เรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ (Emotions) ของตัวเองให้ดีมากขึ้น เพื่อชีวิตที่มีความสุข

การเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองให้ดีมากขึ้น ไม่ใช่การไม่ตอบสนอง หรือนิ่งเฉย แต่มันคือการเข้าใจรูปแบบอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

            ผมศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้คนเรามีชีวิตที่มีความสุข จนพบว่ามันมีปัจจัยมากมายที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้สิ่งของที่พึงพอใจ ได้ทำงานที่ตนเองรัก มีความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิต รู้สึกว่าตนเองมีค่า หรือประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างมาก และมีหลายคนที่อาจคาดไม่ถึงว่ามันจะส่งผลให้เรามีความสุขได้ นั่นคือ "การเข้าใจอารมณ์ของตนเองให้ดีมากขึ้น"

            ก่อนอื่นผมขออธิบายเกี่ยวกับอารมณ์เสียก่อน อารมณ์ (Emotions) คือกระบวนการตอบสนองเชิงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสภาวะแวดล้อม ซึ่งสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงผ่านการประเมินเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอ โดยอารมณ์จะแบ่งได้เป็น รูปแบบดังนี้

            1) อารมณ์พื้นฐาน (Primary Emotions) พอล เอ็คแมน (Paul Ekman) นักจิตวิทยาที่โด่งดังด้านการวิจัยอารมณ์ของมนุษย์จากการแสดงออกทางสีหน้า (Facial Expression) ได้ทำการศึกษาและระบุอารมณ์พื้นฐานออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ ความสุข ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว ความประหลาดใจ ความหยิ่งยโส และความขยะแขยง 

            2) อารมณ์ที่ซับซ้อน (Secondary Emotions) เกิดจากการนำการรับรู้ทางเสียงมาประกอบกับการรับรู้ทางใบหน้า โดยขยายอารมณ์ให้กว้างมากขึ้นจากการผสมผสานอารมณ์พื้นฐานเข้าด้วยกันทำให้เกิดอารมณ์ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น เครียด สำนึกผิด มุ่งร้าย เหยียดหยาม ไม่พอใจ หรือความรัก กล่าวคืออารมณ์ที่ซับซ้อนเกิดจากการที่เราแสดงอารมณ์พื่้นฐานมากกว่าหนึ่งอารมณ์นั้นเอง

            การแสดงออกทางด้านอารมณ์จึงเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่พวกเราแทบทุกคนมองอารมณ์ในด้านลบ โดยเฉาพะอารมณ์เชิงลบ ที่เป็นตัวแปรทางบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับการเผชิญประสบการณ์เชิงลบและการมีมุมมองต่อตนเองในทิศทางลบ ยกตัวอย่างเช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเหงา หรือโดดเดี่ยว เมื่ออารมณ์เชิงลบเหล่านี้เกิดขึ้นมา มันยังส่งผลให้เราขาดความมั่นใจ ความนับถือตนเอง และความพึงพอใจในชีวิต อารมณ์เชิงลบยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย 

เรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองให้ดีมากขึ้น เพื่อออกแบบชีวิตที่มีความสุข

            แต่สิ่งที่เราไม่รู้ก็คืออารมณ์แต่ละชนิดมีหน้าที่ในตัวเอง โดยเฉพาะอารมณ์เชิงลบที่เป็นพื้นฐาน เช่น ความกลัว และความขยะแขยง ตามมุมมองเชิงวิวัฒนาการ อารมณ์ดังกล่าวมีหน้าที่ไว้เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตรอด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในอันตรายไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า หรือได้กลิ่นขยะแขยงจากอาหารที่เสีย รวมไปถึงสถานการณ์อันตรายและการคุกคามในรูปแบบอื่น ๆ 

            เช่นเดียวกับความเศร้าที่เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เพื่อให้มาช่วยเหลือ ปลอบโยน เช่นเดียวกับความรู้สึกละอายใจก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะความละอายกระตุ้นให้บุคคลแก้ไขความผิดพลาดเมื่อทำให้ผู้อื่นต้องเจ็บปวด รวมไปถึงความอับอายก็มีข้อดี เพราะเป็นการเตือนตนเองเมื่อบุคคลทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับและกระตุ้นให้เกิดการแก้ไข

            นอกจากนี้ อารมณ์ยังสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือความสัมพันธ์แบบกลุ่ม ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นสัญชาตญาณที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งการปลดปล่อยอารมณ์ออกมาเต็มที่ก็อาจจะสร้างปัญหาและส่งผลเลวร้ายต่อความสัมพันธ์ในบริบทต่าง ๆ อย่างคาดไม่ถึง

            ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเกิดความเครียดขึ้นมา เนื่องจากความเครียดเป็นภาวะตอบสนองของร่ายกายหรือจิตใจที่มาคุกคามทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น โดยจะแสดงออกทางร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เรา รับรู้ หรือประเมินประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คุกคาม รุกราน หรือเป็นสิ่งที่อันตราย


            ส่งผลให้ร่างกายมีระดับของการทำงานสูงขึ้น เมื่อเกิดความเครียดมาก ๆ จะทำให้หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูงขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพื่อมอบพลังงานจำเป็นชนิดเฉียบพลัน ทำให้ลดความอยากอาหารลง และนอนไม่หลับ นอกจากนั้นยิ่งเราเผชิญกับประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็ก จะมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ


