เฮอร์แมนมิลเลอร์ (Herman Miller) บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มุ่งเน้นให้คนทำงานอย่างมีคุณภาพ

"หลายองค์กรบริหารโดยพวกงี่เง่าที่สามารถนำอุปกรณ์ประเภทเดียวกันไปสร้างขุมนรกได้ พวกเขาสร้างคอกเล็กจิ๋วแล้วยัดคนเข้าไปอย่างกับรูหนู" รเบิร์ต พร็อส์ต (Robert Propst)

            ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ทำให้คนทำงานที่บ้านกันมากขึ้น ส่งผลให้สถิติการขายเก้าอี้สำนักงานมากขึ้นตามไปด้วย และหนึ่งในแบรนด์ที่ผลิตเก้าอี้สำนักงานที่มีคุณภาพสูงก็คือ เฮอร์แมนมิลเลอร์ (Herman Miller) ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดมานานกว่า 100 ปี เฮอร์แมนมิลเลอร์เป็นบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภันฑ์สำนักงานมาอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่เสมอ

            สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแบรนด์นี้ก็คือมันเป็นการปฏิวัติวิธีการทำงานให้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้าสำนักงานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงหยิบยกช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านวิธีการทำงานในช่วงทศวรรษที่ 1960 - 1970 เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ปฏิวัติวิธีการทำงานไปตลอดกาล

            ในปลายทศวรรษ 1950 เฮอร์แมนมิลเลอร์ (Herman Miller) บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีสำนักงานใหญ่ในมิชิแกน ได้ว่าจ้างโรเบิร์ต พร็อส์ต (Robert Propst) ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ศิลปกรรมเข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกวิจัย เนื่องจากตำแหน่งใหม่ที่บริษัทไม่เคยมีมาก่อน พร็อปส์ตจึงค่อนข้างมีอิสระในการทำงาน โดยผู้ก่อตั้งเฮอร์แมนมิลเลอร์ซึ่งเลือกเขามาทำงานกับมือ และบอกให้เขาศึกษาวิจัยอะไรก็ได้ที่ช่วยให้บริษัทเติบโตมากขึ้น

            พร็อปส์ตเป็นนักออกแบบที่มีความสามารถ มีความคิดที่จะออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำนักงานแนวใหม่ขึ้นมาแทบจะทันที เพราะในอดีตสำนักงานส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนมากจะเป็นพื้นที่โล่งกว้างขวาง มีโต๊ะทำงานหน้าตาเหมือนกันเรียงกันหลาย ๆ โต๊ะ โดยมีเจตนาให้พนักงานมีความเป็นส่วนตัวน้อยที่สุด ซึ่งพัฒนาการมาจากโรงงาน จุดประสงค์ก็คือการมองเห็นทุกคน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขากำลังทำงานกันอยู่

            เขาเฝ้าสังเกตการทำงานของพนักงาน สัมภาษณ์ประสบการณ์ของพวกเขา และปรึกษาหารือกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งนักจิตวิทยา สถาปนิก และนักคณิตศาสตร์ และพิจารณาว่าผังของสำนักงานมีผลต่อผลิตภาพการทำงานของพวกเขาอย่างไร หลังจากที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลมากมายแล้ว พร็อปส์ตก็ได้ข้อสรุปว่า "สำนักงานในปัจจุบันคือดินแดนอันแร้นแค้นที่คอยดูดพลังของคน ปิดกั้นพรสวรรค์ ก่อกวนความสำเร็จเป็นสถานที่ซึ่งความตั้งใจอันไม่เป็นผล และความพยายามอันล้มเหลวปรากฎให้เห็นทุกวัน"

            ด้วยข้อสรุปดังกล่าวฟร็อปส์จึงยกเครื่องสถานที่ทำงานครั้งใหญ่ร่วมกับนักออกแบบ จอร์จ แนลสัน (George Nelson) สิ่งแรกที่พวกเขาทำก็คือการลดสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจให้เหลือน้อยที่สุด เพิ่มความเป็นส่วนตัว และทำให้พนักงานสามารถควบคุมวิธีการทำงานของตนเองได้ 

