ซูซาน ฟาวเลอร์ (Susan Fowler) ผู้เปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศในบริษัทอูเบอร์

ผมปรารถนาให้ความเลวร้ายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดหมดลงไปในทุกสังคมของโลกใบนี้

            การล่วงละเมิดทางเพศเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างอ่อนไหว และมีเส้นบาง ๆ ที่กั้นเอาไว้เท่านั้น ในสถานที่ทำงาน หลายครั้งพนักงานมักจะแหย่หรือแซวกันและกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย ที่แต่ละบุคคลแสดงออกอย่างเป็นกันเองมากกว่าในชาติตะวันตก จึงทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเป็นพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่มีความยากลำบากในการตีความ

            แม้ว่าในสังคมไทยจะมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ระหว่างการล่วงละเมิดทางเพศและการแซวกันเล่น แต่ในหลายประเทศทั่วโลกก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพียงแต่ว่าเส้นที่กั้นมันค่อนข้างจะชัดเจนมากกว่า หลายครั้งเป็นการล่วงละเมิดทางเพศแบบชัดเจน แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กร หรือความกดดัน หวาดกลัว ส่งผลให้พนักงานหลายคนที่เป็นเหยื่ออดทนอดกลั่นต่อพฤติกรรมประเภทนี้ 

            ซูซาน ฟาวเลอร์ (Susan Fowler) ไม่ใช่หนึ่งในนั้น เธอเป็นนักเขียนชาวอเมริกันและเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ในบริษัทอูเบอร์ (Uber) หนึ่งในสตาร์ทอัพชื่อดังแถบซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) เธอมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันเกี่ยวกับวิธีที่อูเบอร์และบริษัทในแถบนั้นปฏิบัติต่อการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งครั้งหนึ่งเธอก็เคยเป็นเหยื่อเหมือนกัน

            บริษัทอูเบอร์เทคโนโลยี จำกัด ก่อตั้งในปี 2009 โดย แกร์เรตต์ แคมป์ (Garrett Camp) และ ทราวิส คาลานิก (Travis Kalanick) ซึ่งเป็นเพื่อนกัน อูเบอร์เติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับชื่อเสียงที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าว รุกเร็ว และพร้อมปะทะ พนักงานหัวกะทิได้รับการเลื่อนขั้นและการปกป้อง ตราบใดที่พวกเขาทำตัวเลขได้ถึงหรือเกินเป้า

            ฟาวเลอร์ก็เหมือนกับพนักงานใหม่คนอื่น ๆ ของอูเบอร์ที่ได้รับการถ่ายทอดค่านิยมหลักของบริษัท เช่น "อัดฉีดเต็มกำลัง" ที่เป็นแก่นสำคัญของบริษัท เป็นทัศนคติที่เชื่อมั่นว่าทำได้ และทำอะไรก็ได้ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนบริษัทไปข้างหน้า ซึ่งมักหมายถึงการทำงานหนักเกินเวลา

            ในช่วงแรกฟาวเลอร์รู้สึกเพลิดเพลินกับความท้าทายทางสติปัญญา เธอสนับสนุนความคิดนี้และภูมิใจกับงานวิศวกรรมที่เธอและทีมทำ แต่ค่านิยมอัดฉีดเต็มกำลังที่มีนัยในเชิงสังเวียนเดือดกำลังจะกลายเป็นลางบอกเหตุของหายนะการล่วงละเมิดทางเพศที่กำลังจะมาเยือน

หลายครั้งที่มีการล่วงละเมิดทางเพศแบบชัดเจน แต่เหยื่อกลับเงียบเพราะความกลัวและวิตกกังวล

            มีครั้งหนึ่งที่ผู้จัดการของฟาวเลอร์ส่งข้อมูลไม่เหมาะสมหลายข้อความถึงเธอผ่านระบบแชทของบริษัท ผู้จัดการบอกเธอว่า "เขากำลังมองหาผู้หญิงมามีเซ็กซ์ด้วย" เธอจึงถ่ายภาพหน้าจอข้อความดังกล่าวแล้วร้องเรียนผู้จัดการคนนี้ไปยังฝ่ายบุคคล แต่หลายอย่างไม่เป็นไปตามที่เธอคาดเอาไว้ 

