เราสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ด้วยการสื่อสารที่คำนึงถึงความรู้สึกอีกฝ่ายมากขึ้น

"ทุกคนย่อมตีความถ้อยคำตามที่ตัวเองปรารถนา ซึ่งอาจจะแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างมาก"

            พวกเราหลายคนมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนรัก แต่ผมก็เชื่อว่ามีคนจำนวนมากสูญเสียความสัมพันธ์เหล่านี้ไป เพราะสื่อสารโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่จะเป็นการตะคอก การใช้คำพูดด่าว่าที่รุนแรง การทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายโดยเจตนา รวมไปถึงใช้คำหยาบคาย

            แต่หลายครั้งเราจะพบว่าผู้คนหรือตัวเราเองได้ทำร้ายใครหลายคนไปด้วยการสื่อสารโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ แม้ว่าเราจะไม่ได้แสดงอารมณ์เชิงลบที่รุนแรงหรือใช้คำพูดที่หยาบคายออกไปเลยก็ตาม แต่อาจจะเป็นคำพูดทั่วไปที่เราอาจพูดคุยกันกับเพื่อนนี้แหละ เพราะจริง ๆ แล้วมันมีปัจจัยบางอย่างซ่อนเอาไว้อยู่ในจิตใจของผู้รับสาร หากเราอยากจะรักษาความสัมพันธ์ที่เราจะต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้อยู่เสมอ

            ในปี 1967 เป็นช่วงเวลาที่วงในตำนานอย่าง เดอะบีเทิลส์ (The Beatles) โด่งดังอย่างมากมาก ช่วงนั้นจอร์น เลนนอน (John Lennon) นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังของวงได้ทิ้งภรรยาและลูกชายที่ชื่อจูเลียน (Julian) เพื่อไปใช้ชีวิตกับโยโกะ โอโนะ (Yoko Ono) พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) สมาชิกวงเพื่อนรักของจอร์น ไม่อยากให้ทั้งภรรยาและลูกของเขาคิดว่าตนเองก็ทอดทิ้งพวกเธอไปเหมือนกัน เขาจึงขับรถไปหาทั้งคู่ที่เวย์บริดจ์

            ด้วยความที่พอลเป็นนักแต่งเพลง ระหว่างขับรถเขาก็เริ่มแต่งเพลงไปด้วย เขาไม่อยากให้จูเลียนร้องไห้ เขาจึงร้องออกมาเป็นเพลงว่า "เฮ้ จูลส์ อย่ารู้สึกแย่เลย ฟังเพลงเศร้านี้แล้วทำให้อะไร  ๆ มันดีขึ้นเถอะ" (Hey Jules, don't make it bad. Take a sad song and make it better.) แต่ด้วยความที่จูลส์ออกเสียงยาก เขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น จู๊ด (Jude) และตั้งชื่อเพลงนี้ว่า "Hey Jude" แทน

            วงเดอะบีเทิลส์ บันทึกเสียงและปล่อยเพลงนี้ออกมาอย่างรวดเร็วในปี 1968 ในตอนนั้นพวกเขาเปิดร้านเสื้อผ้าแฟชั่นที่ชื่อว่าแอปเปิลบนถนนเบเคอร์ พอลภูมิใจกับเพลงใหม่ของตัวเองจนถึงกับใช้สีเขียนคำว่า "HEY JUDE" บนกระจกหน้าร้าน เพราะเขาคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะโฆษณาเนื่องจากบริเวณแถวนี้มีคนและรถโดยสารวิ่งผ่านตลอด

            แต่เขาก็พบว่าทุกอย่างมันไม่ได้เหมือนกับที่คิดเอาไว้เลย วันหนึ่งพอลรับสายโทรศัพท์จากชายสูงวัยคนหนึ่งด้วยน้ำเสียงเดือดดาล ชายคนนั้นตะคอกใส่เขาว่า "แกทำแบบนี้ทำไม แกกล้าดียังไง ลบมันทิ้งเดี๋ยวนี้ ลบเดี๋ยวนี้เอง" พอลพยายามถามชายคนนั้นว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรกันแน่

