อะไรก็ตามที่ไม่ทำให้เราไม่ถึงตาย ย่อมทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

การพบเจอกับประสบการณ์เลวร้ายไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราจะต้องพังทลาย

            "อะไรก็ตามที่ไม่ทำให้เราไม่ถึงตาย ย่อมทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น" คือคำกล่าวของฟริดริค นิตเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชื่อดังชาวเยอรมัน เป็นคำกล่าวที่ครั้งหนึ่งผมเคยตั้งคำถามว่ามันจริงหรือไม่ เพราะมีคนมากมายที่เผชิญกับช่วงเวลาที่เลวร้ายแล้วจบลงที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือไปถึงขั้นฆ่าตัวตาย ไม่เพียงแค่นั้นสิ่งที่ผมเผชิญก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกเลยว่าตัวเองแข็งแกร่งขึ้น

            แต่หลังจากที่ดำเนินชีวิตผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ มันทำให้ผมตระหนักว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริง เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งและความรุนแรงของเหตุการณ์ยากลำบากที่เราพบเจอ และระดับความเข้มแข็งทางจิตใจที่จำเป็นต่อการประเมินประสบการณ์ที่เราพบเจอว่า "มันถึงตายหรือไม่" 

            ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่เคยหรือกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าเรื่องราวที่พบเจอจะเป็นอะไรก็ตาม มันก็นำมาซึ่งความทุกข์ ความเศร้า ความเจ็บปวด แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือทุกประสบการณ์มันมีประโยชน์บางอย่างซ้อนเอาไว้อยู่

            ในหนังสือ  The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It ผู้เขียน เคลลี แม็คโกนิกาล (Kelly McGonigal) ได้นำเสนอเรื่องราวของ มาร์ก ซีรี (Mark Seery) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโลทำการวิจัยเกี่ยวกับความสำคัญของชีวิตในอดีตที่ผ่านมา เขามีชื่อเสียงโด่งดังจากการวิจัยที่ก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องสิ่งใดก็ฆ่าเราไม่ได้ "Whatever Does Not Kill Us" 

            ในการวิจัยนี้เขาและเพื่อนร่วมทีมพยายามที่จะท้าทายความเชื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเหตุการณ์สะเทือนใจมักเพิ่มความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวลและการเจ็บป่วย โดยแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์เชิงลบที่ผ่านเข้ามาในชีวิตช่วยป้องกันผลลัพธ์เหล่านี้ และช่วงเวลาที่ยากลำบากสามารถก่อให้เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจได้

            การค้นพบอันน่าทึ่งเหล่านี้เป็นผลจากการศึกษาด้วยการติดตามชาวอเมริกันมากกว่า 2,000 คนจากหลากหลายกลุ่มที่แตกต่างกันทั้งอายุ เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งรายละเอียดเชิงประชากรศาสตร์เรื่องอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา 4 ปี 

            การวิจัยนี้มีระเบียบวิธีที่ไม่ยากเกินความเข้าใจ ทีมวิจัยเพียงแค่ถามผู้เข้าร่วมทดลองว่าพวกเขาเคยพบเจอเหตุการณ์​เชิงลบหรือไม่ ซึ่งทีมวิจัยได้เตรียมเหตุการณ์เชิงลบเอาไว้ 37 รายการ ยกตัวอย่างเช่น โรคภัยหรือการบาดเจ็บที่ร้ายแรง การเสียชีวิตของเพื่อนหรือคนที่รัก ปัญหาทางด้านการเงินครั้งใหญ่ การหย่าร้าง การอาศัยอยู่ในบ้านหรือละแวกบ้านที่ไม่ปลอดภัย การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ การรอดชีวิตจากภัยธรรมชาติอย่างไฟไหม้หรือน้ำท่วม ฯลฯ

ช่วงเวลาที่ยากลำบากสามารถก่อให้เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจได้

            นอกจากนั้นกลุ่มทดลองทั้งหมดยังต้องระบุเหตุการณ์ปลีกย่อยสำหรับแต่ละรายการเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาทบทวนเกี่ยวกับทุกช่วงเวลาอันยากลำบากที่เคยพบเจอ โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าร่วมการทดลองระบุว่าเคยพบเจอเหตุการณ์เหล่านั้น 8 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวนร้อยละ 8 ที่ระบุว่าไม่เคยประสบกับเหตุการณ์เหล่านั้นเลย ส่วนผู้เข้าร่วมการทดลองที่ประสบกับเหตุการณ์เชิงลบมากที่สุดคือ 71 ครั้ง

            นั่นหมายความว่าจากจำนวนกลุ่มทดลองทั้งหมด 2000 คน มีกลุ่มทดลองจำนวน 1840 คนที่เคยประสบพบเจอกับประสบการเชิงลบโดยเฉลี่ย 8 ครั้งและมากที่สุด 71 ครั้ง 

