มนุษย์ทุกคนควรจะมีวิถีการดำรงชีวิต (Lifestyle) ที่แตกต่างกัน

"ความสำเร็จที่แท้จริงคือการออกจากสนามแข่งหนูเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมและได้มาซึ่งความสงบทางใจ"

            เราทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับคำที่ว่า "มนุษย์ทุกคนแตกต่างกัน" ในทางจิตวิทยามันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะเราแต่ละคนมีพื้นฐานครอบครัว พันธุกรรม การศึกษา สภาพแวดล้อม สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เรามีการคิดตัดสินใจ นิสัยใจคอ ความเชื่อ และวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน 

            นั่นเป็นสิ่งที่พวกเรารู้กันดี แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ผมพบเห็นก็คือ เราพยายามอย่างยิ่งที่มีวิถีการดำเนินชีวิตที่เหมือนกันไปหมด ทุกวันนี้เราต่างศึกษาหาสูตรสำเร็จของการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะเป็น การศึกษา ความชอบ ความสามารถพิเศษ อาชีพ วิธีการบริหารจัดการเงิน และอื่น ๆ อีกมากมายที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น

            ทั้งหมดนี้ผมเรียกว่ามัน "วิถีการดำรงชีวิต (Lifestyle)" คือการแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมในการเข้าสังคม ในการบริโภค ในการหาความบันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจใช้เวลาว่าง และการแต่งตัว วิธีการทำงาน วิธีการจัดการการเงิน ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนประกอบของวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งจะถูกดำเนินเป็น "อุปนิสัย"

            หลายคนอาจจะเรียกว่า วิธีการดำเนินชีวิต หรือรูปแบบการดำเนินชีวิตก็ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ "มันควรจะแตกต่างกัน" เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพื้นฐานเบื้องหลังที่แตกต่างกัน แต่เรากลับพยายามอย่างยิ่งที่จะเหมือนกันดังที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น

            มีหลายสาเหตุทางจิตวิทยาที่พวกเราพยายามจะเหมือนกันอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นก็คือ เพราะพวกเราพยายามที่จะควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่เราคิดเอาไว้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ เราอยากที่จะควบคุมให้ฝนไม่ตก ควบคุมพฤติกรรมของคนรอบตัว ควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้สอดคล้องกับความปรารถนาเบื้องลึกของเรา

พวกเราทุกคนควรจะมีวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน เพราะเรามีพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป

            สิ่งนี้นำมาซึ่งความทุกข์อย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย เราสามารถควบคุมความคิดและการแสดงออกของตัวเองได้เท่านั้น หากเราเลือกสนใจเพียงแค่สิ่งนี้เราก็จะปล่อยวางและมีความสุขได้มากขึ้น เพียงแค่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากเพราะมันขัดแย้งกับสัญชาตญาณของมนุษย์

            เมื่อเราพยายามจะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างแต่ก็ไม่ได้ดั่งใจในทุกครั้งไป มันทำให้เรารู้สึกกลัว วิตกกังวล เครียด ไม่มั่นคง และคับข้องใจ ซึ่งผมเรียกรวมว่า "ความทุกข์" เมื่อเราเกิดสิ่งนี้เราก็จะพยายามหาวิธีจัดการกับมัน โดยการหาข้อมูลหรือตัวช่วยภายนอกมาเสริม หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลที่เราคิดว่าเขาสามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้มากที่สุด

            หรือที่เราเรียกกันว่า "บุคคลที่ประสบความสำเร็จ" สิ่งนี้เกิดขึ้นในระดับของจิตใต้สำนึก หากเราคาดหวังที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ เราก็จะต้องการปัจจัยหลายอย่างที่จะเข้ามาเป็นเครื่องมือของเรา และเครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือเราได้ดีที่สุดเพื่อที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้มากที่สุดก็คือ "เงิน"

            เงินสามารถแลกเปลี่ยนได้เกือบทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาล สามารถซื้อที่อยู่อาศัย สามารถซื้อรถสวยงามที่พาเราไปในสถานที่ต่าง ๆ สามารถซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะช่วยเหลือเราควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด นั่นเป็นสาเหตุที่คนส่วนมากตีความคนที่ประสบความสำเร็จ ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จด้านการเงิน

            ยกตัวอย่างเช่น นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นักเขียนหนังสือขายดี หรือกูรูทางด้านการเงิน ที่แม้จะไม่ได้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันมากมาย แต่หากเขาสามารถทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเขาประสบความสำเร็จด้านการเงิน ก็สามารถสร้างราคาและจุดสนใจ เพราะมันสอดคล้องกับสัญชาตญาณความปรารถนาที่จะควบคุมสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์