            แล้วชายคนนั้นก็ตะคอกว่า "จุ๊ด" "จู๊ด" "จู๊ด" เรายังเจอเรื่องพวกนี้มาไม่มากพอหรือไง ฉันจะสั่งให้ลูกชายไปจัดการแกแน่" ชายคนนั้นชื่อลีออน และสำเขาก็ฟังดูแปร่ง ๆ ในสุดพอลก็เข้าใจว่าปัญหาของเขา นั่นคือคำว่า "Jude" ในภาษาเยอรมันมันหมายถึงชาวยิว 

สมาชิกเดอะบีเทิลส์ พอล แม็กคาร์ตนีย์, ‎ริงโก สตาร์, จอร์น เลนนอน และ จอร์จ แฮร์ริสัน (จากซ้ายไปขวา)

            ชายคนนี้เป็นชาวยิวที่ลี้ภัยมาจากนาซีเยอรมนี ตอนนั้นหน้าต่างร้านค้าของชาวยิวจะถูกเขียนด้วยปูขาวเป็นคำว่า "JUDE" ขนาดใหญ่ แถมกำแพงและหน้าต่างของอาคารบ้านเรือนทั่วประเทศยังเต็มไปด้วยคำว่า "JUDEN RAUS" (ชายยิวออกไป) เนื่องจากในสมัยนั้นมีการสร้างโฆษณาชวนเชื่อจากพรรคนาซีให้ประชาชนจำนวนมากเกลียดชาวยิว

            ยกตัวอย่างภาพยนตร์ของโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) ชื่อ Der ewige Jude (พวกยิวไม่มีวันหมดสิ้น) ในฉากหนึ่งของเรื่องนี้มีภาพหนูกำลังวิ่งพล่านพร้อมกับเสียงพากย์ว่า "ไม่ว่าหนูจะอยู่ที่ไหน พวกมันจะสร้างความเสียหาย ด้วยการทำลายข้าวของและเสบียงอาหารของมนุษย์ ทั้งยังแพร่เชื้อโรค กาฬโรค โรคเรื้อน ไข้รากสาดน้อย อหิวาตกโรค โรคบิด และอีกมากมาย"

            "พวกมันเจ้าเล่ห์ ขี้ขลาด โหดเหี้ยมและชอบอยู่กันเป็นฝูง ในบรรดาสัตว์ทั้งหมด หนูคือตัวการแสนร้ายกาจที่คอยสร้างความเสียหายอย่างลับ ๆ เช่นเดียวกับยิวที่ปะปนอยู่กับมนุษย์" นี่คือโลกที่ลีออนหนีรอดมาได้ และมันเป็นสิ่งที่เขานึกถึงเมื่อเห็นคำว่า "HEY JUDE" บนหน้าต่างร้านค้า แน่นอนว่าพอลรีบขอโทษและลบคำนั้นออกจากหน้าต่างร้านทันที พร้อมทั้งอธิบายกับชายคนนั้นว่าเขาไม่ได้มีเจตนาร้าย 

            สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือความเป็นจริงของพอลและลีออนไม่ตรงกัน ไม่เพียงแค่นั้นเพราะแม้แต่ จอห์น เลนนอน ก็ตีความเพลง "Hey Jude" แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยบอกว่าจริง ๆ แล้วในเนื้อเพลงท่อน "ในเมื่อตอนนี้นายหาเธอพบแล้ว จงก้าวไปคว้าเธอมา" (You have found her, now go and get her) พอลต้องการสื่อว่าการที่เขาทิ้งภรรยาและลูกไปอยู่กับโยโกะ โอโนะไม่ใช่เรื่องผิด

            นี่แสดงให้เห็นว่าถ้อยคำทั้งหลายจะถูกตีความด้วยสถานการณ์และประสบการณ์ของผู้รับสารแต่ละคน ดังที่แฟร์ดีน็อง เดอ โซซูร์ ชายผู้คิดค้นสัญศาสตร์กล่าวเอาไว้ว่า "ทุกคนย่อมตีความถ้อยคำตามที่ตัวเองปรารถนา ซึ่งอาจจะแตกต่างจากความเป็นจริงอย่างมาก" หน้าที่ของเราจึงไม่ได้มีเพียงแค่การส่งสารได้อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำให้ผู้รับสารเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย 