            มาร์ก ซีรี พยายามที่จะหาคำตอบว่าผลกระทบระยะยาวของช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยการพิจารณาว่าจำนวนเหตุการณ์สะเทือนใจที่ผู้คนเคยพบเจอสามารถทำนายสุขภาวะของพวกเขาในช่วง 4 ปีของการศึกษานี้หรือไม่ ความเป็นไปได้รูปแบบหนึ่งคือทั้งสองปัจจัยมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงในเชิงลบ กล่าวคือ ยิ่งเผชิญกับเหตุการณ์อันยากลำบากมากเท่าไหร่ สุขภาวะของคนคนนั้นก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น 

            แต่ซีรีย์กลับพบเจอคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เขาพบว่ากลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางของเส้นกราฟตัวยูมีสุขภาวะยอดเยี่ยมที่สุด นั่นหมายความว่าผู้ที่เผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในระดับปานกลางมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าต่ำที่สุด มีปัญหาสุขภาพกายน้อยที่สุด และมีความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด

            ในขณะที่กลุ่มที่อยู่บริเวณปลายสุดของเส้นกราฟทั้งสองด้านซึ่งก็คือผู้ที่เผชิญกับช่วงเวลาอันยากลำบากมากที่สุดหรือน้อยที่สุดกลับซึมเศร้าและมีปัญหาสุขภาพมากกว่า รวมถึงพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่าด้วย แม้หลายคนจะเชื่อว่าชีวิตที่ปราศจากความยากลำบากคือชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ที่แทบไม่เคยเจอความยากลำบากกลับมีความสุขน้อยกว่าและสุขภาพแย่กว่าผู้ที่เคยเผชิญกับความยากลำบากจำนวนหนึ่ง

            อันที่จริงผู้ที่ไม่เคยพบเจอเหตุการณ์สะเทือนใจเลยรู้สึกพึงพอใจในชีวิตน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผู้ที่เคยพบเจอเหตุการณ์สะเทือนใจระดับปานกลาง นอกจากนั้นตลอดระยะเวลา 4 ปี ทีมวิจัยยังค้นพบว่าเมื่อกลุ่มทดลองเคยพบเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายระดับปานกลาง พบเจอกับความยากลำบากในปัจจุบัน พวกเขามีแนวโน้มที่จะซึมเศร้าหรือมีปัญหาสุขภาพใหม่ ๆ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยพบเจอกับความยากลำบาก

            การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการพบเจอกับประสบการณ์แย่ ๆ สามารถทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นได้ ถ้าเทียบกับบุคคลที่แทบจะไม่เคยพบเจอประสบการณ์เหล่านั้น หรือบุคคลที่พบเจอกับประสบการณ์เลวร้ายที่รุนแรงมากจนเกินไป 

            อย่างไรก็ตาม มาร์ก ซีรี ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนวิ่งเข้าหาประสบการณ์เชิงลบหรอกครับ เพียงแต่เขาแค่ต้องการทำความเข้าใจว่าประสบการณ์อันยากลำบากมีบทบาทอย่างไรต่อชีวิตมนุษย์ เขารู้ดีว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากพบเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจ และเขาก็ไม่ได้แนะนำให้ผู้คนเลิกหาทางป้องกันความทุกข์เพื่อใช้โอกาสนั้นในการพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจ

            แต่ถึงเราจะอยากหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดและความทุกข์ใจมากแค่ไหน การใช้ชีวิตโดยไม่พบเจอกับความบอบช้ำทางใจ การสูญเสีย หรือช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่งก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้เราพบเจอกับเหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่เลวร้ายในสายตาคนอื่น แต่หากเราประเมินว่ามันเลวร้ายแล้วเราเจ็บปวดกับมัน มันก็จะกลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายสำหรับเรา

            ดังนั้นการพบเจอกับประสบการณ์เลวร้ายไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราจะต้องพังทลาย เราไม่ควรจะท้อแท้หรือบอกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม แน่นอนมันไม่ยุติธรรมที่เราจะต้องเกิดมาเจอกับเรื่องราวแบบนี้ แต่ขอให้รู้เอาไว้ว่ามันไม่ได้เสียเปล่าอย่างที่คิด มันเป็นพลังที่สำคัญที่ทำให้เราเป็นเราจนถึงทุกวันนี้ และมันยังมีข้อดีซ่อนอยู่เอาไว้มากกว่าที่เราคิด

            เพราะนอกจากเราจะแกร่งขึ้น มีสุขภาพที่ดี คนที่เคยพบเจอประสบการณ์ยากลำบากยังเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น สรุปก็คือเมื่อเราก้าวผ่านบททดสอบความแข็งแกร่งที่เข้ามาในชีวิตได้ เราก็ไม่แนวโน้มที่จะตระหนักว่าตัวเองสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคต 

และประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือทรัพยากรในการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น

อ้างอิง

McGonigal, K. (2016). The Upside of Stress: Why Stress Is Good for You, and How to Get Good at It. NY: Avery.

ความคิดเห็น