5 แง่มุมของการมีชีวิตที่มีความสุขตามแนวคิด จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

ความสัมพันธ์เป็นหมุดหมายและเป็นยาเม็ดสำคัญที่จะเยียวยาสุขภาพจิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้

            คำว่าความสุขเป็นคำถามที่มนุษย์ทุกคนเฝ้าถามในทุกยุคทุกสมัย และคำตอบในแต่ละยุคสมัยก็จะแตกต่างกันออกไป ไม่เพียงแค่นั้นแม้แต่ในยุคสมัยเดียวกันผู้คนยังมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป เพราะมนุษย์ทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน มีรสนิยมที่แตกต่างกัน มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจแตกต่างกัน และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้คำตอบของความสุขแตกต่างกัน

            นักจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นสายจิตวิทยาที่โด่งดังและถูกนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากหลักจิตวิทยาให้ความสำคัญกับสิ่งดี ๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิต และใส่ใจกับชีวิตคนปกติธรรมดาที่เขาอาจจะต้องการการเติมเต็มมากขึ้น ที่สำคัญก็คือจิตวิทยาเชิงบวกให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการมีชีวิตที่มีความสุข

            มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) หนึ่งในผู้บุกเบิก และผลักดันแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก เคยตั้งคำถามว่าคนที่ทุกข์สุด ๆ เขาแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร และในระยะหลังนี้เราเริ่มถามกันว่า คนที่มีความสุขสุด ๆ เขาแตกต่างจากพวกเราอย่างไร 

            สุดท้ายคำถามดังกล่าวได้กลายเป็นการศึกษาออกมาจนเป็นการค้นพบที่โด่งดัง ตลอดชีวิตของเขา เซลิกแมนได้คันพบว่าความสุขสามารถแบ่งกว้าง ๆ ได้ 5 แง่มุมที่แตกต่างกัน ซึ่งแง่มุมเหล่านี้สามารถสร้างความสุขได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า แต่ละแง่มุมจะให้ระดับความสุขและระยะเวลาของความสุขไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับป้จจัยหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม

            ไม่เพียงแค่นั้นยังขึ้นอยู่กับจริตหรือนิสัยใจคอของคนบางคนอีกด้วยว่าจะมีความสุขมากน้อยหรือช้านานเท่าไร ดังนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านมากที่สุดหากทุกท่านอ่านแง่มุมต่าง ๆ ไปพร้อมกับย้อนนึกถึงประสบการณ์ในอดีต ว่าเราได้ตอบสนองแง่มุมเหล่านี้ด้วยวิธีไหนบ้าง และเรามีความสุขมากน้อยแค่ไหน 

มนุษย์ทุกคนแตกต่างกัน จึงทำให้คำตอบของความสุขแตกต่างกันออกไป

            5 แง่มุมของการมีชีวิตที่มีความสุขตามแนวคิด จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1) การมีชีวิตที่รื่นรมย์ (The Pleasant Life) คือชีวิตที่มีความสนุกสนานเท่าที่เราจะหาได้ เป็นชีวิตที่มีสิ่งตอบสนองทำให้เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของ การรับประทานของที่ชอบ การทำในสิ่งที่โปรดปราน และมีอารมณ์เชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามอารมณ์เชิงบวกนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลจากพันธุกรรม นอกจากนั้นเรามักจะเบื่อง่าย เพราะมนุษย์ทุกคนมีกระบวนการปรับตัวทำให้เรารู้สึกเฉยชากับสิ่งที่เรามี และปรารถนาที่จะอย่างได้สิ่งอิ่น ๆ มาตอบสนองความปรารถนาของตนเองต่อไป

            2) การมีชีวิตที่ดี (The Good Life) คือการที่เรามีสมาธิจดจ่อกับงานที่เรารัก ทำให้รู้สึกสนุกสนานและอยากทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่เบื่อหน่าย ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว ชิคเซนต์มิไฮยี (Csikszentmihalyi) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้และเรียกว่ามันว่า "สภาวะไหลลื่น" โดยเขาอธิบายเอาไว้ว่า "เมื่อเราทุ่มเทพลังใจหรือความสนใจสู่เป้าหมายที่ทำได้จริง และเมื่อทักษะมาบรรจบกับโอกาสที่จะกระทำ การมุ่งบรรลุเป้าหมายช่วยให้เกิดสำนึกรู้ที่เป็นระเบียบ เวลาจึงเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็ว"

            3) การมีชีวิตที่มีความหมาย (The Meaningful Life) เป็นความรู้สึกอิ่มเอิบทางจิตใจ เป็นการที่เราใช้จุดแข็งของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคม ประเทศชาติ หรือโลกใบนี้ หรือที่เหนือไปกว่านั้นอย่างจุดมุ่งหมายในชีวิต เช่น ความถูกต้อง ความยุติธรรม กล่าวคือ การที่เราทำสิ่งที่ตนเองรักและสิ่งนั้นส่งผลดีต่อคนรอบข้างและทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยคาดหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่น ๆ จะดีขึ้น หรือดำเนินชีวิตอย่างมีความยุติธรรมก็ตาม

            เซลิกแมนได้ทำการศึกษาความสุขแต่ละแง่มุมกับผู้คนมากกว่า 1,000 คน โดยถามว่า การแสวงหาความเพลิดเพลิน อารมณ์บวก ชีวิตรื่นรมย์ การได้ทุ่มเทเอาใจจดจ่อจนเหมือนเวลาหยุดนิ่ง และการแสวงหาความหมายในชีวิต แต่ละแง่มุมมีส่วนเติมเต็มความพึงพอใจในชีวิตมากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าการแสวงหาความสนุกเพลิดเพลินแทบไม่ได้เพิ่มความพึงพอใจในชีวิตเลย 

