มนุษย์สามารถบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเอง เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

การบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเองได้ จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ขัดขวางการเจริญเติบโต 

            ด้วยความที่ตัวผมเป็นครูทำให้เป็นเรื่องชัดเจนสำหรับผมว่า มนุษย์สามารถบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเองได้ เพราะผมเห็นนักเรียนตั้งแต่ยังเขียนและอ่านไม่ได้จนสามารถเขียนได้คล่อง อ่านได้คล่อง นักเรียนบางคนอาจจะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แต่นักเรียนบางคนก็อาจจะต้องใช้หลักจิตวิทยาต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตัวเขาเพื่อให้พัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกับนักเรียนคนอื่น

            สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยก็คือการจะพัฒนาให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น หากมีนักเรียนมากจนเกินไปเบียดเสียดกันในห้อง ส่งเสียงดังตลอดเวลา ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะพัฒนาความสามารถทางการเรียนรู้ได้ดี แต่หากห้องเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เสียงไม่ดังเกินไป มีแสงสว่างพอเหมาะ มีสื่อการเรียนรู้ที่ดี นักเรียนไม่เยอะจนเกินไป พวกเขาก็ย่อมสามารถบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเอง

            เรื่องนี้สามารถประยุกต์ได้กับทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ทำงาน หรือในสังคม หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น รู้สึกมีความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเข้าถึงเครื่องมือต่าง ๆ หรือความรู้ ได้เป็นตัวของตัวเอง มีที่พักผ่อนอย่างเหมาะสม ฯลฯ ก็ย่อมสามารถบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเองได้เช่นเดียวกัน

            ในหนังสือ ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน (แปลโดย ชลฎา เจริญวิริยะกุล) ผู้เขียน ยูซึเกะ ซูซูกิ ได้เล่าถึงสิ่งที่นักจิตวิทยามนุษยนิยมชื่อดัง คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) เขาได้อธิบายว่า "ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ต้นไม้ หญ้าทะเล หรือไส้เดือน ไม่ว่าจะเป็นลิงหรือมนุษย์ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเอง

            "พูดง่าย ๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกนี้ถูกลิขิตให้ทำภารกิจของชีวิตที่ได้รับมาเพื่อให้มีชีวิตที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น มันฝรั่งที่ถูกเก็บไว้ในห้องเก็บของชั้นใต้ดินที่มีแค่หน้าต่างบานเล็ก ๆ โดยชี้ให้เห็นว่ามันฝรั่งที่ถูกเก็บไว้ในชั้นใต้ดินลึก 2 เมตรนั้นสามารถแตกหน่อออกมาได้ยาวถึง 60 - 90 เซนติเมตรเพื่อที่จะยืดไปรับแสงแดดอ่อน ๆ ที่สองมาจากหน้าต่าง"

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเอง

            โรเจอร์สยังกล่าวอีกว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกนี้รู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่าตัวเองต้องเติบโตอย่างไรและต้องมุ่งหน้าไปทางไหน แต่จะสามารถบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเองได้ จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่ขัดขวางการเจริญเติบโต ต้นไม้ที่แห้งตายเพราะได้น้ำหรือแสงแดดไม่เพียงพอหรือได้น้ำปุ๋ยมากเกินไปเพราะความหวังดี 

            ไม่ต่างกับมนุษย์ที่พัฒนาตัวเองไม่ได้เต็มที่เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสำหรับมนุษย์แล้วพื้นฐานของสภาพแวดล้อมที่ไม่ขัดขวางการเจริญเติบโตก็คือ "ความสบายใจ" เปรียบเปรยเหมือนกับ ดินที่มีความสบายใจจะทำให้เมล็ดงอกและแผ่กิ่งก้านสาขาออกตามธรรมชาติ 

            ในสาขาจิตวิทยาองค์กรมีตัวแปรชื่อ "ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)" ซึ่งโด่งดังจากการศึกษาของ เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ผู้เขียนหนังสือ The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจในองค์กร

