ตระหนักถึงเสียงจากจิตใจและร่างกายของตนเอง ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์

สิ่งที่สมองต้องการกับสิ่งที่ร่างกายต้องการอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้

            จากประสบการณ์ตัวเอง ผมพบผู้คนมากมายที่พูดว่า "เข้าใจตนเอง" "ฟังเสียงหัวใจตัวเอง" หรือ "รับรู้อารมณ์ของตนเอง" เป็นคำที่คนทั่วไปใช้กันแพร่หลายเลยทีเดียว แต่จริง ๆ แล้วน้อยคนที่จะเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง ๆ อ่านแล้วอาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่า "แล้วคนเขียนรู้ดีมากนักหรือไง" ซึ่งจริง ๆ แล้วผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจตัวเองสักเท่าไหร่เช่นเดียวกัน

            จริง ๆ แล้วมนุษย์ทุกคนแทบจะไม่มีใครสามารถเข้าใจตัวเองได้อย่างแท้จริง ๆ เพราะตั้งแต่เราเติบโตขึ้นมา พวกเราต่างโดนสังคมขัดเกลาให้เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน ทำให้เราจำเป็นต้องปกปิดสัญชาตญาณ หรือการแสดงอารมณ์เอาไว้ ที่หลายคนเรียกว่า "การแสดงอารมณ์อย่างไร้กะลาทะสะ" ยกตัวอย่างเช่น การร้องไห้ออกมาต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก การแสดงความโกรธกับคนในครอบครัว หรืออาการหวาดกลัวต่อหน้าคนที่เราแข่งขันด้วย

            การถูกสังคมขัดเกลาทำให้เราเหมือนกับคนหูหนวกที่ไม่สามารถได้ยินเสียงจากจิตใจของตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่จิตใจของเรามักจะส่งสัญญาณหลายอย่างออกมา ยกตัวอย่างเช่น ต่อให้ทำตัวแข็งแกร่งร่าเริงในสถานการณ์ที่น่าเศร้าสักเท่าไหร่ หลายครั้งจิตใจของเราก็ส่งสัญญาณเป็นน้ำตา หรือการแสดงความโกรธ หงุดหงิดออกมา เพื่อจะสื่อสารว่า "จริง ๆ ฉันกำลังเศร้านะ" หรือ "จริง ๆ ฉันกำลังโกรธนะ"

            เมื่อเราลองเงี่ยหูฟังจิตใจของตนเอง เรามักได้ยินแต่เสียงในหัว (ความคิด) ก่อนเสียงของจิตใจหรือร่างกาย และเมื่อสมองตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี เราก็จะหลงเข้าใจผิดไปว่ามันเป็นสิ่งที่เราพอใจด้วย แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่สมองต้องการกับสิ่งที่ร่างกายต้องการอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทำงานหนักเกินไปหรือทำงานที่ไม่เหมาะกับตนเองจนร่างกายถึงขีดจำกัดและเริ่มแสดงสัญญาณออกมา เช่น ตื่นเช้าไม่ไหว หรือ แค่จะออกไปทำงานก็รู้สึกจะคลื่นไส้แล้ว

            หลายคนที่เผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว แต่ก็กลับคิดว่า "มันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบนะ" "ถ้าไม่ทำงานก็โดนไล่ออกนะ" "เราเป็นพนักงานกินเงินเดือนนะ" หรือ "เราต้องทำประโยชน์ให้กับบริษัทมากที่สุด" ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ผิดเพราะเราถูกสังคมและระบบทุนนิยมหล่อหลอมให้เราคิดแบบนั้น เพียงแต่ด้วยเหตุผลนี้มันจึงทำให้เราห่างไกลกับการเข้าใจตัวเอง รับรู้อารมณ์ของตนเอง หรือฟังเสียงร่างกายหรือจิตใจของตัวเองได้

เหตุผลต่าง ๆ ที่โดนค่านิยมสังคมและระบบทุนนิยมหล่อหลอม ทำให้เราห่างจากการได้ยินเสียงภายในจิตใจ

            ทั้งที่ร่างกายอ่อนล้าและต้องการการพักผ่อน สมองกลับต้องการสิ่งเร้าหรือข้อมูลจนทำใจวางโทรศัพท์ไม่ลง สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการทำงานไปเรื่อย ๆ จนนอนไม่หลับ ซึ่งผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนก็เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงแค่เรื่องเกี่ยวกับการทำงานเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน 

            เช่น บางคนอยู่ด้วยแล้วไม่สบายใจ รู้สึกแย่ รู้สึกอึดอัด โดยปกติแล้วเราจะต้องรีบถอยห่างออกมา แต่สมองของเราคิดว่า "นี่เป็นพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดนะ" "นี่เป็นคุณครูนะ" หรือ "นี่เป็นแฟนนะ" สุดท้ายเราก็ถอยห่างออกมาไม่ได้

            อย่างไรก็ตามผมไม่ได้บอกว่าเราควรจะหนีออกจากทุกความสัมพันธ์ที่อึดเพียงแต่ร่างกายและจิตใขของเราส่งสัญญาณออกมาเพื่อให้เราถอยห่าง เพราะร่างกายของเราถูกสร้างขึ้นมาให้คอยสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัว เวลาที่ประเมินแล้วว่าสามารถสบายใจได้หรือปลอดภัยเราจะรู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าประเมินแล้วคิดว่ามีอันตรายก็จะเกิดความวิตกขึ้นมา