            สิ่งนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่พวกเราส่วนใหญ่พยายามที่จะคล้ายกัน "ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ" ต้องมีการศึกษาที่ดี เรียนโรงเรียนอันดับต้น ๆ  ต้องมีความสามารถพิเศษด้านดนตรีคลาสสิก ต้องทำงานอาชีพที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแม้ว่างานจะหนักก็ตาม ต้องอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเองมาก ๆ ต้องพูดถึงเรื่องการลงทุน หุ้น คริปโตเคอเรนซี่ หรือคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ยาก ๆ

            พวกเราส่วนใหญ่ล้วนวิ่งวนไปเหมือนกับสนามแข่งหนู ทำอะไรซ้ำซากและมีเป้าหมายที่แทบจะไม่แตกต่างกัน ทำอย่างไรจึงจะมีผลิตภาพ (Productive) มากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการเวลาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมที่สำคัญได้ยิ่งขึ้น ต้องดูภาพยนตร์ที่ชวนคิด เครียด และเข้าใจยาก เพื่อจะทำให้ตัวเองดูดีและดูเหมือนว่ามีความสามารถที่จะควบคุมหลายสิ่งหลายอย่างได้

            เราจะไม่พยายามกับสิ่งแบบนั้น ถ้าเราไม่ปรารถนาที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะมีคำว่า "พอ" มากขึ้น เมื่อเราตระหนักว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ที่เกิดมาแค่ครั้งเดียว ทำไมเราจึงไม่หาความสุขในสิ่งที่เราจับต้องได้ และไม่สิ้นเปลือง เพราะอะไรเราจึงไม่ดำเนินชีวิตไปตามเสียงเรียกร้องของตัวเอง อยากจะเป็นอย่างไรก็ชั่ง อยากจะนอนเล่น เขียนนู้นเขียนนี้ตามใจตัวเอง หรือแม้แต่จะดูภาพยนตร์ที่ดูไร้สาระในสายตาของคนอื่นก็ตาม

            หากเราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยเฉพาะกับความคิดของผู้อื่น และกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้นั่นคือพฤติกรรมและความคิดของตัวเอง จะทำให้เรามีอิสรภาพมากขึ้น เราจะมีวิถีการดำเนินชีวิตที่ต่ำกว่าที่เราสามารถจ่ายได้ และเราจะหลีกเลี่ยงวิถีชีวิตซ้ำซากทางจิตวิทยาของการต้องมีไม่น้อยหน้าคนอื่นได้

            ในหนังสือ The Psychology of Money: Timeless lessons on wealth, greed, and happiness ผู้เขียน มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ได้แนะนำว่า "การใช้ชีวิตต่ำกว่าที่คุณสามารถจ่ายได้อย่างสุขสบายโดยที่ไม่มีความต้องการมากขึ้นนั้นช่วยขจัดแรงกดดันทางสังคมจำนวนมหาศาลที่คนจำนวนมากในโลกยุคใหม่ต้องเผชิญ"

            เฮาเซิลและภรรยาเห็นพ้องต้องกันว่าพวกเขาจะมีความสุขในสิ่งที่มีต้นทุนน้อย อย่างการออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ ดังนั้นพวกเขาจึงรู้สึกว่าไม่ขาดอะไรทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามก็มีหลายครั้งที่เขาตั้งคำถามกับการจัดการการเงินของตนเอง ซึ่งไม่หวือหวาเหมือนใครเขา แต่เขาก็สติกลับมารวดเร็วเพราะอิสรภาพคือเป้าหมายสูงสุดของเขา

            เขายกคำอธิบายของ นัสซิม เทเลบ (Nassim Taleb) ผู้เป็นเทรดเดอร์ อาจารย์ นักสถิติ และนักเขียนที่กล่าวไว้ว่า "ความสำเร็จที่แท้จริงคือการออกจากสนามแข่งหนูเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมและได้มาซึ่งความสงบทางใจ" ดังนั้นพยายามควบคุมในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้เท่านั้น และปล่อยวางในสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้จะทำให้เรามีวิถีการดำเนินชีวิตในแบบฉบับของเราเอง 

และความสงบใจที่ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนในเส้นทางที่ไม่ใช่แนวทางของเราอย่างแท้จริง

อ้างอิง

Housel, M. (2020). The Psychology of Money: Timeless lessons on wealth, greed, and happiness. Hampshire (UK): Harriman House.

ความคิดเห็น