            เอ็ดมอนด์สัน มีความเห็นว่า "การทำงานเป็นทีมจะประสบความสำเร็จได้จะมาจากการที่คนในทีม มีความเต็มใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับกันและกัน สามารถที่จะเสี่ยงและความล้มเหลวได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และสามารถพูดคุยเปิดอกกันได้" ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดจากทีมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ

            สิ่งนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกบริบท ยกตัวอย่างเช่นในครอบครัว หากคนพ่อ แม่ ลูก เข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ได้เป็นตัวของตัวเอง ก็ย่อมทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพราะทุกวันนี้เรามักจะพบเห็นครอบครัวที่ผู้ปกครองตั้งกติกาและพยายามควบคุมลูกของตัวเองมากจนเกินไป

            ไม่แตกต่างกับการทำงานกันเป็นทีม หากทีมงานรู้จักให้โอกาส ช่วยเหลือกันอย่างเข้าอกเข้าใจกัน ย่อมสามารถประสบความสำเร็จในการทำงาน สอดคล้องกับการศีกษาหนึ่งที่พบว่าวิศวกรที่แบ่งปันแนวคิดของตนเองโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนมีแนวโน้มสูงกว่าวิศวกรคนอื่น ๆ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ เพราะพวกเขาทำให้ผู้อื่นรู้สึกปลอดภัยที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องกลัว

            จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือรูปแบบความสัมพันธ์และการแสดงออกที่ดีต่อกัน หรือเรียกว่า "การมีสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ" แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสามารถรวมไปถึงสวัสดิการที่รัฐมอบให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี สวัสดิการถ้วนหน้าอื่น ๆ และบำนาญถ้วนหน้า ซึ่งประเทศที่มีความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจและมนุษย์จะสนับสนุนสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกคน

            อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์การทำงานของตนเอง ผมมองว่ารูปแบบการแสดงออกในองค์กรคือสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะในแต่ละวันเราทำงานกันเกือบครึ่งหนึ่งของเวลาชีวิตหากนับรวมเวลาเดินทางไปด้วย ดังนั้นหากพนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน กล้าพูด กล้าขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ แบ่งปันข้อมูลร่วมกัน ให้ Feedback อย่างเป็นมิตร และมีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน ก็จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมซึ่งเป็นผลดีต่อการบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเอง

            สิ่งนี้คล้ายกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท Microsoft ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน (Empathy) ที่ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) CEO ของ Microsoft สร้างขึ้นมา ในหนังสือ Hit Refresh ที่เขาเขียน นาเดลลาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันเนื่องจากเขาให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้คนและเชื่อในเรื่องของการได้นำเสนอความคิด ความรู้สึก โดยเขาจะรับฟังไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาก่อนโดยไม่รีบด่วนตัดสินใจ 

            ไม่เพียงแค่นั้นนาเดลลายังให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้ก่อน เขามองว่าการให้เปรียบดั่งการฝากเงินในธนาคาร หากคุณไม่เคยฝากเงิน เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะถอนเงินออกมาได้ ดังนั้นเวลาคุณไปร่วมมือกับใคร (พาร์ทเนอร์) คุณควรเข้าไปด้วยความคิดที่ว่า "เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง" มากกว่าที่จะคิดว่า "เราจะได้อะไรจากเขา"

            ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการบรรลุความเป็นไปได้สูงสุดของตัวเอง จึงรวมทั้งสวัสดิการทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ สถานที่ที่เหมาะสมกับบริบท สิ่งอำนวยความสะดวก สัมพันธภาพ และรูปแบบการแสดงออกที่ดีต่อกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้กล่าวมา เพราะการดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้

เต็มไปด้วยปัจจัยมหาศาลที่กำลังรอการค้นพบเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์

อ้างอิง

Edmondson A. (2018). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. NJ: Wiley.

Nadella, S. (2017). Hit Refresh: The Quest to Rediscover Microsoft's Soul and Imagine a Better Future for Everyone. NY: HarperCollins.

Suzuki, Y. (2021). 我慢して生きるほど人生は長くない, Tokyo: Ascom. (ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน ผู้เขียน ยูซึเกะ ซูซูกิ แปลโดย ชลฎา เจริญวิริยะกุล. กรุงเทพฯ: วีเลิร์น.)

ความคิดเห็น