เดวิด วอร์เรน (David Warren) ผู้ให้กำเนิดกล่องดำ สิ่งประดิษฐ์ที่วิเศษแต่แฝงไปด้วยเบื้องหลังที่น่าเศร้า

วอร์เรนถือว่ากล่องดำเป็นสิ่งที่ควรมอบเป็นของขวัญแก่มนุษยชาติมากกว่าที่จะนำมาเป็นสินค้า

            เมื่อเครื่องบินตกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้หาสาเหตุและวางระบบป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภายหลัง ก็คือ "กล่องดำ" มันเป็นอุปกรณ์ที่ทนทานมาก สามารถบันทึกเสียงและความเป็นไปทุกช่วงเวลาในการบินแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของตัวเครื่อง หรือเสียงในห้องนักบิน เพราะหากเครื่องบินตกมีโอกาสน้อยมากที่จะมีผู้รอดชีวิต 

            ในอดีตเครื่องบินไม่ได้มีกล่องดำเหมือนในทุกวันนี้ และโอกาสที่เครื่องบินตกก็สูงมากกว่าในปัจจุบันอย่างมาก สิ่งประดิษฐ์นี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานที่มีความปลอดภัยมากขึ้นของสายการบิน แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าสิ่งประดิษฐ์วิเศษนี้มีเบื้องหลังที่น่าเศร้าซ้อนอยู่ ผู้ที่คิดค้นขึ้นมาคือ เดวิด วอร์เรน (David Warren) นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย

            วอร์เรนเกิดในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ แวดล้อมไปด้วยชนเผ่าพื้นเมืองอะบอริจินส์ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองออสเตรเลีย พ่อของเขาเป็นนักสอนศาสนาที่สละความสุขสบายในเมืองใหญ่ เพื่อมาเผยแผ่ศาสนาให้กับชนพื้นเมือง ด้วยความยากลำบากและความไม่คุ้นเคยกับอากาศกับสิ่งแวดล้อมทำให้วอร์เรนเกิดการบาดเจ็บ ป่วย หรือเป็นอันตราย และด้วยความยากลำบากก็ทำให้บางครั้งเขาต้องอดมื้อกินมื้อ 

            เมื่อวอร์เรนอายุได้สี่ขวบพ่อของเขาตัดสินใจส่งเขาไปอยู่โรงเรียนประจำที่ซิดนีย์ ทำให้เขาได้มีโอกาสแค่ช่วงโรงเรียนปิดเทอมที่จะอยู่กับครอบครัว แต่วอร์เรนก็มีความสนิทสนมกับครอบครัวอย่างมาก นั่นจึงทำให้เขาได้รับความรักอย่างเหลือล้น ซึ่งมากเพียงพอที่จะทำให้เขาไม่รู้สึกเดียวดาย

            ในระหว่างที่วอร์เรนอยู่โรงเรียนประจำ พ่อของเขาซื้อวิทยุที่สมัยนั้นเป็นของหายากมาก เขาสามารถแอบฟังได้เมื่อโรงเรียนให้ปิดไฟนอน แต่วิทยุนี้กลับกลายเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เขาได้รับจากพ่อ เนื่องจากพ่อของเขาประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเวลาไม่นานหลังจากนั้น นับเป็นอุบัติเหตุทางอากาศครั้งแรกของออสเตรเลีย พ่อและผู้โดยสารอื่น ๆ อีกกว่าสิบชีวิตรวมทั้งนักบินเสียชีวิตหมด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีกล่องดำจึงไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด

            ในความมืดมิดวอร์เรนน้ำตาไหลขณะนอนฟังวิทยุ พร้อมกับตั้งคำถามว่า "ทำไมเครื่องบินถึงตก" แต่ไม่นานด้วยความเป็นเด็ก ถึงแม้กำลังเผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้าย วอร์เรนจึงแกะเครื่องวิทยุออกมา และประกอบมันกลับเข้าไป จากเหตุการณ์นั้นทำให้เขาซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาประกอบเป็นวิทยุเครื่องใหม่ได้สำเร็จท่ามกล่างเสียงชื่นชมจากเพื่อน 

กล่องดำเป็นอุปกรณ์ที่ทนทาน สามารถบันทึกเสียงและความเป็นไปทุกช่วงเวลาในการบินแต่ละครั้ง