            ฝ่ายบุคคลและผู้จัดการระดับสูงขึ้นไปแจ้งฟาวเลอร์ว่า "นี่เป็นการทำผิดครั้งแรกของชายคนนี้ และพวกเขาคงรู้สึกไม่สบายใจหากต้องทำอะไรที่มากกว่าากรตักเตือนและว่ากล่าวอย่างจริงจัง" เพราะเขา "เป็นคนที่มีผลงานโดดเด่น" ฟาวเลอร์ได้รับข้อเสนอให้เลือกว่าจะย้ายไปทำงานกับทีมอื่น หรือจะอยู่ทีมเดิมโดยเข้าใจดีว่าผู้จัดการของเธอมีแนวโน้มจะประเมินการปฏิบัติงานของเธอแย่เมื่อถึงรอบการประเมิน

            แม้เธอจะพยายามคัดค้านทางเลือกดังกล่าว แต่เรื่องก็ไปไม่ถึงไหนเพราะสุดท้ายจึงลงเอยที่การเปลี่ยนทีม และไม่กี่เดือนต่อมาฟาวเลอร์ก็พบกับวิศวกรหญิงคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศคล้าย ๆ กันที่อูเบอร์ พวกเธอรายงานเรื่องนี้กับฝ่ายบุคคล แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเช่นเดิม

            ผู้หญิงบางคนรายงานว่ามีการสนทนาโต้ตอบคล้าย ๆ กันกับผู้จัดการคนเดียวกัน ทุกคนได้รับคำตอบเหมือนกันว่ามันเป็นการทำผิดครั้งแรกของเขา ไม่มีใครทำอะไรเลยกับเรื่องที่เกิดขึ้น ฟาวเลอร์และเพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าไม่มีใครได้ยินพวกเธอ จึงปิดปากเงียบไว้ระยะหนึ่ง

            ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดมาจากค่านิยมหลักอย่างการ "อัดฉีดเต็มกำลัง" แต่ยังมีค่านิยมอื่น ๆ ซึ่งกลายเป็นระเบิดเวลาของการล่วงละเมิด ค่านิยมหลักอีกข้อหนึ่งก็คือ "วางเดิมพันให้หนัก" ซึ่งถูกตีความว่าให้โทษมากกว่าอนุญาต พูดอีกอย่างก็คือให้ล้ำเส้นไปเลย ถ้าถูกจับได้ว่าผิดแล้วค่อยขอโทษ แทนที่จะขออนุญาตก่อนแต่แรกว่าอาจทำผิด ไม่เพียงแค่นั้นยังมีค่านิมที่เลวร้ายอีกข้อก็คือ "ประสบความสำเร็จด้วยตนเองและการเหยียบเท้าผู้อื่น" 

            หมายความว่า พนักงานควรทำงานได้ด้วยตนเองมากกว่าทำงานเป็นทีม และสร้างความเจ็บปวดแก่คนอื่นให้งานสำเร็จและก้าวไปข้างหน้า แม้ว่ามันหมายถึงการทำลายความสัมพันธ์ในระหว่างทางก็ตาม สิ่งนี้อาจฟังดูเลวร้ายแต่อูเบอร์ก็เป็นบริษัทที่เติบโตแบบทวีคูณและมีมูลค่าเกือบ 70,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2018 

            เพียงแต่ท่ามกลางการเติบโตทวีคูณดังกล่าวก็แฝงไปด้วยเรื่องราวที่น่าเศร้า หนังสือพิมพ์ New York Times สัมภาษณ์พนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานของอูเบอร์กว่า 30 คน และรายงานเหตุการณ์ล่วงละเมิดจำนวนมาก บางเรื่องก็เลวร้ายจนน่าตกใจ เช่น ผู้จัดการคนหนึ่ง "ลูบคลำหน้าอกของเพื่อนร่วมงานหญิงตอนบริษัทไปท่องเที่ยวประจำปี" 

            และผู้อำนวยการคนหนึ่งตะโกนถ้อยคำแสดงความรังเกียจคนรักเพศเดียวกันใส่ลูกน้องระหว่างการเผชิญหน้าอันฉุนเฉียวในการประชุม ตามข้อมูลที่ ซูซาน ฟาวเลอร์ กล่าวไว้ เธอเข้าร่วมงานกับอูเบอร์ส่วนงานวิศวกรรมความเสถียรของไซต์มีผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 25 แต่ตอนก่อนเธอลาออก ตัวเลขนี้ตกไปที่ร้อยละ 6 