            ความหวั่นวิตกเป็นสิ่งที่สร้างภาระให้กับร่างกายและจิตใจอย่างยิ่ง พลังงานมหาศาลจะถูกใช้ไปกับการคอยระแวดระวัง ซึ่งถูกควบคุมด้วยระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานอย่างรวดเร็วเหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ และในบางกรณีก็แม่นยำยิ่งกว่าการใช้สมอง (ความคิด) เสียอีก กระบวนการดังกล่าวเปรียบได้กับการคิดเร็ว (ระบบ 1) และการคิดช้า (ระบบ 2) ของนักจิตวิทยาชื่อดังเจ้าของโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman)

            หากเรารู้สึกไม่สบายใจเป็นระยะเวลายาวนานอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างร่างกายจิตใจและความคิด พลังงานจะถูกใช้ไปแทบไม่เหลือ ทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดแช่แข็งเพื่อประหยัดพลังงานโดยการเลิกต่อต้าน หมดพลังใจ และพยายามป้องกันตัวโดยใช้วิธีตอบสนองสิ่งเร้าทั้งหลายช้า

            การที่เราปล่อยให้กระบวนการเลิกต่อต้านและป้องกันตัวดังกล่าวทำงานไปเรื่อย ๆ ระบบประสาทอัตโนมัติหรือสัญชาตญาณก็จะลดการรับรู้ความจริงและทำให้จิตใจด้านชาไปเรื่อย ๆ เพื่อเอาชีวิตรอด กล่าวคือ ในเมื่อสิ่งรอบตัวมันทำให้เราแย่ สัญชาตญาณของเราก็จะปรับลดการรับรู้สิ่งรอบตัวให้น้อยมากที่สุด 

            คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังไม่สบายใจหรือไม่พอใจมีจำนวนไม่น้อยเลยที่กำลังอยู่ในโหมดแช่แข็งดังกล่าว ซึ่งอาการที่แสดงออกมาก็สามารถเป็นได้ตั้งแต่ ต่อต้านสังคม ไม่ยอมไปโรงเรียน ภาวะซึมเศร้า โรคซึมเศร้า ไปจนถึงโรคจิตเภท 

           ทุกวันนี้พวกเราเอาแต่พยายามทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามกรอบของสังคม ตามความเข้าใจความคิดของเราเอง พวกเราจึงเริ่มไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องการจริง ๆ คืออะไร เพราะความถูกต้องของสังคมในความเข้าใจของสมอง มักยึดโยงกับวัฒนธรรม วิธีชีวิต และคุณค่าของสังคม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณ (ร่างกายและจิตใจ) ของเราเลยแม้แต่นิดเดียว

            เมื่อเราสามารถตอบสนองตามความต้องการของสังคม เราจะรู้สึกพอใจขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของร่างกายและจิตใจของเราละก็ มันย่อมไม่อาจทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมอย่างแท้จริงได้ เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับสัตว์ทั่วไป

            อย่างไรก็ตามผมไม่ได้แนะนำให้เราทุกคนทำตามความต้องการของร่ายและจิตใจเพียงอย่างเดียวโดยละเลยความต้องการของสังคม เพียงแต่เราสามารถปรับให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการของร่ายกายจิตใจ และค่านิยมของสังคมได้ ซึ่งวิธีหนึ่งก็คือการหาเวลาที่ว่างจริง ๆ เพื่อให้สมองและร่างกายได้พัก

            ในหนังสือ ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน (แปลโดย ชลฎา เจริญวิริยะกุล) ผู้เขียน นายแพทย์ยูซึเกะ ซูซูกิ ได้อธิบายว่า เมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ปวดหัว หรือคลื่นไส้ นั่นเป็นสัญญาณเตือนที่ร่างกายกำลังบอกว่า เครียด หรือ ไม่สบายใจ เราต้องรีบหาเวลาพักผ้อน ห้ามฝืนต่อไปเป็นอันขาด

            เขาแนะนำน่าว่า "สำหรับคนที่ไม่รู้จะพักอย่างไร ก่อนอื่นให้ทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน แล้วออกไปที่ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ เงียบสงบ เช่น สวนสาธารณะหรือริมแม่น้ำ แล้วลองนั่งเหม่อไม่ทำอะไรเลยนอกจากการหายใจเฉย ๆ แค่ 1 ชั่วโมงก็ยังดี ถ้าเป็นไปได้ก็ลองฝึกหายใจลึก ๆ ดู"

            เราสามารถสร้างสัดส่วนที่สมดุลกันได้ระหว่างร่างกายจิตใจ และความคิดที่เป็นไปกรอบของสังคม เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์เพียงอย่างเดียว เพราะเราไม่มีทางหลีกเลี่ยงหรือหนีออกไปจากสังคมไปได้ 

เราถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เกิดจนทำให้เรายึดโยงกับค่านิยมของสังคมชนิดที่ตัดกันไม่ขาด

อ้างอิง

Suzuki, Y. (2021). 我慢して生きるほど人生は長くない, Tokyo: Ascom. (ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน ผู้เขียน ยูซึเกะ ซูซูกิ แปลโดย ชลฎา เจริญวิริยะกุล. กรุงเทพฯ: วีเลิร์น.)

ความคิดเห็น