่งที่อยู่อาศัย ทุกสิ่งจึงล้วนไม่แน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน 

เราจึงควรตระหนักว่าสิ่งที่เราเป็นในวันนี้ ไม่ได้กำหนดสิ่งที่เราจะเป็นในวันพรุ่งนี้ 

อ้างอิง

Sommers, S. (2012). Situations Matter: Understanding How Context Transforms Your World. NY: Riverhead Books.

ความคิดเห็น