ความคิดที่ว่าผู้ชายก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิง ไม่เป็นความจริงอย่างที่เราเคยคิดกัน

หากเราเปลี่ยนนิยามของคำว่าก้าวร้าวเสียใหม่ เราจะพบกับมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

            ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ตัวเองเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เข้าใจว่าผู้ชายก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิง แต่ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนก็คิดเห็นเช่นเดียวกันกับผม มันไม่ใช่แค่สิ่งที่เราเห็นตามข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงหรือจากประสบการณ์ของเราทุกคนที่พบเห็นการกระทำที่ก้าวร้าวมักจะมาจากผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งยังมีเหตุผลทางชีววิทยามาสนับสนุนมุมมองนี้อีกด้วย

            เนื่องจากเพชชายมีฮอร์โมน เทสโทสเตอโรน (Testosterone) มากกว่าเพศหญิง ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่สำคัญ มันผลิตจากอัณฑะของผู้ชาย ทำหน้าที่ควบคุมเกื้อหนุนลักษณะการแสดงออกทางเพศชาย สนับสนุนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและมวลกระดูก นอกจากนั้นยังมีการศึกษาอีกมากมายที่พบว่าฮอร์โมนชนิดนี้สัมพันธ์กับความก้าวร้าว

            งานวิจัยในปี 2004 พบว่าวัยรุ่นที่ใช้สเตอรอยด์เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ (Anabolic Steroid) ซึ่งเพิ่มระดับเทสโทสเตอโรนมากกว่าผู้ชายทั่วไปมีความสัมพันธ์กับการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น และนอกจากนั้นยังมีงานศึกษาในปี 2002 อีกเช่นกันที่พบว่า การให้เทสโทสเตอโรนเพิ่มความก้าวร้าวทางคำพูดและความโกรธแก่ผู้ร่วมการทดลองบางคน

            จะเห็นว่าเราเข้าใจไม่ผิดหรอกครับ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวโดยการใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้หญิง แต่สิ่งที่เป็นมายาคติบดบังเราจากความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือ ความคิดที่ว่าความก้าวร้าวคือการใช้ความรุนแรงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะหากเราลองหลับตาแล้วนึกภาพถึงคำว่าก้าวร้าว เรามักจะพบว่ามันสัมพันธ์กับเรื่องทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่

            อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความตามพจนานุกรมของความก้าวร้าวไม่ได้จำกัดแค่เรื่องกายภาพเท่านั้นแต่ยังรวมถึงพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทที่กว้างกว่าอย่างพฤติกรรมที่มุ่งหวังจะสร้างความเสียหายให้อีกฝ่าย เมื่อนิยามความร้าวร้าวกว้างขึ้นแบบนี้ เราจะพบกับความจริงที่ว่าผู้หญิงก็มีความก้าวร้าวพอ ๆ กับผู้ชาย เพียงแต่ความก้าวร้าวของพวกเธอมีการแสดงออกที่แตกต่างจากผู้ชาย

ผู้หญิงมีการแสดงออกของความก้าวร้าวที่แตกต่างจากผู้ชาย

            งานวิจัยพัฒนาการเด็กชิ้นหนี่งค้นพบว่าเมื่อเริ่มชั้นประถมศึกษา เด็กผู้ชายมีแนวโน้วมากกว่าที่จะแสดงความก้าวร้าวออกมาในรูปแบบที่ตรงไปตรงมาอย่างการใช้กำลังและทำร้ายด้วยคำพูด ขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะใช้ความพยายามทางอ้อมเพื่อสร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่าย พวกเธอจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมความสัมพันธ์ ทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น การโน้มน้าวให้เด็กคนอื่น ๆ ไม่ไปเล่นกับเด็กบางคน การซุบซิบนินทา การล้อเลียน หรือการกระแนะกระแหน

            พูดง่าย ๆ หากเรามองในแง่ของกายภาพผู้ชายจะก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิง แต่หากมองในแง่ของสังคม ผู้หญิงจะก้าวร้าวมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นในภาพรวมแล้วมันจึงเป็นเรื่องยากอย่างมากหากจะระบุว่าเพศไหนกันแน่ที่ก้าวร้าวมากกว่ากัน เพียงแต่เราสามารถสรุปได้ว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงก็มีความก้าวร้าวที่ไม่แพ้ผู้ชายเช่นเดียวกัน หากเรานิยามความก้าวร้าวในมุมมองที่กว้างมากขึ้นอย่าง "ความมุ่งหวังจะสร้างความเสียหายให้อีกฝ่าย"

