เราสามารถใช้มุมมองความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนให้เรามีทัศนคติ พลังใจ และความปรารถนาในเชิงบวกได้
ด้วยความที่ผมเป็นชาวพุทธจึงไม่ค่อยได้สนใจเกี่ยวกับศาสนาอื่นมากเท่าไหร่ อาจจะมีบ้างที่ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิธีคิดต่าง ๆ จึงไม่ได้สนใจเสน่ห์หรือจุดเด่นสำคัญของแต่ละศาสนาอื่นเท่าที่ควร แต่มีบทภาวนาหนึ่งของศาสนาคริสต์ที่ใช้สำหรับผู้เข้ารับการบำบัดอาการเสพติดต่าง ๆ ที่ผมชื่นชอบ
บทภาวนานี้ชื่อว่า บทภาวนาแห่งสันติสุข (Serenity Prayer) ซึ่งมีเนื้อความว่า "ข้าแต่พระเป็นเจ้า ขอทรงโปรดประทานความสงบยิ่งให้ลูกยอมรับในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนได้ โปรดประทานความกล้าหาญให้ลูกเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และโปรดประทานปัญญาให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงได้และไม่ได้"
เหตุผลที่บทภาวนานี้ถูกนำมาใช้สำหรับผู้เข้ารับการบำบัดอาการเสพติดต่าง ๆ ก็เพราะว่าการต่อสู้กับอาการเสพติดจะง่ายขึ้นหากพวกเขารู้จักยอมรับและไม่ปฏิเสธความจริงที่ว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้ มีพ่อแม่ที่เลวร้าย หรือสูญเสียทุกสิ่งไปจนหมดสิ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นแล้วและโอกาสที่จะย้อนกลับไปแก้ไขมันก็เป็นศูนย์
บุคคลที่เสพติดอะไรสักอย่าง นอกจากระบบทางชีววิทยาที่อ่อนไหวต่อสิ่งนั้นมาก ๆ แล้ว ยังมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่สร้างความสุขเมื่อพวกเขาใช้บางสิ่งบางอย่างถี่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การพนัน ยาเสพติด สุรา บุหรี่ ไปจนถึงการซื้อข้าวของต่าง ๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาพยายามที่จะปิดร่องรอยเว้าแหว่งของตนเอง จากการโดนสังคมรอบตัวช่วงชิงไป
ไม่ว่าจะเป็นการที่โดนทำร้ายร่ายกายและจิตใจ ครอบครัวที่แตกสลาย ความรู้สึกยากจน และความโดดเดี่ยวเดียวดาย เมื่อผู้คนประสบกับความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดความขับข้องใจ ความเศร้า ที่เรียกรวมกันว่า "ความทุกข์" การที่บางสิ่งบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดความสุขได้จะเหมือนกับยาเสริมกำลังใจที่ดี พวกเขาจะต้องการสิ่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอาการเสพติดนั้นเอง
ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้บทภาวนานี้มีพลัง ถ้อยคำของมันอธิบายว่าทุกสิ่งที่ผ่านมาล้วนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นเราควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือพฤติกรรมของเราที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึงปัญญาที่จะแยกแยะความแตกต่างว่าอะไรที่เปลี่ยนได้และเปลี่ยนไม่ได้บ้าง
เราควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือพฤติกรรมของเราที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ |
บทภาวนาสอดคล้องกับปรัชญาโบราณที่มีอายุมากกว่าสองพันปี ชื่อว่า "ลัทธิสโตอิก" ที่หมายถึง บางสิ่งที่ควบคุมได้ แต่บางสิ่งเราก็ควบคุมไม่ได้ ในหนังสือ The Obstacle Is the Way: The Timeless Art of Turning Trials into Triumph ผู้เขียน ไรอัน ฮอลิเดย์ (Ryan Holiday) ได้อธิบายสิ่งที่เราควบคุมได้ตามปรัชญาของสโตอีกดังนี้
1) อารมณ์ความรู้สึกของเรา
2) วิจารณญาณของเรา
3) ความคิดของเนส
4) ทัศนคติของเรา
5) มุมมองของเรา
6) ความปรารถนาของเรา
7) การตัดสินใจของเรา
8) พลังใจของเรา