            นั่นจึงเป็นอาชีพแรกวอร์เรนในการประดิษฐ์วิทยุขายให้เพื่อน ๆ นอกจากจะทำให้เขาได้ค่าขนมยังทำให้เขามีความชำนาญมากขึ้นอีกด้วย ด้วยความชอบในการประดิษฐ์ทำให้เขาสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์จนสามารถจบปริญญาเอกจากประเทศอังกฤษ 

            เขานึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาผลิตกล่องดำได้เป็นผลสำเร็จ เด็กชายที่ไม่เคยได้รับคำตอบเรื่องการจากไปของพ่อสุดที่รัก เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่ช่วยให้การบินรอบโลกได้รับคำตอบมากมายเพื่อช่วยในการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับการเดินทางบนอากาศ แม้เขาจะมีความโศกเศร้าแต่มันก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เขาช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก เพื่อไม่ให้มีใครต้องประสบกับความโศกเศร้าเช่นเดียวกับเขา

            สุดท้ายหนึ่งในเหตุผลที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็คือ เดวิด วอร์เรน ไม่เคยจดลิขสิทธิ์กล่องดำ เพราะวอร์เรนถือว่ากล่องดำเป็นสิ่งที่ควรมอบเป็นของขวัญแก่มนุษยชาติมากกว่าที่จะนำมาเป็นสินค้า 

ข้อคิด

            1) มนุษย์ประเมินระดับความทุกข์ด้วยความคิดของตนเอง ไม่ว่าเป็นเหตุการณ์เล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตามตราบใดที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบหรือทุกข์ ก็สามารถเกิดแผลเป็นทางจิตใจได้ทั้งสิ้น เพราะมันขึ้นอยู่กับการประเมินของตัวเราเองผ่านประสบการณ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราพบเห็นคนจำนวนมากที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่หลังจากตนเองสอบตกหรืออกหัก 

            ความล้มเหลว ความผิดพลาด หรือความทุกข์นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับเราแล้ว ยังเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้กับเราด้วย เราจึงไม่ควรเสียใจที่ตนเองพบเจอแต่ความผิดหวังมากจนเกินไป ขอให้ปรับความคิดของตนเองและมองมันในอีกมุมมองหนึ่ง มองว่ามันคือความท้าทาย คือสิ่งที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น คือธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องพบเจอ หากเราสามารถปรับความคิดของตนเองได้ก็จะทำให้เราปรับตัวต่อความทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            2) หาแรงบันดาลใจจากแบดแผล ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านล้วนคยพบเจอกับเรื่องเลวร้ายด้วยกันทั้งนั้น และหลายครั้งเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นก็ส่งผลให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบตามมา ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความอ้างว้าง หรือความทรมาน เราทุกคนต่างเคยพบเจออารมณ์เหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญประสบการณ์เลวร้ายต่อหน้าต่อตา หรือการได้รับข่าวที่เลวร้ายเหมือน เดวิด วอร์เรน 

            ดังนั้นมันจึงไม่มีประโยชน์ที่เราจะมัวแต่โทษตัวเองหรือโทษคนรอบข้างเพื่อที่จะรู้สึกดีขึ้นหรือลงโทษตัวเอง เราควรจะหาวิธีการจะฟื้นจากความโศกเศร้าด้วยการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หลายคนเอาชนะความโศกเศร้าโดยการเขียนนิยาย หรืออกกำลังกายเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจึงพบเห็นคนที่หลังจากอกหักมาแต่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือ 

            การพบเจอเรื่องราวโศกเศร้าอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราอาจจะนำมันมาเป็นวัตถุดิบในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น หรือประสบความสำเร็จมากขึ้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการคิดของเรา การที่เรามีเป้าหมายในชีวิต และทำมันได้ประสบผลสำเร็จ สามารถทำให้เรามีคุณค่ามากขึ้น มีความสุขมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราหลุดออกจากความโศกเศร้าและกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้นมากขึ้น อย่างที่ ฟริดริค นิตเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชื่อดังได้กล่าวเอาไว้ว่า

สิ่งที่ฆ่าเราไม่ตาย จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

อ้างอิง

สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2552). วันเยาว์ของคนใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ความคิดเห็น