เราสามารถเยียวยาจิตใจของตนเองอย่างเรียบง่าย ด้วยวิธีการตั้งคำถามกับตัวเอง

การจะเยียวยาจิตใจสามารถเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมรอบตัว ด้วยการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

            มีคำพูดที่ว่า "จิตใจมนุษย์ยากที่จะหยั่งถึง" สำหรับผมมันเป็นความจริง เพียงแต่ว่าในหลาย ๆ ครั้งการแสดงออกของมนุษย์มักจะเรียบง่าย เพียงแต่แทบจะทุกครั้งเราไม่แสดงมันออกมาอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง เราเลือกที่จะปกปิดไว้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเราจะกระทำมันอย่างไม่รู้ตัว

            การจัดการกับความทุกข์หรือเรื่องเลวร้ายในชีวิตก็เช่นเดียวกัน เรามองว่ามันเป็นเรื่องที่ยากเย็น ยิ่งใหญ่ ต้องใช้กระบวนการ เครื่องมือ เทคนิค หรือตัวช่วยอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้ตนเองกลับมาในจุดเดิมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราสามารถกลับมาในจุดเดิมได้โดยการเติมเต็มส่วนที่ขาดไป

            ทุกวันนี้พวกเราแทบทุกคนกำลังประสบกับความรู้สึกเศร้าและไร้คุณค่า อันเนื่องมาจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้คนในสังคม ในอดีตเราเปรียบเทียบตัวเองกับผู้คนรอบตัวซึ่งมีอย่างจำกัดเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราเปรียบเทียบตนเองกับผู้คนทั้งโลกผ่านเครือข่ายสังคมชนิดต่าง ๆ 

            แม้เราจะบอกพยายามกล่อมตัวเองเพื่อไม่ให้เปรียบเทียบกับใคร บางคนถึงกับหลอกตัวเองว่าไม่เคยเปรียบเทียบกับใคร แต่จริง ๆ แล้วทุกคนล้วนเปรียบเทียบไม่มากก็น้อย เพราะมันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ และพฤติกรรมดังกล่าวก็นำมาซึ่งสุขภาพจิตที่ถดถอยลงไปเรื่อย ๆ 

            เนื่องจากเราไม่สามารถเหนือกว่าผู้คนได้ทุกคน ยิ่งเราขึ้นบันไดไปขั้นที่สูงเท่าไหร่ มันก็จะมีผู้คนมากมายที่อยู่สูงกว่าเรา การจะหลุดออกจากวังวนเช่นนี้ได้ เราจะต้องถอยออกมาจากเกม อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ง่ายเสมอไปที่จะยุติมันได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้ตัวช่วยบางอย่างให้ตัวเองหลุดออกมาได้

            ในความจริงแล้วมีตัวช่วยหรือเทคนิคมากมายที่จะช่วยเราให้หลุดออกจากสภาวะเช่นนี้ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ การตั้งคำถามกับตัวเอง เพราะอย่าลืมว่าเราเปรียบเทียบด้วยสัญชาตญาณ ด้วยอารมณ์ เป็นกระบวนการทางจิตใจ หรือในจิตใต้สำนึก น้อยครั้งที่เราจะเปรียบเทียบผ่านจิตสำนึกหรือความคิดในขณะนั้น 

            ดังนั้นเราสามารถใช้การตั้งคำถามกับตัวเองเช่น "ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกอะไรอยู่" "ฉันกำลังเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่หรือไม่" "การเปรียบเทียบเช่นนี้ทำให้ฉันได้อะไรกลับมา" "สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตฉันคืออะไร" หรือ "อะไรคือความสุขในชีวิตของฉันกันแน่" 

"ฉันควรจะเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่"