            ทั้งสองคนได้ร่วมกันพัฒนาวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับเฟอร์นิเจอร์สำนักงานโดยนำความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการศึกษาวิจัยมาใช้ ก่อนจะเปิดตัวสถานที่ทำงานที่ออกแบบตามความต้องการของพนักงาน โดยพวกเขาเรียกการออกแบบครั้งใหญ่นี้ว่า "แอ็กชั่นออฟฟิศ" (Action Office) 

            ในหนังสือ The Best Place to Work รอน ฟรายด์แมน (Ron Friedman) ได้บรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ผ่านการศึกษาวิจัยนำโดยโรเบิร์ต พร็อส์ต ว่า "องค์ประกอบหนึ่งของสถานที่ทำงานแบบใหม่ก็คือ โต๊ะทำงานซึ่งต้องมีสองตัว และโต๊ะขนาดเล็กอีกหนึ่งตัว เพื่อให้พนักงานสามารถนำงานออกมาวางแผ่บนโต๊ะ และมีที่ให้ยืดแข้งยืดขาได้ระหว่างทำงาน"

            "มีเก้าอี้ที่ออกแบบตามหลักการยศาสตร์ โต๊ะทำงานตัวสูงสำหรับยืนทำงานได้ มีฉากกั้นเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว และเป็นที่จัดแสดงงานที่ทำอยู่ และเฟอร์นิเจอร์เคลื่อนที่ได้ เพื่อให้สามารถสลับสับเปลี่ยนได้ นอกจากนั้นพนักงานยังสามารถจับคู่เฟอร์นิเจอร์และคิดผังที่เหมาะสมกับการทำงานของพวกเขามากที่สุดได้อีกด้วย"

ออฟฟิศในปัจจุบันที่เน้นให้พนักงานทำงานร่วมกัน และสื่อสารแลกเปลี่ยนเพื่อทำงานอย่างมีคุณภาพ

            ทุกท่านจะเห็นว่าแอ็กชั่นออฟฟิศที่ฟรายด์แมนได้บรรยายเอาไว้ แทบไม่ต่างสำนักงานอุดมคติในปัจจุบันเลย ทั้ง ๆ ที่แอ็กชั่นออฟฟิศเกิดในปี 1964 เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความอัจฉริยะของพร็อส์ตและทีมงานของเขา เพราะในสมัยนั้นสำนักงานต่าง ๆ มีเพียงแค่โต๊ะโล่ง ๆ เท่านั้น

            แอ็กชั่นออฟฟิศได้รับคำชื่นชมจากนิตยสารธุรกิจชั้นนำมากมาย และได้รับรางวัลอันทรงเกียรติด้านอุตสาหกรรมหลายรางวัล แต่มันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในด้านการตลาด บรรดานายจ้างต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่า "มันกินเนื้อที่เกินไป ประกอบยาก และมีราคาสูงกว่างบที่พวกเขายินดีจ่าย" แต่ก็ยังมีบางส่วนที่บรรดานายจ้างชอบกัน นั่นคือ "ฉากกั้น" เพราะมันสามารถแยกพนักงานออกจากกันได้ 

            หลังจากได้รับคำวิจารณ์ออกมา พร็อปส์ตจึงกลับไปนับหนึ่งใหม่อย่างไม่เต็มใจ เขารู้ว่าเขามาถูกทางแต่มันไม่สามารถขายได้ เขาต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ ซึ่ง 4 ปีถัดมา เฮอร์แมนมิลเลอร์ ก็กลับมาใหม่อีกครั้งโดยใช้สิ่งที่เหล่านายจ้างวิจารณ์เป็นแนวทาง เฟอร์นิเจอร์แนวคิดใหม่นี้มีชื่อว่า "แอ็กชั่นออฟฟิศ 2" ที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "คอกทำงาน" (The Cubicle)