            หลังจากที่เธอลาออก ซูซาน ฟาวเลอร์ ได้โพสต์บนเว็บบล็อกหนึ่งที่มความยาว 3,000 คำ เธอใช้สิทธิการแสดงออกอย่างเปิดเผยบนเว็บไซต์ส่วนตัวเจาะจงและตรงไปตรงมาในการบรรยายประสบการณ์ที่เธอเรียกว่า "เรื่องราวแปลกประหลาด น่าสนใจ และค่อนข้างน่ากลัว" ซึ่งได้เปิดเผยอำนาจและความเงียบ เสียงของเธอและเพื่อนร่วมงานช่วยกันส่งต่อและถูกขยายกังวานด้วยโซเชียลมีเดีย และเร่งให้เสียงดังยิ่งขึ้นโดยสื่อกระแสหลัก

            ควันหลงและการคิดบัญชีที่เป็นผลพวงจากบล็อกของเธอทำให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นหลายคดี พนักงานจำนวนมากในทุกระดับถูกไล่ออกหรือไม่ก็ลาออกเอง มูลค่าชื่อเสียงของบริษัทตกฮวบอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปี 2017 ทราวิส คลานิก ลงจากตำแหน่งซีอีโอของอูเบอร์หลังจากผู้ถือหุ้นหลักห้าคนเรียกร้องให้เขาลาออก

            ฟาวเลอร์ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในฐานะหนึ่งใน "บุคคลแห่งปี" ที่เป็นหนึ่งในห้า "ผู้ทำลายความเงียบ" ซึ่งกล้าเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในปี 2017 เธอยังได้รับยกย่องเป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสาร Financial Times และเป็นหนึ่งใน "ผู้ทรงอิทธิพลรุ่นใหม่" ของนิตยสาร Vanity Fait 

            เมื่อซีอีโอคนใหม่ของอูเบอร์นามว่า ดารา คอสโนว์ซาฮิ (Dara Khosrowshahi) เข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2017 เรื่องสำคัญอันดับแรกเรื่องหนึ่งของเขาคือการพบปะวิศวกรหญิงทั้งหลาย ด้วยความตื่นตัวอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดกับวัฒนธรรมของบริษัท เขาเริ่มวางรากฐานเพื่อสร้างที่ทำงานที่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาให้เกิดขึ้นมา

            ความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามต่อองค์กรจะไม่เกิดขึ้น หากฟาวเลอร์หรือเหยื่อคนอื่นไม่มีความกล้ามากพอจะมีปากเสียง ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเหมือนกัน ผู้คนจำนวนมากเป็นทุกข์กับการล่วงละเมิดทางเพศ แต่เขาหรือเธอกลัวและวิตกกังวลกับการพูดมันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ในทีมเสียหาย กลัวจะโดนไล่ออก หรือได้รับผลกระทบเลวร้ายอื่น ๆ 

            หากอยากจะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานในประเทศให้ก้าวหน้าและมีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยามากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พนักงานจำนวนมากในประเทศต้องจับมือกัน หาสื่อกลางบางอย่างเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราว หรือร้องทุกข์ และควรมีองค์กรต่าง ๆ เข้ามารับลูก ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่โดนล่วงละเมิด

            ผมปรารถนาให้ความเลวร้ายเกี่ยวกับความล่วงละเมิดหมดลงไป ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การล่วงละเมิดทางเพศอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้วาจาทำร้ายกัน การกล่าวหาต่อกันและการทำตัวเป็นสารพิษน่ารังเกียจในองค์กร เพราะทุกวันผู้คนจำนวนมากเผชิญกับสุขภาพจิตที่ถดถอยลง พวกเราต่างเกิดมามีชีวิตเดียวเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น 

ดังนั้นการทำสิ่งที่มีค่าเพื่อทิ้งสิ่งดี ๆ ไว้ในใจคนอื่น แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็คุ้มค่าที่ครั้งหนึ่งเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์

อ้างอิง

Edmondson A. (2018). The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth. NJ: Wiley.

Isaac, M. (2017). Uber’s C.E.O. Plays With Fire. https://www.nytimes.com/2017/04/23/technology/travis-kalanick-pushes-uber-and-himself-to-the-precipice.html

Isaac, M. (2017). Inside Uber’s Aggressive, Unrestrained Workplace Culture. https://www.nytimes.com/2017/02/22/technology/uber-workplace-culture.html

ความคิดเห็น