            ที่น่าพิจารณาก็คือ เพราะอะไรอารมณ์ส่วนใหญ่ของพวกเราจึงสะท้อนด้านมืดของประสบการณ์มนุษย์ออกมา ทั้งที่อารมณ์ส่วนใหญ่ของเรามีหน้าที่เพื่อผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติตามที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น หรืออารมณ์จำพวก ความโกรธ ความเศร้า อาจจะมีประโยชน์บ้างเหมือนกัน ความจริงแล้วมันเป็นสัญญาณบางอย่าง

            แต่สิ่งที่เราส่วนใหญ่ทำก็คือตอบสนองไปตามอารมณ์เชิงลบของตนเองโดยขาดความรู้เท่าทัน ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเศร้า แต่เราคิดว่า "ชีวิตนี้จะไม่มีทางมีความสุขอีกต่อไปแล้ว" หรือ "เรื่องเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียวเท่านั้น" ทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้เราเศร้ามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อส่งสัญญาณที่บอกให้ความคิดหรือร่างกายของเรารีบเร่งจัดการกับบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้น

            ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าสัญญาณแต่ละอย่างต้องการอะไรกันแน่ ดังนั้นการสามารถตระหนักถึงอารมณ์ของตนเองได้ เรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเองได้ ก็จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น กล่าวคือ เรารู้ว่าเรากำลังเศร้า และเศร้าเพราะอะไร เราก็จะมุ่งจัดการกับปัญหานั้นเพื่อตอบสนองอารมณ์เศร้าของเรา

            ที่น่าเศร้าก็คือคนจำนวนมากเชื่อว่าคนเราควรที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองเอาไว้ ไม่ควรแสดงความเศร้า ไม่ควรแสดงความโกรธออกมา ทั้ง ๆ ที่มันเป็นไปไม่ได้ แม้เราสามารถที่จะควบคุมการแสดงออกทางร่างกายบางส่วนก็ได้ก็ตาม แต่สุดท้ายอารมณ์ก็จะหาที่ทางแสดงออกมาอยู่ดี เพราะมันเป็นกระบวนการทางสัญชาตญาณของมนุษย์ มันกำลังส่งสัญญาณเพื่อให้เราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า

            การที่เราจะสามารถออกแบบชีวิตที่มีความสุขได้ เราจะต้องเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองให้ดีมากขึ้น กล่าวคือ เราจะต้องรู้ว่าอารมณ์เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และมันมีหน้าที่ส่งสัญญาณเพื่อเราแก้ไขปัญหา หรือจัดการความคิดบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผลในขณะนี้ ซึ่งจะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ 

            โดยเราจะต้องมีสติให้มากขึ้น เพื่อที่จะเลือกวิธีที่เราจะตอบสนองต่ออารมณ์ที่เหมาะสมได้ เหมือนกับที่วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Victor Frankl) นักจิตบำบัดที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซี ซึ่งต่อมาเขาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Man's Search for Meaning ที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหมาย ชีวิตที่ศักยภาพของมนุษย์สามารถได้รับการเติมเต็ม แฟรงเคิลอธิบายว่า

            "ตรงกลางระหว่างตัวกระตุ้นกับการตอบสนองนั้นคือพื้นที่ว่าง และในพื้นที่ว่างดังกล่าวนั้นเอง คืออำนาจของเราที่จะเลือกวิธีการตอบสนองและในการตอบสนองของเรานั้นก็มีการเติบโตและอิสรภาพรออยู่"

            หากพิจารณาสิ่งที่แฟรงเคิลกล่าวก็คือ มันขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะตอบสนองไปตามอารมณ์นั้นหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราโดนผู้ใหญ่ด่าด้วยคำหยาบ จนเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา เราสามารถรับรู้อารมณ์โกรธแล้วเลือกตอบสนองกลับได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งเราอาจจะไม่แสดงออกมาทางภายนอกว่าตัวเองกำลังโกรธ แต่อาจจะต่อว่า ด่อทอในความคิด หรือจินตนาการว่าเราจัดการคนหยาบที่อยู่ตรงหน้าแทน เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะเสียใจทีหลังก็ได้

            ดังนั้นการเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเองให้ดีมากขึ้น ไม่ใช่การไม่ตอบสนอง หรือนิ่งเฉย แต่มันคือการเข้าใจรูปแบบอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ส่วนการตอบสนองนั้นขึ้นอยู่ว่าเราจะจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตนเองอย่างไร เมื่อเราจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้สถานการณ์ตรงหน้าหรือกระบวนการคิดเชิงลบของเราไม่บานปลายไปมากกว่านี้ 

คนที่สามารถรับรู้อารมณ์ตัวเองได้ และเลือกจัดการอารมณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีชีวิตที่มีความสุข

อ้างอิง

Ekman, P. (1970). Universal facial expressions of emotions. California Mental Health Research Digest. 8(4), 151-158. 

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press.

Gruber, J., Mauss, I., & Tamir, M. (2011). A dark side of happiness? how, when, and why happiness is not always good, Perspectives on Psychological Science. 6(3)222-233.

Kavaklı, M. (2019). Why do we have emotions? the social functions of emotions. Research on 

Education and Psychology. 3(1)11-20.

Keltner, D., & Haidt, J. (1999). Social functions of emotions at four levels of analysis. Cognition & Emotion. 13(5)505-521. 

Verduyn, P., Mechelen, I., Kross, E., Chezzi, C., & Bever, F. (2012)The relationship between 
self-distancing and the duration of negative and positive emotional experiences in daily life. 
Emotion. 12(6), 1248-1263.

Watson, D., & Clark, A. (1984). Negative affectivity: The disposition to experience aversive 

emotional states. Psychological Bulletin. 96(3)465490.

ความคิดเห็น