ในโลกนี้ไม่มีขาวหรือดำเพียงด้านเดียว ทุกอย่างล้วนเทาและมีสองด้านรวมกันอยู่เสมอ

เหรียญที่มีสองด้าน สิ่งหนึ่งที่ดูจะชัดเจนในสายตาเราแต่จริง ๆ แล้วมันมีอีกด้านซ้อนอยู่

            ผมเป็นหนึ่งในหลายคนที่ชอบดูอนิเมะของญี่ปุ่น ซึ่งในหลาย ๆ เรื่องเนื้อหาส่วนใหญ่จะพยายามแยกขาวและดำออกจากกัน "ธรรมะกับอธรรม" "ความดีและความชั่ว" ไม่เพียงแค่ในอนิเมะเท่านั้นเพราะในโลกของความเป็นจริงเราก็พยายามอย่างยิ่งที่จะแบ่งทุกสิ่งทุกอย่างออกเป็นสองด้านเสมอ

            ยกตัวอย่างเช่น ความรวยความจน ความดีความเลว ความน่าเกลียดและความงดงาม ขยันและขี้เกียจ และอื่น ๆ อีกมากมายราวกับดาวที่อยู่บนท้องฟ้า แต่สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ความจริงแล้วทุกอย่างมีสองเฉดเสมอจริง ๆ หรือเป็นไปได้ว่าคนที่ดีที่สุดอาจจะมีความเลวบางอย่างซ้อนอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ที่คนที่รวยที่สุดอาจจะเป็นคนที่จนในสายตาของใครบางคน 

            มนุษย์เราพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายทุกอย่าง เราพยายามจะสาเหตุ เชื่อมโยง จินตนาการ และมันก็ง่ายอย่างยิ่งที่เราจะตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยนิยามมันอย่างง่าย ๆ คนดี คนรวย คนจน คนโลภ คนเจ้าอารมณ์ คนเก็บตัว ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ทุกอย่างล้วนมีสองด้านรวมกันอยู่เสมอ

            เราชอบการแยกเป็นสองกลุ่ม ดีกับชั่ว วีรบุรุษกับผู้ร้าย ประเทศของเรากับประเทศที่เหลือ การแบ่งโลกเป็นสองกลุ่มนั้นเรียบง่ายและเข้าใจได้สำหรับเรา แต่ขณะเดียวกันมันก็แสดงให้เห็นความขัดแย้ง ซึ่งเราทำแบบนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว

            สิ่งนี้พบเห็นโดยง่ายในข่าว นักข่าวมักจะบรรยายเรื่องราวต่าง ๆ ในลักษณะความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มหรือความเห็นสองด้าน พวกเขาชอบเรื่องราวของความยากจนเหลือทนของมหาเศรษฐี ไปจนถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องค่อย ๆ ลากเข็นตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น

            เหมือนกับตัวอย่างอนิเมะที่ผมยกขึ้นไปข้างต้น มันเป็นการอธิบายโดยง่ายระหว่างขาวกับดำ สังเกตได้จากภาพยนต์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่แบ่งขาวกับดำชัดเจน มันสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายอย่างมากสำหรับมนุษย์เรา 

ในโลกนี้ไม่มีขาวหรือดำเพียงด้านเดียว ทุกอย่างล้วนเทาและมีสองด้านรวมกันอยู่เสมอ

            ในหนังสือ Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World and Why Things Are Better Than You Think ผู้เขียน ฮานส์ รอสลิง (Hans Rosling) แพทย์ นักวิชาการ ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพผู้ทรงอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลกเรียกสิ่งนี้ว่า "สัญชาตญานแห่งการแบ่งแยก" 

            มันทำให้เราเห็นรอยแตกแยกในที่ที่มีความต่อเนื่อง เห็นความแตกต่างในสิ่งที่สอดคล้องกัน และเห็นความขัดแย้งในที่ที่กลมกลืนกัน เราจัดให้สัญชาตญาณนี้อยู่ลำดับแรกในรายการเพราะมันเป็นสัญชาตญาณที่พบเห็นได้ทั่วไป

            แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ มันบิดเบือนข้อมูลถึงระดับรากฐาน เรื่องราวของขั่วตรงข้ามเหล่านี้ล้วนดึงดูด กระตุ้น ล่อลวง และปลุกเร้าสัญชาตญาณแห่งการแบ่งแยกได้อย่างดีเยี่ยม แต่แทบไม่ทำให้เกิดความเข้าใจเลย คนรวยที่สุดและคนจนที่สุดจะมีอยู่ตลอดไป ระบบการปกครองที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดก็จะมีอยู่ตลอดไป