นอกจากเขาจะอธิบายสิ่งที่ควบคุมได้ เขายังอธิบายสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น อากาศ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อารมณ์ความรู้สึกและวิจารณญาณของคนอื่น รวมไปถึงกระแสนิยมต่าง ๆ และหายนะที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเรา
แนวคิดของลัทธิสโตอิกสอดคล้องกับจิตวิทยาอย่างมาก เพียงแต่สิ่งที่เขาว่าเราควบคุมได้บางอย่าง แท้จริงแล้วเราควบคุมไม่ได้ (100%) ยกตัวอย่างเช่น อารมณ์ความรู้สึก ทัศนคติ ความปรารถนา และพลังใจ เพราะบางส่วนเป็นการตอบสนองตามสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่
เพียงแต่ว่าเราสามารถใช้มุมมองความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนให้เรามีทัศนคติ พลังใจ และความปรารถนาในเชิงบวกได้ แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้เต็มร้อย แต่มันก็ยังเป็นสิ่งที่เราพอจะควบคุมได้บ้าง หากจะเทียบกับสภาพอากาศ เศรษฐกิจ และปัญหาสังคมอื่น ๆ
การที่เราไปเต้นตามสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มันจะทำให้เราเป็นทุกข์ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนมองว่าความคิดของเรามันกลวงเปล่า และดูถูกเราอย่างรุนแรง สิ่งนี้คือความคิดและวิจารณญาณของคนอื่น ซึ่งเราควบคุมและเปลี่ยนแปลงมันได้ยากไปจนถึงไม่ได้เลย ดังนั้นเราควรปล่อยวาง และมุ่งเป้าไปกับสิ่งที่เราทำได้ นั่นคือ พยายามพัฒนาตนเองต่อไปและเปลี่ยนเพื่อนใหม่เสียดีกว่า
เพราะปีศาจที่ร้ายที่สุดที่เราต้องจัดการก็คือ สิ่งที่ทำให้เราหลงคิดไปว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ไรอัน ฮอลิเดย์ แนะนำว่า "จงเลือกที่จะให้ความสำคัญเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมได้ เพราะมันทำให้เรามีพลังอำนาจมากขึ้น การทุ่มเทให้กับสิ่งที่ไม่อาจควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ถือเป็นการเสียเวลาเปล่าและมีแต่จะส่งผลเสียต่อตัวเอง"
การมองอุปสรรคให้เป็นความท้าทายและใช้ประโยชน์จากมันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถควบคุมได้เช่นกัน และมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองล้วน ๆ ว่าจะเลือกทำแบบนั้นหรือไม่ แม้ในเชิงจิตวิทยาเราจะควบคุมในสิ่งที่ปรัชญาลัทธิสโตอีกเสนอเอาไว้ไม่ได้แบบเต็มร้อยก็ตาม แต่มันก็ดีกว่าที่เราจะพุ่งเป้าไปที่สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลยอย่างเช่น ความคิดเห็นของผู้อื่น
หากเราปล่อยวางในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มันจะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้พอสมควร เพราะความทุกข์ส่วนใหญ่ของเราเกิดจากการคาดหวังในตัวผู้อื่นมากเกินไป เราคาดหวังว่าเพื่อนของเราจะต้องดีกับเราเหมือนที่เราดีกับเขา เราคาดหวังว่านักเรียนทุกคนตั้งใจ หรือเราคาดหวังว่าเพื่อนร่วมงานจะต้องดีต่อกัน
เราไม่จำเป็นต้องคาดหวังในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควรคาดหวังก็คือสิ่งที่เราควบคุมได้ นั่นคือความดีที่เรามีต่อผู้อื่น ความตั้งใจและพัฒนาการสอนอย่างต่อเนื่อง การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้เราควบคุมได้ เราควรที่จะรักและโอบกอดมันเอาไว้
เพราะความปรารถนา ความคิด และการกระทำที่ดีต่อคนอื่นมันทำให้เรามีค่าและภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
อ้างอิง
Holiday, R. (2014). The Obstacle Is the Way: The Timeless Art of Turning Trials into Triumph. NY: portfolio.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น