            ตรงกันข้ามกับการแสวงหาความหมายในชีวิตมีผลมากที่สุด เช่นเดียวกับการมีได้ทุ่มเทเอาใจจดจ่อก็มีผลมากเช่นกัน สรุปคือ เมื่อคนเราแสวงหาความพึงพอใจกับความรื่นเริง ความสุขจะอยู่ได้ไม่นานหากเทียบเท่ากับ การได้ทุ่มเทเอาใจจดจ่อจนเหมือนเวลาหยุดนิ่ง และการแสวงหาความหมายในชีวิต 

            4) การมีความสัมพันธ์ที่ดี (Relationships) เป็นข้อที่เซลิกแมนได้พัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมจาก ข้อแรก ซึ่งการมีความสัมพันธ์ดีเป็นการได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือความสัมพันธ์แบบอื่น มนุษย์เราจะมีความสุขหรืออุ่นใจมากขึ้นเมื่อได้อยู่กับกลุ่มเพื่อน และจะรู้สึกเหงาเมื่อต้องอยู่คนเดียว เนื่องจากธรรมชาติของเราต้องการพึ่งพาสังคม ในอดีตบรรพบุรุษของเราไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ด้วยตัวคนเดียว พวกเขาจึงต้องพึ่งพากันและกัน พึ่งพาการทำงานร่วมกัน

            โรเบิร์ต วาลดิงเกอร์ (Robert Waldinger) จิตแพทย์ นักจิตวิเคราะห์ที่มีจากสถาบัน Harvard Medical School เป็นผู้ดูแลคนหนึ่งในการศึกษาระยะยาวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกอย่าง Harvard Study of Adult Development ซึ่งเป็นการศึกษาที่ติดตามชีวิตของผู้คนจำนวน 724 คน ตลอดระยะเวลา 80 ปี จนสุดท้ายเหลือรอดเพียง 60 คนเท่านั้น จากการศึกษานี้ทำให้เราได้รู้เคล็ดลับของการมีชีวิตที่มีความสุข นั่นคือ "การมีความสัมพันธ์ที่ดี" ความสัมพันธ์จึงเป็นหมุดหมายและเป็นยาเม็ดสำคัญที่จะเยียวยาสุขภาพจิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้

            จากการศึกษาตลอดชีวิตของ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) เขาค้นว่าบุคคลที่มีความสุขมากที่สุดมีความแตกต่างอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเขาเคร่งศาสนามากกว่า ไม่ได้มีสุขภาพดีกว่า ไม่ได้มีเงินมากกว่า ไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีกว่า ไม่ได้มีเรื่องดี ๆ ในชีวิตมากกว่าเรื่องร้าย ๆ สิ่งที่เขาแตกต่างจากเรา คือเขามีความสัมพันธ์ทางสังคมดีที่ดีมาก ๆ เขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่คนเดียว แต่มีคนที่รัก และมีเพื่อนเยอะมาก 

            5) การบรรลุถึงเป้าหมาย (Accomplishment) นอกเหนือจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีแล้วสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยก็คือความสำเร็จ ความเชี่ยวชาญ หรือการบรรลุเป้าหมายในชีวิตที่แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน สอดคล้องกับแนวคิดความต้องการของมาสโลว์ในขั้นที่ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนา

            อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแง่มุมที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน บางคนอาจจะมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ บางคนอาจจะได้รับความสุขจากการเพลิดเพลินกับการซื้อสิ่งของ หรือทำกิจกรรมบางอย่าง แต่ไม่ได้มีความสุขจากการมีชีวิตที่มีความหมาย เพียงแต่ในทัศนะของจิตวิทยาเชิงบวก 

            และจากการศึกษาวิจัยตลอดระยะเวลาหลายปีเกี่ยวกับความสุขบอกเราอย่างชัดเจนว่า ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่มีความสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นการมีสังคมและมีความสัมพันธ์ที่ดีย่อมเป็นการเสริมสร้างคุณค่าทางจิตใจมากกว่าที่เราคิดไว้ แม้บางคนอาจจะมีบุคลิกภาพที่เก็บตัวก็ตาม

            สรุปก็คือทุกแง่มุมที่กล่าวมาสามารถมอบความสุขให้กับเราได้ทั้งสิ้น เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับเราว่าจะมีความสุขมากน้อย และมีระยะเวลาของความสุขนานเท่าใด แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะย้ำก็คือ ชีวิตไม่มีทางปราศจากความทุกข์ได้ เช่นเดียวกับที่ชีวิตไม่มีทางปราศจากความสุข เพราะความสุขและความทุกข์อยู่คู่กัน 

            ดังนั้นหากใครที่กำลังมีความทุกข์ผู้เขียนอยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นตลอดไป น้ำตาและเสียงหัวเราะเป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับแสงและเงา เพียงแต่ว่าชีวิตที่มีเสียงหัวเราะมากกว่าน้ำตาต่างหากที่เป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิต เพราะชีวิตเราเกิดมาเพียงแค่ครั้งเดียว

ใยจะต้องทุกข์ทรมานกับชีวิตมากมายขนาดนั้นด้วย จริงมั้ยครับ

อ้างอิง

Mineo, L. (2017). Good genes are nice, but joy is better. https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/04/over-nearly-80-years-harvard-study-has-been-showing-how-to-live-a-healthy-and-happy-life/

Seligman, M. & Csikszentmihalyi, M. (2000). "Positive psychology: An Introduction." American Psychologist, 55(1): 5-14.

Seligman, M. (2011). Flourish  A Visionary New Understanding of Happiness and Well-being NY: Atria Books.

ความคิดเห็น