            การมีสิ่งที่เป็นที่สุดปรากฎอยู่ไม่ได้บอกอะไรกับเรามากนัก ส่วนใหญ่ของสิ่งต่าง ๆ มักจะอยู่ที่ตรงกลาง และมักจะบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป 

            เหมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน สิ่งหนึ่งที่ดูจะชัดเจนในสายตาเราแต่จริง ๆ แล้วมันมีอีกด้านซ้อนอยู่ ที่เราไม่รู้ เหมือนกับมีดำต้องมีขาว มีความดีต้องมีความชั่ว อ่านแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ทั่วไป เราใช้เหรียญเพื่อใช้จ่ายแลกซื้อสินค้าโดยที่เราใช้เหรียญทั้งสองด้านพร้อมกัน เราไม่ได้ใช้ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น 

            ประเด็นก็คือทุกอย่างมันอยู่ที่การประเมินของเราเอง เราจะประเมินคนว่ารวยหรือจน ขึ้นอยู่กับมุมมองที่เรามีต่อตนเอง ใครก็ตามที่มองลงมาจากยอดตึกสูงล้วนแต่รู้ดีว่าการประเมินความสูงของตึกที่อยู่ใกล้พื้นดินนั้นทำได้ยาก ตึกทุกตึกดูเล็กเท่ากันหมด 

            เช่นเดียวกันคนที่อยู่ในระดับชนชั้นกลาง มักจะมองเห็นโลกเป็นเพียงสองประเภทคือร่ำรวยและยากจนกว่าเขา พวกเขาจะมองไม่ค่อยเห็นคนที่ยากจนมากที่สุดหรือบุคคลที่ด้อยโอกาสอย่างมาก (พวกเขาเห็นมหาเศรษฐีจากสื่อ) เช่นเดียวกับคนที่ยากจนก็จะมองเห็นคนที่ยากจนมากที่สุดและคนที่จนน้อยกว่าเขา

            เราจึงเป็นผู้ออกแบบคำนิยามให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง เราให้ความหมายสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวของเราเอง ซึ่งแต่ละบุคคลก็ล้วนมีแนวทางการประเมินที่แตกต่างกันออกไปตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละบุคคล

            ธรรมชาติของมนุษย์ที่พยายามจะเอาตัวรอดของมนุษย์ก็เหมือนกัน เราประเมินว่ามันเลวร้ายและเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่จริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทุกด้านหรอกครับ คนที่แสดงออกด้านบวกมากมายบนโลกใบนี้ที่มีความละโมบและความเห็นแก่ตัว เช่นเดียวกันคนที่แสดงออกเชิงลบ ประกอบอาชีพไม่สุจริตก็มีความรักและคุณธรรมในบางบริบทเช่นเดียวกัน

            ทุกอย่างจึงเป็นสีเทาที่มีหลายแฉด เทาอ่อน เท้าเข้ม เทาปานกลาง และเทาชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย มันมีไม่มีขาวกับดำแบบที่เราคิด เพราะอย่างที่ผมบอก "เราเป็นผู้ออกแบบนิยามของโลกใบนี้ทั้งหมดเอง" ซึ่งแต่ละคนก็จะมองต่างกันตามบริบทหรือสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ การเลี้ยงดู สถานทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน 

            ดังนั้นการจะไปตัดสินใจว่าเราเป็นคนดี พวกเราเป็นคนดี นอกนั้นเป็นคนเลว จึงไม่ถูกต้องเสมอไปในเมื่อพวกเราทุกคนก็เทาเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราควรพิจารณาก็คือพฤติกรรมที่เรา เขา เธอที่แสดงออก ณ ปัจจุบันมันถูกต้องหรือไม่ มันบวกหรือลบ 

            กล่าวคือตัดสินไปตามการแสดงออก ณ ขณะนั้น และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจตัวตน บุคลิกภาพ นิสัยใจคอ สันดานของคนอื่น เพราะการแสดงออกของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ ขาวหรือดำ

ก็ล้วนขึ้นอยู่กับบริบทหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวของเราทุกคน

อ้างอิง

Rosling, H., Rönnlund, A., & Rosling, O. (2018). Factfulness: Ten Reasons We're Wrong About the World--and Why Things Are Better Than You Think. NY: Flatiron Books.

ความคิดเห็น