            แต่ต่อให้เราพูดถึงความก้าวร้าวในแง่ของกายภาพเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะก้าวร้าวน้อยกว่าผู้ชายเสมอไป เพราะจากการทดลองอันโด่งดังของมิลแกรมที่ผู้เข้าทดลองจะได้รับคำสั่งจากนักวิจัยให้ช๊อตไฟฟ้าแก่หน้าม้าที่ตอบคำถามผิด (หน้าม้าเป็นนักแสดงที่ทำเป็นเหมือนโดนไฟฟ้าช๊อตเท่านั้น) เขาพบว่าผู้หญิงในการศึกษาครั้งนี้ช๊อตไฟฟ้าด้วยระดับความรุนแรงที่มากพอ ๆ กับผู้ชาย

            นอกจากนั้นในหนังสือ Situations Matter ผู้เขียน แซม ซอมเมอรส์ (Sam Sommers) ได้เล่าถึงงานวิจัยหนึ่งที่นักพฤติกรรมศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมก้าวร้าวในห้องทดลอง เช่น เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้ใหญ่ช๊อตไฟฟ้าหรือเปิดเสียงซ่าดังสนันใส่คนอื่นผ่านหูฟัง ผู้ชายมีแนวโน้วมากกว่าที่จะแสดงความก้าวร้าว แต่ความแตกต่างระหว่างเพศได้หายไปทันทีเมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองถูกยั่งยุก่อน 

            นั่นแสดงว่าผู้หญิงมีความก้าวร้าวทางกายภาพมากพอ ๆ กับผู้ชายหลังจากที่ได้รับคำสั่งหรือถูกยั่วยุ แต่พวกเธอมักใช้แรงผลักดันนี้ด้วยวิธีที่แตกต่างออกไปโดยเน้นเรื่องทางกายภาพน้อยกว่าผู้ชาย ข้อสรุปนี้จึงไม่สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าผู้ชายก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิงซึ่งเกิดปัจจัยที่มีมาแต่กำเนิดหรือปัจจัยทางชีววิทยา เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มจะก้่าวร้าวพอ ๆ กับผู้ชาย เพียงแต่พวกเธอมีแรงผลักดันให้เก็บความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้

            ลองคิดดูสิครับว่าจะเป็นอย่างไรหากผู้หญิงแสดงความก้าวร้าวออกมาโดยตรงอย่างโจ้งแจ้ง คนจำนวนมากจะคิดเห็นอย่างไร เพราะมันคือบรรทัดฐานทางสังคมที่พบเห็นได้ทั่วไปเกี่ยวกับเพศไงครับ นั่นคือ ผู้หญิงไม่ควรก้าวร้าว ผู้ชายไม่ควรร้องไห้ และการก่อเหตุตีกันก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงจึงอดกลั้นไม่ให้ตัวเองแสดงด้านที่ก้าวร้าวออกมา

            เว้นแต่พวกเธอจะมีช่องทางอ้อม ๆ อย่างเหมาะสมที่จะแสดงความก้าวร้าวออกไปได้อย่างแนบเนียน หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ในอนาคตเราจะพบเห็นข่าวการใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผยของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชีววิทยายากที่จะเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้นแต่บริบททางสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า กล่าวคือ หากบรรทัดฐานทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป

พฤติกรรมหรือการแสดงออกของมนุษย์ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

อ้างอิง

McGinnis, MY. (2004). "Anabolic androgenic steroids and aggression: studies using animal models". Annals of the New York Academy of Sciences. 1036: 399–415

Sommers, S. (2012). Situations Matter: Understanding How Context Transforms Your World. NY: Riverhead Books.

Von der, PB, Sarkola, T, Seppa, K, Eriksson, CJ. (2002). "Testosterone, 5 alpha-dihydrotestosterone and cortisol in men with and without alcohol-related aggression". Journal of Studies on Alcohol. 63 (5): 518–26

ความคิดเห็น