            ความเป็นจริงก็คือ พอลแต่งเพลงนี้เพื่อไม่อยากให้ภรรยาและลูกของจอร์นคิดว่าตนเองก็ทอดทิ้งพวกเธอไปเหมือนกันกับจอร์น แต่ทั้งจอร์จและลีออนกลับตีความไปอีกแบบหนึ่ง เพราะแต่ละคนมีความรู้สึกร่วมและความเป็นตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำให้แต่ละคนเข้าใจไม่ถูกต้องและตีความผิดไปจากข้อเท็จจริง

            สอดคล้องกับหนังสือ Difficult Conversations ผู้เขียน ดั๊กลาส สโตน (Douglas Stone) และคณะ อธิบายเกี่ยวกับการสนทนาที่ยากลำบากมักจะเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกและตัวตนของแต่ละคนเข้ามาเกี่ยวข้อง อันเนื่องมาจากประสบการที่แตกต่างกัน

            ความรู้สึกร่วม เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความรู้สึกผิด หรือความสุขร่วม ที่แต่ละคนมีแตกต่างกันจากประสบการณ์และการรับข่าวสารที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังมีมีตัวตนหรืออีโก้เข้ามาแทรกแซงด้วย เช่น "เรื่องราวนี้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความภูมิใจของฉันอย่างไรบ้าง" "มันทำให้ฉันเป็นคนดีขึ้น หรือเลวลง"

            ลีออนพบเจอประสบการณ์เลวร้ายในอดีตในตอนที่เขาอยู่ในเยอรมนี จึงทำให้เขาตีความคำว่า "Hey Jude" ในมุมที่เลวร้ายมาก ผสมกับความรู้สึกโกรธและเศร้าในจิตใจ ส่วนจอร์นพยายามปกป้องตัวตน หรืออีโก้ของตัวเอง เขาไม่อยากจะมองตัวเองว่าเป็นคนไม่ดี เลวร้าย และไม่น่าภาคภูมิใจ เขาจึงตีความเพลง "Hey Jude" ในมุมที่เข้าข้างตัวเอง

            เรื่องราวนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า การสื่อสารแต่ละครั้งเราจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกอีกฝ่ายมากขึ้น เหมือนกับที่พอลรีบเอาตัวอักษร "HEY JUDE" ลงและขอโทษลีออนพร้อมกับอธิบายความจริงของข้อความนี้ หากพอลพยายามจะปกป้องตัวเองโดยการแสดงความโกรธกลับไปย่อมทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างแน่นอน

            นอกจากนั้นเราจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า มนุษย์ทุกคนอยากจะให้คนอื่นมองพวกเขาในมุมดี มีความภาคภูมิใจในตัวเอง จึงทำให้พวกเขาพร้อมจะปกป้องตัวเองอยู่เสมอเมื่อพวกเขาพบเจอสิ่งที่จะทำให้เขาดูไม่ดี เหมือนกับที่จอร์นทำ หากเราเข้าใจข้อเท็จจริงนี้จะทำให้เราถ่อมตัวมากขึ้นและไม่ดูถูกคนอื่นหรือไปลดคุณค่าของคนอื่นจนทำให้ความสัมพันธ์ต้องแตกสลาย

            ความสัมพันธ์จะสามารถยั่งยืนได้จากการที่เราไปนั่งอยู่ในใจคนอื่นมากขึ้น พึงละลึกอยู่เสมอว่าเราทุกคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มีความรู้สึกร่วม และมีตัวตนหรืออีโก้ที่อยากให้คนอื่นมองในด้านดีเสมอ หากเราสื่อสารโดยพิจารณาข้อเท็จจริงนี้ได้ ก็จะทำให้เราสามารถครองใจคน รักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ เป็นคนที่มีคนรักและอยากคบหามากขึ้น 

และมันยังทำให้เราไม่ทำร้ายจิตใจของใครบางคนโดยที่เราไม่ได้เจตนาอีกด้วย

อ้างอิง

Stone, D., Patton, B., Heen, S., & Fisher, R. (2010). Difficult Conversations: How to Discuss What Matters Most. London: Penguin Books.

Trott, D. (2021). The Power of Ignorance: How creative solutions emerge when we admit what we don’t know. Hampshire: Harriman House.

ความคิดเห็น