            กล่าวคือนวัตกรรมล้ำยุคอย่าง แอ็กชั่นออฟฟิศ 1 ได้หายไปหมด สิ่งที่เข้ามาแทนเป็นเพียงแค่ฉากกั้นธรรดาเท่านั้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของเหล่านายจ้างก็คือการขจัดสิ่งหันเหความสนใจ ซึ่งฉากกั้นนั้นมาพร้อมกันเป็นชุด ประกอบง่าย และมีค่าใช้จ่ายเพียงเศษเสี้ยวของเฟอร์นิเจอร์แบบดั่งเดิมที่นำเสนอในปี 1964 เท่านั้น

            ความพยายามครั้งที่สองของเขาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แอ็กชั่นออฟฟิศ 2 หรือคอกทำงาน ทำยอดขายได้ถึง 25 ล้านดอลล่าร์ภายในเวลาเพียงสองปี มีการประมาณคร่าว ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา เฮอร์แมนมิลเลอร์ทำเงินจากแอ็กชั่นออฟฟิศได้มากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นความสำเร็จของบริษัท แต่สำหรับ โรเบิร์ต พร็อส์ต แล้วชั่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหลือเกิน เพราะความสำเร็จนี้มันตรงกันข้ามกับความตั้งใจของเขาอย่างสิ้นเชิง

            ไม่เพียงแค่นั้นกลับกลายเป็นว่าคอกทำงานซึ่งสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นที่ส่วนตัวล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะในปัจจุบันองค์กรเกือบร้อยละ 70 ในสหรัฐอเมริกาใช้แอ็กชั่นออฟฟิศรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อยัดพนักงานเข้าไปในพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้ง ๆ ที่ในทศวรรษ 1970 พนักงานทั่วไปได้รับจัดสรรพื้นที่โดยเฉลี่ย 500 ตารางฟุต ทว่าในปี 2010 เหลือเพียงแค่ 200 ตารางฟุตเท่านั้น

            กล่าวคือฉากกั้นที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อความเป็นส่วนตัวกลับถูกใช้ในทิศทางตรงกันข้าม เพราะพวกนายจ้างยัดพนักงานลงไปในคอกเล็ก ๆ แม้พวกเขาจะไม่ได้สบตากันก็จริง แต่ก็ได้ยินเสียงดังชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นการได้ยินเสียงแต่ไม่ได้เห็นคนพูดจะยิ่งทำให้พนักงานเสียสมาธิมากขึ้นอีกด้วย การศึกษาหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าการนั่งทำงานในคอกทำให้สมองล้า เครียด และเป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย 

            การที่พนักงานเครียดอยู่ตลอดจะส่งผลเสียต่อความดันโลหิต ซึ่งจะมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ตามมา ยิ่งไปกว่านั้นหากพนักงานเครียดอยู่ตลอดเวลาจะทำให้ประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงานลดลง ตกฮวบ นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ในปี 1998 โรเบิร์ต พร็อส์ต (Robert Propst) ได้กล่าวอย่างขมขื่นว่างานของเขาได้ถูกนำไปใช้เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยแลกกับสุขภาวะของพนักงาน และยังบอกด้วยว่า "สถานที่ทำงานยุคใหม่คือความบ้าคลั่งอย่างมโหฬาร" 

            "ใช่ว่าทุกองค์กรจะฉลาดและมีความคิดก้าวหน้าเสมอไป" เขากล่าวต่อ "หลายองค์กรบริหารโดยพวกงี่เง่าที่สามารถนำอุปกรณ์ประเภทเดียวกันไปสร้างขุมนรกได้ พวกเขาสร้างคอกเล็กจิ๋วแล้วยัดคนเข้าไปอย่างกับรูหนู" 

                นอกจากนั้น รอน ฟรายด์แมน ยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่านอกจากคอกทำงานแล้ว ยังมีพื้นที่ทำงานแบบอื่นที่นิยมใช้ นั้นก็คือห้องส่วนตัว ซึ่งจะมีได้เมื่อคุณมีตำแหน่งสูงขึ้น เป็นเรื่องน่าตลกที่เมื่อเรามีตำแหน่งสูงขึ้นจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ให้เข้าถึงยากมากขึ้น ซึ่งพื้นที่ทำงานดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารและการร่วมมือกันทำงานอย่างมาก

