การที่เรารู้จักพอแล้วเดินออกจากเกมได้ มันจะทำให้เรากลายเป็นผู้ชนะการแข่งขันที่ไม่มีจุดสิ้นสุดโดยทันที
ในอดีตผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับคำว่า "มนุษย์ไม่รู้จักพอ" เพราะผมคิดว่าผมสามารถที่จะพอได้ เมื่อมีทุกสิ่งที่ต้องการในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมได้ทำงานและมีรายได้และมีหลายสิ่งที่ในอดีตผมเคยปรารถนาที่จะมี สุดท้ายก็พบว่าความต้องการของผมมันถูกขยับขึ้นไปสูงขึ้นอีก
เพดานที่อยู่ตรงหน้ามันสูงขึ้นไปอย่างเห็นได้ชัดจากครั้งหนึ่งในอดีต และยิ่งผมขึ้นบันไดไปสูงขึ้นเท่าไหร่ เพดานก็ยิ่งขยับสูงขึ้นพร้อมกับขั้นบันไดที่เพิ่มขั้นไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ผมไม่สามารถหยุดตัวเองจากการขึ้นบันไดให้สูงขึ้นไปได้ แม้ผมจะตั้งคำถามกับความต้องการของตัวเองมากเท่าไหร่ก็ตาม
สิ่งที่ผมเป็นสอดคล้องกับความคิดเห็นและผลการศึกษาทางจิตวิทยามากมาย เพราะมนุษย์เรามีสัญชาตญาณที่เปรียบเทียบกับผู้อื่นอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งในอดีตเรามีมันเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้ายรอบตัว แต่ในวันนี้สัญชาตญาณนี้มันกลับทิ่มแทงเราด้วยการเปรียบเทียบกับคนอื่นเพื่อจะเอาชนะ และอยู่เหนือกว่าคนอื่นให้มากที่สุดบนขั้นบนไดที่ไม่มีวันจบสิ้น
ประเด็นก็คือเพดานของการเปรียบเทียบทางสังคมนั้นสูงมากเสียจนแทบไม่มีใครเคยทำได้เลย มันกลายเป็นสงครามที่เราไม่มีวันชนะ แล้วหนทางนี้มันจะจบสิ้นได้เมื่อไหร่กัน เราจะชนะสงครามหรือออกจากวังวนแห่งการเปรียบเทียบได้อย่างไร ไม่เพียงแค่นั้นยิ่งสภาพสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำผู้คนในสังคมก็ยิ่งตะกายขึ้นบันไดให้สูงที่สุดเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด
หนทางเดียวที่จะชนะได้ก็คือการไม่ลงสนามไปต่อสู้โดยเริ่มต้นจากการยอมรับว่า "เราอาจมีพอแล้ว" แม้ว่ามันอาจจะมีน้อยกว่าคนอื่น ๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราก็ตาม ในหนังสือ The Psychology of Money: Timeless lessons on wealth, greed, and happiness ผู้เขียน มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ได้เล่าถึงเพื่อนของเขาคนหนึ่งที่มักจะเดินทางไปแสวงโชคที่ลาสเวกัส
"ในปีหนึ่งเขาถามคนแจกไพ่ว่า คุณเล่นเกมอะไรและคุณไปเล่นที่บ่อนไหน คนแจกไพ่คนนั้นทำหน้าตาเคร่งขรึมและตอบกลับไปว่า ทางเดียวที่จะชนะในบ่อนลาสเวกัสได้ก็คือออกไปในทันทีที่คุณก้าวเข้ามา" กล่าวคือเราจะไม่มีทางรู้สึกชนะได้ เพราะต่อให้เราชนะเกมหนึ่งเราก็จะต้องการมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเกิดแรงกระตุ้นให้เราวิ่งขึ้นบันไดไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายเราก็จะร่วงลงมา
ทางเดียวที่จะชนะในบ่อนลาสเวกัสได้ก็คือออกไปในทันทีที่คุณก้าวเข้ามา |
เฮาเซิล อธิบายคำว่า "พอ" ได้น่าสนใจ เขาอธิบายว่า "พอ คือการตระหนักได้ว่าความกระหายที่ไม่รู้จักพอในด้านตรงกันข้าม จะผลักให้คุณไปอยู่ในจุดที่คุณจะต้องเสียใจ" อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เรารู้ว่าถ้าเราไม่รู้จักพอ เราจะต้องเสียใจทีหลังอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงควรจะพอ
นั่นจึงเป็นเหตุที่ผมมองว่า หนึ่งในความสามารถที่สำคัญที่สุดก็คือ การรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะ "พอ" เพราะการที่เรารู้จักพอแล้วเดินออกจากเกมได้ มันจะทำให้เรากลายเป็นผู้ชนะจากเกมการแข่งขันที่ไม่มีจุดสิ้นสุดโดยทันที ทุกวันนี้เราทุกคนต่างเป็นทุกข์กับการวิ่งไล่ตามความสุข และความพึงพอใจแบบผิวเผินเพื่อปลอบประโลมกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความกดดันมหาศาลทั้งจากการทำงาน การเรียน การเงิน และสังคมบ้านเมือง
อย่างไรก็ตามการจะออกจากเกมที่ไม่จบสิ้นนี้ได้ เป็นเรื่องยากอย่างมากด้วยความที่การเปรียบเทียบและการแข่งขันเป็นสัญชาตญาณบวกกับสังคมที่เหลื่อมล้ำ ทำให้มันกลายเป็นพฤติกรรมอัตโนมัติของมนุษย์ อันยากจะปฏิเสธได้
แต่เช่นเดียวกัน มันไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถปฏิเสธหรือเดินออกจากเกมได้ แม้มันจะยากแค่ไหนก็ตาม เราสามารถมีความสุขกับสิ่งที่มีราคาถูกกว่านั้นได้ เฮาเซิลเล่าว่า เขากับภารยามีความสุขจากสิ่งที่มีต้นทุนน้อยอย่างการออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ พวกเขาจึงไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไรไป
ดังนั้นเราสามารถหากิจกรรมบางอย่างที่มีราคาถูกหรือฟรีเพื่อเสริมสร้างความสุขให้กับตัวเอง ทำให้เกิดความพอใจ แล้วถอยตัวเองออกจากการแลกเปลี่ยนที่เลวร้ายอย่างการทำงานหนักเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูง (โดยส่วนใหญ่จะน้อย) เพราะมันจะทำให้เราปลอบใจตัวเองด้วยการตะกายไปหาวัตถุนิยมอย่างบ้าคลั่งเพื่อหาความสุข
นัสซิม เทเลบ (Nassim Taleb) ผู้เป็นเทรดเดอร์ อาจารย์ นักสถิติ และนักเขียนที่กล่าวไว้ว่า "ความสำเร็จที่แท้จริงคือการออกจากสนามแข่งหนูเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมและได้มาซึ่งความสงบทางใจ"
หากเราอยากจะค้นหาสนามแข่งที่เราควรจะลงเล่น ผมแนะนำให้เราหาสนามแข่งที่ได้มาซึ่งความสงบทางจิตใจ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทำสมาธิ แต่เป็นการสบายใจที่จะทำมัน มีความสุขที่จะทำมัน โดยไม่ต้องแลกมากับความกดดัน ความวิตกกังวลที่จะทำลายชีวิตเราในระยะยาว
มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) กล่าวว่า "ชื่อเสียงนั้นประเมินค่ามิได้ อิสรภาพและเสรีภาพนั้นประเมินค่ามิได้ ครอบครัวและเพื่อนฟูงนั้นประเมินค่ามิได้ การถูกรักจากคนที่คุณต้องการให้รักนั้นประเมินค่ามิได้ ความสุขนั้นประเมินค่ามิได้"
การจะรักษาสิ่งที่ประเมินค่ามิได้อย่าวที่เฮาเซิลได้กล่าวไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้ว่าเมื่อไหร่คือเวลาที่เราจะต้องหยุดรับความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งเหล่านี้
มันคือการรู้ว่าเมื่อที่เรามี "พอ" แล้ว
อ้างอิง
Housel, M. (2020). The Psychology of Money: Timeless lessons on wealth, greed, and happiness. Hampshire (UK): Harriman House.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น