            ด้วยคำถามเหล่านี้สามารถทำให้เรามีสติมากขึ้น และยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เพราะบางคนอาจจะเห็นเพื่อนร่วมงานซื้อรองเท้าใหม่ ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากได้หรืออิจฉาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้เราเข้าไปในแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์และเสียเวลาเข้าไปค้นหาสินค้าวางไว้ในตะกร้าไปจนถึงสั่งซื้อมันมาโดยไม่จำเป็น

            การตั้งคำถามกับตัวเองในทุกขณะ ทุกจังหวะของชีวิตจะช่วยให้เรามีสติและยับยั้งพฤติกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยไม่ให้เราเสียใจกับการตัดสินใจแย่ ๆ หรือแม้กระทั้งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เช่น ตั้งใจว่าจะลดความอ้วน แต่เผลอกินตามใจปากมากเกินไป ซึ่งการตั้งคำถามจะช่วยให้เรามีสติกับการกินมากขึ้น "วันนี้เรากินเยอะไปแค่ไหนแล้ว"

            เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมตั้งชื่อบทความว่า "การเยียวยาจิตใจของตัวเองอย่างเรียบง่ายด้วยวิธีการตั้งคำถามกับตัวเอง" เพราะผมมองว่าการจะเยียวยาจิตใจของตนเองสามารถเริ่มมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมรอบตัว ด้วยการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะไม่เพียงแค่การเปรียบเทียบเท่านั้นที่นำมาซึ่งความทุกข์ ยังมีปัจจัยหลายอย่างอีกมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อความสุขและความพึงพอใจในชีวิต

            แน่นอนว่าเราสามารถใช้การตั้งคำถามในกรณีที่เราเศร้า เสียใจ โกรธ ผิดหวัง โดยตั้งคำถามว่า "ควรจะรู้สึกขนาดนี้หรือไม่" หรือ "เราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เรามีความสุขอีกครั้งได้อย่างไร" คำถามดังกล่าวสามารถช่วยคลายความรู้สึกเชิงลบลงไปได้บ้าง และในหลายครั้งก็สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

            เพียงแต่ว่าหากอยากจะจัดการกับความรู้สึกของตนเอง ก็ควรจะจัดการที่ต้นสายปลายเหตุ นั่นก็คือสภาพแวดล้อมและพฤติกรรม เหมือนที่ผมยกตัวอย่างการเปรียบเทียบคนอื่นไว้ข้างต้น การตั้งคำถามต่อพฤติกรรมนี้จะสามารถช่วยเหลือเราก่อนที่จะไปถึงขั้น เศร้า เสียใจ หรือผิดหวัง (อย่างรุนแรง) ได้ 

            หรือหากรู้สึกว่าตนเอง เศร้า เสียใจ และผิดหวังกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น การตั้งคำถามกับพฤติกรรมการกิน สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอาหาร หรือเพื่อนฝูงที่ชอบพาเราไปกิน ก็มีประสิทธิภาพอย่างมากเช่นเดียวกัน

            ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากความคิดและความรู้สึก ปัญหาจากพฤติกรรม หรือปัญหาจากสภาพแวดล้อม (จริง ๆ แล้วทั้งสามปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน เพียงแต่บางสถานการณ์บางปัจจัยก็มีอิทธิพลมากน้อยแตกต่างกันไป) เราสามารถใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้ตนเองมีสติมากขึ้น มีแนวทางในการจัดการปัญหามากขึ้น แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ต้นเหตุ หรือปลายเหตุก็ตาม 

            ดังนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องค้นหาวิธีการที่มีต้นทุนแพง มีความยากลำบาก หรือมีเงื่อนไขอื่น ๆ มาเยียวยาจิตใจของตนเอง เราสามารถใช้วิธีที่เรียบง่ายอย่างการตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นตั้งคำถามกับพฤติกรรมของตนเอง ตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ตั้งคำถามกับความความคิดและความรู้สึกของตนเอง 

สามารถช่วยเราให้กลับมามีสติและเผชิญกับปัญหาต่อไปในอนาคตได้อย่างมีควาพร้อมมากขึ้นได้

ความคิดเห็น