            ในปัจจุบันสถานที่ทำงานจำนวนมากใช้รูปแบบคอกทำงาน ซึ่งเป็นการทำให้พนักงานลดการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน แตกต่างกับบริษัทระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแอปเปิล ที่สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ออกแบบสำนักงานใหญ่แอปเปิลพาร์ก (Apple Park) เอาไว้ก่อนเขาจะเสียชีวิต โดยเขาต้องการสร้างพื้นที่เพื่อให้พนักงานเดินมาเจอกันบ่อย ๆ ได้สื่อสารกัน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่านวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ล้วนมาจากการที่พนักงานมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน

            ไม่เพียงแค่นั้น การลดคอกทำงานยังทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย นี่เป็นวิธีที่เสมอภาคโดยพนักงานทุกคนจะได้รับพื้นที่เท่า ๆ กัน ในโลกที่คาดหมายกันว่าความสำเร็จมากจากการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ คงจะไม่มีอะไรทำให้คนร่วมมือร่วมใจกันทำงานได้ดีมากไปกว่าการขจัดอุปสรรคในการสื่อสารออกไปแล้ว 

            จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า โรเบิร์ต พร็อส์ต คิดผิดหรือไม่ที่ต้องการให้พนักงานเป็นส่วนตัว สำหรับผมแล้วมันไม่ผิดหรอกครับ หากเราพิจารณาบริบทการทำงานในอดีต อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า สำนักงานในอดีตเป็นรูปแบบที่เปิดโล่งโดยมีเป้าหมายเพื่อสามารถจับผิดพนักงานได้ การมีที่ส่วนตัวย่อมทำให้พนักงานมีสมาธิและมีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมคิดว่าต่อให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งแต่การที่พนักงานพูดคุยกันมากก็โดนจับผิดอยู่ดี (ในอดีต)

            จะเห็นว่าตลอดระยะเวลา 50 - 60 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนามากมายที่ปฏิวัติสถานที่ทำงานยุคใหม่ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีอื่น ๆ แต่สถานที่ทำงานไม่ใช่หนึ่งในนั้น องค์กรส่วนใหญ่ยังคงใช้รูปแบบสำนักงานเดิม ๆ ทั้งสามรูปแบบ ซึ่งล้วนมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานแย่ลง คอกทำงานทำให้อึดอัด ห้องส่วนตัวทำให้ขาดการสื่อสาร และสถานที่ทำงานแบบเปิดโล่งมากเกินจนทำให้ไม่มีสมาธิ

            ในปัจจุบันเรามีตัวอย่างสำนักงานทั่วโลก และมีงานวิจัยมากมายที่เป็นตัวอย่างอย่างดี แต่สำนักงานจำนวนมากกลับไม่ให้ความสำคัญกับมัน ซ้ำร้ายยังมองข้ามพร้อมกับให้ความสำคัญกับสิ่งเดิม ๆ และเงินที่จะต้องสูญเสียไป ซึ่งทำให้ผลร้ายตกอยู่ที่พนักงาน ทั้ง ๆ ที่การเจริญก้าวหน้าขององค์กรขึ้นอยู่กับทรัพยากรมนุษย์

            เฮอร์แมนมิลเลอร์ได้พิสูจน์ตัวเองตลอดประวัติศาสตร์ถึงความก้าวหน้าในการออกแบบสำนักงานอย่างเหมาะสม แม้แต่ละยุคสมัยบริษัทนี้ได้ออกแบบสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าจะโรเบิร์ต พร็อส์ตจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เฮอร์แมนมิลเลอร์ก็ยังมีนักวิจัยเก่ง ๆ อีกมากมายที่ออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา

โดยปรารถนาให้พนักงานทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

Friedman, R. (2015). The Best Place to Work: The Art and Science of Creating an Extraordinary. Workplace NY: TarcherPerigee.

Biederman, I., & Vessel, E. (2006). Perceptual Pleasure and the Brain. American Scientist. 94(3): 247-255. https://doi.org/10.1511/2006.59.247

ความคิดเห็น